หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

ผ้าทอภาคใต้ โดย ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

โพสท์โดย Marcus

ผ้าทอภาคใต้ โดย ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

ผ้าเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ในการดำรงชีวิตของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในคาบสมุทรภาคใต้มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยพบหลักฐานว่าในราว 7,800– 5,300 ปีมาแล้ว
 

 

 มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในแถบฝั่งทะเลตะวันออกและตะวันตกของภาคใต้มีวัฒนธรรมการนุ่งห่มด้วยผ้าทำจากเปลือกไม้    

 โดยพบหินทุบเปลือกไม้ ( barkcloth  beaters  )  ซึ่งมีลักษณะเป็นแท่งหินทรงกระบอก หรือ ทรงรี ด้านหนึ่งสกัดเป็นร่องเส้นไขว้เป็นตาตาราง  ในแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ ถ้ำเบื้องแบบ ต.บ้านทำเนียบ อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี   และแหล่งโบราณคดีอื่น ๆในจังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช  และพังงา อีกด้วย   

จากนั้นในราวพุทธศตวรรษที่ 5– 6  ชุมชนโบราณในภาคใต้ได้มีการรับวัฒนธรรมจากอินเดีย จีน และเมดิเตอเรเนียน   ทำให้มีการพัฒนาการทำผ้าจากเปลือกไม้มาเป็นการทอผ้าด้วยเส้นใยจากพืช   

โดยเฉพาะ ฝ้าย ซึ่งมีแหล่งกำเนิดในอินเดีย นั้น น่าจะมีการนำเข้ามาปลูกและเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตเส้นใยและทอผ้าจากเส้นใยฝ้ายแล้ว    เพราะพบอุปกรณ์ปั่นด้ายที่เรียกว่า  แว ทำจากดินเผาและหิน มีรูปทรงต่าง ๆ กันตั้งแต่มีฐานรูปกรวยรูปครึ่งวงกลมมีแกนยาวเป็นเดือยทรงกระบอกยื่นออกมาและมีรูตรงกลาง   ในแหล่งโบราณคดีในภาคใต้ที่มีอายุอยู่ในช่วงเวลานี้หลาย แห่ง  อาทิ  แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว  จ.ชุมพร  และแหล่งโบราณคดีควนลูกปัด  ในเขตอ.คลองท่อม  จ.กระบี่   

ในราวพุทธศตวรรษที่ 12  เป็นต้นมา ได้พบหลักฐานประติมากรรมรูปเคารพที่แสดงอิทธิพลอินเดียจำนวนมากในคาบสมุทรภาคใต้  ที่แต่งกายตามแบบอินเดีย   รวมทั้งพบศิลาจารึกภาษาปัลลวะ  ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้กันในอินเดียภาคใต้  ในหลายพื้นที่  อันอาจแสดงว่า ชาวอินเดียได้เข้ามาตั้งถิ่นฐาน และ ถ่ายทอดความรู้ด้านต่าง ๆ แก่คนพื้นเมือง  ซึ่งอาจรวมถึง การทอผ้ารูปแบบต่าง ๆ  ด้วย    และจากนั้นหลักฐานทางด้านเอกสารในสมัยต่อ ๆ มาก็ได้กล่าวถึง ผ้าทอในภาคใต้ไว้บ้างในลักษณะต่าง ๆ  กัน  ซึ่งจะไม่กล่าวในรายละเอียดไว้ในที่นี่  เพราะไม่มีข้อมูลที่เชื่อมโยงชัดเจนกับผ้าทอพื้นเมืองภาคใต้ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงได้กับผ้าทอพื้นเมืองภาคใต้ในปัจจุบัน เป็นเอกสารในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์   กล่าวถึง   เจ้าพระยานครศรีธรรมราช ( น้อย ) ยกทัพไปปราบขบถที่เมืองไทรบุรีซึ่งอยู่ในปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช  และได้กวาดต้อนชาวไทรบุรีรวมทั้งช่างทอผ้ามายังเมืองนครศรีธรรมราช และให้ช่างทอผ้าเหล่านั้น ถ่ายทอดการทอผ้ายกของเมืองไทรบุรีให้เด็กสาวและลูกหลานกรมการเมืองนครศรีธรรมราช ทำให้เมืองนครศรีธรรมราชในช่วงเวลานั้นมีช่างทอผ้าที่มีฝีมือ และเป็นแหล่งทอผ้าที่มีชื่อเสียงเป็นที่ต้องการของชนชั้นปกครอง  ดังปรากฏหลักฐานว่า     ราชสำนักในกรุงเทพฯในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้มีได้มีหมายรับสั่งให้นำทองจากท้องพระคลังส่งมาให้เมืองนครศรีธรรมราชทอผ้ายกส่งเข้าไปถวาย    

