“ขับแล้วดี” ZEM รถไฟฟ้าคันแรกของโลกที่ขับแล้วมลพิษในอากาศลดลง
ZEM
“ขับแล้วดี” ZEM รถไฟฟ้าคันแรกของโลกที่ขับแล้วมลพิษในอากาศลดลง
ตอนนี้ทุกคนคงทราบว่าโลกกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ผลกรรมที่มนุษย์ก่อไว้กำลังกลับมาทำร้ายเราในรูปแบบของสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน คลื่นความร้อนแผดเผา อุณหภูมิในท้องทะเลสูงขึ้น หิมะขั้วโลกกำลังละลายในอัตราความเร็วที่ไม่มีเคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ ว่ากันง่าย ๆ โลกกำลังแย่ มนุษย์กำลังเผาบ้านที่ตัวเองอยู่ด้วยสองมือ
การขุดเจาะน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติมาเป็นพลังงานผลักดันให้เศรษฐกิจของโลกขยายใหญ่ขึ้น เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เรามาอยู่จุดนี้ ระบบนิเวศของโลกเหมือนถูกกักเอาไว้ในวังวนแห่งการล่มสลายที่หลุดออกไปไม่ได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ยังมีกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ ๆ ที่เชื่อว่าโลกยังมีความหวัง ยังพอมีเวลาที่จะรักษาและหลุดความเสียหายตรงนี้ลงได้ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกัน ด้วยการหันมาใช้เทคโนโลยีใหม่ที่ดีต่อโลกสำหรับการใช้ชีวิตในปัจจุบันให้มากขึ้น
มีเด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่ร่วมมือกันสร้างเทคโนโลยีนี้ขึ้นมา มีโอกาสเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เรารู้จักกันในปัจจุบันไปอีกด้านหนึ่งเลย เพราะมันคือรถไฟฟ้าคันแรกของโลกที่ขับแล้วมลพิษในอากาศลดลง เป็น “Carbon-Negative” (คาร์บอนเป็นลบ) ที่นอกจากจะไม่สร้างมลภาวะทางอากาศแล้ว ยังกำจัดมลภาวะในอากาศให้น้อยลงไปด้วย
เพื่อให้เข้าใจบริบทโดยรวม ตอนนี้เราเห็นรถไฟฟ้า (Electric Vehicles) หรือที่เรียกว่า EVs ที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมันดีกว่ารถยนต์สันดาปแบบดั้งเดิมเยอะมาก แต่เราต้องทราบด้วยว่า EVs ไม่ได้สะอาดไปซะทั้งหมดทีเดียว ในระยะยาวอาจจะดีกว่ารถยนต์สันดาปทั่วไป แต่ในส่วนของการผลิตรถยนต์ EVs โดยเฉพาะแบตเตอรี่ที่ต้องใช้แร่หายากอย่างโคบอลต์และอื่น ๆ นั้นทำกระบวนการผลิตสร้างคาร์บอนเยอะกว่าการผลิตรถยนต์ทั่วไปอีก และแน่นอนการชาร์จแบตเตอรี่ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าซึ่งเอาอย่างในบ้านเราก็ได้ที่พลังงานไฟฟ้าส่วนใหญ่มาจากก๊าซธรรมชาติ เพราะฉะนั้นจะบอกว่าการใช้รถยนต์ EVs คือดีต่อโลกกว่ารถยนต์สันดาปทั่วไปไหม ในระยะยาวก็คงใช่ แต่ถ้ามันมีทางเลือกที่ดีกว่าล่ะ? เพราะสุดท้ายแล้วการปล่อยคาร์บอนก็ยังส่งผลเสียอยู่ดี
ทีมนักศึกษา 35 คนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีไอนด์โฮเฟิน (Eindhoven) ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้เห็นปัญหาตรงนี้ว่ายังไม่ได้ถูกแก้ไขอย่างแท้จริง จึงร่วมมือกันสร้างรถยนต์ต้นแบบคาร์บอนเป็นศูนย์ตลอดอายุการใช้งาน จนกลายมาเป็น ZEM รถยนต์ไฟฟ้าสองที่นั่งใช้เทคโนโลยีที่ชื่อว่า Direct Air Capture (DAC) หรือการดูดอากาศเข้าสู่ตัวเครื่องแล้วสกัดเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากอากาศ กักเก็บเอาไว้และสามารถแปรสภาพเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอย่างอื่นต่อไปได้เลย ซึ่งรถยนต์คันนี้แตกต่างจากบริษัทอื่น ๆ ที่ใช้ DAC นิดหนึ่งตรงที่ว่าไม่ต้องใช้พัดลมเพื่อดูดอากาศเข้ามา เพราะระหว่างที่ขับขี่ลมจะไหลผ่านตะแกรงหน้ารถเพื่อเริ่มกระบวนการดักจับคาร์บอนแบบอัตโนมัติ
