พระเวสสันดรถูกเนรเทศเพราะอะไร?
กลุ่มคนผู้ร่วมกดดันให้เนรเทศพระเวสสันดรออกจากแคว้นสีพี ประกอบด้วย พวกคนที่มีชื่อเสียง พระราชบุตร (เชื้อพระวงศ์) ทั้งหลาย พ่อค้า (กลุ่มการค้า) ทั้งหลาย พราหมณ์ (นักวิชาการ) ทั้งหลาย ทั้งกองช้าง-กองม้า-กองรถ-กองราบ (จตุรงคินีเสนา ๔ เหล่าทัพ) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ทรงอิทธิพลต่อบ้านเมืองกันทั้งนั้น แล้วพวกเขาออกมาร่วมกดดันกันทำไมและเพื่ออะไร?
ประเด็นแรก คงต้องเริ่มที่ตัวช้างเผือกชื่อ ปัจจัยนาค มงคลหัตถีของพระเวสสันดร ซึ่งเป็นชนวนเหตุหลักของการกดดันกันก่อน อันช้างเผือกเชือกนี้ มีการอุปมาว่าร่างขาวดุจเขาไกรลาส ดังนั้นช้างเผือกเชือกนี้จึงควรจะเป็นช้างฉัททันต์ (ช้าง ๖ งา) ที่มีสีขาวเหมือนเงินยวงและเหาะได้ ตามข้อมูลระบุว่า พญาช้างฉัททันต์สูง ๘๘ ศอก (๔๔ เมตร)
ชนวนเหตุเริ่มจาก กาลิงครัฐเกิดฝนแล้งจัดทำให้พืชผลขาดแคลนและเกิดโจรขโมยขึ้น ชาวเมืองจึงรวมตัวกันไปกราบทูลให้พระเจ้ากาลิงครัฐหาทางแก้ไขแต่พระเจ้ากาลิงครัฐก็ทำไม่สำเร็จ ชาวกาลิงครัฐจึงประชุมกันจนได้ประชามติ คือ เสนอให้พระองค์ไปขอช้างเผือกมงคลจากพระเวสสันดรมา เพราะช้างปัจจัยนาคนั้นได้ชื่อว่าไปถึงที่ใดฝนก็ตก พระราชาจึงให้พราหมณ์ ๘ คนเป็นราชทูตไปเจรจาขอช้างปัจจัยนาคกลับกาลิงครัฐจนสำเร็จ กลุ่มผู้ทรงอิทธิพลทั้งหมดจึงรวมตัวกันปลุกระดมชาวสีพีให้เห็นว่าการให้มงคลหัตถีของพระเวสสันดรครั้งนี้ไม่ถูกต้อง ซึ่งเหตุผลที่กลุ่มคนเหล่านี้ยกขึ้นมาอ้างในอันดับต้นก็คงไม่พ้นเรื่องที่ช้างปัจจัยนาคสามารถเรียกฝนได้ โดยกล่าวหาว่าเมื่อขาดปัจจัยนาคกลุ่มชาวนาและเกษตรกรจะต้องเดือดร้อนเพราะขาดน้ำในการเพาะปลูก ทำให้ชาวเมืองเริ่มวิตกกังวล และที่สำคัญยิ่งกว่าการขาดน้ำคือ ปัจจัยนาคคือช้างฉัททันต์ที่ถูกฝึกมาอย่างดี สามารถใช้ในการศึกได้ ทั้งขนาดตัวและพละกำลังก็มหาศาลมาก ปัจจัยนาคจึงเป็นเหมือนอาวุธที่มีไว้เพื่อป้องกันการรุกรานจากศัตรูภายนอกและภายในได้ด้วย กลุ่มผู้ทรงอิทธิพลจึงสามารถยกเรื่องนี้ขึ้นมาขู่ชาวเมืองได้อีกว่า เมื่อไร้ปัจจัยนาคบ้านเมืองก็จะขาดเสถียรภาพด้านความมั่นคงและอาจตกเป็นเป้าโจมตีจากเมืองอื่นได้ง่ายๆ เพียงเท่านี้ก็ยิ่งทำให้ชาวเมืองหวาดกลัวง่ายยิ่งขึ้นไปอีก
ดังนั้นการขอยืมช้างปัจจัยนาคอาจไม่ได้มีนัยยะแค่นำไปแก้ฝนแล้ง แต่อาจเป็นการยืมไปใช้กำราบกลุ่มโจรที่กำลังก่อตัวในกาลิงครัฐให้สิ้นซากด้วยก็ได้ เพราะหากพระเวสสันดรไม่ยอมให้ยืมช้าง ก็อาจเกิดเหตุได้อีก ๒ ประการ คือ
ประการแรก กลุ่มโจรขโมยจากกาลิงครัฐต้องบุกเข้าปล้นสดมภ์ชายแดนแคว้นสีพีแน่นอนเพราะอุดมสมบูรณ์มากกว่าแคว้นกาลิงคะ ถ้าเลือกเพิ่มกำลังทหารตรึงกำลังบริเวณชายแดนแทนส่งช้างให้ยืม งานหยาบแน่นอน ไหนจะงบประมาณและทรัพยากรด้านกำลังพล ยุทโธปกรณ์ ตลอดจนเสบียงอาหารอีกบานตะไท กระทบต่อราคาสินค้าตามท้องตลาดแน่นอน
ประการที่สอง หากพระเวสสันดรไม่ให้ยืมช้าง ทางกาลิงครัฐอาจหันไปขอความช่วยเหลือจากแคว้นอื่นที่เป็นปรปักษ์กับแคว้นสีพีแทนหรือแคว้นที่เป็นปรปักษ์กับแคว้นสีพีนั่นล่ะที่จะยื่นมือเข้ามาแทรกแซงให้ความช่วยเหลือซึ่งอาจมาในรูปแบบของการทำสัญญาแลกเปลี่ยน เช่น หากช่วยเหลือแล้วทางแคว้นกาลิงคะที่เป็นเสมือนกันชนให้แคว้นสีพีจะต้องยอมให้แคว้นที่เป็นปรปักษ์กับแคว้นสีพีนั้นนำกำลังพลรบและยุทโธปกรณ์เข้าไปประจำการบริเวณชายแดนของแคว้นกาลิงคะที่ติดกับชายแดนของแคว้นสีพีได้ แล้วการมีกำลังพลและอาวุธของปรปักษ์ที่พร้อมเคลื่อนพลตลอดเวลามาจ่อติดชายแดนขนาดนั้นแคว้นสีพีจะปลอดภัยหรือ?
ทว่ากลุ่มผู้มีอิทธิพลแห่งสีพีได้พาชาวเมืองที่กำลังจับต้นชนปลายไม่ถูกไปร่วมกันกดดันพระเจ้าสัญชัยให้จัดการกับพระเวสสันดรเสีย หาไม่พวกเขาก็พร้อมกระทำให้พระองค์และพระเวสสันดรตกอยู่ในเงื้อมมือของพวกตนทันที (ที่พวกเขากล้าบีบพระองค์ให้จนมุมอาจเป็นเพราะสถานการณ์ในตอนนี้ทั้งพระเจ้าสัญชัยและพระเวสสันดรไม่มีช้างปัจจัยนาคที่พวกเขาต่างหวาดเกรงกันมาตลอดไว้คอยปกป้องอีกต่อไป) ซึ่งทางพระเจ้าสัญชัยที่ตอนนี้ไม่เหลือทั้งที่พึ่งและอำนาจใดๆ ไว้ต่อรองอีกเพราะทั้งเหล่าเชื้อพระวงศ์และทหารอีก ๔ เหล่าทัพก็ยังไปร่วมกดดันกับชาวเมืองด้วย พระองค์จึงใช้ไหวพริบลองหยั่งเชิงด้วยการบอกว่าพระองค์ไม่อาจประหารโอรสได้ ชาวเมืองจึงยื่นเงื่อนไขว่า ไม่ต้องถึงขั้นประหาร แค่แสดงความรับผิดชอบด้วยการเนรเทศพระเวสสันดรออกจากเมืองก็พอ พระเจ้าสัญชัยจึงยินยอมปฏิบัติตาม
การสูญเสียอำนาจในการต่อรองกับชาวเมือง คืออีกประเด็นที่น่าสนใจ การร่วมมือกันของกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลแห่งสีพีที่สามารถทำให้พระเจ้าสัญชัยแทบจะสิ้นอำนาจในการปกครองในพริบตาได้ขนาดนี้ คาดว่าพวกเขาคงไม่พอใจพระเจ้าสัญชัยกับพระเวสสันดรและคงคิดวางแผนกันมานานมากแต่ยังไม่สบโอกาส กระทั่งมีเหตุเรื่องปัจจัยนาคเข้ามาแทรก พวกเขาจึงได้ยกขึ้นมาเป็นข้ออ้าง เพราะหากพิจารณาตั้งแต่แรก การให้ทานของพระเวสสันดรไม่เคยก่อปัญหาใดๆ มาก่อน ไม่เคยมีใครเดือดร้อนทั้งผู้ให้และผู้รับ แล้วกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลแห่งสีพีเขาเดือดร้อนเสียหายอะไรกัน?
