ย้อนรอย:มุสลิมจีนอุยกูร์
จากเหตุการณ์กระแสต่อต้านชาวจีนในตุรกีทวีความรุนแรงขึ้น นับตั้งแต่เกิดประท้วงหลังมีรายงานรัฐบาลปักกิ่งไม่อนุญาตให้ชาวพื้นเมือง "อุยกูร์" ซึ่งมีเชื้อสายเติร์ก ในเขตปกครองตนเองซินเจียง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอน แม้รัฐบาลจีนได้ปฏิเสธเรื่องดังกล่าวอย่างหนักแน่น แต่สถานการณ์ก็ยังไม่สงบลง
ขณะที่ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบ จากการที่กลุ่มคนจำนวนหนึ่งบุกรุกเข้าไปภายในสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ที่นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี ทุบทำลายสิ่งของภายในอาคาร คาดว่าเป็นการแสดงความไม่พอใจต่อนโยบายของรัฐบาลไทยในการจัดการผู้อพยพชาวอุยกูร์ที่เข้ามาประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย
เหตุการณ์ที่ถูกโยงใยเข้ากับชาวจีนมุสลิมชนชาติ “อุยกูร์” หรือ “วุ่ยเกอร์” ซึ่งดูเหมือนว่าคนชนชาตินี้ยังคงปริศนาอยู่ไม่น้อยสำหรับผู้อ่านในสังคมไทย
ภายหลังการปฏิวิติของเหมาเจ๋อตุง ประเทศจีนได้แบ่งชาวจีนออกเป็นชนชาติต่างๆ ทั้งหมด 56 ชนชาติ (nationality) ซึ่งในจำนวนนี้มีชนชาติที่เป็นมุสลิมจำนวน 10 ชนชาติ ดังนั้น ชนชาติอุยกูร์ คือหนึ่งในสิบของชนชาติมุสลิมในประเทศจีน คำว่า “ชนชาติ” มาจากภาษาจีนว่า “หมินจู๋” (minzu) คำนี้เพิ่งถูกกล่าวถึงในภาษาจีนเป็นครั้งแรกเมื่อศตวรรษที่ 20 นี้เอง โดยมีที่มาจากภายหลัง ดร.ซุน ยัตเซ็น ได้โค่นล้มระบบราชวงศ์ของจีนลงในปี ค.ศ.1911
แนวคิด “หมินจู๋” เป็นแนวคิดที่ ดร.ซุน ยัตเซ็น นำเข้าและได้รับอิทธิพลจากจากอุดมการณ์ชาตินิยมที่ฝังรากมายาวนานในสังคมญี่ปุ่นที่เรียกว่า “หมินโจกุ” โดยเห็นว่าหากขบวนการชาตินิยมจีนจะเป็นจริงขึ้นมาได้นั้นจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์อย่างถอนรากถอนโคนระหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครองที่ได้ยืนหยัดมายาวในสังคมจีน หรืออาจเข้าใจได้ในทางยุทธวิธีก็คือว่า ดร.ซุน ต้องการใช้แนวคิดนี้เพื่อระดมชาวจีนทั้งประเทศเพื่อทำการโค่นล้มราชวงศ์ชิง ซึ่งถูกสถาปนาขึ้นโดยกลุ่มคนเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้น หรือที่เรียกว่าชาวแมนจู (Manchu) โดยพยายามบอกว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศจีนนั้นเป็นชนชาวฮั่น (Han)