ส่วนที่เมืองปัตตานี ใน พ.ศ.2388  เมื่อตำแหน่งเจ้าเมืองปัตตานีว่างลง  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งตนกูประสาแห่งราชวงศ์กลันตันเป็นเจ้าเมืองปัตตานี   ตนกูประสาได้อพยพครอบครัวและบริวารจำนวน 1388 ครอบครัว ซึ่งมีช่างฝีมือต่าง ๆ และช่างทอผ้า เข้ามาด้วย  ทำให้ผ้าทอและรูปแบบการแต่งกายจากกลันตันถูกถ่ายทอดให้แก่ชาวปัตตานี

ใน พ.ศ. 2433  เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสแหลมมลายู ได้ทรงพระราชนิพนธ์ถึงผ้าเกาะยอไว้ว่า  “ แต่เจ้าเมืองของเขาว่า ผ้ามากเงิน 300 ซื้อไม่หมด เราจึ่งได้ออกเดินไปดู มีผ้ามากกว่าคราวก่อนสนุกสนานมาก แต่จะรอซื้อก็ไม่ได้ เพราะป่วยการเสียเวลาจะรีบลงเรือ เป็นเกณฑ์พระยาเทเวศร์ และพระยาสรรเพทให้เอาเงินไปจัดซื้อคนละแถบร้านหนึ่ง ให้ซื้อผ้าหนึ่งผืนทุกร้าน …” 

หนังสือ ชีวิวัฒน์ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภานุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗   ซึ่งเป็นหนังสือ รายงานเกี่ยวกับผลประโยชน์การทำมาหากินและสินค้าของเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวว่า    “ ราคาสิ่งของที่ชายในตลาด  ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ผ้ายกไหม ผ้ายกทองไม่มีขายในตลาด เป็นของทอเฉพาะผู้สั่งจะซื้อและเป็นของทำในบ้านผู้ว่าราชการเมือง กรมการ ผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นต้น ผ้าม่วงราคาผืนละ   ๕– ๖ เหรียญ  ผ้าริ้ว ผ้าตา ผ้าพื้น ผืนละ ๖ ก้อน หรือ ๒ ยำไป หรือ ๖ ตำลึง ผ้าขาวม้าไหมผืนละ ๗ เหรียญ ผ้าขาวม้าด้ายกุลีละ ๘ บาท ถึง ๑ๆ บาท ผ้าเช็ดปาก ผ้าขาวกุลีละ ๔ บาท ถึง ๕ บาท ผ้าโสร่งไหมผืนละ ๔ -๕-๖ เหรียญ  ผ้าโสร่งไหมผืนละ ๑ บาท “ 

และในส่วนของเมืองไชยา ว่า  “ ราคาสิ่งของที่ขายในตลาด ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ผ้ายกไหม ผ้าม่วงไม่มีเป็นของทำจำเพาะผู้สั่งผู้ต้องการและของทำที่บ้านผู้ว่าราชการแลผู้ใหญ่ ผ้าด้ายแกมไหมราคาผืนละ ๓ บาท ๒ สลึง ผ้าพื้นราคาอย่างดีผืนละ ๖ สลึง หรือ ๗ สลึง ผ้าพื้นอย่างเลวกุลีละ  ๑๘ บาท ๒๐ บาท ๒๔ บาท ผ้าขาวม้าอย่างกว้างกุลีละ ๒๐ บาท ผ้าขาวม้าอย่างแคบกุลีละ ๑๐ บาท “ 

