ปัจจุบันสมาชิกคณะราษฎรทั้งหมดเสียชีวิตแล้ว
คณะราษฎรประกอบด้วยกลุ่มบุคคลผู้ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนและนักเรียนทหารที่ศึกษาและทำงานอยู่ในทวีปยุโรป โดยเริ่มต้นจากปรีดี พนมยงค์ นักเรียนวิชากฎหมาย และประยูร ภมรมนตรี[remark 2] นักเรียนวิชารัฐศาสตร์ ก่อนที่จะหาสมาชิกที่มีความคิดแบบเดียวกันเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้น 7 คน ได้แก่ [1]
- ประยูร ภมรมนตรี นักเรียนวิชารัฐศาสตร์ ประเทศฝรั่งเศส
- ปรีดี พนมยงค์ นักเรียนวิชากฎหมาย ประเทศฝรั่งเศส
- ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ นักเรียนวิชาทหารปืนใหญ่ ประเทศฝรั่งเศส
- ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี นักเรียนวิชาทหารม้า ประเทศฝรั่งเศส
- ตั้ว ลพานุกรม นักเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
- จรูญ สิงหเสนี [remark 3]ผู้ช่วยราชการสถานทูตสยามในประเทศฝรั่งเศส
- แนบ พหลโยธิน นักเรียนวิชากฎหมาย ประเทศอังกฤษ
สมาชิกคณะราษฎรแบ่งเป็นสามสายคือ สายทหารบก สายทหารเรือ สายพลเรือน โดยสมาชิกที่สำคัญในการก่อตั้งคณะราษฎร ในแต่ละสายได้แก่
- สายทหารบก: พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน), พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน), พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ), พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น), และ หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ)
- สายทหารเรือ: หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน), หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย), หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวรณ์ สุวรรณชีพ), และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์)
- สายพลเรือน: หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์), หลวงศิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี), หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์), ตั้ว ลพานุกรม, แนบ พหลโยธิน, ทวี บุณยเกตุ, และประยูร ภมรมนตรี
ซึ่งภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จแล้ว นับว่าคณะราษฎรได้มีบทบาทและอิทธิพลอย่างสูงในทางการเมืองและสังคมของประเทศไทย เป็นระยะเวลาประมาณ 15 ปี จนกระทั่งมาหมดบทบาทอย่างสิ้นเชิงในปลายปี พ.ศ. 2490 จากการรัฐประหารของคณะนายทหาร ภายใต้การนำของพลโท ผิน ชุณหะวัณ และจากนั้นได้ให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถึงแม้จอมพล ป. จะเป็นสมาชิกคณะราษฎรก็ตาม แต่สมาชิกและบุคคลร่วมคณะในรัฐบาลก็มิได้เป็นสมาชิกคณะราษฎรเลย โดยการทำรัฐประหารครั้งนั้นถือได้ว่าเป็นการล้างอำนาจทางการเมืองของคณะราษฎรเสียสิ้น[4] และจากนั้นต่อมาแม้สมาชิกคณะราษฎรหลายคนจะยังมีชีวิตอยู่ และยังอยู่ในเส้นทางสายการเมืองก็ตาม แต่ก็มิได้มีบทบาทอย่างสูงเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว[6][1]
ปัจจุบันสมาชิกคณะราษฎรทั้งหมดเสียชีวิตแล้ว โดยคนสุดท้ายที่เสียชีวิตคือ ร.ท.กระจ่าง ตุลารักษ์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ด้วยอายุ 98 ปี