ประเด็นนี้คงต้องพิจารณาจากเหตุการณ์ตอนชูชกเดินทางไปสอบถามที่อยู่ของพระเวสันดรจากชาวสีพีเพื่อขอตัวพระกัณหา-ชาลี ทำให้ชาวสีพีระลึกขึ้นได้ว่าเป็นเพราะพวกพราหมณ์ขี้ขอนี้เองที่เป็นต้นเหตุทำให้พวกเขาต้องเสียพระเวสสันดรไปจึงขับไล่ชูชกออกจากเมือง แล้วอะไรที่ทำให้ชาวเมืองต้องมานั่งเสียใจในภายหลังเช่นนี้?
ย้อนกลับไปในสมัยที่พระเวสสันดรยังคงอยู่ในสีพีและแจกมหาทานอย่างไม่จำกัดอยู่ทุกๆ วัน ชาวเมืองทุกคนล้วนได้ประโยชน์ เพราะมหาทานของพระเวสสันดรเป็นเหมือนสวัสดิการสารพัดนึกที่ไร้เงื่อนไขข้อผูกมัด เมื่อพระเวสสันดรจากไปสวัสดิการก็ถูกยุติ ชาวเมืองอยากได้อะไรก็ต้องไปขวนขวายหาซื้อกันเองตามมีตามเกิดเพราะไม่มีใครจะให้ไปขอ และถึงกล้าขอก็คงไม่มีใครยอมให้ การหายไปของพระเวสสันดรจึงมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ที่สั่นคลอนได้ทั้งสังคมตั้งแต่ระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปจนถึงโครงสร้างการปกครองของเมืองสีพี เพราะหากพิจารณาในเรื่องที่พระเวสสันดรสามารถแจกจ่ายมหาทานได้เรื่อยๆ ไม่มีหยุด แสดงว่าพระองค์ต้องมีกำลังทรัพย์และสิ่งของไว้มากพอสำหรับแจกจ่ายในทุกๆ วันจนเป็นเรื่องปกติ แล้วพระเวสสันดรนำเงินและสิ่งของตั้งมากมายจากที่ไหนมาแจกชาวเมืองได้ทุกๆ วันไม่เคยขาด?
เรื่องจำนวนเงินนี้น่าจะมาจากส่วยและภาษีที่ถูกเก็บเข้าท้องพระคลังซึ่งส่วนหนึ่งจะถูกจัดสรรแบ่งไว้ใช้ในการทำทานและจัดซื้อสิ่งของต่างๆ มาใช้ในการบริจาค ซึ่งสมดุลย์ในการบริหารจัดการส่วนนี้เองที่ทำให้ตัวพระเวสสันดรไม่เคยต้องเดือดร้อนจากการทำทานเลย ทว่ากลับมีคนบางกลุ่มที่ต้องเดือดร้อนเพราะเสียผลประโยชน์จากทำทานของพระเวสสันดรอยู่
- เหล่าเชื้อพระวงศ์ คนกลุ่มนี้น่าจะไม่พอใจพระเจ้าสัญชัยและพระเวสสันดรด้วยเหตุผลด้านการใช้จ่าย เพราะการที่พระเจ้าสัญชัยอนุญาตให้พระเวสสันดรแบ่งทรัพย์ในท้องพระคลังบางส่วนไปใช้ในการทำทานบริจาค ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตนเองได้ส่วนแบ่งน้อยลง ทั้งยังทำให้ถูกเพ่งเล็งจากชาวเมืองจนไม่กล้าใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย ทำให้รู้สึกอึดอัดกันมานาน
อนึ่ง แม้พระเวสสันดรจะเป็นที่รักของชาวสีพีแต่ก็ยังไม่ใช่ราชา พวกเขาคงยังมีความหวังเล็กๆ อยู่ในใจว่าซักวันคงมีโอกาสได้ปกครองเมืองสีพีบ้าง ทว่าพระเวสสันดรก็มีคะแนนเสียงนำหน้าพวกตนหลายเท่าจากการให้มหาทานเป็นว่าเล่น ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่กล้าที่จะทำตามอย่าง แต่พวกเขาก็ทำอะไรไม่ได้เพราะไม่รู้จะเอาผิดพระเวสสันดรอย่างไร กระทั่งมีเรื่องช้างปัจจัยนาคเข้ามา พวกเขาจึงได้โอกาสเขี่ยพระเวสสันดรให้พ้นทาง
