ลูกรัก-ลูกชังในที่ทำงาน ‘Favoritism’ เมื่อหัวหน้ามีลูกรักคนโปรดควรรับมืออย่างไร? เช็กสัญญาณของปัญหาการมีลูกรัก-ลูกชังในที่ทำงาน
ผลสำรวจของ McDonough School of Business จาก Georgetown University ระบุว่า ผู้บริหารระดับสูงกว่า 92% มีการเลือกปฏิบัติในการเลื่อนตำแหน่งให้แก่พนักงาน 1 ใน 4 ของผู้บริหาร ยอมรับว่า ตนเคยเลือกปฏิบัติในบริษัทของตนเอง
จากผลสำรวจดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า อคติของหัวหน้าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงทั่วไปในออฟฟิศ เกิดเป็นลูกรัก หรือพนักงานคนโปรดขึ้นมา สิ่งเหล่านี้อาจนำไปสู่ผลกระทบอันไม่เป็นธรรมได้
‘Favoritism’ หรือ การที่หัวหน้ามีลูกรัก-ลูกชัง คือ การที่หัวหน้าให้สิทธิพิเศษแก่ผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งสิทธิพิเศษที่ว่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลงานด้วย แต่เป็นเรื่องของการเลือกที่รักมักที่ชัง พูดอีกอย่าง คือ มันเป็นเรื่องของ “ความสัมพันธ์ส่วนตัว”
เช็กสัญญาณของปัญหาการมีลูกรัก-ลูกชังในที่ทำงาน
1.สังเกตเห็นว่าหัวหน้าใช้เวลาทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากเรื่องงานกับพนักงานคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะตอนพักเที่ยง หรือตอนทำงาน
2.เมื่อมีพนักงานคนหนึ่งทำไม่ดี อย่างเช่น มาสาย ขาดงาน หรือประสิทธิภาพการทำงานไม่ดี แทนที่หัวหน้าจะตักเตือน กลับหันมาปกป้องแทนเสียอย่างนั้น
3.มีการกระจายงานอย่างไม่เป็นธรรม อย่างเช่น บางคนได้งานที่สำคัญกว่า หรือง่ายกว่า ในขณะที่คนอื่น ๆ ได้แต่งานเดิม ๆ น่าเบื่อ ๆ
4.บางคนได้สิทธิพิเศษมากกว่าคนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นมีเวลาพักร้อนมากกว่า ได้ตำแหน่งโต๊ะทำงานดีกว่า หรือได้ใช้ทรัพย์สินของบริษัทมากกว่า
5.เพื่อนร่วมงานบางคนอยู่ดี ๆ ก็ได้เลื่อนขั้น ทั้ง ๆ ที่ผลงานไม่ได้ดีเท่าคนอื่น
6.หัวหน้ามองเห็นแต่ความดีความชอบของพนักงานคนใดคนหนึ่ง แต่พอพนักงานอีกคนทำได้ดีกลับไม่มีแม้แต่คำชื่นชม
7.เมื่อลูกน้องมีปัญหากัน หัวหน้าเลือกเข้าข้างใครคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ
วิธีรับมือกับหัวหน้าที่มีคนโปรดในใจ
1.อย่าเพิ่งกระโตกกระตาก การที่เรารู้สึกว่าหัวหน้าเลือกที่รักมักที่ชัง นั่นแปลว่าเราไม่ใช่ “ลูกรัก” ถ้าเราโวยวาย หรือแสดงปฏิกิริยาเชิงลบต่อพฤติกรรมของหัวหน้า อาจ ยิ่งทำให้เขาชอบเราน้อยลงไปอีกก็ได้ อย่ากระโตกกระตากไม่ได้หมายความว่าให้นิ่งเฉย เราสามารถเข้าไปพูดคุยกับหัวหน้าได้ว่าตอนนี้เรารู้สึกอย่างไร สิ่งสำคัญในการพูดคุย คือ ต้องเริ่มบทสนทนาอย่างใจเย็น และเป็นมืออาชีพที่สุด โฟกัสไปที่การหาทางออกร่วมกัน ต้องฟังความคิดเห็นของทางฝั่งหัวหน้าของเราด้วย เพื่อให้เป็นการสื่อสารแบบสองทาง
