ราชบุตรเขยทั้ง ๖ ของสามันตราช (ท้าวสามนต์) ในเรื่องสังข์ทอง เป็นใครมาจากไหน?
ในเรื่องสังข์ทอง หากไม่นับรวมตัวพระสังข์แล้ว ท้าวสามนต์จะมีราชบุตรเขย (พระชามาดา) อีก ๖ คนซึ่งได้อภิเษกกับพี่สาวของนางรจนาทั้ง ๖ นาง แม้ตามท้องเรื่องจะไม่ได้ระบุว่าทั้ง ๖ เขยเป็นใครมาจากไหน แต่เมื่อลองเทียบกับข้อมูลในพระไตรปิฎกก็พอช่วยให้อนุมานได้บ้าง
แต่ก่อนจะไปถึงประเด็นนั้น คงต้องให้เริ่มทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการปกครองในสมัยพุทธกาลซึ่งทั้ง ๑๖ มหาชนบทมีโครงสร้างแบบเดียวกัน (ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยอาจแตกต่างกันไป) สามารถแบ่งการปกครองออกเป็น ๔ ส่วน คือ
๑ ชนบท รึที่บางครั้งเรียกว่า แคว้น รึ อาณาจักร ประกอบด้วยนครจำนวนหลายๆ แห่งรวมเข้าด้วยกัน ตามความหมายแล้วสามารถเทียบได้กับประเทศในปัจจุบัน ซึ่งในแต่ละชนบทจะมีนคร ๑ แห่งเป็นศูนย์กลางการปกครอง เรียกว่า นครหลวง/มหานคร (มักใช้คำนำหน้าชื่อว่า กรุง เช่น กรุงโกสัมพีแห่งแคว้นวังสะ กรุงเวสาลีแห่งแคว้นวัชชี กรุงราชคฤห์แห่งแคว้นมคธ)
ตำแหน่งราชาผู้ปกครองของมหานครแต่ละแห่ง คือ ประเทศราช เทียบได้กับ มหาราช
หน้าที่หลักของประเทศราชผู้ปกครองของแต่ละชนบทคือการดูแลความสงบเรียบร้อยของนครต่างๆ ภายในขอบเขตชนบทที่ตนเป็นผู้ปกครอง
๒ นคร มีสถานะเป็นรัฐบรรณาการ รึเมืองขึ้นของมหานคร ซึ่งตั้งกระจัดกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ชนบท มีทั้งที่อยู่ใกล้และไกลจากมหานคร ในการนครต่างๆ มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชนบทมีหลากหลายวิธี แต่โดยหลักแล้วแบ่งได้ ๒ รูปแบบ คือ
๒.๑ นครภายนอก
นครภายนอก สามารถได้มาจากการที่นครอื่นเข้าสวามิภักดิ์ขอเข้าร่วม ทำการรบตีชิงมาได้ ฯลฯ เมื่อถูกควบรวมเป็นส่วนหนึ่งของชนบทแล้ว ราชาผู้ปกครองนครเหล่านี้จะได้รับตำแหน่งเป็น สามันตราช รึที่ตามนิทานพื้นบ้านได้ลดรูปคำเรียกลงมาเป็น ท้าวสามนต์ ผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครองและดูแลเฉพาะกิจการภายในนครของแต่ละองค์
๒.๒ นครภายใน
นครภายใน สามารถได้มาจากการที่จำนวนประชากรภายในมหานครเพิ่มขึ้นจนเริ่มแออัด พื้นที่ไม่พอให้อยู่อาศัย พระราชาจึงให้ประชุมเหล่าเศรษฐีประจำนครเพื่อคัดเลือกตัวแทนที่เป็นทายาทตระกูลเศรษฐีเหล่านั้น
อนึ่ง ตำแหน่งเศรษฐีประจำนครนี้ ไม่ใช่แค่รวยอย่างเดียวก็เป็นได้ แต่จะต้องได้รับการแต่งตั้งรับรองจากพระราชาก่อน โดยพิจารณาจากความมั่งคั่งและความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการ ฯลฯ ซี่งตำแหน่งเศรษฐีประจำนครยังถูกแบ่งออกเป็น ๓ ชั้นตามลำดับ ดังนี้ เศรษฐีชั้นที่ ๑ มั่งคั่งที่สุด > เศรษฐีชั้นที่ ๒ มั่งคั่งรองลงมา > เศรษฐีชั้นที่ ๓ มั่งคั่งน้อยที่สุด
สาเหตุที่ต้องจัดอันดับดังนี้ เพราะเศรษฐีประจำนครยังมีหน้าที่หลักคือการเป็นที่ปรึกษาด้านพาณิชย์และเศรษฐกิจของพระราชาด้วย
