"คำรณ สัมบุญณานนท์" นักร้องลูกทุ่งคนแรกของไทย และเป็นผู้ที่หาญกล้าท้าทายจอมพลสฤษดิ์ฯ
ในวงการลูกทุ่งนั้น คงไม่มีใครที่จะไม่รู้จัก "คำรณ สัมบุญณานนท์" เขาคือนักร้องที่โด่งดังเป็นคนแรกๆ ในช่วงยุคปี 2481 จนถึงปี 2500 ด้วยซ้ำ จะบอกว่าเขาเป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งแนวเพื่อชีวิตก็ไม่ผิดนัก เพราะบทเพลงของเขามักจะสะท้อนความยากจน ความเจ็บปวดของชนชั้นล่างเสมอมา ซึ่งสิ่งนี้เองที่ทำให้เขากลายเป็นที่หมายหัวของฝ่ายการเมืองในยุคนั้น โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เคยสั่งให้เพลงของเขาเป็นภัยต่อความมั่นคงทีเดียว
คำรณ สัมบุญณานนท์ เป็นชาวกรุงเทพโดยกำเนิด (มีคนตั้งข้อสงสัยว่า เขาอาจจะเป็นชาวสุพรรณ เพราะสำเนียงการร้องเหน่อแบบชาวสุพรรณ) เขาเรียนจบช่างกลอุเทนถวาย แล้วจึงเริ่มร้องเพลงจากการแสดงดนตรีในงานวัด กล่าวกันว่าเขาได้รับอิทธิพลการร้องมาจาก "แสงนภา บุญญราศรี" ราชาเพลงชีวิตในช่วงเวลานั้น
บทเพลงของคำรณแม้จะมีความเป็นลูกทุ่งแต่ก็มีเนื้อหาที่สะท้อนชีวิตของคนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเพลงสัปเหร่อ เพลงที่บรรยายถึงคนว่า ทุกคนต้องตายทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจนหรือร่ำรวยเพลงใดก็ตาม หรือ เพลงอื่น ๆ มากมาย ผู้แต่งเพลงให้คำรณนั้นคือ ครุไพบูลย์ บุตรขัน นักแต่งเพลงอัจฉริยะ ซึ่งได้แต่งเพลงชมหมู่ไม้ให้เขาบันทึกเสียง ซึ่เป็นช่วงเวลาที่เขาโด่งดังอย่างมาก ประจวบกับใบหน้าที่หล่อเหลาแบบไทยแท้ทำให้มีงานแสดงภาพยนตร์และเป็นพระเอกหลายเรื่อง รวมทั้งได้เป็นพระเอกให้ละครวิทยุอีกด้วย
เหม เวชกร ได้แต่งเพลง เจ้าสาวชาวไร่ให้กับเขา และได้รับการบันทึกว่า นี่คือ เพลงลูกทุ่งเพลงแรกของไทย ซึ่งคำรณร้องออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมและเป็นหนึ่งในไฮไลท์ชีวิตของเขาทีเดียว
ทว่า อุปสรรคใหญ่ของคำรณก็เดินทางมาถึง เมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ประกาศยึดอำนาจการปกครองในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 และปกครองประเทศด้วยความเข้มงวด ทำให้บทเพลงของคำรณกลายเป็นสิ่งต้องห้ามในตอนนั้นไปทันที่ตามประกาศคำสั่งของจอมพลสฤษดิ์ ทว่าคำรณกลับไม่ยอมสยบยอมต่อจอมพลคนนี้และยังร้องเพลงต่อไปจนกลายเป็นศัตรูที่ต้องถูกจับกุมทุกครั้ง หลายคนกล่าวว่า คำรณร้องเพลง เพลงหนึ่งก็ต้องติดคุก ด้วยข้อหามีเนื้อหาขัดกับความสงบอันดีของประเทศในตอนนั้นทั้งที่บทเพลงของเขาเป็นเพลงที่บอกเล่าถึงชีวิตยากจนก็เท่านั้น
คำรณเข้าๆ ออกๆ อยู่ได้หกปี เขาก็ได้อยู่ทันเห็นจอมพลสฤษดิ์ ถึงแก่กรรมในปี 2506 นับว่า เป็นจุดสิ้นสุดการเข้าออกคุกของเขา และทำให้คำรณออกมาทำเพลงต่อเหมือนเดิม เนื้อหาเพลงของคำรณในช่วงนี้ก็ยังคงเป็นเพลงลูกทุ่งแนวเพื่อชีวิตเหมือนเช่นเคย เพลงของเขายังคงสะท้อนภาพของคนยากจน ชนบท และความเหลื่อมล้ำของสังคมออกมาอยู่ดี เพลงดังๆ ในยุคนี้ก็ได้แก่ รอยไถแปร, ชายสามโบสถ์, น้ำตาเสือตก, ตาสีกำสรวล, หนุ่มสุพรรณฝันเพ้อ, บ้านนาป่าร้าง, หวยใต้ดิน, มนต์การเมือง, ชายใจพระ
ทว่า...ด้วยสุขภาพที่ไม่ค่อยดีและการติดคุกบ่อยครั้งทำให้เขาเสียชีวิตลงในปี 2512 ด้วยอายุ 49 ปี
ทิ้งตำนานนักร้องผู้ร้องเพลงอย่างหาญกล้า สะท้อนความทุกข์ยากของชาวบ้านเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้สืบสานให้เป็นแบบอย่างต่อไป