- กลุ่มการค้าต่างๆ คนกลุ่มนี้แม้จะได้รับประโยชน์จากการที่พระเวสสันดรซื้อสินค้าของพวกตนไปบริจาค ทว่าก็ได้รับความเดือดร้อนอยู่ไม่น้อย เพราะเมื่อพระเวสสันดรต้องซื้อสินค้าของพวกเขาอยู่ตลอด ก็ทำให้พระองค์สามารถทราบความเคลื่อนไหวและราคาของสินค้าต่างๆ ในท้องตลาดอยู่ตลอดเช่นกัน กลุ่มการค้าจึงไม่อาจทำการผูกขาด กักตุน ฉวยโอกาสขึ้นราคารึกดราคากันเองตามใจชอบได้เพราะมีทางการคอยตรวจสอบอยู่สม่ำเสมอ จึงไม่น่าแปลกที่ในกลุ่มคนที่เรียกร้องให้เนรเทศพระเวสสันดรจะมี"กลุ่มการค้า"อยู่ในนั้นด้วย
เพราะเมื่อพระเวสสันดรจากไป พวกเขาก็มีเสรีทางการค้ามากยิ่งขึ้น จะผูกขาด กักตุน กดราคา ขึ้นราคา หากำไรกันแบบไหนอย่างไรก็สามารถทำได้อย่างอิสระเต็มที่ไม่ต้องกลัวเกรง เพราะหากมีการแบ่งกำไรส่วนต่างจากการค้า (ที่เกินราคา) บางส่วนให้เหล่าเชื้อพระวงศ์ บรรดาเชื้อพระวงศ์ก็คงเต็มใจช่วยปกป้องให้เต็มที่อยู่แล้ว ผลประโยชน์ลงตัวมาก
- กลุ่มพราหมณ์ (นักวิชาการ) คนกลุ่มนี้มักได้ประโยชน์อยู่เสมอในยามบ้านเมืองเกิดวิกฤติ เพราะเมื่อชาวเมืองตลอดจนพระราชาเกิดความเดือดร้อนก็มักมาขอคำปรึกษาจากพวกเขาเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งพวกเขาก็สามารถแนะนำวิธีการต่างๆ เช่น ให้ทำพิธีบูชายัญแบบปลอมๆ ที่พวกเขาแต่งเรื่องกันขึ้นมาเอง ซึ่งพิธีเหล่านี้จะประกอบด้วยสิ่งของหลายอย่างที่มีราคาและค่าใช้จ่ายมหาศาล ที่เหมาะสำหรับการยักยอกทรัพย์มากเป็นอย่างยิ่ง
แต่เมื่อเมืองสีพีมีพระเวสสันดรคอยบริจาคทานแก้ไขความขัดสนให้ชาวเมืองอยู่ตลอดเวลา พวกเขาก็หมดช่องทางทำกินบนความเดือดร้อนของชาวบ้าน การร่วมมือกับเหล่าเชื้อพระวงศ์และกลุ่มการค้าเพื่อกำจัดพระเวสสันดรจึงไม่ใช่เรื่องแปลก
- ๔เหล่าทัพ (จตุรงคินีเสนา) คนกลุ่มนี้นับได้ว่าเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะเป็นฝ่ายที่ควบคุมกำลังรบทั้งหมด หากคนกลุ่มนี้เข้าอยู่กับฝ่ายใด ฝ่ายนั้นย่อมได้รับชัยชนะมาโดยง่าย
แต่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกลุ่มนี้กับพระเวสสันดรจะเกี่ยวกับการถูกตัดงบฯจัดซื้ออาวุธรึเปล่านั้น...ทางเราก็มิอาจทราบได้ แต่คาดว่าคนกลุ่มนี้คงไม่กล้าเคลื่อนไหวเองโดยพลการตามใจชอบแน่ๆ เพราะสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้สถานการณ์บานปลายจนควบคุมไม่ได้มากเกินไป จำเป็นต้องมีคนรึกลุ่มคนที่คอยคิดอ่านวางแผนการอย่างเป็นระบบและเฝ้าดูทิศทางของสังคมเป็นผู้นำอยู่อีกทอดหนึ่ง ซึ่งก็คงไม่พ้นเหล่าเชื้อพระวงศ์ กลุ่มการค้า และบรรดาพราหมณ์ ประจำเมืองสีพีที่คอยวางแผนกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวและจัดฉากให้ทั้ง ๔ เหล่าทัพทำทีเป็นนำทหารออกมาร่วมเคลื่อนไหวสนับสนุนประชาชน เป็นการ"โหนประชาชน"ให้ดูเหมือนว่าทหารและพวกตนก็อยู่เคียงข้างประชาชนในการต่อสู้เรียกร้องสิ่งที่คิดว่าถูกต้อง เพื่อใช้ให้ประชาชนเป็นตัวเบี้ยหมากแนวหน้าออกไปกดดันพระเจ้าสัญชัยอีกที ในขณะที่พวกตนก็คอยหลบอยู่แนวหลังคอยฟังสถานการณ์อยู่เงียบๆ ด้วยความสบายใจ พอแผนการสำเร็จก็มาแบ่งผลประโยชน์กันอีกที
การที่พระเวสสันดรกล้าตัดสินใจยกมงคลหัตถี"ของพระองค์"ให้กับทูตกาลิงครัฐที่กล้าเดินทางมาขอ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะพระองค์ได้ประเมิณสถานการณ์อย่างถี่ถ้วนแล้วว่า การให้ช้างเผือกเชือกนี้ไปไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อบ้านเมือง และถึงจะมีผลกระทบตามมาจริงพระองค์ก็สามารถหาวิธีแก้ไขได้
ทว่าชาวสีพีกลับเป็นฝ่ายที่ไม่เชื่อใจพระองค์ และไม่ยอมเปิดโอกาสให้พระองค์ได้มีเวลาลองพิสูจน์ตัวเองก่อนเลย
อีกประเด็นที่เหล่าแกนนำขับไล่พระเวสสันดรน่าจะนำมาใช้ปลุกระดมชาวเมืองได้คือ เรื่องของอาหารที่ใช้เลี้ยงช้างปัจจัยนาคที่เป็นช้างฉัททันต์คู่บารมีพระเวสสันดร ช้างฉัททันต์ที่โตเต็มที่สูงได้ ๘๐-๘๘ ศอก (๔๐-๔๔ เมตร) ต้องใช้ปริมาณอาหารมากขนาดไหนในการเลี้ยงดูแต่ละวัน ยิ่งพระเวสสันดรได้มาตั้งแต่ยังเป็นลูกช้าง เลี้ยงมาไม่น่าจะต่ำกว่า ๒๐ รึ ๓๐ ปี ปริมาณอาหารที่กินจะมากขนาดไหน พวกนี้อาจอ้างว่าอาหารที่ใช้เลี้ยงช้างเชือกนี้ก็มาจากภาษีประชาชนตลอดเวลาหลายสิบปี แต่พระเวสสันดรกลับยกช้างให้เมืองอื่นไปง่ายๆ ที่ชาวเมืองลงทุนลงแรงมาตลอดหลายสิบปีก็เท่ากับสูญเปล่า ยอมรับไม่ได้และไม่สมควรยอมรับ
ส่วนพระเจ้าสัญชัยนั้น การที่พระองค์ไม่ถูกเนรเทศตามโอรส อาจเพราะกลุ่มผู้มีอิทธิพลทั้ง ๕ ต้องการเก็บพระองค์ไว้ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองต่อไปเหมือนตอนที่บังคับให้พระองค์เป็นผู้ออกราชโองการเนรเทศโอรสของพระองค์ออกจากเมืองสีพีก็ได้ อีกทั้งการเก็บพระองค์ไว้ในเมืองสีพีก็คือการใช้พระองค์เป็นองค์ประกันไม่ให้เหล่าผู้สนับสนุนพระเวสสันดรสามารถลุกขึ้นต่อต้านใดๆ ได้เพราะตอนนี้ชีวิตของพระเจ้าสัญชัยได้ตกอยู่ในเงื้อมมือของพวกเขาเรียบร้อยแล้ว ทั้งยังสามารถใช้พระองค์เป็นโล่ห์ป้องกันไม่ให้บรรดาเมืองพันธมิตรของพระเจ้าสัญชัยและพระเวสสันดรคิดทำการบุ่มบ่ามได้อีกด้วย เป็นการป้องกันทั้งภายนอกและภายในสำหรับกลุ่มผู้มีอิทธิพลทั้ง ๕ ได้อย่างดี