สาเหตุที่ให้ส่งแค่ทายาทเศรษฐีประจำนครออกไปสร้างเมืองแทนเศรษฐีประจำนคร เป็นเพราะการย้ายตระกูลเศรษฐีออกจากมหานครเป็นเรื่องใหญ่ที่สร้างความสั่นสะเทือนได้ทั้งมหานครเพราะมีผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจโดยตรง จึงต้องส่งทายาทเศรษฐีประจำนครพร้อมครอบครัวและบริวารออกไปแทน
คาดว่าแต่ละนครจะมีการกำหนดเพดานทรัพย์สินและความมั่งคั่งสำหรับจัดอันดับเศรษฐีประจำนครไว้แตกต่างกันตามสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ
เศรษฐีประจำนครเป็นตำแหน่งที่ใครๆ ก็เป็นได้หากอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ทางนครได้กำหนดไว้ ดังนั้น เศรษฐีชั้นเดียวกันจึงมีได้มากกว่า ๑ ราย เช่น เศรษฐีชั้นที่ ๓ อาจมีได้ ๕ ราย เป็นต้น
ทายาทตระกูลเศรษฐีที่ถูกเลือกโดยพิจารณาตามความเหมาะสมของเหล่าเศรษฐีตระกูลต่างๆ แล้ว จะได้รับสิทธิ์ให้นำครอบครัวพร้อมบริวารเดินทางออกจากมหานครไปบุกเบิกพื้นที่ภายนอกเพื่อสร้างนครแห่งใหม่ขึ้นในพื้นที่ห่างไกล เป็นการช่วยขยายขอบเขตของชนบทอีกทางหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ ทายาทเศรษฐีผู้สร้างนครจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเศรษฐีประจำนครแห่งใหม่ ซึ่งจะมีอำนาจการปกครองในระดับเดียวกับสามันตราช
โดยทั่วไป แต่ละนครจะมีระบบการปกครองในแบบของตน ไม่มีการแทรกแซงจากมหานครที่เป็นส่วนกลางโดยไม่จำเป็น ไม่ว่าจะเรื่องกฏหมาย ธรรมเนียมปฏิบัติ วัฒนธรรม ฯลฯ ไม่จำเป็นต้องยึดถือปฏิบัติตามอย่างส่วนกลางไปซะทั้งหมด
เหล่าสามันตราชและเศรษฐีผู้ปกครองของแต่ละนครมีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยขั้นพื้นฐานในพื้นที่ของตนและส่งบรรณาการแก่นครหลวงตามที่กำหนดตกลงกันไว้ รวมถึงคอยช่วยเหลือนครหลวงเมื่อถูกเรียก ขณะเดียวกันก็ได้รับการคุ้มครองจากมหานครตามสมควรเช่นกัน
๓ นิคม เกิดจากการรวมตัวกันของหลายๆ คาม (หมู่บ้านขนาดเล็กเรียกอีกอย่างว่า บ้านส่วย) จัดเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ นิคมเหล่านี้จะตั้งเรียงรายอยู่นอกเขตกำแพงของทั้งนครและมหานครรอบทิศทาง เป็นเหมือนไข่ขาวที่ล้อมรอบไข่แดง หากต้องการเดินทางเข้าสู่มหานครรึนครใด จะต้องผ่านนิคมต่างๆ ที่ตั้งเรียงรายซ้อนกันอยู่รอบๆ ก่อนซึ่ง นิคมเหล่านี้อาจมีอยู่หลายชั้นด้วยกัน
ตำแหน่งผู้ปกครองของแต่ละนิคมไม่ปรากฏคำเรียกแน่ชัด แต่หากเทียบตามนิทานพื้นบ้านของสยาม (ไทย) หลายๆ เรื่องแล้วอาจใช้คำว่า เศรษฐี ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มทายาทตระกูลเศรษฐีประจำนคร (รึมหานคร) ชั้นที่ ๒ ซึ่งมีความมั่งคั่งระดับปานกลาง ไม่มีทั้งทุนทรัพย์และกำลังคนที่มากพอให้เดินทางออกไปสร้างนครแห่งใหม่ในพื้นที่ห่างไกล แต่เมื่อภายในนครเริ่มแออัดจึงนำครอบครัวและบริวารออกมาบุกเบิกพื้นที่สร้างนิคมแห่งใหม่ที่นอกเขตกำแพงนครรึมหานครซึ่งอยู่ไม่ไกลจากนครรึมหานครเดิมของพวกตนมากนัก
