สงคราม รัสเซีย-ยูเครน ส่งผลวิกฤตชิปขาดแคลนต่อเนื่อง
สงคราม รัสเซีย-ยูเครน ส่งผลวิกฤตชิปขาดแคลนต่อเนื่อง
ความขัดแย้งยาวนานต่อเนื่องระหว่างรัสเซียและยูเครน ได้ส่งผลกระทบที่หนักหน่วงต่อประเทศคู่ขัดแย้งและขยายวงกว้างสู่ประเทศใกล้เคียง แรงกดดันทางการเมืองและเศรษฐกิจนำไปสู่ปัญหาด้านการจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมพื้นฐานที่จำเป็นของภาคการผลิตในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สถานการณ์ความขัดแย้งซ้ำเติมให้วิกฤตชิปขาดแคลนกลับมาตึงเครียดอีกครั้ง จากผลของสงครามการค้าในปี 2018 ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ต่อด้วยการแพร่ระบาดของโรค COVID19 ทั่วโลกในปี 2019 เป็นต้นมา อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ ชิปขาดตลาด ทางออกปัญหาวิกฤตสินค้าไอทีทั่วโลก
เซมิคอนดักเตอร์
ชิปเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ถือเป็นส่วนประกอบจำเป็นในการพัฒนาและผลิตเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครือข่ายการสื่อสารโทรคมนาคม อุปกรณ์สินค้าด้านไอทีที่ใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวันไปจนถึงระบบความมั่นคงทางการทหารของประเทศ สามารถกล่าวได้ว่าเซมิคอนดักเตอร์มีความเกี่ยวข้องกับหลายอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศนั้น ๆ
ทรัพยากรเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศผู้ผลิต
กล่าวได้ว่า เป็นทรัพยากรที่มีนัยสำคัญและมีความซับซ้อนในห่วงโซ่การผลิตทั่วโลก รัสเซียและยูเครน สองประเทศคู่ขัดแย้งมีบทบาทในการเป็นทั้งซัพพลายเออร์และผู้ครอบครองแหล่งทรัพยากรหลักของอุตสาหกรรมก๊าซ น้ำมัน เหล็กกล้า รวมถึงแร่ธาตุที่สำคัญในการผลิตชิปเซมิคอนดัคเตอร์อย่างพาลาเดียมและก๊าซนีออน ถึงแม้ว่ารัสเซียจะไม่ได้เป็นผู้ผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ แต่เป็นหนึ่งในประเทศที่มีทรัพยากรหลักซึ่งจำเป็นในการผลิตประกอบชิ้นส่วน รวมถึงมีส่วนในการออกแบบชิปให้กับหลายประเทศ
บทบาทรัสเซียต่อตลาดชิปเซท
รัสเซียเป็นครอบครองแร่สำคัญๆในตลาดโลก ได้แก่ พาลาเดียม 42.8% แพลตตินัม 14.2% นิกเกิล อะลูมิเนียม และเหล็กกล้าดิบอยู่ที่ 5.4%, 9.3% และ 4% ตามลำดับ ข้อมูลจาก Techcet บริษัทที่ปรึกษาด้านวัสดุอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งให้คำแนะนำผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลกบางรายรวมถึง Intel และ Samsung ระบุว่า รัสเซียเป็นซัพพลายเออร์พาลาเดียมรายสำคัญร่วมกับแอฟริกาใต้ และมีอุปทานถึง 33% ของความต้องการทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมียูเครนเป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่จัดหา Semiconductor-Grade Neon ให้ถึง 90% และพาลาเดียมอยู่ที่ 35% จากรายงานล่าสุด London Metal Exchange ระบุถึง ผลพวงของวิกฤตความขัดแย้งรัสเซียยูเครนทำให้มูลค่าของโลหะประเภทต่าง ๆ พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะ ทองแดงมีราคาเพิ่มขึ้นและสร้างสถิติสูงสุดใหม่ในรอบหลายเดือน พาลาเดียมเพิ่มขึ้นถึง 15% นิกเกิลที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า มีราคาเพิ่มขึ้นกว่า 70% หรือประมาณ 25,000 ดอลลาร์ต่อตัน อะลูมิเนียมพุ่งขึ้นมากกว่า 3% ทำสถิติสูงสุด 3,450 ดอลลาร์ต่อตัน
ด้านของ Joe Pasetti รองประธานฝ่ายนโยบายสาธารณะระดับโลกของกลุ่มผู้ผลิตชิปและอิเล็กทรอนิกส์ในสหรัฐอเมริกา (SEMI) ระบุถึงการประเมินความเสี่ยงต่อกระบวนการผลิตชิปต่อสมาชิกในสมาคม และกล่าวถึงความช่วยเหลือและการหาทางออกร่วมกันในฝั่งตะวันตก โดยยืนยันจะไม่หยุดการผลิต นอกจากนี้ทำเนียบขาวได้ออกรายงานเตือนให้ซัพพลายเออร์ชิปเซมิคอนดัคเตอร์ กระจายการกักตุนวัตถุดิบและการส่งออกใหม่ เพื่อตอบโต้กับมาตราการปิดกั้นการเข้าถึงวัสดุ เพื่อให้แน่ใจว่าหากรัสเซียดำเนินการขัดขวาง Supply Chain บริษัทเทคโนโลยีและภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐจะสามารถปรับตัวรองรับการหยุดชะงักได้โดยอาศัยการทำงานร่วมกับบริษัทผู้ผลิตและจัดหารายอื่น ๆ
อย่างไรก็ตามผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่มีการปรับแผนรองรับวิกฤตในช่วงที่ผ่านมา อาจไม่ได้เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเท่ากับตัวกลางที่เป็นผู้จัดหาวัตถุดิบชิ้นส่วนประกอบเซมิคอนดักเตอร์ หากรัสเซียเคลื่อนไหวตอบโต้การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ อาจนำไปสู่ความชะงักงันของระบบโลจิสติกส์ ทำให้บริษัทเทคโนโลยีทั่วโลกที่พึ่งพาเซมิคอนดักเตอร์จากรัสเซียต้องหยุดการผลิตหรือกำหนดราคาที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก่อให้เกิดอัตราเงินเฟ้อของประเทศผู้นำเข้า เป็นเหตุให้ซัพพลายเออร์ทั่วโลกต้องปรับนโยบายการดำเนินการ และมองหาทางเลือกอื่น ๆ ในการแก้ไขปัญหาต่อไป