อยากให้ประมุขต่างชาติเยือนไทย
ถ้ามีประมุขหรือผู้นำต่างชาติโดยเฉพาะชาติมหาอำนาจมาอยู่เยือนไทยมากจะดีต่อ เศรษฐกิจไทยกว่านี้ ปัญหาคือเขาไม่ค่อยมา. ดร.โสภณมีข้อสังเกต
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหารศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ให้ข้อสังเกตถึงความแตกต่างระหว่างการเยือนไทยของรัฐมนตรีและทัพนักธุรกิจญี่ปุ่น กับการเยือนอินเดียของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งมีผลแตกต่างกันมาก และเสนอให้ไทยแสวงหาความร่วมมือกับผู้นำต่างชาติให้มากกว่านี้ แต่ติดที่ตัวตนของรัฐบาลเอง
ข่าวดีที่น่าสนใจด้านเศรษฐกิจก็คือเมื่อวันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2560 นายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น พร้อมด้วยหน่วยงานด้านเศรษฐกิจและคณะนักลงทุนรายใหญ่ 570 ราย เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล (http://bit.ly/2xzev7h)
แต่ข้อสังเกตก็คือเป็นการมาเยือนตามคำเชิญเนื่องในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ 130 ปี ไทย-ญี่ปุ่น ผู้มาเยือนเหล่านี้ไม่ใช่นักลงทุนทั้งหมด 570 บริษัท แต่รวมเจ้าหน้าที่ด้วย และบริษัทหนึ่งอาจมามากกว่าหนึ่งคน และคงไม่ใช่นักลงทุนรายใหญ่จากญี่ปุ่นเนื่องจากนักลงทุนรายใหญ่เข้ามาลงทุนนานแล้วที่น่าเสียดายคือบางส่วนได้ถอนการลงทุนไปประเทศเพื่อนบ้านเสียแล้ว ที่สำคัญที่สุดก็คืองานนี้จบลงด้วยการเซ็น MOU (บันทึกความเข้าใจ) ในเรื่องที่ไม่ได้สลักสำคัญอะไรไม่มีกระทั่งรูปธรรมการลงทุนในภูมิภาค EEC ที่นายกรัฐมนตรีร้องขอด้วยซ้ำไป
ลองมาเปรียบเทียบกับข่าวนายกฯ ญี่ปุ่นเยือนอินเดียในห้วงเวลาเดียวกันบ้าง เช่นมีพาดหัวข่าวว่า "นายกฯญี่ปุ่น เยือนอินเดีย ร่วมหารือรถไฟความเร็วสูง-พลังงานนิวเคลียร์" (http://bit.ly/2wqCalk) มีการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ และที่สำคัญมีการบรรลุข้อตกลงสำคัญๆ มากมายนับสิบเรื่อง นายกญี่ปุ่นได้มีโอกาสพบปะนักธุรกิจชั้นนำ (จริงๆ) ของอินเดียจำนวนมากอีกด้วย นับเป็นนิมิตหมายสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง
อาจกล่าวได้ว่าที่มีการออกข่าวว่า "'รัฐบาลตู่เนื้อหอม'...ต่างชาติพาเหรดส่งผู้แทน 'เยือนไทย-เข้าพบ' แบบหัวบันไดไม่แห้ง หวังเจรจาการค้าการลงทุน" (http://bit.ly/2y0a69u) ก็ล้วนแต่เป็นระดับรัฐมนตรี ทูต แต่ไม่มีผู้นำประเทศมาเยือนไทยยกเว้นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งจึงมาเยือนประเทศตามธรรมเนียมเมื่อตอนต้นปี และผู้นำอย่างนายกฯ สิงคโปร์ที่มาถวายสักการะ พระบรมศพเท่านั้น
อาจเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลก็พยายามพัฒนาประเทศ แต่ความจริงประการหนึ่งก็คือสถานะของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเช่นนี้ทำให้ความสัมพันธ์ทางการเมืองและการค้าระหว่างประเทศสะดุดลง จะเห็นได้ว่าผู้นำมหาอำนาจหลายประเทศมายืนประเทศเพื่อนบ้านของไทยหลายต่อหลายครั้งบินข้ามหัวประเทศไทยไปหมด อย่างน่าเสียดาย ถ้ารัฐต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงจำเป็นต้องปฏิรูปการเมืองให้เป็น ประชาธิปไตยโดยเร็วด้วยตามที่รัฐก็ทราบดี จึงสัญญาว่า "ขอเวลาอีกไม่นาน. . ." นั่นเอง
การเมืองกับเศรษฐกิจจึงมีความสัมพันธ์กันเยี่ยงนี้
ที่มา: http://bit.ly/2wr6Qmj