ปลิง ที่น่าหยี มีประโยชน์อย่างไรนะ?
ประโยชน์ทางยาของปลิง
แพทย์แผนไทยใช้ปลิงเป็นเครื่องยาอย่างหนึ่ง โดยเผาไฟแล้วบดเป็นผง ตำราสรรพคุณยาโบราณว่าปลิง มีรสเย็น คาว ใช้โรยแผลมีหนองและแผลอักเสบบวม
ปลิงในตำรายาจีนตำรายาแห่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน(China Pharmacopoeia) ฉบับปีพ.ศ. ๒๕๔๓ รับรอง“ปลิง”เป็นเครื่องยาจีนอย่างหนึ่งภายใต้ชื่อเครื่องยาว่า Hirudo มีชื่อสามัญว่า leech หรือสุ่ยจื้อในภาษาจีน(สำเนียงแมนดาริน)
ปลิงในตำรายาฯดังกล่าวอาจได้จากปลิงแห้ง ๓ ชนิด
ในวงศ์ Hirudinidae คือ
ปลิงป่า [Whitmania pigra (Whitman)]
ปลิงยาว (Whitmania acranulata (Whitman)]
ปลิงญี่ปุ่น [Hirudo nipponia Whitman] ซึ่งพบในแหล่งน้ำจืดทั่วไปในประเทศจีน
ตามตำราฯ ว่า ปลิงมีสรรพคุณขจัดเลือดที่แข็งตัวและขับประจำเดือนจึงมีข้อบ่งใช้สำหรับภาวะบ่งระดู มีก้อนเลือดคลั่งในท้องและกรณีมีอาการบาดเจ็บหรือตกเลือดภายใน ขนาดที่ใช้ ๑.๕–๓ กรัม โดยห้ามใช้กับสตรีในระหว่างตั้งครรภ์
ในสมัยโบราณ แพทย์ในทวีปยุโรปใช้ปลิงน้ำจืดชนิด Hirudo medicinalis Linnaeus ในการรักษาผู้ป่วย โดยใช้ปลิงดูดเลือดตรงบริเวณที่เจ็บปวดหรือมีเลือดคลั่งมากเกินไป เพราะเป็นการเชื่อว่าเป็นการเอาเลือดคลั่งออกจากตัว
ในช่วงนี้ทุกหนแห่งในโลกต่างเผชิญกับสภาพภูมิอากาศแปรปรวนกันท่วนหน้า โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ปีนี้มีฝนตกค่อนข้างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นฝนในฤดูหรือฝนนอกฤดูก็ตาม สิ่งที่มากับฤดูฝนก็คือสัตว์มีพิษกัดต่อยทั้งหลาย นอกจากนี้ยังมีสัตว์อีกประเภทหนึ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปยามน้ำลดลงก็คือปลิง (leech) นั่นเอง
ปลิงเป็นสัตว์ที่ไม่มีพิษแต่เป็นสัตว์ที่ดูดเลือดสัตว์อื่นเป็นอาหาร ด้วยลักษณะเฉพาะของปลิงที่ดูดเลือดเป็นอาหารนั่นเองจึงนิยมใช้ปลิงในการบำบัดโรค (Leech therapy) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Hirudotherapy ตามชื่อสารฮฮิรูดิน (Hirudin) ซึ่งเราจะได้ทราบในรายละเอียดต่อไป
ปลิงเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง จัดอยู่ในไฟลัมแอนเนลิดา (phylum Annelida) ในซับคลาสฮิรูดินี (subclass Hirudinea)เป็นสัตว์สองเพศหรือกะเทย (hermaphrodites) ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืด มีบางชนิดที่พบอาศัยอยู่บนบก และในแหล่งน้ำเค็ม ดำรงชีวิตเป็นแบบปรสิตชั่วคราวดูดเลือด สัตว์อื่นกินเป็นอาหาร ความยาวของลำตัวตั้งแต่ 0.5 – 10 นิ้ว มีสีน้ำตาลไปจนกระทั่งสีดำ ลำตัวมีปล้องเห็นชัดเจนแต่ปล้อง ที่เห็นภายนอกลำตัวและภายในลำตัวมีจำนวนไม่เท่ากัน โดยปล้องภายนอกลำตัวมีประมาณ 102 ปล้อง ส่วนปล้องภายในลำตัวมี 