อีกทั้งพระราชอำนาจของพระเจ้าสัญชัยน่าจะถูกจำกัดไว้ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมืองอีก หน้าที่ของพระองค์คงมีเพียงการคอยประทับตราลงนามอนุมัติโครงการต่างๆ ที่กลุ่มผู้มีอิทธิพลทั้ง ๕ คิดและเสนอขึ้นเพื่อให้พวกตนสามารถรีดไถผลประโยชน์จากประชาชนได้ตามใจชอบโดยถูกต้องตามกฎหมาย สถานะของพระเจ้าสัญชัยที่ถูกปล้นพระราชอำนาจโดยเบ็ดเสร็จไปแล้วจึงเป็นเพียงหุ่นเชิดที่คอยลงนามรับรองให้เรื่องที่ไม่ถูกต้องกลายเป็นเรื่องถูกกฎหมายเพียงเท่านั้น
แต่โชคยังดีที่ท้ายสุดพระเจ้าสัญชัยก็สามารถหลุดพ้นจากการเป็นองค์ประกันหุ่นเชิดในนครของพระองค์เองหลังจากพระชาลีราชกุมารหลานของพระองค์ได้ปะทะคารมกับเหล่าอำมาตย์ที่น่าจะเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อย่างห้าวหาญไร้ความยำเกรงใดๆ จนไม่มีใครสามารถคัดค้านโต้แย้งได้และกระตุ้นเตือนสติพระองค์ว่า การเนรเทศพระเวสสันดรเพราะถ้อยคำชาวเมืองนั้นไม่ถูกต้อง พระองค์จึงไปเชิญพระเวสสันดรกลับเมืองพร้อมสละราชสมบัติและอภิเษกให้พระเวสสันดรเป็นราชาปกครองสีพีนครต่อไปเพื่อแสดงความรับผิดชอบ สถานการณ์ทั้งหมดจึงสงบลงก่อนที่จะลุกลามบานปลายจนเกินยับยั้งแก้ไขได้
ซึ่งการที่จู่ๆ ก็สามารถเดินทางไปเชิญพระเวสสันดรพร้อมพระนางมัทรีกลับเมืองได้โดยง่ายแบบไม่มีใครคิดจะคัดค้านนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะทางกาลิงครัฐสามารถขจัดภัยจากความแล้งได้หมดสิ้นแล้วจึงส่งช้างปัจจัยนาคซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญทางการเมืองกลับสู่สีพีนครตามเดิมในช่วงนั้นพอดี ทำให้กลุ่มผู้มีอิทธิพลทั้ง ๕ ต้องจำใจคายพระราชอำนาจที่พวกตนสู้อุตส่าห์รวมหัวกันปล้นไปจนสำเร็จให้คืนกลับสู่พระเจ้าสัญชัยตามเดิม ทว่าแม้จะได้ช้างปัจจัยนาคกลับคืนมาแล้ว พระเจ้าสัญชัยก็คงยังไม่อาจรีบเชิญพระเวสสันดรกลับเมืองในทันทีได้เพราะยังไม่ทราบว่าพระเวสสันดรเป็นตายร้ายดีอย่างไร หากรีบเชิญตัวส่งเดชอาจกลายเป็นการกระตุ้นให้ฝ่ายตรงข้ามเร่งส่งคนไปลอบสังหารพระเวสสันดรรึอาจถูกฝ่ายตรงข้ามใช้พระเวสสันดรเป็นองค์ประกันขู่ให้พระเจ้าสัญชัยยอมสละบัลลังก์แต่โดยดีก็ได้ แต่เมื่อทราบจากพระชาลีว่า พระเวสสันดรยังคงปลอดภัยดี พระองค์จึงรีบไปเชิญกลับมาทันที
***อนึ่ง ในกุรุธรรมชาดก พระโพธิสัตว์เองก็ได้ประทานช้างมงคลคู่เมืองที่ชื่อ อัญชันสันนิภะ (อัญชันสันนิภา แปลว่า คล้ายเหมือนอัญชัน น่าจะเป็นช้างสายพันธุ์มังคละจากหิมพานต์ที่มีสีกายเหมือนดอกอัญชัน) เช่นกันแต่กลับไม่มีปัญหาใดๆ ตามมาเลย สมควรนำมาเทียบเคียงกับพระเวสสันดรเพื่อวิเคราะห์หาความเหมือน ความแตกต่าง และต้นเหตุของปัญหาได้ (เรื่องนี้สำคัญมากๆ)