ใน พ.ศ.  2475  เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเยี่ยมราษฎรที่สงขลา ราษฎรได้นำผ้าเกาะยอขึ้นทูลเกล้าถวาย ฯ ทรงพระราชทานชื่อผ้านั้น ว่า  ผ้าลายราชวัตร ซึ่งยังคงได้มีการทอมาจนถึงปัจจุบัน

จากหลักฐานทางโบราณคดีและเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่นักวิชาการได้ใช้ศึกษาเกี่ยวกับผ้าพื้นเมืองภาคใต้  ได้แสดงถึงบริบทบางประการของ ผ้าทอพื้นเมืองภาคใต้  แต่ยังขาดข้อมูลที่ช่วยให้เห็นภาพที่ชัดเจนที่สามารถเชื่อมโยงกับผ้าทอพื้นเมืองของภาคใต้ในปัจจุบันได้   

ในการวิจัยครั้งนี้  ได้ค้นคว้าหลักฐานผ้าพื้นเมืองภาคใต้ของเก่า  ที่สามารถสืบค้นได้ในปัจจุบัน คือ  ผ้าทอโบราณที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  ในพิพิธภัณฑสถานของวัด และในความครอบครองของเอกชน    เพื่อต้องการเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นของรูปแบบและคุณภาพของผ้าทอพื้นเมืองภาคใต้ในอดีต เมื่อต้องนำมาเปรียบเทียบ และเสนอแนะแนวทางการพัฒนาในปัจจุบัน โดย ได้ศึกษาผ้าทอพื้นเมืองภาคใต้เก่าจากแหล่งค้นคว้าต่อไปนี้

1. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร    กรุงเทพฯ  มหานคร

2. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช    จ.นครศรีธรรมราช

3. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา  จ.สุราษฎร์ธานี

4. พิพิธภัณฑสถานวัดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช

5. พิพิธภัณฑสถานวัดมัชฌิมาวาส  จ.สงขลา

6.  ผ้าทอพื้นเมืองปัตตานี  ของ อาจารย์พิชัย  แก้วขาว   จ.ปัตตานี

จากการศึกษาผ้าทอพื้นเมืองจากแหล่งต่าง ๆเหล่านี้พบว่า  ผ้าที่เคยใช้ในภาคใต้ที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นผ้าที่ใช้ในกลุ่มคนชั้นปกครองหรือผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจของสังคม โดยรูปแบบของผ้าที่พบมีทั้งผ้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ผ้าเขียนลาย  ผ้าปักและผ้ายกจากอินเดีย    ผ้าแพรจากจีน    ผ้ายก ผ้ามัดหมี่และผ้าบาติกจากประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย    เป็นต้น     ซึ่งจากการศึกษาวิจัยผ้าอินเดียมาก่อน ทำให้ผู้วิจัยสามารถจำแนกได้ว่า ผ้าประเภทไหนที่เป็นผ้าจากอินเดียโดยเฉพาะผ้าเขียนลายและผ้าปัก    

 แต่ในส่วนของผ้ายกนั้นเป็นการยากที่จะจำแนกลงไปอย่างชัดเจน   เนื่องจากผ้ายกนั้น  เป็นผ้าที่มีการทอทั้งในอินเดีย   อินโดนีเซีย  มาเลเซีย และในคาบสมุทรภาคใต้ของไทย  ซึ่งมีรูปแบบที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน     นอกจากผ้าที่ใช้ในกลุ่มชนชั้นสูงแล้ว   ยังพบว่ามีผ้าแบบเรียบง่ายที่น่าจะใช้ในการนุ่งห่มประจำวันหรือเป็นผ้าของชาวบ้าน ซึ่งบางชนิดไม่มีการทอแล้วในปัจจุบัน  เช่น ผ้าตากุ้งของเกาะยอ จังหวัดสงขลา  เป็นต้น

  

การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการใช้ผ้าในภาคใต้  

 วัฒนธรรมร่วมประการหนึ่งของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอดีต    ก็ คือ วัฒนธรรมเครื่องนุ่งห่ม  อันประกอบด้วย ผ้าทอสี่เหลี่ยมผืนผ้า ๒ ผืน ผืนหนึ่งใช้นุ่งปกคลุมร่างกายส่วนล่าง   และอีกผืนหนึ่งสำหรับห่มปกคลุมร่างกายส่วนบน   ดังนั้นรูปแบบของเครื่องแต่งกายเพียงอย่างเดียวจึงไม่สามารถสะท้อนชนชั้นทางสังคมของผู้สวมใส่ได้อย่างเด่นชัด     ผ้าที่ทอด้วยลวดลายอันวิจิตรงดงามหรือทอด้วยวัสดุสูงค่า จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการแบ่งแยกสถานภาพของคนในสังคม    

