Lifestyle Inflation กับดักชีวิต ทั้งที่มีรายได้เยอะ ยิ่งรวย แต่ยังไม่มีเงินเก็บ
Lifestyle Inflation คือ ภาวะการใช้เงินที่ฟุ่งเฟ้อ เมื่อมีรายได้มากขึ้น การใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นตามความต้องการ พฤติกรรมการใช้เงินเพื่ออัปเกรดไลฟ์สไตล์ของตัวเอง หรือให้รางวัลกับตัวเอง หลังการทุ่มเททำงานหนักจนประสบความสำเร็จเรื่องรายได้ ทำให้ไม่สามารถออมเงินได้หรือมีความเสี่ยงที่จะสร้างหนี้สินขึ้นมากมาย
7 สัญญาณของคนที่มีลักษณะ Lifestyle Inflation
1.ไม่มีวินัยทางการเงินที่ดี ใช้จ่ายเกินตัว มักจะใช้จ่ายเงินเกินกว่าที่จำเป็น อย่างเช่น การซื้อของแบรนด์เนม การกินอาหารที่ร้านหรู หรือการท่องเที่ยวต่างประเทศบ่อย ๆ
2.การเพิ่มภาระหนี้สิน เป็นหนี้บัตรเครดิต มีแนวโน้มที่จะกู้ยืมเงิน เพื่อซื้อสิ่งของหรือบริการที่ต้องการ ทำให้หนี้สินเพิ่มขึ้นและการเงินส่วนบุคคลไม่มั่นคง ไม่สามารถจ่ายหนี้บัตรเครดิตได้เต็มจำนวน จ่ายขั้นต่ำตลอด ทำให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยราคาแพง และเป็นหนี้ที่ดอกเบี้ยทบต้น ทำให้เงินต้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ ใช้หนี้ไม่หมดเสียที
3.ไม่ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย การไม่ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไม่มีเงินเก็บ เพราะมักจะมีความคิดเข้าข้างตัวเองว่า มีเงินเหลือใช้ สามารถบริหารจัดการได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่เห็นตัวเลขเงินเข้าเงินออกที่แท้จริง
4.การขาดการวางแผนการเงิน ใช้จ่ายเงินก่อนที่จะมีรายได้ หลายคนคิดว่าสามารถหาเงินได้แน่ ๆ จึงใช้จ่ายเงินในอนาคต แต่พอเอาเข้าจริง กลับไม่มีเงินเข้ามา มักขาดการวางแผนการเงินระยะยาว อย่างเช่น การออมเงิน การลงทุน หรือการวางแผนเกษียณ ทำให้ไม่มีเงินสำรองในยามฉุกเฉิน
5.การเปรียบเทียบกับคนอื่น มีแนวโน้มที่จะเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่น และพยายามใช้ชีวิตแบบเดียวกัน ทำให้ต้องใช้จ่ายเงินมากขึ้นเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ อยากจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้ทำสิ่งที่อยากทำ ได้ซื้อของที่อยากได้ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้
6.ความพอใจชั่วคราว ไม่คิดก่อนที่จะซื้อ การใช้จ่ายเพื่อความพอใจชั่วคราว อย่างเช่น การซื้อของฟุ่มเฟือยหรือการใช้บริการที่แพง เห็นโปรโมชัน แม้ยังไม่จำเป็นแต่ก็ซื้อมาเก็บเอาไว้ อาจทำให้รู้สึกดีในระยะสั้น แต่กลับทำให้การเงินส่วนบุคคลเสียหายระยะยาว
7.ทำงานไม่มีเงินเก็บ ไม่เป็นไร ได้ใช้ชีวิตก็พอ ทำให้ใช้จ่ายเงินเกินตัว และไม่สนใจที่จะเก็บเงินเอาไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน หรือยามเกษียณ
7 เทคนิค ทำอย่างไรเพื่อหยุด Lifestyle Inflation
1.เก็บก่อนใช้ วางแผนการเงินอย่างเป็นระบบ ควรกำหนดเป้าหมายการออม การลงทุน และการใช้จ่ายอย่างชัดเจน มีวินัยทางการเงิน โดยแบ่งเงินเป็นส่วน ๆ ตามความจำเป็น เพื่อสร้างวินัยทางการเงิน
2.ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพื่อประหยัดและการออมเงิน โดยคำนวณเงินทุกบาททุกสตางค์ จะได้เห็นว่าในเดือนหนึ่งใช้จ่ายไปกับอะไรมากที่สุด ตั้งเป้าหมายในการออมเงิน อย่างเช่น การตั้งเป้าหมายที่จะออมเงินจำนวนหนึ่งในทุกเดือน จะช่วยให้มีเงินสำรองในยามฉุกเฉินและสามารถลงทุนได้ในอนาคต
3.ใช้จ่ายอย่างมีสติ ถามตัวเองว่า “อยากได้” หรือ “จำเป็น” ประเมินค่าใช้จ่ายก่อนที่จะใช้เงิน อย่างเช่น การตั้งงบประมาณรายเดือนและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด จะช่วยให้ควบคุมการใช้จ่ายได้ดีขึ้น อย่าซื้อของที่อยากได้มากเกินไปจนเกินงบ จนไม่มีเงินซื้อของที่จำเป็น ก่อนซื้อทุกครั้งให้ถามตัวเองว่าจำเป็นไหม หรือแค่อยากซื้อ อยากได้ อยากมีอวดคนอื่น
4.หยุดเป็นหนี้บัตรเครดิต อย่าใช้เงินเกินตัว ให้จ่ายบัตรเครดิตในจำนวนเต็มทุกครั้ง เพื่อได้รับสิทธิพิเศษในระยะปลอดดอกเบี้ย หากว่าคิดว่าหักห้ามใจตัวเองไม่ได้ ใช้เงินสดแทนจะดีกว่า
5.อย่าสร้างภาระค่าใช้จ่ายเกินพอดี ให้คำนวณก่อนว่า นอกจากเงินที่สามารถจ่ายได้แล้ว ยังเหลือพอเก็บและใช้ชีวิตได้หรือเปล่า การกู้เงินซื้อบ้าน ซื้อรถ ซื้อสมาร์ตโฟนในราคาที่สูงจนเกินไป อาจทำให้ทุกข์ใจในภายหลังได้
6.การลงทุนในความรู้และทักษะ แทนที่จะใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อของฟุ่มเฟือย ควรลงทุนในความรู้และทักษะที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับตัวคุณในระยะยาว อย่างเช่น การเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ หรือการเข้าร่วมการสัมมนาและการอบรม
7.การหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบกับคนอื่น ควรมีความพอใจในสิ่งที่มีและไม่เปรียบเทียบตนเองกับคนอื่น การใช้จ่ายเงินเพื่อตนเองและครอบครัวอย่างมีเหตุผลจะทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้น