หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

บทความวิชาการ เรื่อง ธรรมวิชัย: ระบบการบริหารการปกครองของพระเจ้าอโศกมหาราช

โพสท์โดย Sirawat Kro0404

ธรรมวิชัย: ระบบการบริหารการปกครองของพระเจ้าอโศกมหาราช

 Dhammavijaya or Conquest by Dhamma: The Administrative System by Ashoka the Great

ดร.ศิรวัฒน์ ครองบุญ* พระครูปลัดเถรานุวัตร สุเทวเมธี, ดร.**

บทคัดย่อ

 บทความนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาระบบการบริหารการปกครองของพระเจ้าอโศกมหาราชที่ทรงยึดมั่นในหลักแห่งธรรมวิชัย คือ การชนะทางด้านจิตใจ เป็นชัยชนะอันสูงสุด เป็นชัยชนะแห่งธรรมซึ่งเป็นต้นแบบของการเมืองใหม่ที่ใช้ธรรมนำหน้าอย่างแท้จริง ที่สามารถเข้าถึงวิถีแห่งสันติ อหิงสา     ขันติธรรม และความสงบสุข โดยที่พระองค์ทรงบริหารราชการแผ่นดินภายใต้นโยบายธรรมวิชัย ซึ่งเป็นระบอบประชาธิปไตยเต็มที่แต่เอนไปทางด้านปิตาธิปไตย คือ ทรงปกครองอาณาประชาราษฎร์ประดุจ พ่อปกครองลูก หรือทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรม ส่งเสริมกิจการสาธารณูปการ สวัสดิการสังคม ทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม การจัดบริการสาธารณประโยชน์ และสังคมสงเคราะห์ สร้างศิลาจารึกสื่อสารเสริมธรรม ประกาศหลักการแห่งเสรีภาพ แถลงเรื่องที่เป็นนโยบายของรัฐในทางธรรม ที่จะให้ผู้บริหารปกครองท้องถิ่นนำไปสั่งสอนประชาชน แต่งตั้งธรรมมหาอำมาตย์ เป็นทูตแห่งธรรมในการเผยแผ่พระธรรม โดยพระองค์ก็เสด็จธรรมยาตราไปยังพุทธสถานทุกแห่ง เพื่อศึกษาและปฏิบัติธรรม

พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทำสงครามทำลายล้างอย่างยืดเยื้อกับแคว้นกาลิงคะ ปัจจุบันคือรัฐ  โอริสสา ทรงเอาชนะแคว้นกาลิงคะ ซึ่งเป็นแคว้นสุดท้ายที่พระองค์ทรงพิชิตได้ เป็นสงครามครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด แต่ชัยชนะนั้นกลับสร้างความสลดสังเวชพระทัยแก่พระองค์ ซึ่งทำให้พระองค์ได้รับสมัญญานามว่า จัณฑาโศกราช คือ พระเจ้าอโศกผู้โหดเหี้ยม แต่หลังจากที่พระองค์หันมานับถือวิถีแห่งสันติและเมตตาตามหลักพระพุทธศาสนา จึงทรงประกาศละเลิกสังคามวิชัยหันมาดำเนินนโยบายเดชานุภาพแบบ “ธรรมวิชัย” ด้วยรัฐประศาสโนบายนี้เอง จึงทำให้พระองค์ทรงเป็นต้นแบบของการเมืองใหม่ที่ใช้ธรรมนำหน้า หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า พระเจ้าอโศกมหาราชได้นำโลกไปสู่ความเมตตา กรุณา อหิงสาและสันติภาพด้วยวิถีทางแห่งความสงบสุข

 คำสำคัญ: ธรรมวิชัย, ระบบการบริหาร, การปกครอง, พระเจ้าอโศกมหาราช

 Abstract

The purpose of this research is to study the administrative system by Ashoka the Great. His administrative system was dhammavijaya or conquest by dhamma which was the highest victory. Dhammavijaya is a model of new politics idea which is led by dhamma. This new politics approach to way of peacefulness, nonviolence, toleration and tranquility. His administration was dhammavijaya which was considered as part of democracy system and main part of Paternalism. He expressed his attitude of superiority and his power over his people like father and children and applied dhamma to his administration. He supported the construction and renovation of temples, social welfare, arts and cultures, public benefits service, edicts of Ashoka rock inscriptions for dhamma promotion, for declaration of liberty principles and for governmental policy announcement. He assigned the representatives for expansion of Buddhism. He also visited every Buddhist monasteries to study and practice dhamma.

Kalinga or presently known as Orissa had been attacked for long time by Ashoka the Great troops. After his conquest of Kalinga, the greatest victory brought him the great remorse and earned him the name of Chandra Ashoka meaning “Ashoka the Firece”. However, after he had changed his mind to follow the way of peace and metta in the Buddhism, he applied the dhammavijaya instead of the conquest by war. Ashoka the Great is the leader who used the model of new politics idea. He brought the way of loving-kindness, compassion, nonviolence and peacefulness to the world.

Keywords: dhammavijaya, administrative system, government, Ashoka the Great

 บทนำ

พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าพินทุสาร แห่งราชวงศ์โมริยะ พระมารดานามว่า สิริธรรม พระเจ้าอโศก มีพระโอรสและธิดา 11 พระองค์ ทรงมีพระชนม์อยู่ในราว พ.ศ. 218 – 260 เดิมทรงเป็นอุปราชอยู่ที่กรุงอุชเชนี แคว้นวัชชี พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าจันทรคุปต์ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เมารยะ ซึ่งเข้าครอบครองแคว้นมคธ ที่มีนครปาฏลีบุตรเป็นเมืองหลวง ในราวพุทธศตวรรษที่ 3 ภายหลังการแผ่อำนาจเข้ามาของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์แห่งอาณาจักรกรีก-มาซิโดเนีย ชาวอินเดียต้องการที่จะรวมจักรพรรดิของตนเข้าเป็นหนึ่งเดียว ดังนั้น จึงมีการสถาปนาราชวงศ์เมารยะ หรือโมริยะขึ้น กษัตริย์ที่สำคัญที่สุดในราชวงศ์นี้ คือ พระเจ้าโศก ซึ่งทรงรวมอินเดียเกือบทั้งหมดไว้ภายใต้การปกครองของพระองค์ ต่อมาพระองค์ได้อุปถัมภ์พุทธศาสนาเถรวาท (รศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี, 2558, หน้า 19) จำเนียรกาลผ่านมา หลังสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชบุกรุกอินเดีย พระองค์มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา พระนามของพระเจ้าอโศกมหาราชในศิลาจารึก เรียกว่า “เทวานัมปิยทัสสี” แปลว่า กษัตริย์ผู้เป็นที่รักใคร่ของเทพเจ้า ก่อนหน้านี้ พระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็น “ทรราช” แต่ทรงกลับพระทัยได้ทันเสียก่อน โลกจึงเรียกขานพระองค์เสียใหม่ว่าเป็น “มหาราช” ดังนั้น พระสมัญญานามของพระองค์ก็ทรงเปลี่ยนไปด้วย กล่าวคือ ทรงเปลี่ยนจาก “จัณฑาโศกราช” (อโศกทมิฬ) มาเป็น “ธรรมาโศกราช” (อโศกผู้ทรงธรรม) จากการถูกขนานนามว่า จัณฑาโศก (อโศกผู้ดุร้าย) มาเป็นธรรมาโศก (อโศกผู้ทรงธรรม) แสดงให้เห็นถึงผลแห่งการพัฒนาตนเริ่มจากสำนึกถึงในความผิดพลาดของตน แล้วหันเข้าสู่แนวทางแห่งการไม่เบียดเบียน และการเกื้อกูลแก่พสกนิกรและชาวโลกทั้งมวลตามหลักพระพุทธศาสนา แนวทางนี้ก็ได้รับการเอาเป็นแบบอย่างโดยกษัตรานุกษัตริย์ในยุคต่อมา พระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อทรงกลับพระทัยมานับถือพระพุทธศาสนา  เป็นที่พึ่งที่ระลึก เพราะทรงเล็งเห็นความไร้สาระของ “สงครามวิชัย” คือ การมีชัยโดยสงคราม อย่างชัดเจนแล้ว จึงทรงเปลี่ยนแนวนโยบายในการบริหารแผ่นดินเสียใหม่จากสงครามวิชัยมาเป็น “ธรรมวิชัย” กล่าวคือ การมีชัยโดยธรรม ซึ่งในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช พรองค์ทรงนำกองทัพธรรมยาตราไปทั่วราชอาณาจักร ทรงชนะจิตใจของประชาชนด้วยการปกครองแผ่นดินโดยธรรม เมื่อเสด็จไปจาริกธรรมที่ใดก็ยังได้นำเอาเสาหินทรายขนาดใหญ่ที่แกะสลักไว้อย่างงดงามไปประดิษฐานไว้ในสถานที่สำคัญในพระพุทธศาสนาทุกแห่งอีกด้วย (พาโนรามา เวิลด์ไวด์, 2549, หน้า 137).

  1. ธรรมวิชัย: จอมจักรพรรดิผู้สร้างสรรค์การเมืองใหม่

          พระคณาจารย์สองรูปในพระพุทธศาสนาที่ได้เป็นผู้สอนธรรมแด่พระอโศก องค์หนึ่งคือพระอุปคุปต์เถระ เป็นภิกษุในนิกายสรวาสติวาท อีกองค์หนึ่งคือ พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ เป็นภิกษุในนิกายเถรวาท พระเจ้าอโศกได้ทรงนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนาไปประยุกต์ใช้ในการปกครอง เรื่องราวต่าง ๆ มีปรากฏในหลักศิลาจารึกของพระองค์มากมาย เราสามารถสรุปชีวประวัติของพระองค์ได้ดังนี้ พระเจ้าอโศก ทรงเป็นกษัตริย์ที่ดุร้ายมาก ตอนเป็นเจ้าชายได้ไปเป็นอุปราชที่เมืองอุชเชนี ครั้นพระราชบิดา คือ พระเจ้าพินทุสารสวรรคต เจ้าชายอโศกก็ได้ฆ่าพี่น้องทั้งหมด 100 องค์ เหลือไว้เฉพาะพระอนุชาร่วมมารดาองค์เดียวกัน คือเจ้าชายวีตโศก ด้วยความกระหายอำนาจ (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), 2554, หน้า 18).

พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเริ่มขบวนการธรรมยาตรา โดยเสด็จเป็นตัวอย่างและมีคำกล่าวในหลักศิลาจารึกว่า “แต่ก่อนนี้ราษฎรทั้งหลาย จะได้ยินเสียงแต่ยุทธเภรี เสียงช้าง เสียงม้า เสียงโล่ห์ ศาสตราวุธกระทบกัน ครั้นมาบัดนี้ ราษฎรทั้งหลายจักได้ยินแต่เสียงธรรมเภรีแทน มีแต่เสียงเชิญชวนไปฟังธรรม เสียงเชิญชวนให้ไปปฏิบัติธรรม ส่วนตัวของข้าเอง แต่ก่อนนี้มีแต่เสด็จเพื่อยุทธวิชัย หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นการประพาสล่าสัตว์ ครั้นมาบัดนี้ ข้าเสด็จไปเพื่อธรรมวิชัย และการประพาสของข้าก็คือการเที่ยวถวายสักการะปูชนียสถานต่าง ๆ เยี่ยมเยือนสมณพราหมณ์ตามวัดต่าง ๆ หรือสนทนาธรรมกับสมณพราหมณ์เหล่านั้น” เมื่อกล่าวถึงเส้นทางการสืบสันตติวงศ์แล้ว พระองค์ก็ต้องเป็นกษัตริย์พระองค์ต่อไปโดยความชอบธรรม แต่ในทางปฏิบัติแล้วไม่เป็นอย่างนั้น เพราะพอพระเจ้าพินทุสารสวรรคตแล้ว เกิดมีการสับเปลี่ยนลำดับกษัตริย์กัน เป็นเหตุให้มหาอุปราชอโศกจึงต้องกรีธาทัพเข้าเมือง เพื่อยึดราชบัลลังก์ ในการศึกระหว่างพี่น้องคราวนี้ ทรงสังหารพี่น้องร่วมท้องบิดาเดียวกันไปกว่า 99 องค์ คงเหลือไว้เพียงพระอนุชาร่วมพระมารดาเดียวกัน คือ เจ้าชายวีตโศก หลังจากทรงได้บัลลังก์ที่ต้องแลกมาด้วยเลือดแล้ว ก็ทรงใช้เวลาอีกกว่า 4 ปี ในการจัดการกับศึกภายในจนราบคาบ ในปีที่ 4 นี้เอง จึงทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์อย่างสมบูรณ์ ตลอดเวลาที่เสวยราชย์ ทรงเป็นกษัตริย์ผู้กระหายสงครามอย่างยิ่ง ทรงรุกรบแผ่ขยายพระราชอาณาเขตออกไปทุกทิศทุกทาง จนกล่าวกันว่า แผ่นดินที่ทรงยึดครองมาได้นั้น มีพื้นที่มากกว่าผืนแผ่นดินอินเดียในปัจจุบันหลายเท่าตัว ต่อมาในปีที่ 8 แห่งรัชสมัย ทรงกรีธาทัพไปยึดแคว้น   กาลิงคะ ปัจจุบันคือรัฐโอริสสา (Orissa) ซึ่งเป็นรัฐที่เข้มแข็งมาก การสงครามคราวนี้ ต้องโรมรันฆ่าฟันกันอยู่นาน แต่ในที่สุดก็ทรงเป็นผู้กำชัย แต่เป็นการกำชัยที่ทรงปราชัยอย่างที่สุด เพราะทรงเกิดความสลดสังเวชพระทัยเป็นอย่างยิ่งหลังสงครามเสร็จสิ้น ประวัติศาสตร์บันทึกว่า สงครามคราวนี้มีคนตายในสนามรบราว 100,000 คน สูญหายกว่า 100,000 คน และถูกจับเป็นเชลยสงครามอีกกว่า 100,000 คน เลือดคน เลือดทหาร เลือดช้าง เลือดม้า หลั่งนองทั่วผืนปฐพี ถึงกับกล่าวกันว่า สายธารแห่งโลหิตแดงฉานนองท่วมกีบเท้าม้า ทะเลเลือดไหลนองเป็นสายสุดลูกหูลูกตา (พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี), http://www.vimuttayalaya.net).

พระเจ้าอโศก เสด็จดำเนินทอดพระเนตรไปทั่วสมรภูมิอย่างผู้ลำพองในชัยชนะ แต่แล้วพระองค์ทรง “ฉุกคิด” ขึ้นมาได้ว่า “เพื่อชัยชนะของข้าฯ คนเดียว ถึงกับต้องมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายกันมากมายถึงเพียงนี้เชียวหรือ” ด้วยการฉุกคิดที่เปี่ยมไปด้วยสัมมาทิฐิเพียงวูบเดียวนี้แท้ ๆ นับแต่กลับจากราชการสงครามคราวนั้นแล้ว ทรงเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงชนิดเป็นคนละคน ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าแคว้นกาลิงคะเป็นแคว้นสุดท้ายที่พระองค์เสด็จมาพิชิต เป็นสงคราครั้งใหญ่ที่สุด มีประชาชนบาดเจ็บล้มตายหลายแสนคน แต่ชัยชนะในครั้งนั้นกลับสร้างความสลดพระทัยแก่พระเจ้าอโศกอย่างรุนแรง อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่กำลังทรงหม่นหมองครองเศร้าเพราะถูกความรู้สึกผิดกัดกินใจนั่นเอง พระองค์ทรงมีโอกาสสดับพระธรรมเทศนาของพระเจ้าหลานเธอชื่อนิโครธ ซึ่งเป็นเพียงสามเณรน้อยรูปหนึ่ง ที่ได้แสดงธรรมอ้างพระพุทธพจน์ (ขุ.ธ.25/12/18) บาทพระคาถาว่า

อปฺปมาโท อมตํ ปทํ

ปมาโท มจฺจุโน ปทํ

อปฺปมตฺตา น มียนฺติ

เย ปมตฺตา ยถา มตา.

และความว่า

ความประมาท เป็นทางแห่งความตาย

ความไม่ประมาท เป็นทางแห่งความไม่ตาย

คนไม่ประมาท ไม่มีวันตาย

คนประมาท ไม่ต่างอะไรกับคนที่ตายแล้ว”

ด้วยพระพุทธวจนะบทแรกที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงบัญชาให้จารึกไว้บนแผนศิลานี้ (กรุณา–เรืองอุไร กุศลาสัย, 2549, หน้า 7)  ที่ว่าด้วยคุณสมบัติที่เหล่าพุทธบริษัททั้งหลายควรมี ควรบ่มบำเพ็ญให้เกิดขึ้น นั่นคือ ความไม่ประมาท หรือที่เรียกกันในภาษาบาลีว่า อัปปมาท เพราะผู้ไม่ประมาทย่อมตั้งตนอยู่บนจุดมั่นแห่งความชอบธรรม ละเว้นจากกรรมชั่วทั้งปวง ปฏิบัติตนตามแนวทางแห่งศีล สมาธิ ปัญญา กำจัดเสียซึ่งอาสวะทั้งหลาย และในที่สุดสามารถบรรลุถึงความหลุดพ้น คือ พระนิพพาน และด้วยการสดับพระพุทธวจนะอันเป็นคาถาพันธ์บทนี้ ทำให้พระองค์ทรงมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ นับแต่นั้นเป็นต้นมา พระองค์ทรงเปลี่ยนจากศาสนาเดิมที่เคยนับถือตามเสด็จพ่อ คือ ศาสนาเชน ทรงหันมานับถือพุทธศาสนา และทรงศึกษาพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งกับพระมหาเถระชื่อ “พระโมคคัลลีบุตรติสสะ” ผลของการกลับพระทัยหันมานับถือพระพุทธศาสนา ทำให้พระองค์ทรงมีความสุขอย่างยิ่ง ทรงค้นพบคำตอบของชีวิตที่แสวงหามานานปี ทรงรู้ดีว่า คุณค่าของชีวิตมิใช่การพิชิตคนอื่น หากแต่อยู่ที่การพิชิตใจตนเองต่างหาก และนับแต่ทรงเปลี่ยนพระองค์เป็นคนใหม่ โดยทรงเปลี่ยนแนวนโยบายในการบริหารแผ่นดินจากสงครามวิชัยมาเป็น “ธรรมวิชัย” กล่าวคือ การมีชัยโดยธรรม จึงอาจกล่าวได้ว่า พระองค์ ทรงเป็นจอมจักรพรรดิผู้สร้างสรรค์การเมืองใหม่ ซึ่งหลักธรรมวิชัยนั้น มีสาระสำคัญ ดังจะเห็นได้จากข้อความในศิลาจารึก ดังต่อไปนี้

 “เรายึดมั่นในหลักแห่งธรรมวิชัย อันหมายถึง การชนะทางด้านจิตใจ ซึ่งเราถือว่า เป็นชัยชนะชนิดสูงสุด ธรรมวิชัยหรืออีกนัยหนึ่ง คือ ชัยชนะแห่งธรรมเท่านั้น ที่จะสามารถยังความสุขอันแท้จริง ให้เกิดขึ้นได้...ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะเตือนใจให้ลูกหลานตลอดจนเหลนของเรา ได้ตระหนักถึงความจริง ในข้อนี้ เราจึงจัดให้มีการจารึกแผ่นศิลานี้ขึ้น ขอเพื่อนมนุษย์ผู้ร่วมเกิดร่วมตายทั้งหลาย จงอย่าได้มีการเอาชนะกัน ด้วยวิธีอื่นใดนอกไปเสียจากการเอาชนะกันด้วยธรรม ขอให้ท่านพึงสำเหนียกว่า ธรรมวิชัย หรือชัยชนะแห่งธรรมเท่านั้น ที่เป็นชัยชนะอันแน่แท้ถาวร ธรรมวิชัย ช่วยเราได้ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า” (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), 2552, หน้า 69-70) จากวิชัยที่เป็นการชนะด้วยสงคราม ซึ่งอย่างดีที่สุดคือธรรมวิชัย ตามความหมายของอรรถศาสตร์ อันหมายถึง การรบชนะอย่างมีธรรม ที่เมื่อชนะแล้วไม่ทำการทารุณโหดร้าย เพียงให้ยอมอยู่ใต้อำนาจ พระเจ้าอโศกมหาราชเปลี่ยนมาหาธรรมวิชัยตามความหมายของจักกวัตติสูตร อันหมายถึง ชัยชนะด้วยธรรม คือ การทำความดีสร้างสรรค์ประโยชน์สุข (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), 2554, หน้า 18).