ผ้าจากต่างประเทศ   โดยเฉพาะจากอินเดียเป็นผ้าที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มชนชั้นสูงของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  รวมทั้งอาณาจักรสยามในอดีต   เพราะมีลวดลายที่งดงาม ทอด้วยวัสดุที่มีค่าและมีความประณีตกว่าผ้าทอพื้นเมือง   เอกสารทางประวัติศาสตร์ของไทยและบันทึกชาวต่างชาติได้กล่าวถึงการนำผ้าจากอินเดียเข้ามาในภาคใต้  ดังปรากฏในหมายรับสั่งจากราชสำนักในพระนครให้หัวเมืองสำคัญ เช่น นครศรีธรรมราช นำอากรที่จะต้องจัดส่งให้เมืองหลวงไปจัดซื้อผ้าจากตัวแทนการค้าที่เกาะปีนังส่งเข้าไปถวาย  หรือ บางครั้งก็ให้แจ้งพ่อค้าชาวอินเดียที่นำสำเภามาค้าขายในภาคใต้ให้นำสินค้าผ้าเข้าไป ขายที่กรุงเทพฯ เป็นต้น   ดินแดนภาคใต้ของไทยจึงเป็นเส้นทางสำคัญเส้นทางหนึ่งที่นำผ้าจากต่างประเทศเข้ามาใช้และส่งต่อไปยังราชสำนักสยามยาวนานหลายศตวรรษ 

ผ้าจากอินเดียที่พบหลักฐานการนำเข้ามาในภาคใต้  มีอาทิ  

- ผ้ายกทอง และผ้ายกไหมซึ่งอาจจะมีแหล่งผลิตที่เมืองพาราณสี   ซึ่งเป็นแหล่งผลิตผ้ายกที่

สำคัญแห่งหนึ่งของอินเดีย   หรือ อาจจะมาจากแหล่งทอผ้าในรัฐอานธระประเทศ 

- ผ้าลาย  หรือ เอกสารบางแห่งเรียกว่า ผ้าลายกระบวน น่าจะเป็นผ้าแบบทั้งที่เป็นผ้าเขียนลายที่เรียกว่า  กาลามการี (kalamkari )  และผ้าพิมพ์ลาย ( printed fabric ) ที่มีแหล่งผลิตสำคัญแถบริมฝั่งโคโรมันเดล  ในรัฐอานธระประเทศและรัฐทมิฬนาดูของอินเดียภาคใต้    รวมทั้งภาคตะวันตกของอินเดีย  ซึ่งเอกสารประวัติศาสตร์ของไทยและบันทึกของชาวต่างชาติให้ข้อมูลที่สอดคล้องกันว่า  ผ้าลายจากอินเดียเป็นที่นิยมอย่างมากสำหรับชนชั้นสูงของอาณาจักรสยาม     และ จากบันทึกของกรมการเมืองตรังที่เดินทางไปยังเมืองท่าชายฝั่งโคโรมันเดล หรือ โจฬะมณฑลในช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ที่กล่าวว่า  ผ้าลายที่ผลิตในเมืองนั้นมีชื่อเสียงมาก หากมาแล้วไม่ซื้อกลับไปก็เหมือนมาไม่ถึง  เป็นหลักฐานหนึ่งที่แสดงถึงความนิยมในการใช้ผ้าลายอินเดียที่แพร่หลายกันในภาคใต้ขณะนั้นได้เป็นอย่างดี

ผ้าต่าง ๆจากอินเดียได้กลายมาเป็นที่ต้องการของชนชั้นปกครองของราชสำนักไทย และ มีการผูกขาดการใช้เฉพาะกลุ่ม   คือ เฉพาะเชื้อพระวงศ์  ข้าราชสำนัก  และ ขุนนาง รวมทั้งใช้เป็นสิ่งบำเหน็จความชอบแก่เจ้าเมือง รวมไปถึงผู้ทำความดีความชอบแก่ราชการ   ดังจะเห็นได้จาก เครื่องแต่งกายของอดีตเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช   ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผ้าจากอินเดีย 

ผ้ายกจากอินเดีย ดูเหมือนจะเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ปกครองในแถบคาบสมุทรมลายูมากกว่าผ้าชนิดอื่น ๆ   และน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาการทอผ้ายกขึ้นเองในท้องถิ่น   จนกลายมาเป็นรูปแบบหนึ่งของมรดกผ้าทอพื้นเมืองในปัจจุบันของภูมิภาค  ซึ่ง

รวมพื้นที่ภาคใต้ของไทยเข้าไว้ด้วย     ดังจะเห็นได้ว่า  เครื่องแต่งกายประจำชาติของมาเลเซียและบรูไนต่างก็ใช้ผ้ายกเป็นผ้านุ่ง   และในภาคใต้ของไทยผ้ายกก็เป็นผ้าทอพื้นเมืองที่โดดเด่นกว่าผ้าทออื่น ๆ 

เอกสารประวัติศาสตร์ในช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ระบุว่า นครศรีธรรมราชเป็นหัวเมืองสำคัญในภาคใต้ที่มีช่างทอผ้ายกทองฝีมือดี  ที่ราชสำนักสยามให้ส่งทองคำจากท้องพระคลังไปให้ทอผ้ายกเข้ามาถวาย  และในสมัยต่อมาก็มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเครื่องแต่งกายตำแหน่งเจ้าพระยาของขุนนางในภาคใต้ยังคงสวมผ้านุ่งยก  ในขณะที่ขุนนางในภาคกลางนุ่งผ้านุ่งลาย  

ยุคสมัยวัฒนธรรมเครื่องนุ่งห่มที่มีความวิจิตรงดงามของผืนผ้าเป็นเครื่องบ่งบอกสถานภาพของผู้สวมใส่   ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปเมื่อมีการรับวัฒนธรรมการแต่งกาย ที่มีการตัดเย็บผืนผ้าให้เข้ากับรูปร่างของผู้สวมใส่ตามแบบชาวจีนและชาวตะวันตกเข้ามา  และเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นหลังจากรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา    โดยเริ่มจากการใช้ผ้าอินเดียแบบที่นิยมมาแต่เดิมมาตัดเป็นชุดแบบยุโรป มาสู่ความนิยมในการใช้ผ้าจากยุโรปแท้ที่ช่วยเพิ่มความทันสมัยในการแต่งกายมากขึ้น   

การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการแต่งกายไปตามแนวทางยุโรปที่เริ่มต้นจากราชสำนักสยามได้แพร่หลายไปสู่กลุ่มผู้ปกครองท้องถิ่นในภูมิภาคต่าง ๆ รวมทั้งภาคใต้ซึ่งเป็นภูมิภาคที่น่าจะมีปัจจัยเกื้อหนุนอยู่บ้างแล้ว จากอิทธิพลการแต่งกายของชาวยุโรปที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านและขยายธุรกิจเข้ามาในพื้นที่ภาคใต้     

ปัจจัยข้างต้นทำให้รูปแบบของ ผ้า ซึ่งเป็นที่ต้องการเปลี่ยนไป   ผ้ายกและผ้าจวนตานีซึ่งเป็นผ้าที่แสดงสถานภาพของชนชั้นสูงในภาคใต้ และมีกระบวนการทอที่ซับซ้อนจึงไม่เป็นที่นิยมของชนชั้นปกครองอีกต่อไป ทำให้การสนับสนุนช่างทอผ้าลดลง เพราะมีความต้องการผ้าต่างประเทศจากยุโรปเข้ามาแทนที่   การทอผ้าในภาคใต้จึงลดน้อยลง หรือ หยุดทอไปในบางพื้นที่  เช่น   นครศรีธรรมราช  และปัตตานี    ก่อนจะมีการฟื้นฟูขึ้นในภายหลัง

