ประโยชน์ของมังคุด
ประโยชน์ของมังคุด ราชินีแห่งผลไม้ไทยที่ต้องลิ้มลอง สรรพคุณของมังคุด มีมากหลาย
วันนี้เรามีบทความเกี่ยวกับมังคุดมาฝาก
ย่างเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว นับว่าเป็นข่าวดีของคนทำไร่ทำสวนเพราะจะมีผลไม้ผลิดอกออกผลมาจำหน่ายแก่ผู้บริโภคมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เงาะน้อยหน่า หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งมังคุดซึ่งถือว่าเป็นผลไม้ที่อร่อยมากและยังได้ชื่อว่าเป็นราชินีของผลไม้ในประเทศไทยอีกด้วย วันนี้ทางกระปุกดอทคอมจึงได้นำความรู้และประโยชน์ของมังคุดมาฝากกันค่ะ
มังคุดกับความเป็นมา
มังคุดเป็นผลไม้ที่อยู่คู่คนไทยมานานแต่จะมีสักกี่คนที่รู้จักมังคุดได้เป็นอย่างดี ซึ่งมังคุดมีชื่อเรียกต่าง ๆและมีความเป็นมา ดังนี้
มังคุดชื่อภาษาอังกฤษคือ mangosteenมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Garcinia mangostana Linn. มีชื่อเรียกในภาษามลายูว่ามังกุสตาน manggustanภาษาอินโดนีเซียเรียกมังกีส ภาษาพม่าเรียกมิงกุทธี ภาษาสิงหลเรียกมังกุสเป็นพันธุ์ไม้ไม่ผลัดใบเขตร้อนชนิดหนึ่งเชื่อกันว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ที่หมู่เกาะซุนดาและหมู่เกาะโมลุกกะแพร่กระจายพันธุ์ไปสู่หมู่เกาะอินดีสตะวันตกเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 24 แล้วจึงไปสู่กัวเตมาลา ฮอนดูรัส ปานามา เอกวาดอร์ ไปจนถึงฮาวาย
ในประเทศไทยมีการปลูกมังคุดมานานแล้วเช่นกันเพราะมีกล่าวถึงในพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ในสมัยรัชกาลที่ 1 นอกจากนั้น ในบริเวณโรงพยาบาลศิริราชยังเคยเป็นที่ตั้งของวังที่มีชื่อว่า"วังสวนมังคุด"ในจดหมายเหตุของราชทูตจากศรีลังกาที่เข้ามาของพระสงฆ์ไทย ได้กล่าวว่ามังคุดเป็นหนึ่งในผลไม้ที่นำออกมารับรองคณะทูต
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของมังคุด
มังคุด มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ดังนี้
มังคุดเป็นไม้ยืนต้น สูง 10-12 เมตร ทุกส่วนมียางสีเหลือง ใบเดี่ยวเนื้อใบหนาและค่อนข้างเหนียวคล้ายหนัง หลังใบสีเขียวเข้มเป็นมันท้องใบสีอ่อนกว่า ดอกเดี่ยวหรือเป็นคู่ ออกที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่งสมบูรณ์เพศหรือแยกเพศ กลีบเลี้ยงสีเขียวอมเหลืองติดอยู่จนเป็นผลกลีบดอกสีแดง ฉ่ำน้ำ ผลเป็นผลสด ค่อนข้างกลม เปลือกนอกค่อนข้างแข็งเมื่อแก่เต็มที่มีสีม่วงแดง ยางสีเหลืองมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4-6 เซนติเมตร เนื้อในมีสีขาวฉ่ำน้ำ อาจมีเมล็ดอยู่ในเนื้อผลได้ขึ้นอยู่กับขนาดและอายุของผลจำนวนกลีบของเนื้อจะเท่ากับจำนวนกลีบดอกที่อยู่ด้านล่างของเปลือกเส้นผ่านศูนย์กลาง 3-5 เซนติเมตร
ส่วนของเนื้อผลที่กินได้ของมังคุดเป็นชั้นเอนโดคาร์ป (endocarp) ซึ่งพัฒนามาจากเปลือกหุ้มเมล็ดเรียกว่า aril มีสีขาว มีกลิ่นหอมส่วนล่างสุดของผลที่เป็นแถบสีเข้มที่ติดอยู่เรียงเป็นวงพัฒนามาจากปลายยอดเกสรตัวเมีย (stigma) มีจำนวนเท่ากับจำนวนเมล็ดภายในผลเมล็ดมังคุดเพาะยากและต้องได้รับความชื้นจนกว่าจะงอกเมล็ดมังคุดเกิดจากชั้นนิวเซลลาร์ ไม่ได้มาจากการปฏิสนธิเมล็ดจะงอกได้ทันทีเมื่อออกจากผลแต่จะตายทันทีที่แห้ง
