ดอกเบี้ย 0% คือการที่สถาบันการเงินขาด CSR
เร็วๆ นี้สถาบันการเงินเริ่มจะลดดอกเบี้ยเงินฝากเหลือ 0% หรือใกล้ 0% เข้ามาเต็มที แต่ดอกเบี้ยเงินฝากกลับฉีกห่างไป 6% นี่เท่ากับสถาบันการเงินไม่มี CSR
CSR (Corporate Social Responsibility) หรือพันธกิจต่อผู้มีส่วนได้เสียกับวิสาหกิจ กำลังเป็นที่กล่าวขวัญถึง ผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders) ใน CSR นั้นหมายถึงตั้งแต่ผู้ถือหุ้น ลูกจ้าง ลูกค้า คู่ค้า (supplier) ชุมชนที่วิสาหกิจนั้นตั้งอยู่ ตลอดจนสังคมโดยรวม อย่างไรก็ตามวิสาหกิจทั่วไปมักนึกถึงผู้ถือหุ้นเป็นอันดับแรกโดยไม่คำนึงถึงกลุ่มอื่น ซึ่งแสดงว่าขาด CSR นั่นเอง และก่อให้เกิดปัญหาต่อสังคม
การที่เราจะมี CSR นั้น ย่อมหมายถึงการเอื้อประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างเหมาะสมโดยไม่ไปเบียดเบียนฝ่ายใด วิสาหกิจที่มี CSR ย่อมไม่ขูดรีดแรงงานลูกจ้าง ไม่ฉ้อโกงลูกค้า ไม่เอาเปรียบคู่ค้า ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือทำร้ายชุมชนโดยรอบที่ตั้งของวิสาหกิจด้วยการก่อมลพิษ วิสาหกิจที่ขาด CSR ย่อมสะท้อนถึงการขาดซึ่งความโปร่งใส ผู้บริหารในแทบทุกระดับมักหาผลประโยชน์เข้าตัวเองหรือฉ้อโกง
แท้จริงแล้ว การมี CSR เป็นการทำธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎหมาย (แต่ถ้าใครจะทำให้ดีเกินมาตรฐานกฎหมายหรือจะบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมเพิ่มเติมก็อีกเรื่องหนึ่ง) หรืออีกนัยหนึ่งคือการไม่ทำผิด หมิ่นเหม่หรือหลบเลี่ยงกฎหมายแรงงาน กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายอาญาในกรณีต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้การทำ CSR จึงต้องมีกรอบกฎหมายบังคับ
เอาเปรียบคู่ค้า=ขาดจริยธรรม วิสาหกิจหลายแห่งเอาเปรียบคู่ค้าโดยขาดจริยธรรมอย่างเด่นชัด เช่น การยัดเยียดขายพ่วงสินค้า หรือการที่ห้างสรรพสินค้าบังคับให้วิสาหกิจสินค้าอุปโภคบริโภคแปะยี่ห้อของห้าง (house brand) แทนการให้โอกาสวิสาหกิจเหล่านั้นแจ้งเกิดยี่ห้อของเขา นอกจากนี้ยังมีการบีบคู่ค้าให้จัดหาสินค้า-บริการแก่ตนในราคาที่ต่ำสุดเพื่อเพิ่มโอกาสการเอาชนะในสงครามราคาเพื่อการครอบงำตลาดในอนาคต
จริยธรรมเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งเลื่อนลอยที่จะร้องขอความเมตตาจากวิสาหกิจรายใหญ่ที่ยืนอยู่ฐานะที่ได้เปรียบ แต่เป็นประเด็นความไม่เป็นธรรมที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยกฎหมายเพื่อประโยชน์ของวิสาหกิจส่วนใหญ่และโดยเฉพาะเพื่อประชาชนโดยรวม เช่น การออกกฎหมายป้องกันการผูกขาด กฎหมายป้องกันการทุ่มตลาด กฎหมายผังเมืองที่ห้ามการตั้งห้าง/ร้านค้าปลีกส่งเดช กฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ห้ามการก่อสร้างอาคารที่ขาดซึ่งมาตรการแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น เป็นต้น
การที่สถาบันการเงินจะลดดอกเบี้ยถึง 0% นั้น อาจไม่ผิด ในกรณีญี่ปุ่นก็เช่นกัน แต่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ก็ควรที่จะไม่ถ่างห่างมากขนาด 6% ควรน้อยกว่านี้มาก ดูอย่างกรณีญี่ปุ่นหรือประเทศตะวันตกอื่นได้ ทางออกที่จะแก้ไขปัญหานี้ก็คือการเปิดโอกาสให้สถาบันการเงินเอกชนเข้ามาดำเนินการ จะได้มีการแข่งขันแทนการเป็นธุรกิจกึ่งผูกขาด อีกประการหนึ่งก็ควรให้ประชาชนได้ลงทุนทางเลือกอื่น เช่น การซื้อพันธบัตร เพื่อให้การออมไม่สูญเปล่านั่นเอง
ที่มา: http://www.area.co.th/thai/area_announce/area_press.php?strquey=press_announcement1450.htm