มารู้จัก "ประเทศไทย" กันดีกว่า
กราบสวัสดีนะเจ้าคะ อิชั้นนามว่าอิสลัดผัก ตุ๊ดเหมือนเคยกะเทยหัวโปก วันว่างๆเบาๆ ก็เลยอยากมาเมาท์มอยหอยนางรม แต่ก็คิดอยู่นานว่าจะสรรหาเรื่องอะไรมาเล่าสู่กันฟังดี ไอ้ครั้นจะเล่าเรื่องกระบองทองของเหล่าผู้ชายที่ผ่านมาในชีวิต มันก็อาจจะต้องเปลืองพื้นที่ค่อนข้างเยอะหน่อย เพราะด้วยความสวยที่ติดตัวมาตามธรรมชาติ ทำให้อิชั้นอาจจะผ่านผู้ชายมาเยอะมาก 5555 คิดไปคิดมา ก็เลยคิดว่าควรจะหาเรื่องราวที่มันมีสาระมาเล่าสู่กันฟังจะดีกว่า แต่ก็ติดตรงที่ว่า อิดอกข้าวตอกแตก ตามพฤติกรรมของคนไทยทั้งหลายที่อ่านหนังสือวันๆหนึ่ง ก็ไม่เกิน 7 บรรทัด ตายแล้วทีนี้ จะหาเรื่องอะไรที่มันไม่เกิน 7 บรรทัดเนี่ย โอ๊ยยยย กระเทยต้องคิดแล้วคิดอีก แต่ไม่เป็นไร เกิดมาเป็นตุ๊ด อย่าหยุดความพยายาม เพราะฉะนั้น อิชั้นต้องทำให้ได้ ต้องหักล้างความเชื่อเดิมๆที่ว่าคนไทยนั้นอ่านหนังสือไม่เกิน 7 บรรทัดให้ได้ แต่ก็นะ มันอาจจะลำบากสักหน่อย แต่หล่อนทั้งหลายรู้ไหม ว่ากระเทยไทยน่ะ ทั้งอึด ถึง ทน และก็มีความพยายามที่ไม่เป็นรองใคร ดังนั้น เมื่อหล่อนทั้งหลายอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว อิชั้นก็จะบอกหล่อนทั้งหลายว่า
.
.
คอนเกรททูเลชั่นนะคะอิดอกข้าวตอกแตก หล่อนทำลายความเชื่อเดิมๆแล้ว เพราะหล่อนอ่านมาเกิน 7 บรรทัดแล้วค่ะ 555555
.
.
พล่ามพรรณาซะยาวนาน มาเข้าเรื่องความยาวสาวความสวยของอิชั้นกันดิกว่า เอ้ย ไม่ใช่
มาเข้าเรื่องสาระน่ารู้กันดีกว่า
.
.
เกิดเป็นคนไทย หล่อนรู้กันไหมคะ "ประเทศไทย" เกิดขึ้นเมื่อไหร่?
ตอบสิคะ!!!!
ตั้งแต่สุโขทัย อยุธยา กรุงธนบุรี จนบัดเดี๋ยวนี้....เป็น กทม.
ผิดค่ะ!!!!!