มังคุดมีพันธุ์พื้นเมืองเพียงพันธุ์เดียว แต่ถ้าปลูกต่างบริเวณกันอาจมีความผันแปรไปได้บ้างในประเทศไทยจะพบความแตกต่างได้ระหว่างมังคุดในแถบภาคกลางหรือมังคุดเมืองนนท์ที่ผลเล็ก ขั้วยาว เปลือกบาง กับมังคุดปักษ์ใต้ที่ผลใหญ่กว่า ขั้วผลสั้นเปลือกหนา
ประโยชน์ของมังคุด สรรพคุณเพียบ
มังคุดเป็นผลไม้จากเอเชียที่ได้รับความนิยมมาก ได้รับขนานนามว่าเป็น "ราชินีของผลไม้"อาจเป็นเพราะด้วยลักษณะภายนอกของผลที่มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ที่หัวขั้วของผลคล้ายมงกุฎของพระราชินีส่วนเนื้อในก็มีสีขาวสะอาด มีรสชาติที่หวานอร่อย
- เนื้อมังคุด
มีการนำมังคุดมาประกอบอาหารบ้างทั้งอาหารคาว เช่น แกง ยำ และอาหารหวาน เช่น มังคุดลอยแก้ว แยมมังคุด มังคุดกวน มังคุดแช่อิ่มในจังหวัดนครศรีธรรมราชมีการทำมังคุดคัดด้วยการแกะเนื้อมังคุดห่ามออกมาเสียบไม้รับประทานในขณะที่ส่วนใหญ่จะนิยมรับประทางมังคุดสุกเป็นผลไม้ซึ่งมีประโยชน์ในการช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกายมีส่วนช่วยในการชะลอวัยและการเกิดริ้วรอยช่วยบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งสดใสอีก
นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันอาการไข้ (ไข้ระดับต่ำ)ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง ช่วยเพิ่มพลังงานแก่ร่างกายเพิ่มความกระปรี้กระเปร่ายับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิวออกฤทธิ์ต้านสิวอักเสบได้ดี และมีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคซึมเศร้าลดความเครียด
การรับประทานมังคุดเป็นประจำจะช่วยส่งเสริมให้มีสุขภาพจิตดี อารมณ์ดีอยู่เสมอช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกาย และลดไขมันที่ไม่ดีในเส้นเลือดมีส่วนช่วยป้องกันการเกิดเนื้องอกในร่างกาย มีสวนช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน ด้วยคุณสมบัติในการลดและควบคุมระดับน้ำตาลอีกด้วย
เนื้อมังคุด มีเส้นกากใยสูงช่วยเรื่องการขับถ่ายและมีวิตามินเกลือแร่สูงมาก เช่น กรดอินทรีย์ น้ำตาลแคลเซียม ฟอสฟอรัส และเหล็ก
- เปลือกมังคุด
ส่วนเปลือกของมังคุดมีสารให้รสฝาด คือแทนนิน แซนโทน (โดยเฉพาะแมงโกสติน)ซึ่งแทนนินมีฤทธิ์ฝาดสมาน ทำให้แผลหายเร็วส่วนแมงโกสตินช่วยลดอาการอักเสบและมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนองได้ดี ในทางยาสมุนไพร ใช้เปลือกมังคุดตากแห้งต้มกับน้ำหรือย่างไฟฝนกับน้ำปูนใส แก้ท้องเสีย เปลือกแห้งฝนกับน้ำปูนใสใช้รักษาอาการน้ำกัดเท้า แผลเปื่อย นอกจากนี้เปลือกมังคุดมีสารป้องกันเชื้อราเหมาะแก่การหมักปุ๋ยชาวโอรังอัสลีในรัฐเประ ประเทศมาเลเซีย ใช้เปลือกผลแห้งรักษาแผลเปิด
- น้ำมังคุด
น้ำมังคุดช่วยปรับระดับภูมิคุ้มกันให้สมดุล ด้วยการหลั่งสาร Interleukin Iและ Tumor Necrosis Factor ช่วยยับยั้งการหลั่งสารฮีสตามีนลดอาการแพ้ภูมิตนเอง (ในโรค SLE) และลดการอักเสบ ในผู้ป่วยเบาหวานตับเสื่อม ไตวาย ข้อเข่าเสื่อม ความดันโลหิตสูง โรคพาร์กินสันไทรอยด์เป็นพิษ ความผิดปกติของสมองอันเนื่องจากการอักเสบ
มังคุดกินแล้วอ้วนไหม
หลายคนสงสัยเหลือเกินว่ามังคุดกินแล้วจะอ้วนไหม เรามาดูกันดีกว่าว่าเป็นอย่างไร
