'ใช้เงินเกินตัว' แก้ไขพฤติกรรมฟุ่มเฟือย ด้วย 'หลักจิตวิทยา'
สัญญาณเตือนของพฤติกรรมใช้เงินฟุ่มเฟือย
- ซื้อของที่ไม่จำเป็น หรือซื้อของที่เกินความต้องการ
- รู้สึกตื่นเต้น เคลิบเคลิ้ม หรือมีความสุขอย่างมากหลังได้ชอปปิง
- ใช้จ่ายเงินเกินตัว ซื้อของจนเป็นหนี้สิน
- โกหก หรือ ปิดบังครอบครัวเกี่ยวกับการใช้จ่าย
- รู้สึกผิด หรือ เสียใจหลังได้ชอปปิง แต่ก็ยังทำต่อไป
- ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมการชอปปิงของตนเองได้
เหตุผลที่แท้จริงของปัญหาใช้เงินเกินตัว ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ไม่ได้เกิดจากการที่ผู้คนไม่นิยมทำบัญชีรายรับรายจ่ายส่วนตัวเท่านั้น แต่มีเรื่องของ “จิตวิทยา” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ขวัญ หทัย นักวางแผนการเงินที่ได้รับการรับรองและนักบำบัดการเงินที่ได้รับการรับรองจาก Epiphany Financial Therapy กล่าวว่า “การแก้ปัญหาการใช้เงินเกินตัว จะมองแค่เรื่องการเงินอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องเจาะลึกลงไปถึงมิติทางจิตวิทยาของนิสัยการใช้จ่ายด้วย เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบยั่งยืน”
เหตุผลหลักที่ทำให้บางคนใช้เงินเกินตัว
1.แรงกดดันทางสังคม (Social Pressure)
ความอยากตามให้ทันคนอื่น อาจทำให้ผู้คนใช้จ่ายเกินตัว คือความเห็นส่วนหนึ่งของ เชอร์แมน สแตนด์เบอร์รี (Sherman Standberry) นักบัญชีและหุ้นส่วนผู้จัดการที่ My CPA Coach อธิบายเพิ่มว่า การซื้อของที่คนอื่นซื้อ เพื่อแสดงให้เห็นว่าตัวเองก็มีเงินซื้อเหมือนกัน อาจเป็นสิ่งที่น่าดึงดูดใจ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า รถยนต์ บ้าน หรือแม้แต่การไปทริปในวันหยุดพักผ่อน
ขวัญ หทัย กล่าวว่า “บางคนอาจมองว่าการใช้จ่าย เป็นรูปแบบหนึ่งของการพิสูจน์ตัวเองทางสังคม โดยโยงการซื้อของที่เป็นวัตถุมาที่คุณค่าในตัวเอง หรือ สถานะทางสังคม”
2.การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย (Lifestyle Creep)
เกิดขึ้นเมื่อค่าใช้จ่ายของเจ้าตัวเพิ่มขึ้นแบบไม่ตั้งใจ เมื่อรายได้เพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้ใช้เงินเยอะขึ้นตามไปด้วย อย่างเช่น การชอปปิง การออกไปกินข้าวนอกบ้านบ่อยขึ้นหลังได้ขึ้นเงินเดือน
แม้จะมีรายได้เพิ่มขึ้น กลับทำให้มองว่ายังไม่มากพอกับความต้องการของตัวเอง เพื่อป้องกันปัญหานี้ เชอร์แมน แนะนำว่าควรมีแผนการเงินที่ชัดเจน และที่สำคัญจำเป็นต้องย้อนกลับมาดูทุกครั้งเมื่อรายได้เพิ่มขึ้น “ซื่อสัตย์เรื่องค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและจัดสรรเงินให้เหมาะสม” เชอร์แมนกล่าว พร้อมย้ำว่าให้ตั้งเป้าว่าความตั้งใจในการใช้เงินคืออะไร
3.การใช้จ่ายตามอารมณ์ (Emotional Impulse Spending)
ข้อมูลจากการศึกษาเรื่อง The Benefits of Shopping Therapy โดย Ross School of Business แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน พบว่า การชอปปิงกับความเศร้ามักเกี่ยวข้องกัน โดยเฉพาะในช่วงที่รู้สึกว่าควบคุมชีวิตตัวเองไม่ได้ หลายคนจึงมองว่าการชอปปิงช่วยให้พวกเขาควบคุมอะไรบางอย่างได้ และรู้สึกดีขึ้นชั่วคราว
