รถไฟฟ้าสายสีเทาน่าทำที่สุด แต่ทำทีหลัง (ฮ่วย)
รถไฟฟ้าสายสีเทาเป็นรถไฟฟ้าสายที่สมควรทำมากที่สุด แต่ "เจือก" ทำหลังๆ ไม่รู้เอา "หัว" อะไรคิด ดร.โสภณ ขอถาม
ตามข้อมูลทั่วไป (http://bit.ly/2AWWheG) รถไฟฟ้าสายสีเทา (วัชรพล-พระโขนง-สะพานพระราม 9-ท่าพระ) เป็นโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางราง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พ.ศ. 2553-2572 โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นเส้นทางใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2552 พร้อมกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีฟ้า ในรูปแบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวที่มีเส้นทางตามแนวแกนเหนือ-ใต้ เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของที่พักอาศัยบริเวณถนนประดิษฐ์มนูธรรมและย่านสาธุประดิษฐ์ แนวเส้นทางเริ่มจากถนนรามอินทรา ชานเมืองทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ ลงมาทางทิศใต้ตามถนนประดิษฐ์มนูธรรม เลียบทางพิเศษฉลองรัช เข้าสู่ใจกลางเมืองย่านทองหล่อ ถนนสุขุมวิท ถนนพระรามที่ 4 คลองเตย ถนนรัชดาภิเษก-พระราม 3 ไปสิ้นสุดบริเวณเชิงสะพานพระราม 9 ทางด้านทิศใต้ของพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ รวมระยะทาง 26 กิโลเมตร คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสาร 340,000 เที่ยวต่อวันในปี พ.ศ. 2572
ปัจจุบัน (พ.ศ. 2560) บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้ฟื้นฟูโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทาขึ้นมาใหม่ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2561-พ.ศ. 2562 และโครงการดังกล่าวยังเป็นโครงการเร่งรัดของกระทรวงคมนาคมที่ต้องการให้กรุงเทพมหานครดำเนินการโดยเร็วแทนการรับบริหารงานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เนื่องด้วยใช้ทุนในการดำเนินโครงการน้อยกว่า และคืนทุนได้รวดเร็วกว่า โดยการดำเนินการจะเริ่มดำเนินการในส่วนเหนือเป็นลำดับแรก เนื่องมาจากแนวเส้นทางขาดจากกัน ทำให้ดำเนินการได้ไวกว่าดำเนินการพร้อมกันทั้งหมด
สำหรับในรายละเอียดตามแห่งข้อมูลข้างต้นมีพื้นที่ที่เส้นทางผ่านคือเขตบางเขน, ลาดพร้าว, บึงกุ่ม, วังทองหลาง, ห้วยขวาง, วัฒนา, คลองเตย, ยานนาวา, บางคอแหลม, ธนบุรี และบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เป็นเส้นทางยกระดับความสูง 14 เมตรจากระดับดินไปตามแนวถนนเดิม แบ่งเป็น 2 ช่วงหลัก 3 ช่วงย่อยได้แก่
1. สายสีเทาส่วนเหนือ (วัชรพล-ทองหล่อ) เริ่มต้นจากบริเวณแยกต่างระดับรามอินทรา จุดตัดถนนรามอินทรา ถนนวัชรพล ถนนประดิษฐ์มนูธรรม และทางพิเศษฉลองรัช มุ่งหน้าลงมาทางทิศใต้ตามแนวเขตทางของถนนประดิษฐ์มนูธรรม โดยวางโครงสร้างบนพื้นที่ด้านข้างทางเท้าและทางจักรยาน ผ่านถนนนวลจันทร์ ถนนสุคนธสวัสดิ์ ยกข้ามถนนประเสริฐมนูกิจ (ถนนเกษตร-นวมินทร์) ผ่านซอยลาดพร้าว 87 เข้าถนนประดิษฐ์มนูธรรม ผ่านแยกประชาธรรม จุดตัดถนนประชาอุทิศ ลอดใต้ทางพิเศษศรีรัช ที่แยกพระราม 9-ประดิษฐ์มนูธรรม เลี้ยวที่แยกเอกมัยเหนือมาทางทิศตะวันตกเข้าสู่แนวเกาะกลางถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แล้วเลี้ยวลงมาทางทิศใต้เข้าสู่แนวเกาะกลางถนนทองหล่อตลอดสาย สิ้นสุดเส้นทางที่บริเวณปากซอยสุขุมวิท 55 รวมระยะทาง 16.25 กิโลเมตร มีทั้งสิ้น 15 สถานี
2. สายสีเทาส่วนใต้ ช่วงที่ 1 (พระโขนง - พระราม 3) แนวเส้นทางเริ่มต้นจากบริเวณแยกพระโขนง จุดตัดถนนสุขุมวิท กับถนนพระรามที่ 4 แล้ววิ่งตามเส้นทางถนนพระรามที่ 4 มาจนถึงสี่แยกวิทยุ แนวเส้นทางจะเบี่ยงลงไปยังถนนสาทรโดยใช้คลองสาทรเป็นแนวเส้นทางจนถึงแยกสาทร-นราธิวาส แนวเส้นทางจะเบี่ยงซ้ายเข้าถนนนราธิวาสราชนครินทร์แล้ววิ่งตามเส้นทางเดียวกับ รถโดยสารด่วนพิเศษ สายสาทร-ราชพฤกษ์ แล้วเบี่ยงขวาสิ้นสุดเส้นทางบริเวณซอยพระรามที่ 3 ซอย 58 รวมระยะทาง 12.17 กิโลเมตร มีทั้งสิ้น 15 สถานี
3. สายสีเทาส่วนใต้ ช่วงที่ 2 (พระราม 3 - ท่าพระ) แนวเส้นทางต่อเนื่องจากช่วงก่อนหน้านี้ เริ่มจากบริเวณซอยพระรามที่ 3 ซอย 58 วิ่งตามแนวถนนพระรามที่ 3 ลอดใต้ถนนวงแหวนอุตสาหกรรม สะพานพระราม 9 (ทางพิเศษเฉลิมมหานคร) แล้วข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในแนวคู่ขนานกับสะพานพระราม 3 เข้าสู่ฝั่งธนบุรี ผ่านสี่แยกมไหสวรรย์เข้าถนนรัชดาภิเษก และสิ้นสุดเส้นทางบริเวณแยกท่าพระ ถนนรัชดาภิเษก รวมระยะทาง 11.48 กิโลเมตร มี 9 สถานี
รถไฟฟ้าสายนี้มีข้อดีก็คือวิ่งเข้าเมืองโดยตรง ผ่านย่านธุรกิจสำคัญ ทำให้มีจำนวนผู้โดยสารมาก (ต่างจากรถไฟฟ้าสายสีม่วง สายสีชมพู สายสีส้ม หรือสายสีเหลือง อันที่จริงควรเริ่มดำเนินการก่อน แต่กลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ถ้ามีการก่อสร้าง น่าจะสร้างประโยชน์เป็นอย่างมากและไม่ขาดทุน แต่ในปัจจุบันกรุงเทพมหานครกลับไปสนใจรถไฟฟ้าสายสีทอง ซึ่งไม่น่าจะมีประโยชน์อะไรต่อสังคมโดยรวม ตามที่สื่อตั้งข้อสังเกตว่า "รถไฟฟ้าไอคอนสยาม เส้นไม่ใหญ่จริง ทำไม่ได้" (http://bit.ly/2j176V1)
ก็ไม่รู้ทางราชการเอา "หัว" อะไรคิด จึงไปสร้างสายอื่น ๆ ที่ได้ประโยชน์น้อยก่อนสายสีเทาที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะสร้าง
ที่มา: https://goo.gl/jtnh2W