แม้มังคุดจะมีรสชาติหวานแต่มีพลังงานต่ำ แคลอรี่น้อย จึงไม่ต้องกลัวอ้วนแถมทางการแพทย์นั้นยังยืนยันว่ามังคุดเป็นอาหารเสริมที่ดีซึ่งช่วยลดความอ้วนได้ด้วยมังคุดเป็นผลไม้ที่มีเส้นใยสูงจึงเป็นประโยชน์ต่อการขับถ่ายทำให้ท้องไม่อืด และป้องกันมะเร็งลำไส้ได้จึงนับว่าเป็นประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก
มังคุดมีกี่กิโลแคลอรี
ในมังคุด 100 กรัม จะมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้
แคลอรี 60-63
น้ำ 80.20-84.90 กรัม
โปรตีน 0.50-0.60 กรัม
ไขมัน 0.10-0.60 กรัม
แคลเซียม 0.01-8.00 มิลลิกรัม
เหล็ก 0.20-0.80 มิลลิกรัม
กรดแอสคอร์ปิก 1.0-2.00 มิลลิกรัม
คาร์โบไฮเดรต 14.30-15.60 กรัม
ใยอาหาร 5.00-5.10 กรัม
เถ้า 0.20-0.23 กรัม
ซูโครส กลูโคส ฟรุกโตส 16.42-16.62 กรัม
ฟอสฟอรัส 0.02-12.00 มิลลิกรัม
ไทอามีน 0.03 มิลลิกรัม
มังคุดป้องกันเชื้อ HIV หรือเปล่า
มังคุดมีประโยชน์นานัปการ ในส่วนของเชื้อเอชไอวี (HIV) นั้นมังคุดอาจจะไม่ได้ป้องกันเชื้อ HIV แต่ก็ช่วยยับยั้งเชื้อ HIV บางตัว โดยศ.พิชญ์ ศุภผล อาจารย์วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวไว้ดังนี้
เปลือกมังคุดมีคุณสมบัติมากหลายหากนำเปลือกด้านในของมังคุดมาผ่านกรรมวิธีพิเศษทางเคมีจะสามารถสกัดได้สารแซนโทน (Xanthones) ในปริมาณสูงซึ่งสารดังกล่าวมีสรรพคุณทางการแพทย์ที่สำคัญ คือ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ สมานแผล รักษาเซลล์มะเร็งฆ่าเชื้อก่อโรคทางเดินระบบหายใจร้ายแรงได้ และมีคุณสมบัติในการยับยั้งเชื้อไวรัส HIV บางตัว
เช่นเดียวกับ นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 323 เขียนโดย ภกญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร กล่าวว่าสารสกัดเมทานอลและสารจากเปลือกผลมังคุด ช่วยยับยั้งเอนไซม์โพรทีเอส (HIV-1 pro-tease)ซึ่งเป็นเชื้อที่จำเป็นต่อวงจรชีวิตของเชื้อ HIV และสารสกัดน้ำและสารสกัดเมทานอลจากเปลือกผลมังคุดยังสามารถยับยั้งเอนไซม์รีเวอร์สทรานสคริปเทส (reverse transcriptase) ในเชื้อ HIV อีกด้วย
มังคุดกับการรักษาโรคมะเร็ง
นอกจากจะยับยั้งเชื้อ HIV บางตัวแล้วมังคุดยังสามารถป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็งเกือบทุกชนิดได้โดยศูนย์วิจัยและพัฒนามังคุดไทย บริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ จำกัด (มหาชน) และ ม.เชียงใหม่ ได้ค้นพบสูตรสารต้านมะเร็งจากมังคุดทั้งลูก
โดยสารสกัดจากมังคุดช่วยสร้างเม็ดเลือดขาวชนิดทีเอช 1 (Th1) และ ทีเอช 17 (Th17) ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยกำจัดและป้องกันการก่อเกิดเซลล์มะเร็งเกือบทุกชนิดได้และน้ำมังคุดยังสร้างเม็ดเลือดขาวชนิดเทร็ก (Treg) ที่ช่วยจัดระเบียบให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันสมดุลขณะที่ผลทดลองกับผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะสุดท้ายพบว่าคนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากนี้หัวหน้าทีมวิจัย ศ.ดร.พิเชษฐ์ วิริยะจิตราผู้ก่อตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนามังคุดไทย กล่าวว่าสารสกัดจากมังคุดสามารถสร้างเม็ดเลือดขาว TH-1 ที่เป็นสารช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายและสามารถป้องกันโรคได้โดยเฉพาะเซลล์มะเร็ง
มังคุดต้มสุก หรือ มังคุดนึ่ง ดีจริงหรือ?
ปัจจุบันคนไทยมักนิยมวิธีการดูแลสุขภาพที่หลากหลายการนำเอามังคุดมาต้มหรือนึ่งเพื่อได้ประโยชน์จากเปลือกมังคุดก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่นิยมกันทำให้มีการแชร์วิธีนี้ในโลกสังคมออนไลน์และมีผู้พูดถึงกันอย่างมากเพราะเชื่อกันว่ากินมังคุดด้วยวิธีนี้แล้วจะช่วยป้องกันได้สารพัดโรคผิวพรรณจะสวย ผ่องใส ซึ่งวิธีดังกล่าวได้มีการอธิบายไว้ ดังนี้
เนื้อเปลือกของมังคุดมีสารแซนโทนมากกว่า 40 ชนิดหนึ่งในสารดังกล่าวมีสารแอลฟา-แมงโกสตินซึ่งเป็นผลึกสีเหลืองอยู่ภายในเนื้อเปลือกเป็นสารแซนโทนตัวหนึ่งในกลุ่มสารแซนโทนที่มีอยู่ทั้งหมดซึ่งละลายได้ในน้ำร้อน ทั้งนี้ยังมีสารแซนโทนตัวอื่น ๆ อีกที่อยู่ในรูปของไกลโคไซด์ ละลายได้ในน้ำ นอกจากกลุ่มสารแซนโทนแล้วในเนื้อเปลือกผลมังคุดยังมีกลุ่มสารแอนโทไซยานิและกลุ่มสารแทนนินแยกเป็นคอนเดนซ์แทนนิน ไฮโดรไลซาเบิลแทนนิน ซึ่งเป็นสารพวกโพลีฟีนอลเมื่อรวมกันเข้าแล้วจึงมีคุณสมบัติร่วมกันอย่างที่นำไปใช้กันอยู่
การต้ม หรือ การนึ่ง เป็นการทำเพื่อให้สารต่าง ๆที่มีอยู่ในเนื้อเปลือกมังคุดซึมออกมาการสกัดสารแบบนี้อาจจะได้สารที่เป็นประโยชน์ไม่มากนักแต่ก็เพียงพอต่อการนำไปใช้ประโยชน์ในการดูแลสุขภาพ ซึ่งสามารถทำได้ง่าย
อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ยังไม่มีข้อมูล งานวิจัยหรือการทดลองที่แน่ชัด ควรหาข้อมูลอย่างรอบคอบก่อนนำไปปฏิบัติ
น้ำหมักเปลือกมังคุดมีประโยชน์หรือโทษกันแน่
น้ำหมักเปลือกมังคุด คืออะไร มีประโยชน์หรือโทษอย่างไร มีการอธิบายไว้ ดังนี้
มังคุดเป็นผลไม้ที่เปลือกมีคุณประโยชน์สูงบางข้อมูลอ้างว่าหมักแค่เปลือกก็ได้คุณประโยชน์มหาศาลในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางก็นิยมนำเปลือกไปสกัดสารออกฤทธิ์เพื่อใช้ในการผลิตเครื่องสำอางแม้แต่น้ำมังคุดยังมีออกจำหน่ายเป็นบิวตี้ดริงค์ ในมังคุดมีสารที่เรียกว่าแซนโทน (xanthones) ซึ่งมีมากในเปลือก ผล และเมล็ด มีน้อยในเนื้อผลทำให้หลายคนที่มีความเชื่อเรื่องคุณประโยชน์ในเปลือกมังคุดนิยมทำน้ำหมักเปลือกมังคุดรับประทาน
ทั้งนี้อย.ได้มีการให้ข้อมูลว่า ในมังคุด มีสารแซนโทน (xanthones) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบ ลดความดันโลหิต ต้านมะเร็งและแก้แพ้อย่างไรก็ตาม ยังขาดข้อมูลการทดลองทางคลินิกที่สนับสนุนว่าการบริโภคมังคุดสามารถมีฤทธิ์รักษาโรคดังกล่าวได้จึงได้เตือนประชาชนผู้บริโภคว่า อย่าหลงเชื่อการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง โดยเฉพาะการหวังผลในการบำบัดรักษา หรือบรรเทาอาการของโรค