32 ปล้อง ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ปล้องแรกทางด้านหน้าจะเป็นส่วนหัว มีสมองส่วนหน้าและมีปากที่มีอวัยวะดูดยึด (anterior sucker) ขนาดใหญ่ ถัดลงมาอีก 21 ปล้องจะเป็นช่วงลำตัวซึ่งมีปมประสาท (neuronal ganglia) อยู่ตลอดแนวลำตัวและมีอวัยวะสืบพันธุ์ ส่วนที่เหลืออีก 7 ปล้องสุดท้ายของลำตัวจะเชื่อมรวมกัน มีสมองส่วนท้ายและมีอวัยวะดูดยึดของส่วนท้ายลำตัว (tail sucker)
การใช้ปลิงในการบำบัดโรค พบว่ามีมานานแล้วตั้งแต่ในยุคสมัยกรีก โรมันและอาหรับ เมื่อประมาณกว่า 2,500 ปีที่ผ่านมา โดยคนในสมัยนั้นนิยมนำปลิงมาใช้ในการดูดเลือดเสียออกจากร่างกาย และในศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมาเริ่มทำในเชิงการค้าโดยมีการเพาะเลี้ยงปลิงและส่งออกขายให้กับทางโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อใช้ในการรักษาโรค ซึ่งปลิงที่พบในโลกนี้ที่ได้จำแนกชนิดแล้วมีมากถึง 600 สปีชีส์ แต่มีประมาณ 15 สปีชีส์เท่านั้นที่นิยมนำมาใช้ทางการแพทย์ (medicinal leeches) อาทิเช่น Hirudo medicinalis, Hirudo orientalis, Hirudo verbena, Hirudo troctina, Hirudinaria manillensis และ Macrobdella decora เป็นต้น ในธรรมชาติปลิงจะหาเหยื่อโดยการใช้ประสาทสัมผัสกับส่วนไขหรือน้ำมันที่อยู่บนผิวหนัง จากบาดแผลที่มีเลือด ความร้อน หรือคาร์บอนไดออกไซด์ที่หายใจออกมาจากเหยื่อ แต่ในทางการแพทย์ แพทย์จะใช้วิธีนำปลิงไปวางบนตำแหน่งที่ต้องการรักษา ซึ่งพบว่าแพทย์สามารถใช้ปลิงรักษาโรคต่อไปนี้ได้ เช่น ฝีหนองที่บวมอักเสบ โรคหัวใจ โรคไขข้อ โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดดำ โรคตึงเครียดของกล้ามเนื้อ การเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด หรืออาการปวดของกระดูกสันหลัง เป็นต้น นอกจากนี้ยังนิยมใช้ปลิงกับการทำศัลยกรรมพลาสติก (plastic surgery) อีกด้วย
บทบาทของปลิงในการบำบัดโรค เริ่มจากเมื่อปลิงสัมผัสกับผิวหนังคนไข้ มันจะเริ่มดูดเลือดและปล่อยน้ำลายออกมา ซึ่งในน้ำลายนี้จะมีเอนไซม์และสารประกอบหลายชนิดที่สามารถใช้ในการรักษาโรคได้ เช่น
– ฮิรูดิน (Hirudin): มีสมบัติช่วยในการยับยั้งการแข็งตัวของเลือดโดยจับกับทรอมบิน (thrombin)
– เคลิน (Calin): มีสมบัติยับยั้งการแข็งตัวของเลือด ยับยั้งการตกตะกอนของเกล็ดเลือดที่เป็น
คอลลาเจน
– เดสทาบิเลส (Destabilase): มีสมบัติเกี่ยวกับเกี่ยวกับการจดจำ ช่วยละลายไฟบริน (fibrin)
การเกิด การแข็งตัวของเลือดเป็นลิ่มเลือด
– ฮิรูสแทซิน (Hirustasin): มีสมบัติยับยั้ง ทริปซิน (trypsin) และไคโมทริปซิน (chymotrypsin)
– เดลลินส์ (Bdellins): มีสมบัติต้านการอักเสบ ยับยั้งทริปซิน พลาสมิน (plasmin) และอะโครซิน
(acrosin)