2.พัฒนาตัวเองให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ถ้าในวันนี้หัวหน้ายังมองไม่เห็นความดีความชอบของเรา ก็ให้พัฒนาตัวเองให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก ลองมองหาโอกาสให้ตัวเองได้เฉิดฉายและเปล่งประกาย อย่างเช่น ลองเสนอตัวและเข้าไปทำโปรเจกต์ หรืองานที่จะช่วยให้ได้แสดงทักษะและความสามารถ และคอยรายงานความคืบหน้าของโปรเจกต์นั้น ๆ ให้หัวหน้าฟังเรื่อย ๆ รวมถึงพยายามขอฟีดแบ็กจากหัวหน้าและนำไปพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นอยู่เสมอ
เมื่อเราสร้างคุณค่าให้ตัวเองได้แล้ว อย่างน้อยถ้าหัวหน้าไม่เห็น คนอื่นก็จะได้เห็นผลงานเราเป็นที่ประจักษ์ตาและความก้าวหน้าในอาชีพก็จะตามมาเอง
3.ละทิ้งอารมณ์ลบ ไม่ว่าจะเป็นความสับสนมึนงง ความโกรธ ความเสียใจ และความไม่เข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อารมณ์และความคิดเหล่านี้ จะเข้ามาบดบังวิสัยทัศน์ของเรา ทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดได้ ให้ถอดม่านบังตานี้ออก ละทิ้งอารมณ์ลบไป อย่าปล่อยให้อารมณ์นำทาง และหันมาประเมินสถานการณ์ตรงหน้าใหม่อีกครั้งว่าจะทำอย่างไรดี มันจะช่วยให้เรามองภาพตรงหน้าได้กว้างขวางและชัดเจนยิ่งขึ้น
4.แสดงความเป็นมืออาชีพในการทำงานอยู่เสมอ เราควรแสดงความเป็นมืออาชีพออกไปให้ชัดเจน ผ่านทั้งการทำงานและผลงานของเรา พร้อมกับทำงานในส่วนของเราให้ออกมาดีที่สุด
5.กำหนดขอบเขตการทำงานให้ชัดเจน เมื่อรู้ว่าจะต้องร่วมงานกับอีกฝ่าย แถมรู้มาว่าเขาทำงานไม่เลิศเท่าไหร่ เราอาจลองกำหนดขอบเขตให้ชัดเจนเลย ว่าเราจะรับผิดชอบส่วนไหนบ้าง และอีกฝ่ายต้องรับผิดชอบส่วนไหน เพื่อเป็นข้อพิสูจน์เชิงประจักษ์ ตลอดจนเป็นการเปรียบเทียบผลลัพธ์ให้หัวหน้าได้เห็นจากผลงานที่เกิดขึ้น
6.หาที่ปรึกษา เพราะคนที่อยู่นอกเหตุการณ์มักจะมองเรื่องราวต่าง ๆ ได้กว้างและรอบด้านกว่า โดยคนที่เราสามารถขอความช่วยเหลือได้คือ “ฝ่ายทรัพยากรบุคคล” จงจำไว้ว่าอย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือจากคนอื่น เมื่อถึงเวลาที่เราต้องการมันจริง ๆ
ในกรณีที่รู้สึกว่าสถานการณ์อันชวนอึดอัดนี้อยู่เหนือการควบคุม จนไม่สามารถรับมือไหวจริง ๆ เราอาจลองมองหาคนที่มีอำนาจมากพอจะจัดการเรื่องนี้ได้ อย่างเช่น ฝ่ายบุคคล ที่ต้องทำการประเมินและตรวจสอบพนักงานภายในองค์กร เราสามารถพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้ฝ่ายบุคคลเสนอทางออก หรือจัดการตามความเหมาะสม