พัฒนาการการผลิตผ้าทอพื้นเมืองในภาคใต้

แหล่งทอผ้าพื้นเมืองในภาคใต้ที่ยังคงมีชื่อเสียงในปัจจุบัน เช่น นครศรีธรรมราช   สงขลา   สุราษฎร์ธานี    และปัตตานี    ส่วนใหญ่เป็นแหล่งที่เคยมีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางการปกครองของท้องถิ่นมายาวนาน และเคยมีเจ้าเมืองปกครอง   ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าว อาจทำให้เชื่อได้ว่า    ช่างทอผ้าของภาคใต้ในอดีตได้รับการอุปถัมภ์จากผู้ปกครอง  โดยจัดหาอุปกรณ์ต่าง ๆสำหรับทอผ้า เพื่อเป็นเครื่องแต่งกายของชนชั้นปกครอง   รวมทั้งเป็นของรางวัลแก่ผู้ประกอบคุณงามความดี  หรือเป็นของกำนัลแก่แขกบ้านแขกเมือง  

 เช่นเดียวกับธรรมเนียมปฏิบัติของผู้ปกครองของศูนย์กลางสำคัญในที่อื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้   ซึ่งมีวัฒนธรรมแบบ  เครื่องนุ่งห่ม  คือ มีผ้าผืนสำหรับนุ่ง  และผ้าผืนสำหรับห่มหรือปกคลุมส่วนต่างๆของร่างกาย   โดยไม่มีการตัดเย็บ    

ดังนั้นสิ่งที่จะแสดงถึงสถานภาพทางสังคมของผู้ปกครอง ก็คือ การแต่งกายด้วยผ้าที่ทออย่างประณีต งดงาม  หรือด้วยวัสดุที่มีราคาและหายาก   ช่างทอผ้าจึงมีความสำคัญต่อการส่งเสริมสถานภาพของผู้ปกครองท้องถิ่นเช่นเดียวกับช่างฝีมืออื่น ๆ 

ผ้าทอพื้นเมืองของภาคใต้ที่ได้รับการอุปถัมภ์จากผู้ปกครองหัวเมืองต่าง ๆ คงจะลดความสำคัญลง เมื่ออำนาจของท้องถิ่นถูกแทนที่ด้วยอำนาจรัฐจากส่วนกลาง   และ เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระแสวัฒนธรรมการแต่งกายเมื่อกว่าศตวรรษที่ผ่านมา     ดังจะเห็นได้จากความนิยมในการแต่งกายแบบเมืองหลวงหรือแบบราชสำนักที่เผยแพร่ไปยังหัวเมืองต่าง ๆ   ตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงปฏิรูปการปกครองหัวเมืองในภาคใต้ โดยยกฐานะขึ้นเป็นมณฑล  ขึ้นตรงต่อส่วนกลาง   

และต่อมามณฑลเหล่านี้ก็ถูกลดฐานะลงเป็นจังหวัดภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ใน พ.ศ. 2475   ตามมาด้วยการแต่งกายแบบยุโรปที่เข้ามาพร้อมกับการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย   ทำให้เกิดความนิยมในการสวมใส่เสื้อผ้าที่ตัดเย็บ ที่ให้ความคล่องตัว และดูทันสมัย  มาแทนที่รูปแบบการนุ่งห่ม   ทำให้ ผ้าไม่ใช่สิ่งที่บ่งบอกสถานภาพทางสังคมเช่นในอดีต แต่รูปแบบ หรือ การตามกระแสนิยม ของการแต่งกายเป็นสิ่งสำคัญมากกว่า    

การทอผ้าชั้นสูงที่ได้รับการอุปถัมภ์จากผู้ปกครองท้องถิ่นได้ล่มสลายลงไปก่อนการทอผ้าพื้นเมืองที่ทอใช้เองในครัวเรือนซึ่งหยุดชะงักลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒   เพราะปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์  และเมื่อสงครามสิ้นสุด  รัฐบาลได้เข้ามาส่งเสริมการปลูกฝ้าย และการทอผ้าใช้เอง  แต่ก็ไม่สามารถแข่งขันกับด้ายสำเร็จรูปและผ้าทอโรงงานราคาถูกที่แพร่หลายในท้องตลาดในช่วงเวลานั้นได้   ส่งผลให้การทอผ้าพื้นเมืองในภาคใต้ขาดช่วงไปเป็นเวลานาน   จนกระทั่งมีการฟื้นฟูขึ้นอีกครั้ง  โดยแหล่งทอผ้าพื้นเมืองเดิมแต่ละแห่งได้รับการฟื้นฟูในช่วงเวลาต่าง ๆ กัน   