– ไฮอะลูโรนิเดส (Hialuronidase): มีสมบัติเป็นสารปฏิชีวนะ (antibiotic)
– ทริปเทสอินฮิบิเตอร์ (Tryptase inhibitor): ยับยั้งเอนไซม์โพรทีโอไลติก (proteolytic enzyme)
ใน เซลล์แมสท์ (mast cell) ของโฮสต์
– เอกลินส์ (Eglins): มีสมบัติต่อต้านการอักเสบ ยับยั้งกิจกรรมของแอลฟาไคโมทริปซิน และ
ไคแมส (chymase)
– คาร์บอกซิเพปทิเดสเออินฮิบิเตอร์ (Carboxipeptidase A inhibitors): มีสมบัติในการเพิ่มการ
ไหลเข้าของเลือดที่ตำแหน่งที่ถูกกัด
– สารวาโซดิเลติง (vasodilating agents): มีสมบัติช่วยในการขยายผนังหลอดเลือด
– สารที่มีสมบัติคล้ายฮิสทามีน (Histaminelike substances): มีสมบัติในการเพิ่มการไหลเข้าของ
เลือดที่ ตำแหน่งที่ถูกกัด และขยายหลอดเลือด
– อะซิทิลโคลีน (Acetylcholine): มีสมบัติในการขยายหลอดเลือด
– สารที่เป็นยาชา (Anesthetics substance): มีสมบัติเป็นยาชา
จากตัวอย่างของสารประกอบต่างๆ ที่พบในน้ำลายของปลิงที่กล่าวมาแล้วนี้ จะมีบทบาทในการทำงานร่วมกันในการบำบัดโรค โดยเริ่มจากเมื่อปลิงดูดเลือดจากคนไข้ สารฮิรูดินซึ่งมีสมบัติช่วยในการป้องกันการแข็งตัวของเลือดและสารเคลินซึ่งมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการแข็งตัวของเกล็ดเลือด สารเดสทาบิเลส ช่วยละลายลิ่มเลือดที่พบอยู่ในหลอดเลือด ซึ่งป็นการช่วยกำจัดความเสี่ยงก่อนที่ลิ่มเลือดจะไหลไปอุดตันอยู่ตามหลอดเลือดอาร์เตอรีและเวน รวมทั้งสารอีก 3 ชนิด ซึ่งประกอบด้วย สารที่มีสมบัติคล้ายกับฮิสทามีน อะซิติล โคลีน และคาร์บอกซิเพปทิเดส สารทั้งสามตัวนี้มีบทบาทช่วยในการขยายหลอดเลือด จึงทำให้เลือดไหลผ่านหลอดเลือดได้อย่างอิสระโดยไม่มีข้อจำกัด
ในระยะยาวพบว่าแพทย์มีการใช้ปลิงบำบัดโรคได้อย่างหลากหลายมากขึ้น เช่น ช่วยปรับความดันโลหิตสูงของคนไข้ รักษาคนไข้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดในสมองตีบให้เลือดสามารถไปเลี้ยงสมองได้ รักษาบาดแผลของผู้ป่วยโรคเบาหวาน เป็นต้น และในปัจจุบันนิยมใช้ปลิงในทางจุลศัลยกรรม (microsurgery) ค่อนข้างมาก โดยใช้ปลิงดูดเลือดในบริเวณที่หลอดเลือดมีการอุดตันเพื่อให้เลือดมีการไหลเวียนได้สะดวก ใช้รักษาซ่อมแซมบาดแผลบริเวณที่มีเนื้อเยื่อตายเพื่อกระตุ้นให้มีเลือดไหลเวียนมาเลี้ยงบริเวณบาดแผลนั้นจนสามารถซ่อมแซมเนื้อเยื่อขึ้นมาได้ใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่าในบางประเทศนิยมใช้ปลิงรักษาคนไข้ที่มีสิวอักเสบบนใบหน้ากันอย่างแพร่หลายอีกด้วย อย่างไรก็ตามการใช้ปลิงบำบัดควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา ไม่ควรนำปลิงมารักษาด้วยตนเองเพราะว่าแพทย์เท่านั้นที่จะบอกได้ว่าปลิงชนิดใดที่สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์โดยไม่เกิดอันตรายแก่คนไข้ได้