วิธีทำเงิน!! มาดูการผลิตธนบัตรดอลลาร์สหรัฐให้คนทั้งโลกได้ใช้
คุณพอจะมีธนบัตรซักใบในกระเป๋าสตางค์รึเปล่า? หวังว่าคุณจะตอบว่ามีนะ
แต่คุณรู้รึเปล่าว่ามีกระบวนการทำงานอย่างไรกว่าจะผลิตเจ้าธนบัตรกระดาษที่อยู่ในกระเป๋าของคุณออกมาให้ได้จับจ่ายใช้สอยกัน แน่นอนว่ามันมีอะไรมากกว่าที่คิด
ถ้าอย่างนั้นเรามาเยี่ยมชมวิธีการผลิตเงินดอลลาร์สหรัฐฯ กันเถอะ!
เป็นร้อยๆ ชั่วโมงที่แรงงานต้องสละเวลาสำหรับการผลิตกระดาษที่มากด้วยมูลค่านี้ จากกระบวนการที่พิเศษสุดๆ ในการสร้างลวดลายบนกระดาษ ไปสู่การพิมพ์ วิเคราะห์ ตัด บรรจุ และขนส่งไปสู่ธนาคารทั้งหลาย
แต่ก่อนที่ธนบัตรเหล่านี้จะเสร็จสมบูรณ์ได้ ต้องผ่านการรับรองขององค์กรซะก่อนนะ อย่างเงินดอลลาร์สหรัฐก็ต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจาก US Department of Treasury หรือที่เรียกกันว่ากระทรวงการคลัง ในนามของ Bureau of Engraving and Printing ที่รับหน้าที่ตรวจสอบและผลิตเงินตราให้กับอเมริกันชนทั้งหลาย
และถ้าหากคุณอยากจะเยี่ยมชมกรรมวิธีการผลิตเจ้าแบงก์ดอลล่าร์นี้ด้วยตาตัวเองล่ะก็ สามารถไปเยี่ยมสำนักงานของ BEP ในวอชิงตัน ดีซี. สหรัฐอเมริกากันได้เลย
ธนบัตรดอลลาร์ถูกพิมพ์เป็นรูปลงบนกระดาษที่ประกอบด้วยคอตตอน 75% และลินินอีก 25% สำหรับความทนทานเป็นพิเศษ ธนบัตรที่มีมูลค่ามากกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐจะถูกแทรกไว้ด้วยเส้นใยสีแดงและน้ำเงินเพื่อเหตุผลทางความปลอดภัย
รูปที่จะต้องถูกพิมพ์ลงบนธนบัตรนั้นต้องถูกสลักลงบนแผ่นเหล็กใหญ่ยักษ์ และรูปบนธนบัตรนี้จะต้องถูกตรวจสอบจาก Bureau of Engraving and Printing ซะก่อนด้วยนะ ซึ่งโรงงานที่จะพิมพ์รูปเหล่านี้ก็ตั้งอยู่ในวอชิงตัน ดีซี. และ รัฐเทกซัส
แล้วเจ้าแผ่นเหล็กเหล่านี้ก็จะถูกทำให้บางและโค้งงอได้เพื่อที่จะม้วนลงไปในเครื่องพิมพ์ หมึกพิมพ์จะถูกใส่ลงไปและเช็ดออกเพื่อให้เหลือแต่ตรงที่ถูกพิมพ์ลายไว้ หมึกที่ใช้ในแต่ละวันนั้นมากกว่าสามตันเลยทีเดียว
หลังจากนั้นกระดาษสุดพิเศษที่เตรียมไว้ก็จะถูกนำมาม้วนเข้าไปในเครื่องพร้อมๆ กับแผ่นเหล็กที่เป็นแม่พิมพ์ โดยใช้แรงกดกว่า 20 ตันจากด้านบนและด้านล่าง ซึ่งเจ้าเครื่องนี้สามารถผลิตได้มากถึงชั่วโมงละ 8,000 แผ่น
กระดาษจะถูกพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ที่แตกต่างกันแต่ในละรอบเพื่อใช้หมึกหลายชนิดสำหรับการพิมพ์ลวดลายที่แตกต่างกัน โดยการดำเนินการจะทำด้วยระบบอัตโนมัติเกือบทั้งหมด
แล้วเจ้ากระดาษที่กำลังจะกลายเป็นธนบัตรก็จะถูกตรวจสอบด้วยเจ้าหน้าที่ เพื่อหาข้อบกพร่องและทำลายแผ่นที่ไม่ได้มาตรฐานซะ
จากนั้นกระดาษแผ่นยักษ์ก็จะถูกส่งไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อสแกนและตรวจสอบความเรียบร้อยอีกทีหนึ่ง ธนบัตรหนึ่งดอลลาร์จะถูกตรวจสอบโดยเครื่องที่ชื่อว่า Nota-Sav ส่วนธนบัตรที่มูลค่าสูงกว่าก็จะถูกตรวจสอบด้วยโปรแกรมที่ต่างกันออกไปเพื่อความปลอดภัยขั้นสูงสุด
เมื่อการตรวจสอบเสร็จสิ้นกระดาษแผ่นใหญ่ก็พร้อมที่จะถูกตัดออกเป็นแผ่นขนาดเท่าธนบัตรที่เราคุ้นเคยกันแล้ว
ในที่สุดหลังจากกลายเป็นธนบัตรใบน้อย พวกมันก็จะถูกส่งเข้าเครื่องเพื่อแยกเป็นปึก ปึกละ 100 แผ่นและมัดไว้ด้วยกระดาษที่บอกค่าเงินเสร็จสรรพ แล้วธนบัตรจำนวนสิบปึกก็จะถูกจัดเป็นห่อ สี่ห่อก็จะถูกรวมเป็นก้อน ในแต่ละก้อนก็จะมีเงินอยู่ 4,000 ดอลลาร์สหรัฐพอดีเป๊ะ
แล้วเจ้าฟ่อนเงินก็จะถูกติดฉลากพร้อมบาร์โค้ดและขนส่งไปยังที่ต่างๆ ทั่วประเทศ แค่ในปี 2013 ปีเดียวก็มีธนบัตรหนึ่งดอลลาร์มากกว่า 1.79 พันล้านแผ่นถูกพิมพ์ขึ้นมาเลยทีเดียว
หลังจากได้รับความรู้จากการชมวิธีการผลิตเงินอย่างใกล้ชิดแบบนี้ หวังว่าเราจะสามารถหาวิธีให้เงินเหล่านี้มาอยู่ในกระเป๋ามากขึ้นได้ด้วยนะ
ที่มา: BusinessInsider