ทางทีมได้ทำการทดสอบและคำนวณออกมาว่าถ้าเราขับรถปีละ 20,000 ไมล์ จะสามารถดักจับคาร์บอนได้ประมาณ 2 กิโลกรัม ซึ่งอาจจะดูไม่เยอะเพราะปกติแล้วรถยนต์คันหนึ่งปล่อยคาร์บอนราว 150 – 200 กิโลกรัมต่อปี และต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ประมาณ 20 กิโลกรัมต่อปี แต่ทีมเสนอว่าให้ลองคิดถึงภาพที่ใหญ่ไปกว่านั้น ถ้ามี 1 ล้านคัน หรือ 100 ล้านคันบนท้องถนน นั่นหมายความว่าต่อไปรถยนต์ที่วิ่งกันไปมาจะกลายเป็นสิ่งที่ทำให้โลกสะอาดขึ้นมากกว่าที่จะทำลายโลกใบนี้ หนึ่งในทีมให้สัมภาษณ์ว่า
“มันยังเป็นตัวต้นแบบของไอเดีย แต่เราสามารถเห็นได้แล้วว่าสามารถเพิ่มความจุของตัวกรองได้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า การดักจับคาร์บอนไดออกไซด์คือข้อบังคับเริ่มต้นเลยเพื่อจะชดเชยการปล่อยมลพิษระหว่างกระบวนการผลิตและรีไซเคิล”
(ทางทีมยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลของเทคโนโลยีการดักเก็บคาร์บอนมากนัก เพราะอยู่ในขั้นตอนการจดสิทธิบัตร)
ถึงตอนนี้เราพอจะเห็นภาพว่า ZEM ช่วยทำให้มลภาวะในอากาศลดลงได้ยังไง แต่คำถามต่อมาคือกระบวนการผลิตล่ะ? พวกเขาหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีอย่าง 3D Printing เพื่อสร้างโครงเหล็กและตัวรถยนต์ส่วนใหญ่ จึงไม่มีการทิ้งชิ้นส่วนที่เหลือใช้ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วย แถมเหล็กเหล่านี้ยังสามารถนำไปรีไซเคิลได้ เบาะด้านในใช้พลาสติกรีไซเคิลทั้งหมด ซึ่งเมื่อหมดอายุการใช้งานก็สามารถเอาไปย่อยสลายและขึ้นรูปใหม่ได้ กระบวนการทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นจนจบของ ZEM ที่ผ่านการวิเคราะห์โดยโปรแกรม SimaPro (โปรแกรมที่ใช้ในการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์เพื่อประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในการออกแบบผลิตภัณฑ์) บอกว่าในตอนนี้เป็น ‘Carbon Neutral’ หรือเป็นกลางทางคาร์บอน ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเลยนั่นเอง
อีกเทคโนโลยีหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ใน ZEM ก็คือ Bidirectional Charging ซึ่งเป็นการชาร์จที่สามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าได้แบบ 2 ทาง ปกติแล้วเราจะชาร์จไฟจากตัวชาร์จเสียบเข้ารถ แต่ ZEM สามารถชาร์จไฟด้วยแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาแล้วส่งไฟกลับเข้าไปที่บ้านได้ด้วย เปรียบง่าย ๆ ZEM เหมือนแบตเตอรี่สำรองสำหรับบ้านเลยก็คงไม่ผิดนัก
ถึงตอนนี้ ZEM จะยังไม่ได้วางขายตามท้องตลาด แต่เห็นชัดว่าที่จริงแล้วการเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้ ในการสัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Innovationorigins.com พวกเขาก็ตั้งคำถามนี้กับบริษัทใหญ่ ๆ ในอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งหลายเช่นกัน
“เราอยากจะจี้ให้ทั้งอุตสาหกรรมเห็นโดยการแสดงให้ดูว่าตอนนี้มีอะไรที่เป็นไปได้บ้าง แล้วมาร่วมมือกัน ถ้าเด็กนักเรียน 35 คนสามารถออกแบบ พัฒนา และสร้างรถยนต์ที่เป็นกลางทางคาร์บอนแบบนี้ได้ภายใน 1 ปี แสดงว่ามันมีโอกาสและความเป็นไปได้สำหรับอุตสาหกรรมนี้”
นี่คือช่วงเวลาที่สำคัญและจุดที่ย้อนกลับไม่ได้ของวิกฤติภูมิอากาศของโลกอาจจะอยู่ในอนาคตอันใกล้นี้แล้วก็ได้ ถ้าไม่เปลี่ยนตอนนี้ ทุกอย่างอาจสายเกินแก้ไปจริง ๆ
ที่มา:
Reuters Reuters Drive-Electric
TueComotive Statista Innovation Origins
ภาพ:
อ้างอิงจาก: Reuters Reuters Drive-Electric
TueComotive Statista Innovation Origins แบไต๋ไฮเทค