วิธีสำรวจตัวเอง ว่าเข้าข่าย “ภาวะอ้วนลงพุง” หรือไม่ ?
ภาวะอ้วนลงพุง เป็นภาวะที่ระบบการเผาผลาญพลังงานผิดปกติ ทำให้มีไขมันสะสมในช่องท้อง หรือ อวัยวะในช่องท้องมากเกินไป ส่งผลให้มีหน้าท้องยื่นออกมา ภาวะอ้วนลงพุงไม่ได้พบในเฉพาะคนอ้วนเท่านั้น แม้ว่าน้ำหนักตัวจะอยู่ในเกณฑ์ปกติก็สามารถเกิดภาวะอ้วนลงพุงได้
วิธีการตรวจสอบว่า เป็นภาวะอ้วนลงพุงหรือไม่?
ให้คำนวณหาค่าดัชนีมวลกาย หรือ ค่า BMI ซึ่งมีวิธีคำนวณดังนี้
นำน้ำหนักเป็นกิโลกรัม หารด้วย ส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง หรือ BMI = น้ำหนัก (kg) ÷ ส่วนสูง (m)2
- หากผลออกมาน้อยกว่า 18.5 นั่นแปลว่า น้ำหนักน้อยกว่ามาตรฐาน
- หากผลออกมา 18.5 – 22.9 นั่นแปลว่า น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- หากผลออกมา 23 – 24.9 นั่นแปลว่า น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน
- หากผลออกมา 25 – 29.9 นั่นแปลว่า อ้วนระดับ 1
- หากผลออกมา มากกว่าหรือเท่ากับ 30 นั่นแปลว่า อ้วนระดับ 2
ยกตัวอย่าง ส่วนสูง 165 เซนติเมตร น้ำหนัก 65 กิโลกรัม
65 (kg) ÷ 1.65*1.65 (m)2 = 23.88 กิโลกรัม/เมตร2 อยู่ในเกณฑ์น้ำหนักเกิน
น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของ “ผู้ชาย” ที่รูปร่างสมส่วน ค่า BMI จะอยู่ที่ 22 –23
น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของ “ผู้หญิง” ที่รูปร่างสมส่วน ค่า BMI จะอยู่ที่ 19 –20
แม้ว่าค่า BMI จะอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่หากมีเส้นรอบเอวที่มากเกิน มีความเป็นไปได้ว่ามีไขมันสะสมที่ช่องท้องหรืออวัยวะภายในช่องท้องมากเกินไป อาจเรียกอีกอย่างว่า ภาวะอ้วนลงพุง จึงมีวิธีการวัดเส้นรอบเอวดังนี้
- ท่าทางอยู่ในลักษณะการยืน
- ใช้สายวัด วัดบริเวณรอบสะดือให้ขนานกับพื้น
- หายใจปกติ ไม่แขม่วท้อง สายรัดต้องไม่แน่นจนเกินไป
“ผู้ชาย” ควรมีรอบเอวไม่เกิน 90 ซม. หรือ 35.4 นิ้ว
“ผู้หญิง” ควรมีรอบเอวไม่เกิน 80 ซม. หรือ 31.5 นิ้ว
อย่างไรก็ตาม การวัดค่า BMI เป็นการคัดกรองคร่าว ๆ เท่านั้น ควรจะตรวจมวลกล้ามเนื้อและสัดส่วนไขมันเพิ่มเติม
สาเหตุของภาวะอ้วนลงพุง
- การกินอาหารที่มีพลังงานสูงเกินความต้องการของร่างกาย
- ขาดการออกกำลังกาย เช่น ไม่มีเวลาออกกำลังกาย พฤติกรรมทำงานใช้กำลังกาย ร่างกายไม่พร้อม อดนอน
- กรรมพันธุ์
- ยาที่ทำให้น้ำหนักขึ้น เช่น ยาจิตเวช ยากันชัก อินซูลิน สเตียรอยด์
- โรคต่อมไร้ท่อ เช่น โรคถุงน้ำในรังไข่ กลุ่มอาการคุชชิ่ง ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ
ภาวะอ้วนลงพุงเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างไร?
- ทำให้มีโอกาสเกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดได้ง่าย เช่น หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบ เลือดแข็งตัวง่าย ทำให้เกิดการอุดตันหลอดเลือดที่เลี้ยงสมองหรือหัวใจ ส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจวาย อัมพาต หรือ เสียชีวิต
- ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง เป็นเบาหวานง่าย ไตวาย
- เสี่ยงต่อภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ง่วงซึมในตอนตื่น มีภาวะนอนกรน
- โรคความเสื่อมของข้อต่อต่าง ๆ เช่น ข้อเข่า ปวดหลัง ปวดเอว ข้ออักเสบ
- โรคมะเร็งบางชนิด
- เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
ภาวะอ้วนลงพุงรักษาได้โดย
1.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
- หันมาออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที
- ไม่ควรงดอาหารมื้อเช้า กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้ กินโปรตีนให้เพียงพอ โดยคนต้องการโปรตีนอย่างน้อยวันละ 1 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
- ควบคุมอาหารที่มีแคลอรี่สูง ลดแป้ง
- ลดอาหารที่มีรสเค็มจัด หวานจัด ดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำหวาน
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ลด ละ เลิก การดื่มแอลกอฮอล์
2.รักษาทางการแพทย์
- การใช้ยาลดน้ำหนัก หรือ ยาลดความอยากของอาหาร เช่น ปากกาลดน้ำหนัก ซึ่งช่วยให้ผู้ที่ได้รับยารู้สึกอิ่มและกินได้น้อยลง
- การผ่าตัดกระเพาะอาหาร (Bariatric surgery) เป็นทางเลือกสำหรับผู้มีปัญหาน้ำหนักเกินอย่างมาก ช่วยให้พื้นที่รับอาหารน้อยลง หิวน้อยลง อิ่มไวขึ้น ลดน้ำหนักได้ที่ต้นเหตุ โดยการรักษาด้วยวิธีนี้จะอยู่ที่ดุลยพินิจของแพทย์ และ ข้อบ่งชี้ในผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ผู้ป่วยดัชนีมวลกาย 37.5 ขึ้นไป หรือ ผู้ป่วยดัชนีมวลกาย 32.5 ขึ้นไป ร่วมกับมีโรคประจำตัวที่ เกี่ยวพันกับโรคอ้วน
การตระหนักรู้ ดูแลตนเองให้ห่างไกลจากโรคอ้วนคือ สิ่งสำคัญ เพราะไม่ใช่แค่ตัวเลขบนตราชั่ง แต่คือการมีสุขภาพดีในระยะยาว เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะช่วยให้ห่างไกลจากภาวะอ้วนลงพุงได้แล้ว