ประหารโหดด้วยแท่นบีบคอ
แท่นบีบคอ หรือที่เรียกว่า "กาโร้ท (Garrote)" ถือเป็นเครื่องมือประหารที่สร้างความทรมานอย่างสูงให้กับนักโทษที่ต้องมีชะตากรรมกับวิธีประหารเช่นนี้ ลักษณะของกาโร้ทหรือแท่นบีบคอ จะมีลักษณะเป็นแท่นประหารที่เคลื่อนย้ายได้สะดวก โดยมีส่วนของที่นั่งให้นักโทษ และมีที่พิงหลัง และหัวที่มีความสูงกว่าหัวนักโทษราวสักสองคืบหรือกว่านั้น
ตรงแท่นที่พิงบริเวณส่วนลำคอของนักโทษจะมีอุปกรณ์สำหรับรัดคอนักโทษ จะมีอุปกรณ์สำหรับรัดคอนักโทษ ซึ่งอุปกรณ์ที่ว่านี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการรัดคอนักดทษขาดใจตายได้ สำหรับกาโร้ทรุ่นแรก ๆ ของโลกนั้น จะมีเพียงแค่ส่วนที่รัดลำคอเป็นหัก และไม่ได้มีการฝังเครื่องมือซับซ้อนลงไปในแท่นนั้นด้วย เวลาจะใช้งานก็ใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะนำมารัดคอนักโทษได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นโลหะ ผ้า หนังสัตว์ เชือก หรือสายโลหะชนิดต่าง ๆ
ต่อมาได้มีการพัฒนาเครื่องประหารนี้ให้ใช้งานง่าย และสร้างความทรมานให้กับนักโทษประหารเพิ่มขึ้นด้วยการเจาะแท่นประหารแล้วใส่อุปกรณ์พิเศษ เพื่อช่วยให้การรัดคอนักโทษนั้นสะดวกมากขึ้น ส่วนใหญ่จะทำเป็นคันบังคับชนิดล้อหมุนเพื่อให้เพชฌฆาตสามารถหมุนขันชะเนาะลำคอนักโทษได้แบบเบาแรงผู้หมุน แต่เพิ่มความหนักที่ลำคอผู้ถูกประหาร เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ถูกประหารนั้นต้องตายแน่ ๆ
กาโร้ทบางตัวนั้นถูกสร้างขึ้นมา เพื่อช่วย "หักหลัง" นักโทษให้นักโทษตายเร็วขึ้นอุปกรณ์ที่นำมาเสริมเข้าไปในกาโร้ทก็คือ "แผ่นเหล็ก" หรือไม่ก็ "เดือยเหล็กคม ๆ" ที่นำไปตรึงเอาไว้ตรงที่จุดที่เป็นตำแหน่งแผ่นหลังของนักโทษ เวลาจะใช้งานเพชฌฆาตก็จะบังคับทั้งตัวรัดคอและตัวดันหลังเพื่อให้มีลักษณะของการ "หักคอ" อย่างรุนแรง
กาโร้ทที่ถูกเพิ่มเติมอุปกรณ์ทำลายหลังเข้าไปด้วยนั้นมีชื่อว่า "คาตะลัน กาโร้ท (Catatan Garrote)" ถือเป็นเครื่องมือประหารชีวิตนักโทษยอดฮิตที่นิยมใช้กันทั้งในประเทศสเปนและโปรตุเกส ก่อนที่จะยกเลิกไปในปี ค.ศ. 1940 ซึ่งอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และแม้ว่าคาตะลัน กาโร้ทจะถูกยกเลิกไป แต่กาโร้ทแบบธรรมดาก็ยังคงถูกใช้งานอยู่
กระทั่งมีการเลิกใช้กันจริง ๆ ก็ในราว ๆ ปี ค.ศ. 1990 โดยประเทศที่ใช้กาโร้ทเป็นประเทศสุดท้ายก็คือประเทศแอนโดร่าซึ่งเป็นดินแดนเล็ก ๆ ในทวีปยุโรปซึ่งดินแดนแห่งนี้รับเอาอารยธรรมของสเปนมาทุกอย่าง จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมถึงมีกาโร้ทติดมากับประเทศเล็ก ๆ นี้ด้วย เอาเข้าจริงแล้วนักโทษประหารด้วยกาโร้ทนั้นน่าจะมีมานานแล้ว คล้าย ๆ กับโทษประหารอื่น ๆ ที่มีการต่อยอดและพัฒนามาเป็นขั้น ๆ กาโร้ทเองก็ต่อยอดมาจากโทษประหารด้วยการแขวนคอที่แม้จะดูเด็ดขาด แต่หากต้องเพิ่มความทรมานหรือต้องการข้อมูลบางอย่างไปด้วยระหว่างลงโทษนั้น การแขวนคอดูจะเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ ในขณะที่การใช้กาโร้ทนั้นจะทำให้การสอบสวนนักโทษหรือผู้กระทำผิดเต็มไปด้วยสีสัน
นั่นก็เพราะเพชฌฆาตสามารถกำหนดความตึงของการรัดคอได้หลายระดับ และทำให้นักโทษยังพอมีลมหายใจพอที่จะตอบข้อมูลได้บ้าง นั่นเท่ากับเป็นการยืดเวลาตายของนักโทษออกไป หากว่ายังสามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้บ้าง แต่เมื่อไรก็ตามที่ให้ข้อมูลจนหมดแล้วตอนนั้นนักโทษจะโดนเพชฌฆาตบังคับเครื่องมือรัดคอจนแน่นที่สุดและทำให้นักโทษตายทันที ความนิยมในการใช้กาโร้ทรัดคอนักโทษเริ่มมีมากขึ้นในยุคสมัยกลาง (ศตวรรษที่ 5-15)
โดยประเทศที่นิยมกับการประหารชีวิตด้วยวิธีนี้ก็คือ สเปนและโปรตุเกส ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าเมื่อใดก็ตามที่อิทธิพลของสเปนและโปรตุเกสแผ่กระจายไปยังดินแดนในยุคล่าอาณานิคม โทษประหารด้วยกาโร้ทนี้ก็ย่อมจะต้องตามติดพวกเขาไปยังดินแดนในยุคล่าอาณานิคม โทษประหารด้วยกาโร้ทนี้ย่อมจะต้องตามติดพวกเขาไปยังดินแดนในอาณานิคมตามไปด้วย
ดังที่ได้กล่าวไว้ว่า อารยธรรมสเปนและโปรตุเกสไปถึงไหน เจ้ากาโร้ทก็จะตามติดไปด้วย และก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ เมื่อถึงยุคที่สเปนเดินกองเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ไปโผล่ที่ชายฝั่งตะวันออกของทวีปอเมริกาเวลานั้นสเปนยึดครองดินแดนของชนเผ่าดั้งเดิมจนหมดสิ้นรวมทั้งทำหน้าที่ชี้ผิดชี้ถูกตามอำเภอใจและใช้อำนาจบาตรใหญ่ของตน สังหารและทรมานชาวพื้นเมืองนับล้านคน ไม่ได้มีเพียงแค่ชนพื้นเมืองธรรมดาเท่านั้น แม้แต่จักรพรรดิของชนเผ่าอินคาก็กลายเป็นเหยื่อที่ถูกสเปนย่ำยีไปด้วย จักรพรรดิของอินคาที่ชื่ออาตาฮุลป้า (Atahualpa) คือผู้ที่ต้องตกเป็นเหยื่อของกาโร้ท ภายใต้การสั่งประหารของกองทัพสเปน วันที่อาตาฮุลป้าถูกจับนั่งกาโร้ทจนตายคือวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1533 และถือว่าเป็นการยุติราชวงศ์อินคาในคราวนั้นด้วย
แม้ดินแดนยุโรปนั้นจะมีรูปแบบของการประหารชีวิตนักโทษหลากหลายชนิดก็ตามแต่ที่ประเทศสเปนจะเห็นว่าท่ามกลางเครื่องประหารทั้งหลายนั้น กาโร้ท คือเครื่องประหารนักโทษที่ทางการสเปนนิยมมากที่สุด บางทีอาจเป็นไปได้ว่าการประหารชีวิตด้วยกาโร้ทนั้นเป็นวิธีประหารที่ประหยัดงบประมาณเพราะใช้อุปกรณ์พื้น ๆ ไม่กี่อย่าง ก็ทำให้นักโทษตายได้อีกทั้งเวลาที่ใช้ในการประหารก็ไม่เนิ่นนานนัก
ไม่เพียงเท่านั้นเครื่องมือกาโร้ทนั้นสามารถใช้งานได้กว้างขวางทั้งในขั้นตอนสอบสวนและการประหาร ทำให้ไม่เปลืองเวลามาก และที่ดูจะโดดเด่นเหนือข้ออื่นใด ก็คือกาโร้ทนั้นสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย ๆ อีกทั้งยังทำให้สามารถประหารนักโทษได้หลาย ๆ คน พร้อม ๆ กัน โดยทั้งกาโร้ทเรียง ๆ กันไป ความนิยมดังกล่าวทำให้สเปนใช้กาโร้ทผ่านกาลเวลาจากยุคสมัยกลางข้ามมาจนถึงศตวรรษที่ 19 และในวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1828 นั้น สเปนประกาศให้กาโร้ทเป็นเครื่องมือประหารชีวิตพลเรือนเพียงชนิดเดียวในประเทศ
ครั้งสุดท้ายที่มีการประหารชีวิตนักโทษในที่สาธารณะด้วยกาโร้ทในประเทศสเปน ก็คือการประหารนักโทษที่เมืองบาเซโลน่า ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1897 โดยหลังจากนั้นทางการสเปนก็ยังคงใช้กาโร้ทประหารนักโทษอยู่เพียงแต่ไม่ประหารกันในที่สาธารณะกันอีกต่อไป หากแต่เปลี่ยนมาประหารในกำแพงคุกแทน
โดยที่ยังคงเปิดโอกาสให้สื่อเข้าไปทำภาพข่าวได้บางกรณีเท่านั้น จอร์จ ไมเคิล เวลเซล และซัลวาดอร์ พูอิก แอนติช คือสองนักโทษรายสุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตด้วยกาโร้ทในสเปนเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1974 โทษร้ายแรงที่นำสองคนไปสู่การประหารก็คือโทษที่คนทั้งสองร่วมือกันสังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนาย ความผิดร้ายแรงนั้นทำให้สองคนถูกประหารด้วยกาโร้ท สเปนนั้นประกาศยกเลิกโทษประหารชีวิตผู้ต้องหาในปี ค.ศ. 1978 และประกาศดังกล่าวส่งผลให้ต้องยกเลิกการใช้กาโร้ทไปด้วยโดยปริยาย
ดังนั้น กาโร้ทจึงกลายเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ประหารชีวิตในประวัติศาสตร์ที่ถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ และดูเหมือนผู้คนจะลืมเลือนมันไปตามกาลเวลา ท้ายที่สุดแม้กาโร้ทจะถูกยกเลิกไปในสเปน แต่ในดินแดนเล็ก ๆ อย่างแอนโดร่าซึ่งอยู่ติดพรมแดนตอนเหนือของสเปนกับฝรั่งเศสนั้นคือดินแดนสุดท้ายที่ประกาศยกเลิกโทษประหารด้วยกาโร้ทในปี ค.ศ. 1990 และถือเป็นการยุติการประหารด้วยกาโร้ทไปจากโลกนี้ทันที ทุกวันนี้แม้ไม่มีกาโร้ทมาสร้างความสยองให้กับนักโทษอีกต่อไป แต่ผู้คนก็ยังคงไม่ลืมเลือนเครื่องประหารที่เต็มไปด้วยความทรมานนี้ไปแต่อย่างใด...(จบ)...✐
(จอร์จ ไมเคิล เวลเซล และซัลวาดอร์ พูอิก แอนติช คือสองนักโทษรายสุดท้าย)
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1288281607891878&set=p.1288281607891878&type=3&theater
ที่มา นิตยสารเรื่องแปลกและสิ่งนำโชค ประจำวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560, หน้า 17, 36.