วิธีหลีกหนีโรคสมองเสื่อม ไม่อยากเป็นอัลไซเมอร์ มีวิธีป้องกันได้
สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
พันธุกรรม หากพ่อแม่เราเป็นโรคอัลไซเมอร์ ก็มีโอกาสเสี่ยงขึ้นถึง 50% จากยีนส์ที่ชื่อว่า APOE gene ซึ่งถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรม
อายุ เมื่อแก่ลง อายุสัก 65 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างมีนัยยะสำคัญ
เพศ ผู้หญิงมีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์ มากกว่า ผู้ชาย 3 ต่อ 2 คน เป็นผู้หญิงจึงต้องยิ่งระวังโรคนี้
วิธีที่จะช่วยให้ห่างไกลโรคสมองเสื่อม
1.เล่นเกม ฝึกสมอง ศึกษาเรียนรู้ไม่หยุด อย่าให้สมองหยุดการเรียนรู้สิ่งใหม่ เพราะสมองยิ่งใช้ ยิ่งฉลาด ยิ่งแข็งแรง การหมั่นศึกษาหาความรู้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นความรู้วิชาการ หรือแม้แต่การใช้สมองเพื่อเล่นเกม ก็นับเป็นการฝึกสมองอยู่ตลอดเวลา เป็นการช่วยลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ได้
2.อ้วนไปผอมไป ต้องรีบแก้ไขน้ำหนักตัว ควรรักษาน้ำหนักตัวให้ได้มาตรฐาน คือ มีดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่อ้วนลงพุง หรือผอมเป็นหนังหุ้มกระดูก ต้องจัดสรรการกิน การนอน และหมั่นออกกำลังกายลดไขมัน เพิ่มกล้ามเนื้อ ทำให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ
3.ดูแลหูให้ดี อย่าปล่อยให้หูเป็นอะไร หูตึง หูเสื่อม ได้ยินไม่ชัด จะทำให้การรับรู้เสียงต่าง ๆ แย่ลง สมองที่ทำหน้าที่แปลงเสียงเป็นความหมายจะค่อย ๆ ถูกปิดกั้น ส่งผลกระทบถึงสมองส่วนอื่น เป็นการเพิ่มปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ใครที่ชอบฟังเพลงเสียงดัง ๆ หรือทำงานอยู่ในที่ที่เสียงดัง ๆ ควรเลิก หรือหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะหูเสื่อมไว้ด้วย
4.รักษาความดันโลหิตให้เป็นปกติ ภาวะความดันโลหิตสูง ต้องกินยาควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนดึก ลดการปาร์ตี้ เลิกดื่มเหล้า ดื่มเบียร์ สูบบุหรี่ จำกัดการกินของเค็ม หวาน มัน อาหารรสจัดและอาหารแปรรูป
5.เบาหวาน ต้นเหตุอีกหลายโรค ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี เพราะผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจะส่งผลให้เป็นโรคอื่น ๆ ได้ อย่างเช่น โรคหลอดเลือดตีบ โรคหัวใจ รวมถึงอัลไซเมอร์ด้วย ควรพบแพทย์เป็นประจำ กินยาตามคำแนะนำ และควบคุมการกินให้ดีเพื่อสุขภาพโดยรวม
6.ไม่ซึมเศร้า อย่าเหงาคนเดียว หากพบว่า ตัวเองมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า ควรปรึกษาแพทย์และปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายบ่อย ๆ คิดบวก ไม่ตำหนิ หรือ คิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่ดื่มเหล้า หรือแก้ปัญหาด้วยการใช้ยา ทำตัวให้คึกคัก หาเวลาพักร้อนไปเที่ยวบ้าง เปิดโลกให้กว้าง การเดินทางพักร้อน จะช่วยให้สมองปลอดโปร่ง
7.เต้นแอโรบิก จ็อกกิ้ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ ทำเถอะได้หมด การออกกำลังกายแบบแอโรบิกให้หัวใจเต้นแรง เลือดสูบฉีด มีอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นระหว่าง 60-85% ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดจะดีมาก และควรออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ หรือจะฟิตกล้ามด้วยก็ได้นะ เพราะการมีกล้ามก็ทำให้ออกกำลังกายได้ดีขึ้นด้วย
8.เข้าสังคม ไม่อมทุกข์
การเข้าสังคม พบปะเพื่อนฝูง ได้พูดคุย ทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ เป็นการกระตุ้นการทำงานของสมอง ทำให้สมองทำงานได้ดีขึ้น เลือกทำกิจกรรมที่ชอบ อย่างเช่น เต้นรำ งานประดิษฐ์ ทำงานอาสาสมัคร เข้าร่วมชมรมร้องเพลง เข้าร่วมกลุ่มหรือชมรมต่าง ๆ หาโอกาสสร้างความบันเทิงให้ตัวเองได้หัวเราะ ท่องเที่ยว หรือเล่นกับเด็ก ๆ ก็จะช่วยให้สมองได้ใช้งานอยู่เสมอ