รูปแบบการผลิตผ้าทอพื้นเมืองภาคใต้แบบดั้งเดิม

ในอดีตชุมชนต่าง ๆ ในภาคใต้มีการทอผ้ากันแทบทุกครัวเรือน      เด็กสาวจะเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทอผ้า โดยเริ่มจากการเป็นลูกมือให้กับสมาชิกในครอบครัวที่เป็นสตรีซึ่งทำหน้าที่ทอผ้า จากนั้นก็จะเริ่มฝึกหัดทอ  โดยเริ่มจากการทอผ้าพื้นก่อน   แล้วจึงค่อย ๆ เรียนรู้การทอผ้าที่มีรูปแบบซับซ้อนขึ้น   

วัสดุให้เส้นใย ที่ใช้ทอกันในอดีต    คือ  ฝ้าย  และเส้นใยพิเศษที่ผู้สั่งทอจัดหาให้ เช่น   ไหม  เส้นใยโลหะ

วัสดุย้อมสีธรรมชาติ  

สีน้ำตาล ได้จาก   เสม็ดชุน  หรือ โกงกาง

สีคราม ได้จาก ต้นคราม

สีดำ ได้จาก ผลมะเกลือ

สีแดง ได้จาก ครั่ง

สีเหลือง ได้จาก ขมิ้น

กี่พื้นบ้าน  

ซึ่งช่างทอนครศรีธรรมราชเรียกว่า เก หรือ กี๋ ซึ่งเดิมมีอยู่ สองชนิด  คือ เกยก และเก ฝัง  ซึ่งมีขนาดเท่ากัน    โดย เกยก  เป็นกี่ที่สามารถประกอบหรือถอดออกเพื่อเคลื่อนย้ายได้ มักทำด้วยไม้เนื้อแข็ง  นิยมตั้งให้สูงกว่าเกฝัง เพื่อให้เท้าถีบกระตุกด้ายได้สะดวก  ส่วนเกฝัง นั้นฝังติดกับเสาที่ยึดติดกับดินเคลื่อนที่ไม่ได้ มักสร้างใต้ถุนบ้าน     ในการทอผ้าเบี่ยงในบางแห่ง จะใช้กี่พื้นบ้าน  เรียกว่า  กี่เตี้ย  ซึ่งมีความกว้างของกี่เพียงประมาณ ๑ ศอก   การสอดด้ายเส้นพุ่ง ใช้ ไม้สน ที่ทำจากลำไม้ไผ่เล็ก ๆ แทนกระสวย  

กี่โบราณมีข้อจำกัดในการทอ เพราะทอได้ค่อนข้างช้า  เนื่องจาก เป็นกี่ที่ต้องมี ผัง  ซึ่งเป็นไม้ ชิ้นเล็ก ๆ ขนาดยาวกว่าความกว้างของหน้าผ้าปาดปลายเสี้ยมแหลม บางครั้งมีการใช้โลหะสวมครอบที่ปลายสองข้าง   ขณะทอต้องใช้  ผัง นี้ใช้สำหรับขึงริมผ้าอยู่ตลอดเวลา เพื่อช่วยให้ผ้าทุกระยะมีความกว้างและตึงสม่ำเสมอเท่ากันตลอดทั้งผืน     เมื่อทอผ้าได้ระยะหนึ่ง ช่างทอจะต้องเลื่อน  ผัง  ให้ไปใกล้กับแนวด้ายพุ่งเสมอ   ทำให้ต้องเสียเวลาขยับผังอยู่เรื่อย ๆ 

นอกจากนี้  ฟืม  ซึ่งเป็นตัวกำหนดความกว้างของผืนผ้า ในกี่แบบพื้นเมือง ยังมีข้อจำกัด  คือ   เป็นฟืมที่มีหน้าแคบ จำนวนซี่ของฟันฟืมน้อย   ทำให้ไม่สามารถทอผ้าหน้ากว้างได้ 