  1. การบริหารราชการแผ่นดินภายใต้นโยบาย “ธรรมวิชัย”

หลักการหรือนโยบายการปกครองแบบใหม่ ที่เรียกว่า “ธรรมวิชัย” ของพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น มาจากพุทธพจน์ (องฺ.สตฺตก.23/59/90) ว่า

มา ภิกฺขเว ปุญฺญานํ ภายิตฺถ สุขสฺเสตํ ภิกฺขเว อธิวจนํ ยทิทํ ปุญฺญานิ…ราชา อโหสึ จกฺกวตฺตี  ธมฺมิโก ธมฺมราชา จาตุรนฺโต วิชิตาวี ชนปทตฺถาวริยปฺปตฺโต สตฺตรตนสมนฺนาคโต... โส อิมํ ปฐวึ สาครปริยนฺตํ อทณฺเฑน อสตฺเถน ธมฺเมน อภิวิชิย อชฺฌาวสินฺติ.

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย อย่ากลัวต่อบุญเลย คำว่า บุญนี้ เป็นชื่อของความสุข…เราได้เป็นจักรพรรดิราช ผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชา ครองแผ่นดิน มีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ผู้มีชัยชำนะ มีถิ่นแคว้นถึงความมั่นคงสถาพร พร้อมด้วยรัตนะ ๗ ประการ เรามีชัยโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศาสตรา ครอบครองปฐพีมณฑลนี้ อันมีสาครเป็นขอบเขตฯ

ระบบการบริหารการปกครองของพระเจ้าอโศกมหาราช ตามนโยบาย “ธรรมวิชัย” มีดังนี้

 1) ทรงละเลิกการทำสงครามอันเป็นการเข่นฆ่าล้างผลาญสังหารเพื่อนมนุษย์ เพื่อสนองความยิ่งใหญ่ของพระองค์เพียงคนเดียวอย่างเด็ดขาด (สงครามวิชัย) ซึ่งเท่ากับว่า ทรงหันมาดำเนินอยู่บนเส้นทางแห่งสันติอย่างถาวรที่เน้นการเอาชนะใจตัวเองเป็นสำคัญ (ธรรมวิชัย)

2) ทรงปฏิญาณตนเป็นพุทธศาสนิกชนอย่างเข้มข้น โดยทรงปฏิบัติพระองค์เป็นตัวอย่างของประชาชนทั่วไป เช่น ทรงสมาทานอุโบสถศีล ในวันพระขึ้น/แรม 14 หรือ 15 ค่ำ ทรงงดรับประทานพระกระยาหารที่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์ ทรงพระผนวชเป็นภิกษุในพุทธศาสนาทั้งด้วยพระองค์เองและทรงแนะให้พระโอรส (พระมหินทเถระ) และพระธิดา (พระนางสังฆมิตตาเถรี) ผนวชตามอีกด้วย

3) ทรงสร้างวัดอโศการาม และวัดอีกมากมายทั่วราชอาณาจักรกว่า 84,000 แห่ง จนแม้ปัจจุบันนี้ รัฐบาลแห่งประเทศอินเดีย ยังต้องเปลี่ยนชื่อรัฐมคธเป็น “รัฐพิหาร” เพราะขุดลงไปตรงไหน ก็พบแต่ซากสถูปวิหารอยู่ทั่วไป

4) ทรงอุปถัมภ์การทำสังคายนาครั้งที่ 3 แล้วโปรดให้มีการสร้างเสาศิลาจารึกบันทึกพระธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเผยแพร่ออกไปทั่วราชอาณาจักร จนกลายเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์มาถึงทุกวันนี้

5) ทรงตั้ง “ธรรมมหาอำมาตย์” เป็นทูตแห่งธรรมในการเผยแผ่พระธรรมคำสอนโดยจาริกไปทั่วราชอาณาจักร พระองค์เองก็เสด็จ “ธรรมยาตรา” ไปยังพุทธสถานทุกหนทุกแห่งเพื่อศึกษา สืบค้น ปฏิบัติธรรม และเผยแผ่พระธรรมด้วยพระองค์เอง โดยมีข้าราชบริพาร มุขมนตรี และประชาชนจำนวนมากโดยเสด็จกันเป็นขบวนใหญ่อย่างเอิกเกริกเป็นทางการ ซึ่งก่อให้เกิดเป็นราชประเพณีที่กษัตริย์ฝ่ายพุทธทุกพระองค์ทรงเจริญรอยตาม

6) ทรงจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนในพระราชอาณาเขตอย่างทั่วถึง ถึงกับมีฝรั่งเขียนสดุดีไว้ว่า ในรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช น่าจะมีคนอินเดียอ่านออกเขียนได้มากกว่าในสมัยปัจจุบันนี้เสียอีก

7) ทรงสร้างโรงทาน โรงพยาบาลสำหรับคน และสำหรับสัตว์ รวมทั้งทรงสร้างสวนสาธารณะ สะพาน บ่อน้ำสาธารณะทั่วไปทุกหนทุกแห่งในพระราชอาณาจักร โดยเฉพาะการสร้าง “อโรคศาลา” หรือ “อาโรคยศาลา” นั้น นับเป็นแนวคิดที่ใหม่และก้าวหน้าที่สุดในสมัยนั้น จนกระทั่งบัดนี้ ก็ยังนับว่า ทันสมัยอยู่เสมอ

8) ทรงวางพระองค์กับประชาชนประหนึ่งว่า “บิดากับบุตร” ทรงเรียกขานประชาชนว่าเป็น “ลูกหลานของข้าพเจ้า” ท่าทีแบบปิตุราชาเช่นนี้ นับว่า หาได้ยากมากในหมู่พระราชาผู้เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยนั้น ที่โดยมากมักหลงตัวเองแล้วพลอยเหยียดประชาชนลงเป็นทาสที่แทบไม่มีคุณค่าแห่งชีวิต

9) ทรงส่งพระศาสนทูตออกไปเผยแผ่พุทธศาสนายังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกถึง 9 สาย และหนึ่งในพระศาสนทูตทั้ง 9 สายเหล่านั้น สายที่ 8 ซึ่งนำโดยพระโสณะกับพระอุตตระ ได้นำพุทธศาสนามายังดินแดน “สุวรรณภูมิ” ซึ่งก็คือประเทศไทย พม่า มอญ ในประเทศไทย ได้แก่ เมืองนครปฐม ในสมัยที่ยังเป็นอาณาจักรทวาราวดี (พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี), http://www.vimuttayalaya.net).

คุณูปการของพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น เป็นคุณูปการที่ไม่มีวันลบเลือนไปจากความทรงจำของมนุษยชาติ พระองค์ได้ทรงพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การเป็นจักรพรรดิโดยการสงคราม ซึ่งเน้นไปที่การเอาชนะคนอื่นนั้น อย่างดีที่สุด ก็ทำให้พระองค์ทรงยิ่งใหญ่อยู่เพียงในพระราชอาณาเขตของพระองค์เพียงชั่วกาลอันแสนสั้นเท่านั้น แต่การที่ทรงเลือกเป็นพระจักรพรรดิโดยทางธรรมที่เน้นการเอาชนะจิตใจของตนเองนั้น ทำให้พระองค์ทรงเป็นจอมจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่อยู่เหนือกาลเวลาอย่างแท้จริง และทรงเป็นต้นแบบของการเมืองใหม่ที่ใช้ธรรมนำหน้าโดยยึดหลักความถูกต้อง ความชอบธรรม ความเสมอภาค

นโยบาย “ธรรมวิชัย” (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), 2555, หน้า 34-35) ของพระเจ้าอโศกมหาราชนี้ เกิดขึ้นเมื่อพระองค์ทรงตีแคว้นกาลิงคะ ในปีที่ 8 แห่งรัชกาล (พ.ศ.๒๒๒=321 BC แต่ฝรั่งนับ=261 BC) พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสลดพระทัยต่อความทุกข์ยากของประชาชน และได้หันมานับถือวิถีแห่งสันติและเมตตาของพระพุทธศาสนา และพระองค์ทรงประกาศละเลิกสังคามวิชัยหันมาดำเนินนโยบาย ธรรมวิชัย เน้นการสร้างสิ่งสาธารณูปการ บำรุงความสุขและศีลธรรมของประชาชน อุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ สร้างวิหาร (วัด) 84,000 แห่ง เป็นศูนย์กลางการศึกษา และทำศิลาจารึกสื่อสารเสริมธรรมแก่ประชาชน ประกาศหลักการแห่งเสรีภาพแบบสมัครสมานทางศาสนา ตลอดจนอุปถัมภ์สังคายนาครั้งที่ 3 และส่งสมณทูต 9 สาย ไปประกาศพระศาสนาในแดนห่างไกล จากศิลาจากรึกของพระเจ้าอโศกมหาราช ทำให้รู้ว่า แคว้นโยนะและกัมโพชะ อยู่ในพระราชอาณาเขต อาณาจักรปาณฑยะ และโจฬะในแดนทมิฬ เป็นถิ่นข้างเคียง ในบรรดาศิลาจารึกที่ได้โปรดให้ทำไว้ตามนโยบายธรรมวิชัยนั้น ศิลาจารึกฉบับที่ค้นพบมากที่สุดถึง 12 แห่ง คือ จารึกฉบับเหนือ ที่ว่าด้วยการทรงเป็นอุบาสกและเข้าสู่สงฆ์ ซึ่งมีความเริ่มต้นว่า “พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ได้ตรัสไว้ดังนี้ :- นับเป็นเวลานานกว่า 2 ปีครึ่งแล้วที่ข้าฯ ได้เป็นอุบาสก แต่กระนั้น ข้าฯ ก็มิได้กระทำความพากเพียรจริงจังเลย และนับเป็นเวลาได้อีก 1 ปีเศษแล้วที่ข้าฯ ได้เข้าสู่สงฆ์ แล้วจึงได้กระทำความพากเพียรอย่างจริงจัง”

จะเห็นได้ว่า ในศิลาจารึกแห่งไพรัต ธรรมที่พระเจ้าอโศกมหาราช ได้ทรงนำมาสอนประชาชน ที่เรียกว่า อโศกธรรม ได้แก่   คำสอนสำหรับชาวบ้านทั่วไป ซึ่งเน้นการไม่เบียดเบียน การช่วยเหลือกัน และการปฏิบัติธรรม คือ หน้าที่ ตามหลักทิศ 6 มีแต่เรื่อง บุญ ทาน การไปสวรรค์ แต่มิได้กล่าวถึงหลักธรรมที่มีความลึกซึ้ง เช่น อริยสัจ 4 ขันธ์ 5 ปฏิจจสมุปบาท นิพพาน กล่าวคือ ทรงสอนตามจริยาวัตรของพระเจ้าจักรพรรดิธรรมราชา มิได้ทรงสอนธรรมที่เป็นเทศนากิจของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ กับทั้งเห็นได้ชัดว่า ทรงมุ่งยกประชาชนให้พ้นจากลัทธิบูชายัญและระบบวรรณะของพราหมณ์ แต่ได้ยึดหลักการไม่เบียดเบียน คือ อหิงสา หรือ อวิหิงสา ตามพุทธโอวาท ซึ่งเป็นจุดเน้นของนโยบายธรรมวิชัย และในยุคต่อมาก็มีความสอดคล้องกับหลักอหิงสา การไม่นิยมความรุนแรงตามรัฐปรัชญาของมหาตมะ คานธี รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่แห่งอินเดีย ผู้นิยมแนวทางแห่งสันติและเสรีภาพ เป็นเสาหินที่เป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็ง เป็นแหล่งกำเนิดของความบันดาลใจของประเทศชาติอินเดีย มีบทบาทอย่างสำคัญในการมอบอำนาจให้แก่คนที่อ่อนแอในสังคม เป็นผู้ที่มีอัจฉริยะทางการเมือง มีบุคลิกภาพที่ยิ่งใหญ่ มีอำนาจบารมีในทางสร้างสรรค์ สอนวิธีสัตยาเคราะห์ คือ การต่อต้านโดยสันติ เป็นผู้นำประชาชนชาวอินเดียเข้าต่อสู้กับจักรวรรดิอันเกรียงไกรของอังกฤษได้สำเร็จ เรียกร้องเอกราชอกราชที่มีรากฐานทางการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง กลับคืนสู่ประเทศด้วยหลักการแห่งอหิงสา คือ ความไม่เบียดเบียนตนเอง สังคม และเพื่อนมนุษย์ นอกจากนี้ สถานที่แสดงปฐมเทศนา พระเจ้าอโศกมหาราช ก็ทรงประดิษฐานศิลาใหญ่ไว้ ซึ่งมีชื่อเสียงที่สุด เพราะรูปเศียรสิงห์ทั้งสี่ บนยอดเสาศิลาจารึกนั้น ได้มาเป็นตราแผ่นดินของประเทศอินเดียในบัดนี้ และรูปพระธรรมจักรที่เทินอยู่บนหัวสิงห์ทั้งสี่นั้น ก็มาเป็นสัญลักษณ์อยู่กลางธงชาติอินเดียในปัจจุบัน และมีคำขวัญประจำประเทศว่า สตฺยเมว ชยเต แปลว่า ความจริงเท่านั้นจักมีชัย อนึ่ง การสร้างเสาหินในวัฒนธรรมอินเดียโบราณเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมีตำนานอธิบายว่า ตอนสร้างโลก พระอินทร์ได้สร้าง “เสาค้ำตะวัน” ขึ้นมา ดังนั้น การสร้างเสาหินของพระเจ้าอโศกมหาราช นอกจากจะเป็นการระลึกถึงการเสด็จมาของพระองค์แล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิของพระองค์ โดยทรงพยายามเทียบพระองค์กับพระอินทร์ผู้เป็นจักรพรรดิแห่งจักรวาล (ผศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี, 2556, หน้า 48).

  1. ระบบปิตาธิปไตยของพระเจ้าอโศกมหาราช

           พระเจ้าอโศกมหาราชทรงชี้วิถีทางอันเป็นมงคล (กรุณา–เรืองอุไร กุศลาสัย, 2549, หน้า 9-10) ว่า บุตรธิดา ควรเชื่อฟังถ้อยคำของบิดามารดา ผู้ควรแก่การคารวะ ควรได้รับความเคารพนอบน้อม ซึ่งในประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ว่า พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงบัญชาให้เลิกระบอบการประหารชีวิต ในศิลาจารึกแผ่นหนึ่งซึ่งค้นพบได้ ณ เมืองกาลิงค์ จะเห็นได้ว่า พระองค์ทรงมีพระทัยเป็นธรรมของกษัตริย์ที่มีต่อผู้ถูกคุมขัง ดังข้อความว่า “เรามีความปรารถนาที่จะให้ลูกหลานของเราประสบแต่ความสุขความเจริญในชีวิตนี้และชีวิตหน้า ฉันใด” เราก็มีความปรารถนาที่จะให้มนุษย์ทั่วหน้า มีความสุขความเจริญ ฉันนั้น ในการปกครองบ้านเมืองนั้น จะต้องมีบุคคลที่ได้รับโทษทัณฑ์ โดยมิได้กระทำความผิด พฤติกรรมที่ว่านี้ก่อให้เกิดความเศร้าสลดใจอย่างสุดซึ้งแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะฉะนั้น พระเจ้าอโศกมหาราช จึงทรงให้เดินอยู่บนทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) แห่งความเหมาะสม จากพระดำรัสในศิลาจารึกจะเห็นได้ว่า วัตถุประสงค์ในการจัดจารึกข้อความลงบนศิลา ก็เพื่อให้ผู้พิพากษาตุลาการทั้งหลายได้ใช้ความระมัดระวังโดยสม่ำเสมอ มิให้ผู้ปราศจากโทษต้องได้รับการลงโทษนั่นเอง

           พระเจ้าอโศกมหาราชทรงปกครองอาณาประชาราษฎร์ประดุจพ่อปกครองลูก (Paternalist) เรียกว่า ปิตาธิปไตย (Paternalism) คือ ระบบการปกครองแบบพ่อปกครองลูก ซึ่งการปกครองด้วยระบบ “พ่อปกครองลูก” นั้น ประเทศไทยในยุคสุโขทัย พ่อขุนรามคำแห่งมหาราช ก็ทรงมีพระราชจริยาวัตร เช่นเดียวกับพระเจ้าอโศกมหาราช ดังมีหลักฐานปรากฏอยู่ในศิลาจารึกสุโขทัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นประจักษ์พยานอยู่ เพราะลักษณะการปกครองสุโขทัยในระยะแรกนั้น เป็นการปกครองแบบนครรัฐ คือ แต่ละเมืองมีการปกครองเป็นอิสระ มีความสัมพันธ์กันแบบเครือญาติ ไม่มีศูนย์กลางการปกครอง มีการศึกสงครามเพื่อความมั่นคง หรือขยายอำนาจทางการเมือง ส่วนการปกครองพลเมืองใช้ระบบพ่อปกครองลูก ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงใช้หลักทศพิธราชธรรมปกครองไพร่ฟ้า ทำให้ประชาชนอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข พลเมืองมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ (ศิริวรรณ คุ้มโห้, 2547, หน้า 14) นอกจากนี้ การเมืองการปกครองในสุโขทัย มีการส่งเสริมอาชีพต่าง ๆ ให้ราษฎรอยู่ดีกินดี และระงับการเบียดเบียน เช่น ยึดทรัพย์ผู้อื่นมาเป็นของตน หรือการเก็บภาษีอากรอันเป็นภาระหนัก โดยนัยนี้ การปกครองในสมัยกรุงสุโขทัยนั้น จึงเป็นแบบพ่อปกครองลูก โดยอาศัยคำที่เรียกกษัตริย์ว่า “พ่อขุน” ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงอนุญาตให้ไพร่ฟ้าถวายฎีกา โดยวิธีไปตีกระดิ่งที่แขวนไว้ที่ปากประตูได้ แสดงให้เห็นว่า เป็นแบบพ่อปกครองลูกจริง ๆ (อุดม เชยกีวงศ์, 2549. หน้า 103).

           ระบบปิตาธิปไตยของพระเจ้าอโศกมหาราชนี้ จะเห็นได้ว่า ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นหลักการปกครองของพระพุทธเจ้า ที่ทรงปกครองสงฆ์สาวก ดังที่มีคำกล่าวว่า พุทธบิดา สังปริณายก (สังฆปิตโร สังฆปริณายกา พุทธัปปมุโข) สำหรับสาวกของพระพุทธเจ้าก็ได้นามว่า “พุทธบุตร ศากยบุตร” มีลักษณะเป็นระบบปิตาธิปไตยและระบบสามัคคีธรรม ถือหลักธรรมาธิปไตย คือ ธรรมเป็นอำนาจ มีพระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทน หรือเป็นกฎ กติกาของศาสนจักร และที่สำคัญพระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงเปลี่ยนความหมายของทรัพย์และอำนาจใหม่เป็นว่า ทรัพย์และอำนาจนั้น สามารถใช้เป็นเครื่องมือของธรรมได้ คือใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ ทำความดีงาม และประโยชน์สุขแก่ประชาชน โดยได้ทรงอุทิศพระองค์ให้แก่การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ตามแนวทางของพระพุทธเจ้า คือ โดยสันติวิธี ปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินด้วยพระปรีชาญาณ อันสามารถทำให้อินเดียมีความสมบูรณ์พูลสุข เช่น ทรงให้ขุดบ่อน้ำ ปลูกต้นไม้ สร้างถนนหนทางเชื่อมต่อให้กว้างขวางทั่วถึง สร้างที่พักคนเดินทาง สร้างอ่างเก็บน้ำ สร้างสถานพยาบาลคนและสัตว์ ให้การศึกษาแก่ประชาชน ทำศิลาจารึกประกาศธรรม แถลงเรื่องที่เป็นนโยบายของรัฐในทางธรรม ที่จะให้ผู้บริหารปกครองท้องถิ่นนำไปสั่งสอนประชาชน (ประยงค์ สุวรรณบุบผา, 2544, หน้า 145).

  1. วิเคราะห์การปกครองของพระเจ้าอโศกมหาราช

จารึกโองการพระเจ้าอโศกมหาราช ไม่มีแผ่นใดระบุถึงวิธีการปกครองของพระองค์ในระดับราชสำนัก ไม่บอกว่าทรงแบ่งงานเป็นกระทรวง-กรมอย่างไร นอกจากจะสันนิษฐานว่า คงเป็นแบบจตุสดมภ์และจตุรงคเสนา (ม้า รถ คช พล) มีการกล่าวถึง คณะมนตรี แต่ไม่ระบุตำแหน่งงาน ไม่กล่าวถึงการกำหนดชั้นข้าราชการ แต่อาจใช้ระบบอัศวศักดิ์ คือ เกียรติศักดิ์ตามจำนวนม้าสำหรับเสนาทหาร ไม่กล่าวถึงระบบตอบแทนข้าราชบริพารและระบบกฎหมายระบบศาลและราชทัณฑ์ แต่จารึกกล่าวถึงการลดหย่อนผ่อนโทษการอภัยโทษ การลงโทษแก่ผู้ทำสังฆเภท ตามข้อที่ 11 การระบุตำแหน่งข้าราชการหลายตำแหน่งดังข้อ 10.3, 10.12 ไม่เพียงพอที่จะให้เห็นภาพการจัดการปกครองส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้ แต่มีการระบุการปกครองในบางแคว้นที่มีพระบรมวงศ์ไปปกครอง ถ้าจะตั้งชื่อระบอบการปกครองของพระเจ้าอโศกมหาราชว่าเป็นแบบ “ธรรมาธิปไตย” ก็คงไม่ถนัดนัก เพราะธรรมาธิปไตยไม่ใช่ระบอบการปกครองและไม่ได้ใช้ธรรมะเป็นหลักกฎหมาย และการจัดระบบการบริหารและการลงโทษผู้ฝ่าฝืน คงจะเรียกได้แต่เพียงว่าพระองค์เป็น “พระมหาธรรมราชา” ในความหมายที่ว่า พระองค์ดำรงอยู่ในธรรม เช่น ทรงพยายามไม่เสวยเนื้อสัตว์ ทรงอดทนและให้อภัยแก่ผู้กระทำต่อพระองค์และทรงสั่งสอนธรรมะ และกวดขันให้ข้าราชบริพาร พระญาติวงศ์ ประพฤติธรรมสั่งสอนธรรมโดยทั่วกัน

อนึ่ง ไม่ปรากฏจากจารึกเหล่านี้ว่า ทรงปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบสามัคคีธรรม        ดังปรากฏในสมัยพุทธกาลหลายแคว้น เช่น แคว้นวัชชีของกษัตริย์ลิจฉวีและศากยะ เพราะไม่ได้กล่าวถึงการมีสภาและการตัดสินใจร่วมกัน ทั้งไม่ได้กล่าวถึงอปริหานิยธรรม 7 กลับปรากฏว่าทรงเป็นพระราชาที่ปกครองโดยเด็ดขาด จึงทรงใช้ระบอบประชาธิปไตยเต็มที่แต่เอนไปทางด้านปิตาธิปไตย และไม่ทรงนับพระองค์เป็นเทพเจ้า อย่างฟาโรห์ไอยคุปต์ หรือกษัตริย์เขมร กษัตริย์ญี่ปุ่น หรือสมมติเทวราชอย่างไทย ทรงให้จารึกพระนามว่า “ปิยทัสสี” ซึ่งอาจจะแปลได้ว่า เป็นผู้ที่เห็นแล้วเป็นที่รัก หรือ มีทัศน์ที่รักประชาชน และอธิบายว่า ทรง “เป็นที่รักแห่งทวยเทพ” ซึ่งเป็นการกล่าวตามหลักทางพุทธว่า เมื่อบุคคลเพียรปฏิบัติธรรมอย่างดีดังที่กล่าวถึงในข้อ 6,7 แล้ว เทพยดาก็จะมาคุ้มครองรักษานั่นเอง ส่วนในทัศนะของพระพุทธศาสนา สังคม และการเมือง จะเห็นได้ว่า ระบอบประชาธิปไตยนั้น หลักสำคัญที่จะทำให้ประชาธิปไตยเป็นประชาธิปไตยนั้น เราจะต้องมีความเคารพในความเป็นธรรม ในเหตุผล ในเมตตาธรรม ศรัทธาในมนุษยชาติ และความเคารพในเกียรติภูมิของมนุษย์ (จำนงค์ ทองประเสริฐ, 2539, หน้า 146).

พระราชจริยาวัตรของพระเจ้าอโศกมหาราช (พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี), http://www.vimuttayalaya.net) ในด้านรัฐประศาสโนบาย พระองค์ทรงถือหลัก “ธรรมวิชัย”  มุ่งเอาชนะจิตใจประชาชนโดยธรรม หรือเรียกอีกอย่างว่า “ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม” ทรงส่งเสริมกิจการสาธารณูปการ ประชาสงเคราะห์สวัสดิการสังคม และทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง ทำให้ชมพูทวีปในสมัยของพระองค์เป็นบ่อเกิดแห่งอารยธรรมแผ่ไพศาลทั่วไป ซึ่งพระราชจริยาวัตรของพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น แสดงถึงพระราชประสงค์ของพระองค์ที่มีต่อประชาชน หลักธรรมที่ทรงเห็นว่าเหมาะสมที่จะแนะนำให้ประชาชนและข้าราชการนำไปปฏิบัติ และพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติให้เป็นตัวอย่าง (สุลักษณ์ ศิวรักษ์ 2534, หน้า 219-220) กล่าวโดยสรุป อาจวางเป็นหัวข้อได้ ดังนี้

  1. ด้านการปกครองประเทศ

1) การปกครองแบบบิดากับบุตร โดยทรงอยู่ในฐานะ “พ่อ” ประชาชนเป็น “ลูก” ของพระองค์ มีความรักความเมตตาและความยุติธรรมเป็นพื้นฐานสำคัญ ข้าราชการที่คอยดูแลต่างพระเนตรพระกรรณเปรียบเสมือนพี่เลี้ยงของประชาชน

2) ถือประโยชน์สุขของประชาชนเป็นหลัก เน้นความยุติธรรมไม่ลำเอียง ถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด ข้าราชการต้องเป็นผู้ “บำบัดทุกข์บำรุงสุข” แท้จริง ดำเนินการให้เกิดความถูกต้อง ยุติธรรมทั่วไป

3) การจัดให้มีเจ้าหน้าที่สอนธรรมแก่ประชาชน คอยดูแลแนะนำประชาชนในทางความประพฤติ และการดำรงชีวิตอย่างทั่วถึง และวางระบบราชการคุมกันเป็นชั้น ๆ

4) การจัดบริการสาธารณประโยชน์ และสังคมสงเคราะห์ เช่น บ่อน้ำ ที่พักคนเดินทาง ปลูกสวน สงวนป่า ตั้งโอสถศาลา โรงพยาบาลสำหรับคนและสัตว์

  1. ด้านการปฏิบัติธรรม

1) เน้นทางการบริจาคแบ่งปัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วยทรัพย์สินและสิ่งของ แต่ทรงย้ำธรรมทานค่อนข้างมาก เพราะทรงเห็นว่าการให้ความรู้ความเข้าใจในทางด้านความพระพฤติ และการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

2) การคุ้มครองสัตว์ งดเว้นจากการเบียดเบียนสัตว์ โดยเฉพาะให้เลิกการฆ่าสัตว์บูชายัญอย่างเด็ดขาด พระองค์เองก็ทรงงดการเสวยเนื้อสัตว์ โดยค่อย ๆ ลดการฆ่าสัตว์เป็นอาหารลงตามลำดับจนไม่มีการฆ่า และไม่มีการเสวยเนื้อสัตว์ต่อไป

3) ให้ระงับการสนุกสนานบันเทิงมัวเมา แหล่งมั่วสุม รื่นเริงหันมาใฝ่ในกิจกรรมทางการปฏิบัติธรรมและเจริญปัญญา พระองค์ทรงทำเป็นตัวอย่างเช่นกัน คือ ทรงงดการล่าสัตว์ เปลี่ยนมาเป็น “ธรรมยาตรา” จาริกแสวงบุญ ไปยังปูชนียสถานต่าง ๆ คือ สถานที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ทรงแสดงปฐมเทศนา เสด็จดับขันธปรินิพพาน ทรงเยี่ยมเยียนราษฎรตามชนบทต่าง ๆ และแนะนำให้พวกเขาปฏิบัติธรรมแทนการประกอบพิธีกรรมมงคลต่าง ๆ

4) เน้นการปฏิบัติธรรมทางสังคม คือ ให้ทำหน้าที่ของตนที่มีต่อสังคมอย่างถูกต้องดีงาม เช่น เป็นบุตรธิดาให้เคารพเชื่อฟังบิดามารดา เป็นศิษย์ให้เคารพเชื่อฟังครูอาจารย์ เป็นนายจ้างให้เอาใจใส่ดูแลทาสและกรรมกร เป็นต้น

5) เน้นเสรีภาพในการนับถือศาสนา และความสามัคคีปรองดอง เอื้อเฟื้อ นับถือกันระหว่างศาสนา ต่าง ๆ ไม่ด่าบริภาษคำสอนของศาสนาอื่น หรือวิพากย์วิจารณ์สิ่งที่ศาสนิกนับถือของศาสนาอื่นและตรัสสอนว่า ให้ศาสนิกของศาสนาปฏิบัติตามหลักธรรมของศาสนาของตนอย่างเคร่งครัด ในขณะเดียวกันมิให้ดูถูกดูหมิ่นหรือเบียดเบียนศาสนาอื่น

ในที่สุดก็อาจจะกล่าวได้ว่า พระเจ้าอโศกมหาราชา มิได้สถาปนาลัทธิธรรมาธิปไตยทั้งในทางแนวปรัชญาและการกำหนดนโยบาย จึงปรากฏว่า ระบบธรรมราชาของพระองค์ไม่ยั่งยืนนัก เพราะราชวงศ์ของพระองค์ ซึ่งมีอำนาจครอบครองอาณาจักรเกือบทั้งหมดของคาบสมุทรอินเดียนั้นต้องสูญอำนาจไปหลังจากที่พระองค์สวรรคตเพียง 50 ปี

จากการศึกษาวิเคราะห์จารึกพระบรมราชโองการของพระเจ้าอโศกมหาราช ฉบับที่ 7 ซึ่งพบที่เดลฮี-โทปราแห่งเดียว ทรงปรารถว่า ทำไฉนประชาชน จะเจริญก้าวหน้าด้วยการเจริญทางธรรม แล้วทรงเห็นว่า ควรจัดให้มีการประกาศธรรม อบรมสั่งสอนธรรม และให้ข้าราชการทั้งหลายไปอบรมสั่งสอนธรรม และกล่าวถึงการทำนุบำรุงบ้านเมืองด้วยการปลูกต้นไม้ ใบไม้ผล ขุดบ่อน้ำ สร้างที่พักคนเดินทางและอ่างเก็บน้ำให้ข้าราชการอนุเคราะห์บรรพชิตทุกศาสนา ระบุธรรมที่ควรปฏิบัติ 6 ข้อ ให้ทำจารึกต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก และให้ลูกหลานของพระองค์เชื่อฟังความที่จารึกไว้ ทรงหวังว่า จารึกเหล่านั้นจักดำรงอยู่ตลอดไป จากจารึกฉบับที่ 7 นี้แสดงให้เห็นว่า พระเจ้าอโศกมหาราช ให้ความสำคัญกับการประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรม และการสาธารณสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ ศิลาจารึก ฉบับที่ 10.13 ทรงปรารถว่า เมื่อปีที่ 8 (พระชนม์ 42 พ.ศ. 226) เมื่อทำสงครามกับแคว้นกาลิงคะนั้น มีประชาชนถูกฆ่าแสนคน ถูกจับเป็นเชลยแสนห้าหมื่นคน อีกหลายเท่าล้มหายตายจากเป็นที่สลดพระทัยยิ่งนัก นับเป็นกรรมอันหนัก แต่ที่หนักกว่า คือ การที่สมณะพราหมณ์ผู้ประพฤติธรรม ก็ต้องพินาศลงด้วย จึงทรงยอมรับที่จะอดทนและอภัยโทษแต่ผู้ที่จะทำผิดต่อพระองค์ ทรงปรารถนาให้สัตว์ทั้งปวงปลอดภัย ทรงเห็นว่า ธรรมวิชัย เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ทรงสั่งสอนลูกหลานไม่ให้แสวงหาชัยชนะเพิ่มขึ้นอีก และพอใจในการให้อภัย และการลงโทษอาญาแต่น้อย จากศิลาจารึกฉบับนี้ แสดงให้เห็นว่า ระเบียบของรัฐหรือระเบียบของสังคมการเมืองใด ๆ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรัฐแบบใดก็ตามล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจาก สงคราม (war) และความรุนแรง (violence) ทั้งสิ้น แต่ภายใต้รัฐสมัยใหม่ ความรุนแรง และสงครามกลับเป็นสิ่งที่ถูกห้าม และถูกทำให้ขัดกับหลักนิติรัฐ รวมไปถึงขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับระเบียบการปกครอง ที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” คนธรรมดา ๆ หรือประชาชนของรัฐไม่สามารถที่จะประกาศสงครามหรือจับอาวุธมาสู้กับรัฐหรือฆ่ากันเองตามใจชอบได้

ศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น เมื่อวิเคราะห์ด้วยวิธีจำแนกหมวดหมู่แล้ว จะเห็นได้ชัดเจนว่า จารึกส่วนมากเป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมะ ที่ทรงแนะนำสั่งสอนแก่ประชาชน และพระจริยวัตร เพื่อบำรุงพระพุทธศาสนา และการแต่งตั้งข้าราชการ มอบงานให้ข้าราชการไปตรวจราชการและสั่งสอนธรรมะตามลำดับ นอกจากนี้ จารึกเหล่านี้ ไม่มีหลักใดบ่งชี้การจัดการปกครองคณะสงฆ์ หรือการแบ่งงานฝ่ายพุทธจักรและอาณาจักร ไม่มีการมอบหมายว่า พระภิกษุสงฆ์สำนักใดจะสั่งสอนธรรมส่วนใดที่ไหน แม้แต่การส่งสมณทูตออกไปเผยแผ่ธรรมะ 9 สาย ก็มิได้จารึกไว้ บอกแต่เพียงว่า ขอให้ลูกหลานของพระองค์หมั่นปฏิบัติธรรม หมั่นสั่งสอนอบรมคนและไม่แผ่อำนาจโดยใช้กำลังทหาร อาจเป็นไปได้ว่า    การปกครองโดยธรรมราชาทำให้ประเทศอ่อนแอไม่ตรงกับดำริของท่านพลาโต ว่าระบอบกษัตริย์ นักปราชญ์ (Philosopher King) ดีที่สุดและปรากฏหลายครั้งในประวัติศาสตร์ไทยว่า กษัตริย์ที่ทรงเคร่งครัดทางธรรมมักไม่ยั่งยืน ดังกรณีพระเจ้าลิไท พระมหาจักรพรรดิ พระเจ้าอุทุมพร เป็นต้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพลเมืองที่มีคุณภาพไม่เท่าเทียมกัน เพราะส่วนมากยังประกอบอกุศลกรรมเป็นอาจิณ มีความโลภ โกรธ หลง กลัวครอบงำ ฉะนั้น ถ้าไม่ใช้อำนาจของรัฐอย่างเต็มที่ก็ไม่สามารถรักษาความสงบภายในและการรุกรานจากภายนอกได้ ส่วนข้าราชบริพารอาจมีเพียงส่วนน้อยที่ตั้งใจปฏิบัติราชการตามพระประสงค์ ส่วนมากอาจจะแสวงหาความสุข อำนาจวาสนาบารมี อย่างไรก็ตาม หากเป็นระบอบการปกครองแบบสามัคคีธรรม จะก็มีความเข้มแข็ง ดังเช่น สหพันธรัฐ ในพุทธกาลนั้น มีแคว้นวัชชี ที่ปกครองโดยระบอบสามัคคีธรรม ที่มีระบอบการปกครองที่เข้มแข็ง มีเมืองหลวง คือ เมืองไพศาลี หรือ เวสาลี โดยมีพระเจ้าลิจฉวีปกครองโดยระบบสามัคคีธรรม (Republic State) หรือ สมาพันธรัฐ ซึ่งอำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครองมิได้อยู่ที่ประมุขของรัฐแต่เพียงผู้เดียว จะมีรัฐสภาเป็นผู้กำหนดนโยบายและมีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับกิจการบ้านเมือง รัฐสภาจะทำหน้าที่เลือกสมาชิกเป็นหัวหน้า ฝ่ายบริหาร เรียกว่า ราชา เป็นการรวมตัวกันของหลายๆ รัฐ แล้วเลือกผู้นำเข้ามาบริหารจัดการ ซึ่งเทียบเท่ากับระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน กล่าวคือ การปกครอง การกำหนดนโยบาย การออกกฎหมาย การตัดสินปัญหาต่าง ๆ ผู้ปกครองจะกระทำโดยมีการปรึกษาหารือกันก่อน มีการถือเสียงข้างมากในการตัดสิน (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2546, น. 659).

