รถไฟฟ้าสายสีม่วงจะสู้รถตู้ทางด่วนได้หรือ
ภาพจาก google map
ตอนนี้หลายคนกำลังดีใจที่จะนั่งรถไฟฟ้าสายสีม่วงเข้าเมือง ดร.โสภณ แย้งถามว่า "รถไฟฟ้าสายนี้จะเจ๊งหรือไม่" ลองมาพิจารณาดูกัน
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ได้วิเคราะห์ไว้ว่าราคาที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าตลอด 13 ปีที่ผ่านมา (2547-2559) เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 9% เพราะอานิสงส์จากการพยายามสร้างรถไฟฟ้าสายนี้(http://bit.ly/29enVGn) ผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินก็อาศัยรถไฟฟ้าสายนี้เป็นจุดขาย แต่ในขณะเดียวกัน ดร.โสภณ ก็พยายามเตือนมาตลอดว่า รถไฟฟ้าสายนี้อาจสร้างในพื้นที่ๆ ไม่ได้จำเป็นเร่งด่วน มีประชากรน้อย และวิ่งโดยทางรถยนต์ในช่วงข้ามแม่น้ำเพระยาไปแล้วอาจจะสะดวกกว่าหรือไม่
ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือค่าโดยสาร โดยค่าโดยสารจากสถานีบางไผ่ (สถานีสุดท้าย) ไปยังถึงบางซื่อ เป็นเงินเบื้องต้น 42 บาท ข้อนี้ที่ผ่านมาแทบไม่เคยมีการประกาศให้แน่ชัด คงเพราะกลัวประชาชนจะตระหนักได้ว่าค่าเดินทางสูงมาก หากไปอยู่อาศัยจริงตามแนวรถไฟฟ้านี้ หากสมมติให้เดินทางจากบางใหญ่ไปสีลม ก็จะใช้เงิน 42 บาท เป็นค่ารถไฟฟ้าสายสีม่วง ค่ามอเตอร์ไซค์รับจ้างอีก 1 กิโลเมตร 20 บาท ค่ารถไฟฟ้าใต้ดิน 42 บาท ค่ารถเมล์จากสีลมถึงธนาคารกรุงเทพ สนญ.สีลม 7 บาท รวม 111 บาท
แต่หากขึ้นรถตู้ทางด่วน จากถนนกาญจนาภิเษก ฝั่งตรงข้ามห้างบิ๊กคิง ลงทางด่วนสีลมตรงข้ามโรงพยาบาลเลิดสิน และสุดทางที่ศาลาแดง ก็จะเป็นเงินเพียง 50 บาท ส่วนขากลับ ก็เดินทางจากแยกสีลม-นราธิวาส ขึ้นทางด่วนกลับไปทางด่วนเช่นเดิม จะเห็นได้ว่าค่ารถตู้ถูกกว่าค่ารถไฟฟ้ามากกว่าครึ่งหนึ่ง นอกจากนั้นการขึ้นรถตู้ยังไม่ต้องต่อรถ ไม่ต้องขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่ต้องเดินซึ่งเปลืองเวลาไปอีกมากเช่นกัน
รถตู้อาจมีข้อเสียที่ไม่ได้บริการทั้งวัน แต่จำนวนคนที่จะขึ้นใช้บริการในช่วงกลางวันก็คงมีจำกัด โดยรถตู้วิ่งจากบางใหญ่เวลาประมาณ 05:00 - 08:00 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 - 70 นาที ในกรณีรถไฟฟ้า เมื่อรวมเวลาเดินและขึ้นๆ ลงๆ ด้วยแล้ว ก็คงเป็นเวลาไม่ต่างกันมาก ในช่วงเช้า ๆ รถตู้อาจเร็วกว่าด้วยซ้ำไป ส่วนขากลับรถตู้ก็จะวิ่งเวลาประมาณ 16:30 - 20:30 น. การรับผู้โดยสารรถตู้ก็ไม่น้อย โดยในช่วงเช้า จะวิ่งได้ 35 เที่ยวโดยประมาณ ส่วนเที่ยวขากลับ จะวิ่งได้ประมาณ 26 เที่ยว แต่ละเที่ยวจะมีผู้โดยสารคนประมาณ 15 คน
เราคงต้องมาดูกันว่ารถไฟฟ้าสายนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ในความเป็นจริง เราควรทำรถไฟฟ้าหลายสายที่ผ่านเส้นทางที่มีประชาชนหนาแน่นก่อน ไม่ว่าจะเป็นสายสีส้ม สายสีเหลือง สายสีเทา แต่ที่ผ่านมาเราเน้นการทำรถไฟฟ้าตามเส้นทางที่ง่ายก่อนเช่นไม่ต้องเวนคืน จึงทำให้การสร้างรถไฟฟ้าอาจไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชนนั่นเอง
ที่มา: http://www.area.co.th/thai/area_announce/area_press.php?strquey=press_announcement1463.htm