โรงไฟฟ้าคลองช่องกล่ำ โครงการตามพระราชดำริ
โรงไฟฟ้าคลองช่องกล่ำเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาจังหวัดปราจีนบุรีตามพระราชดำริ” ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าเชิงเขาบรรทัดชายแดนไทย-กัมพูชา จังหวัดสระแก้ว เดิมทีมีสภาพเป็นป่า
เสื่อมโทรมขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร อีกทั้งยังถูกราษฎรบุกรุกทำลายป่าอย่างกว้างขวางและยังเป็นเขตแทรกซึมของฝ่ายตรงข้าม เมื่อความเดือดร้อนของชาวบ้านทราบถึงพระเนตรพระกรรณ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งประกอบไปด้วยการพัฒนาในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านแหล่งน้ำมีการก่อสร้างเขื่อนต่างๆ เช่น เขื่อนท่ากะบาก อ.เมือง, เขื่อนคลองช่องกล่ำตอนบนและเขื่อนคลองช่องกล่ำตอนล่าง อ.วัฒนานคร ใน จ.สระแก้ว ซึ่งเมื่อพระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรพื้นที่ดังกล่าวในเวลาต่อมาได้ทรงมีพระราชดำริให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกรมชลประทานพิจารณานำน้ำที่ระบาย จากเขื่อนมาใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าก่อนที่จะระบายน้ำ เพื่อนำไปใช้ในการเกษตร
โรงไฟฟ้าพลังน้ำคลองช่องกล่ำ จึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ด้วยงบประมาณลงทุนกว่า 4,500 ล้านบาท โดยเขื่อนคลองช่องกล่ำเป็นลักษณะเขื่อนดินสร้างปิดกั้นลำน้ำคลองช่องกล่ำ ตัวเขื่อนมีความสูง 13 เมตรและยาว 222 เมตร สามารถกักน้ำได้สูงสุด 2.8 แสนลูกบาศก์เมตร ส่วนทางระบายน้ำล้นขนาดกว้าง 50 เมตรและมีปริมาณน้ำที่ระบายได้สูงสุดประมาณ 120 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ในส่วนของโรงไฟฟ้าจะมีการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 20 กิโลวัตต์ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้สูงสุดประมาณ 16 กิโลวัตต์ เชื่อมต่อกับระบบสายส่งกระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นสายส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาดแรงดัน 22 กิโลวัตต์ และสายส่งไฟฟ้าแรงต่ำขนาดแรงดัน 220 โวลต์ ไฟฟ้าที่ได้จากโรงไฟฟ้าดังกล่าว ถูกนำมาใช้กับเครื่องสีข้าวและระบบไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะในหมู่บ้านจำนวน 3 แห่ง คือ หมู่บ้านคลองทราย หมู่บ้านคลองคันโทและหมู่บ้านท่ากะบาก โดยไฟฟ้าที่ได้สามารถทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง คิดเป็นค่าพลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละประมาณ 67,500 กิโลวัตต์/ชั่วโมง นอกจากนี้ในปี พ.ศ.2529 มีการสร้างโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ที่บริเวณโรงไฟฟ้าพลังน้ำคลองช่องกล่ำอีกด้วย ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใช้เนื้อที่ประมาณ 550 ตารางเมตร ประกอบไปด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 480 แผง กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 20 กิโลวัตต์ ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกเก็บไว้ในชุดแบตเตอรี่จำนวน 360 ลูกเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน รวมแล้วมีขนาดความจุ 450 แอมแปร์/ชั่วโมง แรงดันที่ 240 โวลต์