วิเคราะห์ตำนานกำเนิดฝาแฝดเจ้าลิจฉวีคู่แรกจากพระไตรปิฎกแบบคร่าวๆ
ตามตำนานระบุว่าทั้งคู่เดิมเกิดออกมาเป็นก้อนเนื้อสดสีแดงจึงถูกมเหสีใส่ในภาชนะ ๒ ชั้นนำไปทิ้งแม่น้ำแต่ก็ได้จารึกแผ่นทองลงตราประทับไว้ว่าเป็นเชื้อสายกษัตริย์แห่งพาราณสี แต่มีฤๅษีที่พำนักอยู่กับชนเผ่าเลี้ยงโคเร่ร่อนเก็บได้จึงนำมาไว้ที่อาศรม ครึ่งเดือนแรกก้อนเนื้อสดก็แบ่งตัวออกเป็น ๒ ชิ้น ครึ่งเดือนต่อมาก้อนเนื้อทั้งคู่ก็เกิดปัญจสาขา ครึ่งเดือนสุดท้ายก้อนเนื้อสดก็กลายเป็นทารกแฝดชายหญิง ตรงหน้าท้องของฝาแฝดเป็นผิวหนังบางใสเหมือนมณีจนมองทะลุผ่านได้เพราะเป็นรอยที่เกิดจากการแบ่งตัว ฤๅษีจึงตั้งชื่อฝาแฝดทั้งคู่ว่า ลิจฉวี เหมือนกัน ชนเผ่าเลี้ยงโคได้รับทั้งคู่ไปเลี้ยงต่อ
จุดตีความว่า เมื่อแรกเกิดฝาแฝดทั้งคู่มีหน้าท้องติดกันจึงถูกเข้าใจว่าเป็นกาลกิณีและถูกนำไปลอยน้ำโดยห่อร่างทั้งคู่ด้วยผ้าแดงผืนใหญ่จนดูเหมือนกัอนเนื้อสดแล้วใส่ในภาชนะ ๒ ชั้น จนฤๅษีท่านหนึ่งพบเข้าจึงเก็บมาดูแล และใช้เวลาครึ่งเดือนแรกผ่าตัดแยกร่างทั้งคู่ออกจากกัน แล้วห่อร่างในผ้าแดงวางนอนคู่กันเหมือนก้อนเนื้อสด ๒ ชิ้นเพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวหลังผ่าตัด ครึ่งเดือนต่อมาทารกแฝดก็เริ่มแข็งแรงขยับปัญจสาขาได้คล่องตัวไม่มีปัญหา ครึ่งเดือนสุดท้ายทารกแฝดก็หายดีเป็นปกติ โดยมีเพียงแผลเป็นจากการผ่าแยกบริเวณหน้าท้องเหลือทิ้งไว้ ชนเผ่าเลี้ยงโคจึงรับอุปการะดูแลต่อ
เมื่อฝาแฝดลิจฉวีอายุ ๑๖ แคว้นวัชชีถูกสถาปนาขึ้นโดยได้รับพระราชทานที่ดินสำหรับสร้างนครจากราชาแห่งพาราณสีหลังได้รับปัญจโครสที่ชาวเผ่าถวายจนพอพระทัย ชาววัชชีซึ่งเป็นชนเผ่าเลี้ยงโคได้สถาปนาเจ้าลิจฉวีกุมารขึ้นเป็นราชา และได้ประชุมกันตั้งกฎว่าพวกเขาจะไม่ยกสตรีจากภายนอกให้อภิเษกกับเจ้าลิจฉวี และจะไม่ยกสตรีจากภายในของเจ้าลิจฉวีให้อภิเษกกับใคร
จุดนี้รายละเอียดไม่ชัดเจน แต่คะเนว่า แผ่นทองลงตราประทับที่มเกสีของราชาแห่งพาราณสีใส่มาในภาชนะเมื่อแรกเกิดน่าจะมีส่วนสำคัญมาก คือถูกใช้เพื่อยืนยันสถานะของคู่แฝดลิจฉวีว่าเป็นเชื้อสายกษัตริย์จริง จึงเกิดการสร้างแคว้นวัชชีขึ้นในเวลาต่อมา ส่วนกฎเรื่องสตรีภายนอกและสตรีภายใน ไม่ใช่เรื่องการแต่งงานในสายเลือดเดียวกัน แต่ข้อห้ามเรื่องสตรีภายนอก คือ หญิงที่ไม่ใช่ชาววัชชี หมายถึง เหล่าพระกุมารในตระกูลเจ้าลิจฉวีสามารถอภิเษกกับหญิงที่เป็นชาววัชชีได้เท่านั้น ไม่สามารถอภิเษกกับสตรีภายนอกที่ไม่ใช่ชาววัชชีรวมถึงพระธิดาจากแคว้นอื่นได้ ส่วนข้อห้ามเรื่องสตรีภายใน คือ เหล่าพระธิดาในตระกูลเจ้าลิจฉวี หมายถึง เหล่าพระธิดาของเจ้าลิจฉวีสามารถอภิเษกกับชายที่เป็นชาววัชชีได้เท่านั้น ไม่สามารถอภิเษกกับชายภายนอกที่ไม่ใช่ชาววัชชีรวมถึงพระกุมารจากแคว้นอื่นได้ ซึ่งกฏ(รัฐธรรมนูญ?)นี้น่าจะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้แคว้นอื่นเข้ามาแทรกแซงกิจกรรมภายในของวัชชี และป้องกันไม่ให้เจ้าลิจฉวีตระกูลใดมีอำนาจเหนือตระกูลอื่นๆ เพราะเจ้าลิจฉวีมีอยู่ด้วยกัน ๘ ราชตระกูล(แต่อาจมีข้อยกเว้นหากผู้เป็นคู่ครองภายนอกของเจ้าลิจฉวีทำเรื่องโอนสัญชาติเปลี่ยนมาเป็นชาววัชชีและอยู่ภายใต้กฎหมายกฎมณเฑียรบาลของแคว้นวัชชีโดยสมบูรณ์ ก็สามารถอภิเษกได้ ไม่ขัดต่อกฎ)