"ประเทศไทย" นั้น
เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ตามประกาศรัฐนิยมของจอมพลป.พิบูลสงคราม ซึ่งประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สยาม" มาเป็น "ประเทศไทย" และเรียกประชาชน "ไทย" และสัญชาติ "ไทย" ให้ตรงกันนั่นเอง ส่วนในภาษาอังกฤษนั้น ชาวต่างชาติยังคงเรียก "Siam" เช่นเดิม
แต่ก็เปลี่ยนมาได้แค่ถึงปี 2488 ก็กลับไปใช้ชื่อประเทศ "สยาม" เช่นเดิม
และกลับมาใช้ชื่อ "ประเทศไทย" อีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2491 และเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษจาก "Siam" มาเป็น "Thailand"
และในภาษาฝรั่งเศสเป็น "Thailande" ตราบจนกระทั่งทุกวันนี้
และวันที่ 24 มิถุนายน ของทุกปี เคยใช้เป็นวันชาติไทย ตั้งแต่ปี 2482 ถึง ปี 2502
ก่อนจะเปลี่ยนวันชาติมาเป็นวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ตามวันพระราชสมภพของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั่นเอง
แต่ถ้าหากนับขอบเขตพื้นที่ประเทศไทยนั้น คงต้องนับตั้งแต่สมัย ร.5 ซึ่งเป็นการเสียดินแดนครั้งสุดท้าย
เราจึงเหลือขอบเขตของประเทศไทยเป็นรูปขวาน เฉกเช่นในปัจจุบัน
ซึ่งเมื่อก่อน ก็ปกครองในรูปแบบมณฑลเทศาภิบาล
และมาเป็นรูปแบบของจังหวัดในแบบปัจจุบันตั้งแต่ปี 2476
โดยมีจังหวัดแรกเริ่ม คือ 70 จังหวัด
และมีเพิ่มมาตามลำดับคือ
จังหวัดที่ 71 คือ จังหวัดยโสธร แยกมาจากจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อ พ.ศ. 2515
จังหวัดที่ 72 คือ จังหวัดพะเยา แยกมาจากจังหวัดเชียงราย เมื่อ พ.ศ. 2520
จังหวัดที่ 73 คือ จังหวัดมุกดาหาร แยกมาจากจังหวัดนครพนม เมื่อ พ.ศ. 2525
จังหวัดที่ 74 75 76 คือ จังหวัดสระแก้ว แยกมาจากจังหวัดปราจีนบุรี , จังหวัดหนองบัวลำภู แยกมาจากจังหวัดอุดรธานี, จังหวัดอำนาจเจริญ แยกมาจากจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ. 2536
จังหวัดที่ 77 คือ จังหวัดบึงกาฬ แยกมาจากจังหวัดหนองคาย เมื่อปี พ.ศ. 2554
.
.
ส่วนกรุงเทพมหานครในปัจจุบันนั้น เกิดจาก การรวม "จังหวัดพระนคร" และ "จังหวัดธนบุรี" เข้าด้วยกันเป็นเขตการปกครองรูปแบบพิเศษ โดยมีชื่อว่า "นครหลวงกรุงเทพธนบุรี" เมื่อ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2514
และต่อมาก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น "กรุงเทพมหานคร" หรือเรียกสั้นๆว่า กรุงเทพฯ หรือเรียกย่อๆ ว่า กทม. เมื่อ14 ธันวาคม พ.ศ. 2515 นั่นเองเจ้าค่ะ
ตราแผ่นดินของไทย คือตราพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ เทพพาหนะของพระนารายณ์ ใช้เป็นสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจแห่งพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของชาติและเป็นองค์อวตารของพระนารายณ์ตามแนวคิดสมมุติเทพ โดยเริ่มใช้มาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2436 เป็นต้นมา แต่มาใช้อย่างเต็มที่แทนตราแผ่นดินเดิมทั้งหมดเมื่อ พ.ศ. 2453
ส่วน ธงชาติไทย (ชื่อในสมัยนั้นยังใช้ชื่อประเทศสยาม) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธงไตรรงค์ ประกาศใช้เมื่อ 28 กันยายน พ.ศ. 2460 (มีผลบังคับใช้ 30 วัน หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา)
ส่วนสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นไทย ที่สร้างขึ้นใหม่ อันได้แก่
สัตว์ประจำชาติไทย คือ ช้างไทย
ดอกไม้ประจำชาติไทย คือ ดอกราชพฤกษ์
สถาปัตยกรรมไทย คือ ศาลาไทย
ซึ่งทั้ง 3 สัญลักษณ์นี้ กำหนดขึ้นเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์และเอกลักษณ์ประจำของชาติไทย
โดยคณะรัฐมนตรีมีความเห็นชอบเมื่อ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2544
อ่านมาจบขนาดนี้แล้ว อิชั้นหวังว่าบรรดาหล่อนทั้งหลาย น่าจะได้รับเกร็ดสาระความรู้ไปบ้างไม่มากก็น้อยนะคะ เอาไว้จะหาเรื่องราวมาเมาท์มอยหอยนางรมแบบสู่กันฟังใหม่
ใครชอบก็ไม่ต้องติดตาม ใครไม่ชอบตองติดตาม
เพราะอิชั้นชอบ
.
.
.
ปล. ขอบคุณเจ้าของเครดิตรูปภาพและข้อมูลหลากหลายแห่งที่อาจจะไม่ได้กล่าวถึง แต่ก็ระลึกถึงเสมอนะเจ้าคะ
ขอขอบคุณรูปภาพและบางข้อมูลจากเจ้าของข้อมูลทุกๆแหล่งเจ้าค่ะ