10 ข้อน่ารู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญทั่วโลก ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน
1. [เก่าแก่ที่สุด] รัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ เป็นรัฐธรรมนูญเก่าแก่ที่สุดในโลก ประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 2330 ตรงกับปีที่ห้าหลังการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ของไทย หากนับรัฐธรรมนูญฉบับที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรด้วย ซานมาริโนจะเป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญเก่าแก่ที่สุดในโลกแทนเพราะใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2143 หรือกว่า 416 ปีมาแล้ว
2. [ไม่ใช่ทุกประเทศที่มีรัฐธรรมนูญ—ที่เป็นลายลักษณ์อักษร] รัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตยไม่ใช่ของคู่กัน ประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์อย่างเกาหลีเหนือและเพื่อนบ้างของเราอย่าง สปป.ลาว ล้วนมีรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น แต่บางประเทศไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร แม้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ได้แก่ อังกฤษ นิวซีแลนด์ แคนาดา ซานมาริโน และอิสราเอล นอกจากนี้ซาอุดิอารเบียก็ประกาศให้พระคัมภีร์กุรอานเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
3. [พระเจ้าในรัฐธรรมนูญ] เพื่อเสกให้รัฐธรรมนูญมีความศักดิ์สิทธิ์ สร้างความชอบธรรมแก่รัฐและเหตุผลอื่น อย่างน้อย 32 ประเทศทั่วโลกมีการกล่าวถึงพระเจ้าในรัฐธรรรมนูญ แม้รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ไม่มีคำว่าพระเจ้า (God) แต่ในรัฐธรรมนูญของรัฐทั้งหมด 8 รัฐปรากฏคำนี้ในบทนำ ใน 4 รัฐใช้คำว่า ‘ผู้ปกครองสูงสุดในจักรวาล’ เพื่อกล่าวถึงพระเจ้า ส่วนคำว่า ‘พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่’ พบได้ในบทนำของรัฐธรรมนูญของรัฐในสหรัฐฯ กว่า 30 รัฐ ในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนมีสองประเทศที่กล่าวถึงพระเจ้าในรัฐธรรมนูญของเขา คือ ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย
4. [สะกดผิด] รัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ มีความน่าสนใจมากมาย รวมถึงการสะกดคำผิดหลายแห่ง เช่นคำว่า choose สะกดเป็น chuse ซึ่งต่อมามีผู้อธิบายว่าเป็นรูปแบบการสะกดที่ยังได้รับอิทธิพลจากภาษาอังกฤษแบบอังกฤษ (British English) และไม่เป็นที่นิยมใช้แล้วในภาษาอังกฤษแบบอเมริกันในปัจจุบัน คำที่สะกดผิดและถูกกล่าวถึงมากที่สุดคือ Pennsylvania ที่สะกดในรัฐธรรมนูญต้นฉบับเป็น Pensylvania อย่างไรก็ตาม
5. [ยาวที่สุดในโลก] รัฐธรรมนูญของอินเดียเป็นรัฐธรรมนูญที่ยาวที่สุดในโลก โดยมีทั้งสิ้น 448 มาตราในปัจจุบัน จากเดิม 395 มาตรา ต้นฉบับรัฐธรรมนูญนี้ถูกเก็บรักษาไว้ในแก๊สฮีเลียมที่หอสมุดรัฐสภา สำหรับรัฐธรรมนูญที่สั้นที่สุดเป็นของสหรัฐฯ ซึ่งมีเพียง 4,400 คำ หรือเพียง 4 หน้ากระดาษ เป็นลายมือของจาค็อป ชาลลุส (Jacob Shallus) ซึ่งถูกจ้างเขียนเป็นเงิน 30 เหรียญฯ รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถูกเก็บไว้ในกล่องไทเทเนียมบรรจุแก๊สอาร์กอนที่พิพิธภัณฑ์หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
6. [หนึ่งประเทศ หนึ่งรัฐธรรมนูญจริงหรือ] เราทราบกันดีว่าหนึ่งประเทศอาจมีรัฐธรรมนูญได้ถึง 20 ฉบับอย่างประเทศไทยของเรา เพียงแต่ไม่ประกาศใช้พร้อมกันเท่านั้น ความจริงคือแม้ในเวลาเดียวกัน บางประเทศมีรัฐธรรมนูญใช้มากกว่าหนึ่งฉบับ อาทิ นอกจากรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ที่เรียกว่า federal constitution แล้ว แต่ละรัฐต่างมีรัฐธรรมนูญเป็นของตนเอง นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญอินเดียมาตรา 370 ยังให้อำนาจปกครองตนเองแก่รัฐจัมมูและกัชมีร์ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ รัฐดังกล่าวมีรัฐธรรมนูญเป็นของตนเองเช่นกัน
7. [ประเทศที่มีจำนวนรัฐธรรมนูญประกาศใช้มาแล้วหลายฉบับที่สุด] โดมินิกันเป็นประเทศที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาแล้วกว่า 38 ฉบับ นับแต่การประกาศเอกราชในปี 2387 ฉบับล่าสุดเพิ่งมีผลบังคับใช้ในปี 2558 อันดับรองลองมาเป็นเวเนซูเอล่า (26 ฉบับ), เฮติ (25 ฉบับ), เอกัวดอร์ (20 ฉบับ) และไทยซึ่งกำลังจะมีฉบับใหม่เป็นฉบับที่ 20 ในอนาคตอันใกล้นี้
8. [รัฐธรรมนูญน้ำอมฤต] รัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี หรือ เกาหลีเหนือได้ชุบชีวิตให้ ‘คิม อิล ซุง’ อดีตประธานาธิบดีผู้ล่วงลับเป็น ‘ประธานาธิบดีผู้เป็นนิรันดร์ หรือ Eternal president of republic ในการแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2541
9. [ไม่เคยถูกฉีก] รัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ มักได้รับการยกย่องว่าได้รับความเคารพอย่างสูงเพราะไม่เคยถูกฉีกแล้วร่างใหม่ขึ้นใช้แทน แต่ ‘แก้ไขเพิ่มเติม’ เท่านั้น ซึ่งมีมาแล้วกว่า 27 ครั้ง การแก้ไขเพิ่มเติมสิบครั้งแรกเป็นที่รู้จักกันในนาม ‘บัญญัติว่าด้วยสิทธิ’ หรือ Bill of Rights ในการแก้ไขเพิ่มเติมทั้งหมดนั้น ไม่ปรากฏการสะกดผิดอีกเลย เว้นแต่คำว่า defence ซึ่งเป็นการสะกดแบบอังกฤษในการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 6 เท่านั้น
10. [รัฐธรรมนูญห้ามการมีกองทัพ] หลังตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อรักษาสันติภาพระหว่างประเทศ รัฐธรรมนูญมาตรา 9 ของญี่ปุ่นจึงกำหนดให้ประเทศเว้นจากการมีกองกำลังที่อาจนำไปสู่การทำสงคราม แต่ญี่ปุ่นยังคงมีกองกำลังเพื่อป้องกันตนเองอยู่ ในปัจจุบัน ภายใต้ความกดดันจากความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนและเกาหลีเหนือ รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนในการทบทวนแก้ไขและตีความรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว