สมุนไพร คลายเครียด ลดความวิตกกังวล ต้านซึมเศร้า
ขมิ้นชัน มีการศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยซึมเศร้า เปรียบเทียบการใช้สารสกัดขมิ้นชัน 500 มก. หลังอาหารเช้าและเย็น และยาต้านซึมเศร้า (Fluoxetine 20 mg) เป็นเวลา 6 สัปดาห์ เปอร์เซ็นต์การตอบสนองผลการรักษาของผู้ป่วย ยาต้านซึมเศร้า 64.7% สารสกัดขมิ้นชัน 62.5% และเมื่อใช้ร่วมกันทั้ง ยาต้านซึมเศร้า และสารสกัดขมิ้นชัน จะให้ผลตอบสนอง 77.8%
ปัจจุบันขมิ้นชันจะมีทั้งแบบสกัดและแบบผงแห้ง ขนาดการรับประทานแบบผงแห้งคือ ยาแคปซูลขมิ้นชัน 2 แคปซูล หลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็นและก่อนนอน ข้อควรระวังในการใช้ในผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดี หญิงตั้งครรภ์ ยกเว้นภายใต้การดูแลของแพทย์ ควรระวังการใช้ในเด็ก เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิผลและความปลอดภัย นอกจากนี้ยังควรระวังการใช้ร่วมกับสารกันเลือดลิ่ม (anticoagulants) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets)
บัวบก สามารถบรรเทาอาการโรควิตกกังวลได้ จากการศึกษาการใช้สารสกัดบัวบก 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร ในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวล อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 33 คน พบว่า เริ่มเห็นผลการรักษาที่ 1 เดือน และเห็นผลชัดเจนขึ้นที่ 2 เดือน จากผลการศึกษาจะเห็นได้ว่า สารสกัดบัวบกช่วยลดความผิดปกติที่เกิดจากความกังวล ลดความเครียดและลดอาการซึมเศร้าได้
ขนาดการรับประทาน สำหรับผู้ที่สะดวกจะใช้ใบบัวสด สามารถคั้นน้ำจากใบบัวบกสดที่ล้างสะอาด รับประทานแบบเข้มข้น วันละ 1-2 ช้อนชา ส่วนการใช้ใบบัวบกแห้ง เป็นยารับประทานใบแห้ง ใช้ครั้งละ 1-2 ช้อนชา (5-10 กรัม) ชงกับน้ำเดือด 150 ซีซี รอจนอุ่นหรือประมาณ 10-15 นาที แล้วจิบดื่ม สามารถรับประทานได้วันละ 2-3 เวลา ส่วนบัวบกชนิดแคปซูล รับประทานวันละ 2-3 แคปซูล ทั้งนี้ หากหวังผลบำรุงสมองคลายเครียด ควรรับประทานต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือน ขึ้นไป
สำหรับข้อควรระวัง คือ บัวบกเป็นยาเย็น ไม่ควรรับประทานทีละเยอะ ๆ คนที่อ่อนเพลีย หรือร่างกายอ่อนแอมากไม่ควรรับประทาน ถ้ารับประทานแล้วมีอาการเวียนหัว ใจสั่น ให้หยุดทันที คนที่ม้ามเย็นพร่อง มีอาการท้องอืดแน่นเป็นประจําไม่ควรรับประทาน และหลีกเลี่ยงการรับประทานในหญิงที่ให้นมบุตร หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์ เพราะมีการศึกษา พบว่า การรับประทานต่อเนื่องติดต่อกันนาน ๆ พบว่าอาจยับยั้งการตั้งครรภ์ได้
น้ำมันรำข้าวและจมูกข้าว มีสารสำคัญที่ช่วยทำให้นอนหลับได้ คือ ฤทธิ์ผ่อนคลาย คลายกังวล ช่วยให้นอนหลับ ด้วยสาร GABA (Gamma-aminobutyric acid) เป็นสารสื่อประสาท พบในระบบประสาทส่วนกลาง คือ สมอง และไขสันหลัง มีฤทธิ์ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย คลายกังวล และทำให้หลับ ขนาดการรับประทาน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันรำข้าว-จมูกข้าว ชนิดแคปซูล ทาน 1 แคปซูลหลังอาหาร เช้า เย็น ในหญิงตั้งครรภ์ให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน
ฟักทอง มีการศึกษาพบว่า ช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้ โดยทำการสังเกตพฤติกรรมถูกบังคับให้ว่ายน้ำในหนูทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะซึมเศร้า ซึ่งจะมีพฤติกรรมลอยตัวนิ่งเสมือนว่าอยากตาย แต่การให้ฟักทองอบและสารเบต้าแคโรทีน มีผลทำให้ระยะเวลาลอยตัวนิ่งลดลง และยังมีผลเพิ่มระดับเซโรโทนิน (serotonin) และนอร์อิพิเนฟริน (norepinephrine: NE) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทในสมอง จะลดลงเนื่องจากภาวะซึมเศร้าให้กลับสู่ระดับปกติ
เบต้าแคโรทีนซึ่งเป็นสารสำคัญในฟักทอง ช่วยรักษาภาวะซึมเศร้า ฟักทองจึงเป็น “อาหารเป็นยา” ที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการซึมเศร้า ขนาดการรับประทาน แนะนำทานเป็นผัก หรือประกอบในมื้ออาหาร
ดอกคาโมมายล์ จากการทดลองทางคลินิกในปี พ.ศ. 2559 พบว่า ดอกคาโมมายด์มีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยสำหรับการใช้เพื่อรักษาอาการวิตกกังวลทั่วไปในระยะยาว วิธีการใช้ดอกคาโมมายด์ในแต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่ที่หลายคนมักเลือกใช้ คือ สารสกัด อาหารเสริมรูปแบบเม็ด ครีมบำรุงผิว หรือดื่มเป็นชา
จากงานวิจัยที่ให้ผู้เข้าร่วมทั้งหมด 93 คน รับสารสกัดดอกคาโมมายด์ 1,500 มิลลิกรัม ทุกวันเป็นเวลานาน 12 สัปดาห์ หลังจากนั้นได้แบ่งผู้เข้าร่วมการทดลองเป็น 2 กลุ่มโดยให้รับดอกคาโมมายด์ต่อเนื่องอีก 26 สัปดาห์ อีกกลุ่มรับเป็นยาหลอก พบว่า กลุ่มที่ได้รับดอกคาโมมายด์ต่อ มีโอกาสในการเกิดอาการวิตกกังวลน้อยกว่าการเปลี่ยนไปใช้ยาหลอก
แต่สำหรับคนบางกลุ่มที่มีอาการแพ้ดอกเบญจมาศ ดอกดาวเรือง ดอกเดซี่ ก็อาจจะมีปฏิกิริยาในการแพ้ดอกคาโมมายด์ได้ ดังนั้นก่อนที่จะใช้ควรลองใช้ในปริมาณที่น้อยก่อน เพื่อดูอาการ หากมีอาการแพ้ควรหยุดใช้ทันที
ลาเวนเดอร์ ช่วยระงับประสาทและบรรเทาความวิตกกังวล ซึ่งดอกลาเวนเดอร์สามารถใช้ได้หลายรูปแบบทั้ง ใช้ใบในการทำชา ใช้น้ำมันหอมระเหยจากดอกลาเวนเดอร์ เพิ่มน้ำมันหอมระเหยในการอาบน้ำ ซึ่งในน้ำมันหอมระเหยจากลาเวนเดอร์นั้นมีสารเคมีที่เรียกว่า เทอร์พีน (Terpene) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยให้สมองรู้สึกสงบ ลดความวิตกกังวลในระยะสั้นได้
กระเพรา เป็นสมุนไพรที่มีสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพ นอกจากใช้ในการประกอบอาหารแล้ว กระเพราะยังใช้เพื่อบรรเทาความเครียด และช่วยให้ผ่อนคลายที่ดีอีกด้วย นอกจากนี้ยังเป็นพืชที่มีส่วนช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและช่วยส่งเสริมให้หัวใจมีสุขภาพที่ดีขึ้น
จากการศึกษาในปี 2018 ที่ได้ตีพิมพ์ลงในวารสารวิทยาลัยการแพทย์เนปาล พบว่า การใช้กระเพราปริมาณ 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งช่วยลดความวิตกกังวลและความเครียดที่เกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้าได้ การใช้งานกระเพราะนั้นมีหลากหลายไม่ว่าจะใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใช้ชงเป็นชา ใช้แบบผง หรือแคปซูล
สะระแหน่ ได้รับการศึกษาแล้วว่ามีฤทธิ์ช่วยลดความวิตกกังวล บางครั้งอาจจะใช้ร่วมกับสมุนไพรที่ช่วยลดความวิตกกังวลอื่น ๆ อย่างเช่น ดอกคาโมมายล์ ลาเวนเดอร์
จากการศึกษาในปี 2554 ในผู้ใหญ่ 20 คน ที่มีความวิตกกังวลและนอนไม่หลับ โดยให้กลุ่มคนเหล่านี้รับสารสกัดสะระแหน่ 300 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งเป็นเวลานาน 15 วันพบว่าสะระแหน่มีส่วนช่วยในการลดความวิตกกังวลร้อยละ 18 และช่วยลดอาการนอนไม่หลับได้ร้อยละ 42 ซึ่งวิธีที่ใช้นั้นหลากหลายตั้งแต่ผสมน้ำดื่มเป็นชา ปรุงอาหาร หรือใช้เป็นน้ำมันหอมระเหยก็สามารถทำได้