ทดสอบการแพ้อาหารด้วยวิธีการกินอาหารที่สงสัย ?! (Oral Food Challenge Test)
การแพ้อาหาร (Food Allergy) เป็นปฏิกิริยาของร่างกาย เมื่อได้กินอาหารที่แพ้ ผ่านกลไกภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดอาการในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย โดยอาการอาจเกิดขึ้นเพียง ระบบเดียว หรือ หลายระบบ และ อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต การแพ้อาหารเกิดขึ้นได้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยอาหารที่มักเป็นสาเหตุการแพ้อาหาร ได้แก่
- ไข่
- ปลา
- นม
- ถั่วเหลือง
- ถั่วลิสง
- แป้งสาลี และ กลูเต็น
- สัตว์น้ำเปลือกแข็ง เช่น กุ้ง ปู หอย หมึก ฯลฯ
- ถั่วตระกูล Tree Nuts เช่น อัลมอนด์ วอลนัท มะม่วงหิมพานต์ แมคคาเดเมีย พิสตาชิโอ ฯลฯ
- ผักและผลไม้ อาจเกิดอาการแพ้ที่ริมฝีปากและในลำคอ
วิธีการทดสอบอาการแพ้อาหาร เบื้องต้น
1.การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin Prick Tests) ผู้ทดสอบต้องไม่มีอาการเจ็บป่วยอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ก่อนวันที่ทำการทดสอบ และ งดกินยาแก้แพ้ 1 สัปดาห์ ก่อนวันที่ทำการทดสอบ เมื่อทดสอบแล้วสามารถทราบผลได้ภายใน 15 – 20 นาที (ในกรณีที่มีอาการแพ้รุนแรงจะสามารถทดสอบได้หลังจากมีอาการ 1 เดือน)
2.การตรวจเลือด (Blood Test For Specific IgE) ไม่ต้องงดยาแก้แพ้ก่อนการทดสอบ เมื่อทดสอบแล้วสามารถทราบผลได้ภายใน 3 – 5 วันทำการ โดยมีทั้งผลเป็นบวกและลบ
- ผลเป็นบวก แพทย์อาจให้ งด หรือ อาจให้ทำทดสอบด้วยการกินอาหาร (Oral Food Challenge) ตามความเหมาะสม (ในกรณีที่ผู้ป่วยแพ้อยู่ก่อนแล้วและต้องการรู้ว่าหายแพ้แล้วหรือไม่) และขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา
- ผลเป็นลบ อาจพิจารณาทำการทดสอบด้วยการกินอาหาร (Oral Food Challenge)
การทดสอบการแพ้อาหารด้วยการกินอาหารที่สงสัย (Oral Food Challenge Test) คือ การให้ผู้ป่วยลองกินอาหารที่สงสัยว่าก่อให้เกิดอาการแพ้ แล้วสังเกตอาการที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด วิธีการทดสอบนี้เป็นการยืนยันการวินิจฉัยการแพ้อาหารที่แม่นยำ และ น่าเชื่อถือมากที่สุด โดยจะเลือกทดสอบอาหารที่สงสัยจากประวัติผู้ป่วย หรือ ผลตรวจ skin prick test หรือ ผลตรวจ specific IgE ที่ยังสงสัยการแพ้อาหาร รวมไปถึงการทำทดสอบอาหารเพื่อยืนยันว่าผู้ป่วยหายจากการแพ้อาหารนั้นแล้ว
ใครควรทดสอบด้วยวิธีการกินอาหารที่สงสัย
1.ผู้ที่เคยมีประวัติว่าแพ้อาหารมาก่อน และ งดอาหารมาสักระยะ ต้องการดูว่าอาการหายแล้ว ซึ่งก่อนทำควรเจาะเลือดหรือทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังก่อนว่าอาการแพ้ลดลงแล้ว
2.ผู้ที่สงสัยว่าแพ้อาหาร แต่ อาการและผลทดสอบอื่น ๆ ให้ผลไม่ชัดเจน
3.ผู้ที่ผลทดสอบจากเลือดและผิวหนังขึ้นหลายอย่าง แล้วไม่มั่นใจว่าแพ้ตัวไหน
การเตรียมตัวก่อนทำการทดสอบด้วยวิธีการกินอาหารที่สงสัย
1.ผู้ทดสอบต้องสบายดี ไม่มีอาการเจ็บป่วยอะไรอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ก่อนมาทำการทดสอบ
2.งดกินอาหารที่สงสัยว่าแพ้อย่างน้อย 7-14 วัน ก่อนมาทำการทดสอบ
3.งดกินยาแก้แพ้แอนตี้ฮีสตามีนอย่างน้อย 5-7 วัน ก่อนมาทำการทดสอบ
ขั้นตอนทดสอบด้วยวิธีการกินอาหารที่สงสัย
1.ผู้ทดสอบจะได้กินอาหารที่สงสัยว่าแพ้ โดยเริ่มกินในปริมาณอย่างน้อย 5-10% ของปริมาณที่ควรได้รับตามปกติ ขึ้นอยู่กับประวัติความรุนแรงของอาการแพ้ แล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณอาหารนั้นเป็น 2 เท่าในทุก ๆ 15-60 นาที
2.เฝ้าดูอาการที่เกิดขึ้นตลอดการกินอาหารนั้น จนถึงปริมาณปกติที่คนนั้นจะสามารถกินอาหารนั้นได้ และให้กินอาหารนั้นต่อไปทุกวันในช่วงระยะหนึ่ง โดยต้องสังเกตอาการต่อไป 2-7 วัน
3.ถ้าอาการแพ้นั้นมีปฏิกิริยาที่เกิดเร็วมักจะมีอาการภายในไม่เกิน 24-48 ชม. หลังกินอาหาร หากอาการแพ้เป็นปฏิกิริยาที่เกิดช้า มักจะมีอาการภายใน 7 วันหลังกินอาหาร จึงแนะนำให้สังเกตอาการไปนานอย่างน้อย 7 วัน
4.หากไม่มีอาการผิดปกติใดก็สามารถบอกได้ว่าผู้ป่วยไม่แพ้หรือหายจากการแพ้อาหารชนิดนั้นแล้ว
ทั้งนี้การทดสอบจะเริ่มทำหลังจากได้รับความยินยอมอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ป่วย หรือ ในกรณีของเด็กต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครอง ซึ่งได้รับทราบถึงขั้นตอนวิธีการทดสอบ และ ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นก่อนเริ่มทำการทดสอบ
ผู้ทำการทดสอบการแพ้อาหารโดยกินอาหารที่สงสัย อาจมีโอกาสเกิดปฏิกิริยาการแพ้อาหารนั้น โดยอาจมีอาการรุนแรงจากการแพ้ฉับพลันได้ ซึ่งสามารถป้องกันและลดโอกาสการเกิดได้ ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมียาและอุปกรณ์ช่วยชีวิตเตรียมพร้อมตลอดเวลาที่ทำการทดสอบ