           การประยุกต์ระบบการบริหารการปกครองของพระเจ้าอโศกมหาราช โดยใช้ธรรมนำหน้าในโลกยุคปัจจุบันนั้น ก่อนอื่นต้องเข้าใจโลกยุคโลกาภิวัตน์เสียก่อน เพราะโลกยุคปัจจุบัน มีความเจริญทางวิทยาศาสตร์และวิทยาการทางวัตถุเป็นอย่างมาก ระบอบการปกครองที่สังคมมนุษย์วิวัฒน์มา 4-5 พันปี ก็มาได้บทสรุปว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นระบบที่ดีที่สุด เมื่อมีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและมีการตรวจสอบถ่วงดุลกันภายในองค์กรปกครองต่าง ๆ ความเจริญทางวัตถุทำให้รายได้บุคคลแตกต่างกันมากขึ้น ประชาชนจำนวนมากมีเวลามากขึ้น และใช้เวลาเหล่านั้นในทางแสวงหาความสนุกรื่นเริง ปล่อยให้นักวิชาการทำงานหนัก เพื่อคิดและผลิตสินค้าและบริการมาอำนวยความสุขแก่ประชาชนข้างมาก รัฐบาลระบอบประชาธิปไตยมีอำนาจในการตัดสินใจ เลือกดำเนินนโยบายแบบต่าง ๆ และส่วนมากก็จะดำเนินนโยบายประชานิยม เพื่อให้ประชาชนนิยมรัฐบาลของพรรคของตน อย่างไรก็ตาม รัฐเป็นหน่วยศีลธรรม (state is a moral entity) รัฐบาลที่ดีจะต้องส่งเสริมคุณธรรมในสังคม ขณะนี้ประเทศไทยพลเมืองจำนวนมากก็สนับสนุนการปฏิรูปการเมือง การปฏิรูปการบริหารราชการ การปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปการศาสนา และการปฏิรูปสวัสดิการ แต่ก็ยังไม่มีนโยบายปฏิรูปศีลธรรม วัฒนธรรม ซึ่งต้องทำโดยนโยบายลดละเลิกอบายมุข การปกครองโดยธรรมของพระเจ้าอโศกมหาราช หรือระบอบ “ธรรมราชา” ได้เกิดประโยชน์แก่ชาวโลกโดยเฉพาะชาวเอเชียเป็นอเนกอนันต์ เพราะถ้าไม่มีพระองค์ศาสนาพุทธก็ไม่แผ่ขยายมาตลอดทวีป พระเจ้าอนุรุธมหาราชแห่งพม่า และกษัตริย์วงศ์ศรีวิชัยก็คงไม่มีฐานธรรมวิชัยในยุคต่อมา ประเทศพม่า ไทย ลังกา เขมร ลาว ก็คงไม่เป็นแดนพุทธสายหินยานแบบเถรวาทอยู่ในทุกวันนี้ (ธรรมจักรดอทเน็ต, http://webmaster@dhammajak.net). ส่วนประเทศไทยระบบปิตาธิปไตยที่ปรากฏเห็นเด่นชัด ก็จัดอยู่ในยุคสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช รูปแบบระบบการเมืองเป็นแบบพ่อเมือง เป็นแบบบิดากับบุตร หรือแบบพ่อปกครองลูก เพราะรัฐหรือประเทศที่เริ่มมาจากระบบ หรือสถาบันครอบครัวเป็นปฐม (family institution) ซึ่งนานารัฐส่วนใหญ่ก็มีลักษณะเช่นนี้ แต่หากมองสุโขทัยตามทฤษฎีของอริสโตเติล ก็เป็นลักษณะ Rule by one ที่เป็นธรรม ปกครองโดยธรรม มีเมตตาจิตเหมือนบิดารักบุตร (ประยงค์ สุวรรณบุบผา, 2544, หน้า 215).

  1. สรุปว่า

สมัยจักรวรรดิเมารยะ (Maurya) ประมาณ 321-184 ปี ก่อนคริสต์ศักราช พระเจ้าจันทรคุปต์ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์เมารยะได้รวบรวมแว่นแคว้นในดินแดนชมพูทวีปให้เป็นปึกแผ่นภายใต้จักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่เป็นครั้งแรกของอินเดีย สมัยราชวงศ์เมารยะ พระพุทธศาสนาได้รับการอุปถัมภ์ให้เจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (Asoka) ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังดินแดนทั้งใกล้และไกล รวมทั้งดินแดนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเผยแผ่เข้าสู่แผ่นดินไทยในยุคสมัยที่ยังเป็นอาณาจักรทวารวดี พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทำสงครามครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดกับแคว้นกาลิงคะ ปัจจุบันคือรัฐโอริสสา ผลจากการชนะสงครามทำให้พระองค์สลดสังเวชพระทัยเป็นอย่างยิ่ง จนเป็นชนวนเหตุให้พระองค์ได้รับสมัญญานามว่า จัณฑาโศกราช คือ พระเจ้าอโศกผู้โหดเหี้ยม แต่หลังจากที่พระองค์หันมานับถือวิถีแห่งสันติและเมตตากรุณา อหิงสา ตามหลักการของพระพุทธศาสนา จึงทรงประกาศละเลิกสังคามวิชัยหันมาดำเนินนโยบายธรรมวิชัย ปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินด้วยพระปรีชาญาณ อันสามารถทำให้อินเดียมีความสมบูรณ์พูลสุข เช่น ทรงให้ขุดบ่อน้ำ ปลูกต้นไม้ สร้างถนนหนทางเชื่อมต่อให้กว้างขวางทั่วถึง สร้างที่พักคนเดินทาง สร้างอ่างเก็บน้ำ สร้างสถานพยาบาลคนและสัตว์ ให้การศึกษาแก่ประชาชน อุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ สร้างวิหาร 84,000 แห่ง เป็นศูนย์กลางการศึกษา และทำศิลาจารึกประกาศธรรม แถลงเรื่องที่เป็นนโยบายของรัฐในทางธรรม สื่อสารเสริมธรรมแก่ประชาชน ประกาศหลักการแห่งเสรีภาพแบบสมัครสมานทางศาสนา ตลอดจนอุปถัมภ์สังคายนาครั้งที่ 3 ขจัดภัยร้ายของพระพุทธศาสนาด้วยการขจัดพวกเดียรถีย์ปลอมบวช และส่งสมณทูต 9 สาย ไปประกาศพระศาสนาในแดนห่างไกล และที่สำคัญพระองค์ทรงเปลี่ยนแนวนโยบายในการบริหารแผ่นดินเสียใหม่จากสงครามวิชัยมาเป็น “ธรรมวิชัย” กล่าวคือ การมีชัยโดยธรรม เอาชนะใจกันด้วยความดี

           พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในพระพุทธศาสนาเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ในชมพูทวีป เป็นพระอัครศาสนูปถัมภกทั้งฝ่ายมหายาน และฝ่ายเถรวาท     ตามพระราชประวัติในคัมภีร์อโศกาวทานของฝ่ายมหายาน ในอรรถกถาสมันตปาสาทิกา คัมภีร์ทีปวงศ์ และคัมภีร์มหาวงศ์ของฝ่ายเถรวาท และทรงอุปถัมภ์ผู้ที่นับถือศาสนาเชน โดยการถวายถ้ำหลายแห่ง ให้แก่ศาสนิกเชน เพื่อไปประกอบพิธีทางศาสนา นอกจากนี้ พระองค์ทรงประกาศห้ามฆ่าสัตว์ ทรงสร้างโรงพยาบาลสำหรับคนและสัตว์ โรงพยาบาลสัตว์ จึงนับได้ว่าเป็นแห่งแรกของโลก ทรงดำเนินงานด้านสังคมสงเคราะห์ คือ สร้างโรงเลี้ยง คนทุพพลภาพ คนชรา เด็กอนาถา ทรงขุดบ่อน้ำสาธารณะทุกหนแห่ง ทั่วประเทศ ทรงปลูกต้นยาสมุนไพรให้เป็นทานแก่คนและสัตว์ทั่วประเทศ ต่อจากนั้น ก็เสด็จไปนมัสการสังเวชนียสถาน 4 ตำบลเป็นคนแรก และทรงสถาปนาให้เป็นสถานที่สักการะบูชาของพุทธศาสนิกชน    ในเวลาต่อมา นับว่าพระองค์เป็นอัครศาสนูปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง และต่อมาพระองค์ทรงได้สมัญญานามว่า ธรรมาโศก แปลว่า อโศกผู้ทรงธรรม อาจกล่าวได้ว่า พระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา พระนามของพระเจ้าอโศกมหาราชในศิลาจารึก จึงเรียกว่า “เทวานัมปิยทัสสี” แปลว่า กษัตริย์ผู้เป็นที่รักใคร่ของเทพเจ้า ส่วนในด้านการสั่งสอนธรรมะนั้น ทรงตั้งเจ้าหน้าที่กวดขันการปฏิบัติธรรม เรียกว่า ธรรมมหาอำมาตย์ มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความประพฤติของข้าราชการ และชักชวนประชาชนให้มุ่งปฏิบัติธรรม ข้าราชการปฏิบัติธรรมดีก็ทรงประทานรางวัลให้ ธรรมมหาอำมาตย์เหล่านี้ มีอยู่ประจำอยู่ทุกเมือง ทุกแคว้น ขึ้นตรงต่อพระองค์ ตรัสสั่งให้ไปประกาศแก่ชาวชนบทว่า ราษฎรทั้งหลายเป็นลูกของข้า ธรรมดาพ่อ ย่อมมีความปรารถนาดีในลูกของตน ฉันใด ข้าก็มีความปรารถนาให้ราษฎรทั้งหลาย มีความสุขทั้งในภพนี้ ภพหน้า ฉันนั้น ส่วนข้าราชการทั้งหลายอย่าโกงราษฎร ซึ่งเท่ากับโกงลูกของข้าด้วย ทรงดำเนินงานพระธรรมทูต ภายใต้การแนะนำของพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ พระองค์ได้ส่งคณะธรรมทูตออกไปประดิษฐานพระพุทธศาสนาในทิศต่าง ๆ ทั้งในอินเดียและต่างประเทศ ก่อนหน้ารัชสมัยของพระองค์นั้น พระพุทธศาสนามีแพร่หลายเพียงในเขตลุ่มแม่น้ำคงคาและยมุนาเท่านั้น แต่ถึงสมัยพระองค์กลายเป็นศาสนาที่แพร่หลายไปทั่วอินเดีย และในต่างประเทศ  อีกด้วย โดยเฉพาะต่างประเทศได้ส่งพระธรรมทูตไปถึงอัฟกานิสถาน ซีเรีย อียิปต์ และประเทศกรีกในยุโรป ฝรั่งชาติแรกที่นับถือพระพุทธศาสนาคือฝรั่งชาติกรีก และพระอรหันต์องค์แรกชื่อว่า พระโยนกธรรมรักขิต

ระบบการบริหารการปกครองของพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น แสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงยึดมั่นในหลักแห่งธรรมวิชัย คือ การชนะทางด้านจิตใจ ซึ่งเป็นชัยชนะอันสูงสุด เป็นชัยชนะแห่งธรรมที่สามารถเข้าถึงวิถีแห่งสันติและความสงบสุขอันแท้จริง การบริหารราชการแผ่นดินภายใต้นโยบายธรรมวิชัยนั้น สรุปใจความได้ว่า พระองค์ทรงใช้ระบอบประชาธิปไตยเต็มที่ แต่เอนไปทางด้านปิตาธิปไตย(Paternalism) คือ ทรงปกครองอาณาประชาราษฎร์ประดุจพ่อปกครองลูก (Paternalist) และพระองค์ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม ทรงส่งเสริมกิจการสาธารณูปการ สวัสดิการสังคม และทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม การจัดบริการสาธารณประโยชน์ และสังคมสงเคราะห์ เช่น บ่อน้ำ ที่พักคนเดินทาง ปลูกสวน สงวนป่า ตั้งโอสถศาลา หรืออาโรคยศาลา โรงพยาบาลสำหรับคนและสัตว์ ทรงให้ขุดบ่อน้ำ ปลูกต้นไม้ สร้างถนนหนทางเชื่อมต่อให้กว้างขวางทั่วถึง สร้างที่พักคนเดินทาง สร้างอ่างเก็บน้ำ สร้างสถานพยาบาลคนและสัตว์ ให้การศึกษาแก่ประชาชน ทำศิลาจารึกประกาศธรรม แถลงเรื่องที่เป็นนโยบายของรัฐในทางธรรม ที่จะให้ผู้บริหารปกครองท้องถิ่นนำไปสั่งสอนประชาชน ด้วยการไม่เข่นฆ่าล้างผลาญสังหารเพื่อนมนุษย์ ตั้งตนอยู่ในธรรม ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยการสร้างวัด แต่ตั้งธรรมมหาอำมาตย์ เป็นทูตแห่งธรรมในการเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอน โดยพระองค์ก็เสด็จ “ธรรมยาตรา” ไปยังพุทธสถานทุกหนทุกแห่งเพื่อศึกษา สืบค้น และเผยแผ่พระธรรมด้วยพระองค์เอง โดยมีข้าราชบริพาร    มุขมนตรี และประชาชนจำนวนมากโดยเสด็จกันเป็นขบวนใหญ่อย่างเอิกเกริกอย่างเป็นทางการ ซึ่งก่อให้เกิดเป็นราชประเพณีที่กษัตริย์ฝ่ายพุทธทุกพระองค์ทรงเจริญรอยตาม ดังพระดำรัสในศิลาจารึกแผ่นที่ 8 ว่า “ในอดีตกษัตริย์ทั้งหลายจะเสด็จประพาสป่าหาความรื่นรมย์ ออกล่าสัตว์ด้วยความสนุกสนานในแบบที่คล้าย ๆ กันนั้นอีก แต่หลังจากที่ได้ทรงราชาภิเษกแล้ว 10 ปี พระเจ้า  เทวานัมปิยทัสสีก็เสด็จไปยังสถานที่ตรัสรู้ เมื่อพระองค์เสด็จประพาสทางไกล พระองค์ก็จะทรงสนทนาปราศรัยและพระราชทานเงินทองแก่คนเฒ่าคนแก่ พระองค์ทรงสนทนากับประชาชนตามเมืองต่าง ๆ และทรงรับสั่งถามปัญหาเกี่ยวกับธรรมะ แล้วความสุขที่พระเจ้าเทวานัมปิยทัสสี ทรงได้รับจากการประพาสนั้นดีเท่า ๆ กับภาษีรายได้” นี้แสดงให้เห็นว่า หลังจากที่พระเจ้าอโศกได้หันมานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว พระองค์ได้เสด็จธรรมยาตราไปยังสังเวชนียสถานต่าง ๆ (จำนงค์ ทองประเสริฐ, 2539, หน้า 233) ด้วยทรงถือว่า ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ของพระองค์เป็นเสมือนลูกหลาน และทรงประทานเกียรติแก่มนุษย์ทั่วไปว่า เป็นพระประยูรญาติของพระองค์เอง ดังพระดำรัสในศิลาจารึกแผนที่ 13 ณ เมืองกาลสี (กรุณา–เรืองอุไร กุศลาสัย, 2549, หน้า 49) ใจความว่า

ปุตา ปโปตา เม อนํ นว วิชย ม วิชยตวิย มนิษุ.

ลูกของเรา หลานของเรา ตลอดจนเหลนของเราที่จะเกิดตามเรามา จะต้องไม่คิดถึงการทำสงครามอีกต่อไป

มนุษยชาติทั่วโลกแสวงหาสันติภาพ แต่สันติภาพนั้นมักมีอุปสรรคขวากหนามขวางกั้น ซึ่งมาในรูปแบบของอำนาจที่มุ่งหวังครอบครอง ความเข้าใจผิดเรื่องศาสนา เช่น การวิพากษ์วิจารณ์หลักคำสอน หรือรูปเคารพของศาสนาอื่น อันจะทำให้เกิดความแตกแยกทางความคิดด้านศาสนา ความเข้าใจผิดเรื่องชาติพันธุ์วรรณนา และผลประโยชน์ จึงเป็นชนวนเหตุให้เกิดการกำจัดทำลายล้าง กำจัดศัตรูของตน ปราบปรามหรือใช้อำนาจเข้าจัดการ และปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง แต่หลักการในพระพุทธศาสนานั้น สอนเรื่องการมองคนในสังคมว่า เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น ผู้คนจึงควรมีเมตตา กรุณา อหิงสา และมีขันติธรรมในการอยู่ร่วมกัน เพราะโลกร่มเย็นดับเข็ญได้ด้วยพระพุทธศาสนา

เนื้อหาโดย: Sirawat Kro0404
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
Sirawat Kro0404's profile


โพสท์โดย: Sirawat Kro0404
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
5 VOTES (5/5 จาก 1 คน)
VOTED: Sirawat Kro0404
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
รวมภาพเรียกรอยยิ้มประจำวันนี้ วันที่เป็นวันพฤหัส ที่กระแสน้องเสือ เอวา ที่สวนสัตว์เชียงใหม่กำลังมาแรงเด้อครับเด้อชายอายุ 50 ปีกลั้นอุจจาระเป็นเวลานาน ตรวจพบมะเร็งลำไส้ระยะที่ 3เเม่เลี้ยงเดี่ยว ป่วยมะเร็ง เจอเพื่อนบ้านเปิดเพลงดัง รุมด่า-ขู่ทำร้ายถึงหน้าบ้าน จบปรับ 500หนุ่มแคมป์ในป่าฝนอเมซอนตกใจสุดขีด เมื่อพบเห็นมดจำนวนกว่า 10 ล้านตัวกำลังทำลายเต็นท์ของเขาเพียง 3 วินาที หญิงสาวสามารถขโมยนมผงในร้านสะดวกซื้อโดยไม่มีใครเห็นคลั่งยาllอบดูสาวอาบน้ำ ประวัติพึ่งพ้นคุกสาวออฟฟิศพูดเล่นๆ ถ้าถูกลอตเตอรี่จะลาออกจากงาน สุดท้ายถูกจริงเปิดตัวแฟชั่นทนายสายหยุด ที่มาพร้อมกับเครื่องประดับสุดหรู ราคาต่อชิ้นไม่ธรรมดานักร้องวัย 16 ปีจาก American Idol ประกาศข่าวดี กำลังจะเป็นคุณพ่อ!รวมคำคมนักเลง กวนๆวัยรุ่นตั๊กแตนสีชมพูสุดแปลกในซัฟฟอล์ก: ผลงานของธรรมชาติที่หายากเตือนจากประสบการณ์จริง ที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรมาหา
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
รวม 50 แคปชั่นคำคม คนอกหัก รักเจ็บๆดาราสาว แวร์ โซว เคลียร์ชัด ไม่ใช่อักษรย่อ ว. ในข่าวค้างจ่ายค่าทำผม9 เมนู อาหารจานเดียว อาหารตามสั่ง กินแล้วตอบโจทย์ ดีต่อสุขภาพชายอายุ 50 ปีกลั้นอุจจาระเป็นเวลานาน ตรวจพบมะเร็งลำไส้ระยะที่ 3
กระทู้อื่นๆในบอร์ด สาระ เกร็ดน่ารู้
วิธีใช้ Postjung สร้างรายได้จากการเขียนกระทู้: เคล็ดลับที่คุณไม่ควรพลาด!"ตั๊กแตนสีชมพูสุดแปลกในซัฟฟอล์ก: ผลงานของธรรมชาติที่หายากคัลลินัน 2: ดาวเล็กแห่งแอฟริกา เพชรแห่งราชกกุธภัณฑ์อังกฤษ"เห็ดเรืองแสง (Omphalotus nidiformis): ความงดงามเรืองแสงกลางคืนจากธรรมชาติ
ตั้งกระทู้ใหม่