ดังนั้น ดร.ซุน จึงเห็นว่า แนวคิด “หมินจู๋” เป็นสัญลักษณ์ชาตินิยมที่ทรงประสิทธิภาพในการต่อต้านพวกแมนจูและชาวต่างชาติอื่นๆ ซึ่งคนส่วนใหญ่ในประเทศจีนย่อมเข้าร่วมด้วยอย่างแน่นอน ดังนั้น ดร.ซุน ยัตเซ็น จึงได้รณรงค์ความคิดว่าประเทศจีนประกอบด้วยผู้คน 5 กลุ่ม คือ ชาวฮั่น ชาวแมนจู ชาวมองโกล ชาวทิเบต และชาวหุย (ซึ่งรวมชาวมุสลิมทุกกลุ่มไว้ในกลุ่มนี้ ซึ่งต่อมายุคประธานเหมาได้แบ่งย่อยเป็น ชาวหุย ชาวอุยกูร์ ชาวคาซัก ฯลฯ) และแนวคิดนี้ได้กลายเป็นแนวนโยบายหลักของ ดร.ซุน ในการตั้งระบอบสาธารณรัฐเป็นครั้งแรกของจีน
หากลองย้อนดูประวัติศาสตร์จีนแล้ว ชาวอุยกูร์ทุกคนต่างเชื่ออย่างมั่นคงว่าบรรพบุรุษของพวกเขาคือชนพื้นเมืองในลุ่มน้ำทาริม ซึ่งครอบคลุมบริเวณกว้างถึงประมาณ 350,000 ตารางกิโลเมตร หรือที่รู้กันในปัจจุบันคือ "มณฑลซินเจียง" พวกเขาเชื่อว่าที่ดินแดนนี้คือผืนดินของพวกเขา ในหนังสือประวัติศาสตร์ซินเจียง (1977) แจ๊ค เฉิน (Jack Chen) ได้อธิบายคำว่า อุยกูร์ ว่าหมายถึงชนเผ่าเติร์กที่อาศัยอยู่ในเติร์กกิสถานของจีน แต่จากการรวบรวมบันทึกเกี่ยวกับชนเผ่าร่อนเร่ที่รู้จักกันว่าคือชาวอุยกูร์นั้น ปรากฏพบตั้งแต่ก่อนศตวรรษที่ 8 ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่นับถือพ่อมดหมอผี และเปลี่ยนมานับถือพุทธ ต่อมาชนชาวอุยกูร์ได้ค่อยๆ เปลี่ยนเข้ารับอิสลาม นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 10-16 และอัตลักษณ์ของพวกเขาได้สูญหายไปในช่วงศตวรรษที่ 15-20 โดยถูกเรียกว่าเป็นชนชาวหุย-เหอ หรือหุย-หู
ดรู แกลดนี (Dru Gladney) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน (ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนมุสลิมศึกษา) เคยได้รับการบอกเล่าจากข้าราชการชาวอุยกูร์ประจำสำนักงานบริการการท่องเที่ยวนานาชาติว่า “ชนชาวอุยกูร์นั้นคือลูกหลานของชนเผ่าร่อนเร่ในเอเชียกลางที่มีอารยธรรมสูงส่งโดยมีอาณาจักรตั้งอยู่ในเมืองทุรพาน ภาพวาดอันสวยงามและวิจิตรตระการตาที่เขียนประดับในหลุมฝังศพสามารถย้อนไปถึงสมัยราชวงศ์ฮั่น จากการพิสูจน์ซากมัมมี่ที่ค้นพบในหลุมฝังศพในเมืองซินเจียงและในดินแดนแถบนี้พบว่า มีอายูมากถึง 6,000 ปี จึงเป็นการพิสูจน์ว่าชาวซินเจียงนั้นเป็นชนเก่าแก่กว่าพวกฮั่นเสียอีก”
ดังนั้น ชาวอุยกูร์จึงมีความผูกพันกับผืนแผ่นดินในซินเจียงเป็นอย่างมากและอ้างสิทธิ์ต่อบุคคลภายนอกเสมอมาว่า “นี่คือแผ่นดินของพวกเขา เขตแดนของพวกเขา” ถึงแม้ว่าอาณาจักรของอุยกูร์ดั้งเดิมในยุคต้นจะกลายเป็นเขตของมองโกเลียปัจจุบัน และต่อมาตกอยู่ภายใต้การครอบครองของประเทศจีนในปัจจุบันก็ตาม โดยกลุ่มชาตินิยมอุยกูร์มักกล่าวหานโยบายของจีนในการอพยพผู้คนชาวฮั่นเป็นจำนวนมากเข้ามาในดินแดนซินเจียงว่าการดำเนินนโยบายพัฒนาอย่างไร้ขอบเขตจนเป็นเหตุของทำลายสภาพแวดล้อม ตลอดจนการทดลองอาวุธนิวเคลียร์