ตัวอย่างเศรษฐีที่คาดว่าเป็นหัวหน้านิคมจากนิทานพื้นบ้านสยาม (ไทย) ได้แก่
เศรษฐีเมืองพิจิตร พ่อของ ๒ พี่น้อง (ฝาแฝด?) ตะเภาแก้วและตะเภาทอง จากเรื่องไกรทอง ซึ่งเป็นเศรษฐีที่ค่อนข้างกว้างขวางในชุมชนมากทีเดียว
ทารกเศรษฐี พ่อของนางเอื้อย จากเรื่องปลาบู่ทอง เศรษฐีรายนี้ดูไม่ค่อยได้เรื่องได้ราวเท่าไหร่ แต่ดูทรงแล้วก็น่าจะมีอิทธิพลในชุมชนเอาเรื่อง ไม่มีใครกล้ายุ่งด้วย แถมยังกร่างใช้ได้
หน้าที่หลักของเศรษฐีผู้ปกครองนิคมคือการดูแลความสงบเรียบร้อยขั้นพื้นฐานในพื้นที่ของตนและรวมรวมภาษีจากคามต่างๆ ภายในนิคมของตนมาส่งให้ทางการของแต่ละนครรึมหานคร ขณะเดียวกันมหานครรึนครก็จะช่วยปกป้องดูแลเหล่านิคมที่อยู่ในอาณาเขตของตนเป็นการแลกเปลี่ยน
๔ คาม หมู่บ้านขนาดเล็ก เรียกอีกอย่างว่า บ้านส่วย ประกอบด้วยเคหะ (บ้าน) จำนวนหลายๆ หลัง
ตำแหน่งผู้ปกครองในแต่ละคามคะเนว่าคงมีด้วยกัน ๒ รูปแบบ คือ
๔.๑ คามภายนอก
คามภายนอก เป็นชุมชนอิสระขนาดเล็ก คาดว่าคามกลุ่มนี้คัดเลือกตัวผู้นำกันเอง โดยตำแหน่งหัวหน้าคามภายนอก รึ คามที่ไม่ได้ปกครองโดยพวกเศรษฐีจะเรียกว่า คามณี รึเรียกอีกอย่างว่า นายบ้าน
๔.๒ คามภายใน
คามภายใน เป็นชุมชนที่ถูกสร้างโดยกลุ่มทายาทตระกูลเศรษฐีประจำนคร (รึมหานคร) ชั้นที่ ๓ ซึ่งมีความมั่งคั่งระดับน้อยที่สุด ไม่มีทั้งทุนทรัพย์และกำลังคนที่มากพอให้เดินทางออกไปสร้างนิคมแห่งใหม่ แต่เมื่อภายในนครเริ่มแออัดจึงนำครอบครัวและบริวารออกมาบุกเบิกพื้นที่สร้างคามแห่งใหม่ที่นอกเขตนิคมซึ่งอยู่ไม่ไกลจากนครรึมหานครเดิมของพวกตนมากนัก ทายาทเศรษฐีชั้นที่ ๓ จึงมีตำแหน่งเป็น เศรษฐีผู้ปกครองคาม
หน้าที่หลักของเศรษฐีผู้ปกครองคามคือการดูแลความสงบเรียบร้อยขั้นพื้นฐานในพื้นที่ของตนและเก็บรวบรวมภาษีจากเคหะ (บ้าน) แต่ละหลังภายในคามของตนไปส่งให้ผู้ปกครองนิคม
คาม รึ บ้านส่วย คือ ชุมชนที่พระราชามักประทานให้เศรษฐี เชื้อพระวงศ์ รึบุคคลผู้มีความสามารถได้ครอบครองคนละหลายๆ แห่ง และเรียกเก็บภาษีจากคามส่วนหนึ่งไว้เป็นของตนได้ รึหากมีความชอบใหญ่หลวงพระราชาอาจยกภาษีจากบ้านส่วยทั้งหมดให้เลยก็ได้ ผู้ได้ครองคามหลายแห่งจึงมีสถานะเป็นผู้ปกครองนิคมเช่นกัน เพราะได้ปกครองคามหลายแห่ง
ตำแหน่งผู้นำทั้งหมดของ นคร นิคม คาม ไม่ใช่ตำแหน่งที่ตายตัว หากถูกพบว่ามีปัญหา ทางมหานครซึ่งเป็นส่วนกลางสามารถเข้ามาช่วยแทรกแซงเปลี่ยนแปลงถอดถอนคนเก่าและแต่งตั้งคนใหม่ให้ได้ทุกเมื่อ
ทีนี้วกกลับมาเรื่องราชบุตรเขย (พระชามาดา) ทั้ง ๖ ของสามันตราช (ท้าวสามนต์) ในเรื่องสังข์ทองกันต่อ
จากโครงสร้างทางสังคมในสมัยพุทธกาลตามพระไตรปิฎกที่วิเคราะห์รวมรวมมาได้นี้ ทางเราคะเนได้ว่า ทั้ง ๖ คน น่าจะเป็นบุตรชายของเศรษฐีประจำนครของท้าวสามนต์เอง รึไม่ก็เป็นบุตรของพวกเศรษฐีที่ปกครองนิคมต่างๆ ซึ่งอยู่ในการปกครองของท้าวสามนต์นั้น ซึ่งตัวของท้าวสามนต์เองก็เป็นผู้ปกครองนครแห่งหนึ่งที่อยู่ในชนบท (อาณาจักร) ของท้าวยศวิมล บิดาของพระสังข์ทองอีกทีเช่นกัน