เมล็ดมังคุดทานได้ไหม
หลายคนชอบทานมังคุดเป็นอย่างมาก พอทานแล้วเคี้ยวเพลิน ๆ ก็อยากจะเคี้ยวเมล็ดมังคุดลงไปด้วยทั้งนี้การทานเมล็ดมังคุดนั้นไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด เพียงแต่เมล็ดมังคุดอาจมีรสฝาดทำให้ไม่นิยมทานกันเท่าที่ควรและอาจยังทำให้ติดคอเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ดังนั้นหลีกเลี่ยงการกลืนเมล็ดมังคุดเมล็ดใหญ่ ๆ ย่อมจะเป็นการดีกว่า
ทั้งนี้กองโภชนาการ กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า ปกติหลายคนมักจะทิ้งเปลือกและเมล็ดมังคุดไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะไม่ทราบประโยชน์ซึ่งความจริงแล้วในเมล็ดมังคุดมีกรดไลโนเลอิกที่ร่างกายต้องการและสร้างขึ้นไม่ได้ ต้องรับจากอาหารภายนอกเท่านั้นหากรับประทานมังคุดแล้วเคี้ยวเมล็ดกลืนไปด้วยจะได้รับประโยชน์จากกรดนี้
นอกจากนี้ นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 323 เขียนโดย ภกญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพรให้ข้อมูลว่าบางประเทศนิยมนำเมล็ดของมังคุดมาต้มหรือคั่วกินเป็นของว่างอีกด้วย
โทษของมังคุด
ในมังคุดมีสารแซนโทน (Xanthone) ในปริมาณมากแม้จะมีส่วนช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดการอักเสบ ลดความดันโลหิตช่วยต่อต้านการเกิดโรคมะเร็ง และอาการแพ้ต่าง ๆแต่ก็ยังขาดข้อมูลในการสนับสนุนว่ามังคุดจะสามารถรักษาอาการต่าง ๆ เหล่านี้ได้จริง ถึงแม้ยังไม่มีรายงานการศึกษาความเป็นพิษในมนุษย์แต่ก็พบอาการไม่พึงประสงค์หลายอย่างในแต่ละบุคคล เช่นมีอาการผิวหนังบวมแดง เป็นผื่นคันขึ้นตามตัว ปวดศีรษะ ปวดบริเวณข้อปวดกล้ามเนื้อ ท้องเสีย ถ่ายเหลว ลำไส้แปรปรวน เป็นต้น
นอกจากนี้มังคุดยังมีสารแทนนิน (Tannin) ที่อยู่ในเปลือกของมังคุดหากบริโภคมากเกินไปและต่อเนื่อง อาจจะทำให้เกิดเป็นพิษต่อตับ ไตการเกิดมะเร็งในร่องแก้ม ในทางเดินอาหารส่วนบนและยังไปลดจำนวนของเม็ดเลือดขาวจนทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดต่ำลงจากปกติ
ดังนั้นการรับประทานที่ดีที่สุดคือการรับประทานอย่างมีสติด้วยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลือกรับประทานผลไม้ให้หลากหลายไม่ซ้ำกันไม่อย่างนั้นผลไม้ที่มีประโยชน์มากมายมันอาจจะกลายเป็นโทษต่อร่างกายเสียเอง