ขวัญ หทัย กล่าวว่า “การใช้เงินเกินตัวมักเป็นมากกว่าการตัดสินใจทางการเงินที่ผิด แต่ยังเป็นสัญญาณของปัจจัยทางอารมณ์หรือจิตใจที่แฝงอยู่ด้วย” การซื้อของตามอารมณ์ของบางคน คือ การหลีกหนีจากความเครียด หรือความเจ็บปวดทางอารมณ์ชั่วคราว แต่แท้จริงแล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องเท่าไรนัก แต่เมื่อเข้าใจปัจจัยที่กระทบกับอารมณ์ได้มากขึ้นก็จะช่วยให้สามารถรับมือได้ดีขึ้น โดยที่ไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายให้กับสิ่งที่ไม่จำเป็น
4.ไม่คำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อ (Not Accounting for Inflation)
ผู้บริโภคต้องแบกรับต้นทุนของสินค้าทุกประเภทที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 19% ระหว่างปี 2019-2023 และถ้าไม่ปรับพฤติกรรมการใช้เงินให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ก็อาจจะมารู้ทีหลังว่าตัวเองใช้จ่ายเกินตัวทุกเดือน
เชอร์แมน แนะนำว่า การใช้เครื่องมือต่าง ๆ อย่างเช่น เอไอ หรือ แอปพลิเคชัน เข้ามาช่วยจัดการและติดตามการใช้เงินก็จะช่วยลดปัญหา “ใช้เงินเกินตัว” ลงไปได้บ้าง
5.ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเครดิต (Credit Misconceptions)
“พอมีบัตรเครดิต ก็ทำให้รู้สึกเหมือนมีเงินเพิ่ม เลยใช้เงินเยอะเกินไป” เชอร์แมน กล่าวถึงกรณีใช้บัตรผ่อนของ
เพราะว่าความจริงแล้วเมื่อใช้บัตรเครดิตผ่อนสินค้าส่วนมากก็จำเป็นต้องจ่ายดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมด้วย หมายความว่าต้องเสียเงิน มากกว่า ราคาจริงของสินค้า และถ้าไม่สามารถจ่ายเงินได้ตามกำหนดในแต่ละรอบบิลก็จะยิ่งเป็นการสร้างหนี้สินให้ตัวเอง
3 วิธีง่าย ๆ ไม่ให้ใช้เงินเกินตัว
1.ตระหนักรู้พฤติกรรมทางการเงินของตัวเอง เริ่มจากการทำความเข้าใจว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้ใช้เงินเกินตัว เริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการทำรายรับรายจ่ายของตัวเองในเบื้องต้น เพื่อให้มองเห็นขีดจำกัดในการใช้จ่าย และนำไปสู่ควบคุมการใช้เงินของตัวเองให้มากขึ้น
2.เลือกระบบการจัดงบประมาณที่เหมาะสม คือ ระบบแบ่งเงินใส่ซอง หรือ Envelope System เป็นการนำเงินสดแบ่งเป็นหมวดหมู่ และใส่ซองไว้ เพื่อให้แน่ใจว่าใช้จ่ายไม่เกินงบที่ตั้งใจไว้
3.ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ การมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินคอยแนะนำตั้งแต่เรื่องพื้นฐาน ช่วยให้เข้าใจสาเหตุทางอารมณ์ที่ทำให้ใช้เงินเกินตัว เพื่อหาวิธีจัดการทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ และในบางกรณี อาจปรึกษานักจิตวิทยาร่วมด้วยได้
การแก้ปัญหา “ใช้เงินเกินตัว” ไม่ใช่เรื่องที่มองแค่มุมของวิธีวางแผนการเงินเท่านั้น แต่จำเป็นต้องเข้าใจพฤติกรรมของตัวเองเพื่อนำไปพิจารณาต่อในมุมมองด้านจิตวิทยาที่ส่งผลต่อการตัดสินใจใช้เงินด้วย





