รูปแบบของผลิตภัณฑ์

ส่วนใหญ่มีการทอเป็นเครื่องนุ่งห่ม  เช่น  ผ้านุ่ง   ผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้า สำหรับบุรุษ    ฯลฯ   ในบางแห่ง เช่น บ้านนาหมื่นศรี  มีผ้าสไบ หรือ ผ้าเบี่ยง ที่ทอสำหรับใช้เป็นผ้าสำหรับห้อยไหล่ที่ใช้ได้ทั้งชาย  และหญิง    ซึ่งในพิธีแต่งงาน เจ้าสาวจะทอให้เจ้าบ่าวใช้ห้อยไหล่ และในสตรีสูงอายุจะใช้ห่มเฉียงหรือ ห้อยไหล่เมื่อไปทำบุญที่วัด ไปงานพิธีต่าง ๆ   เป็นทั้งผ้าห่มและผ้ากราบพระไปพร้อมกัน 

ในบางพื้นที่มีรูปแบบของผ้าทอเพื่อจุดประสงค์เฉพาะที่ต่างออกไปจากการใช้ในชีวิตประจำวัน   เช่น ผ้าพานช้าง ของบ้านนาหมื่นศรี  เป็นผ้าทอเป็นตัวอักษรกว้างประมาณ ๑ ศอก ยาวประมาณ ๑ วา  ทอขึ้นเพื่อใช้พาดหีบศพในการตั้งศพก่อนนำไปเผา   ข้อความในผ้าทอตลอดผืนเป็นประวัติผู้ตาย หรือโคลงกลอนสอนใจให้ยึดมั่น อยู่ในคุณความดี ละจากบาปและความชั่ว  เสมือนเป็นมรณานุสติของชาวบ้านที่แงอยู่ในผ้าทอ เมื่อเสร็จพิธีเผาศพจะตัดแบ่งผ้าพานช้างออกเป็นชิ้น ๆ ถวายพระไปใช้ประโยชน์ เป็นผ้าปูโต๊ะ  ผ้าเช็ดปาก เช็ดมือ หรืออื่น ๆตามแต่จะใช้ให้เป็นประโยชน์

 นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบของผลิตภัณฑ์ .........

                                          

                       อาจารย์ประภัสสร  โพธิ์ศรีทอง

⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
Marcus's profile


โพสท์โดย: Marcus
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
24 VOTES (4/5 จาก 6 คน)
VOTED: ไม่หล่อแต่หื่น, ginger bread, ข้าวโพดคั่ว
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
เพราะอะไร? หัวหน้าแก๊งโจรเผย เหตุห้ามบุกปล้นบ้านของเมสซี่อย่างเด็ดขาด!เเตเเต มิสแกรนด์พม่า แต่งหน้าไม่สวยเหมือนตอนอยู่ไทยมาดู ข้อห้ามที่ห้ามทำในสงครามผัวช็อก!! หลังเมียคลอดลูกออกมา ลูกมีผิวดำเพื่อนบ้านแฉ หมอดูฮวงจุ้ย พ่อขับแท็กซี่ ได้วิชาจากลูกค้านั่งรถเป็นซินแสนักแสดงดัง แจ้งข่าว ติดเชื้อ “HIV” ก่อนโพสต์สุดเศร้าสะเทือนใจ! เด็กถูกสุนัขกัดกลางถนน ไม่มีใครช่วยผู้เสียหายเดินหน้า แจ้งความเอาผิด “หมอดูฮวงจุ้ย” ขณะนี้มีมูลค่าความเสียหาย มากกว่า 70 ล้าน ตร.ยัน เข้าข่ายฉ้อโกงเจอแก๊สรั่วแบบนี้ ปิดวาล์วตรงไหนดีชม ยอยักษ์ กับวิวพระอาทิตย์ตกสวยๆ ที่ทะเลน้อย พัทลุง"หมูเด้ง" ทายผลว่า "ทรัมป์" จะชนะการตั้งมะกันสรุป สงครามโลกครั้งที่1!!
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
เเตเเต มิสแกรนด์พม่า แต่งหน้าไม่สวยเหมือนตอนอยู่ไทยผัวช็อก!! หลังเมียคลอดลูกออกมา ลูกมีผิวดำสาววัย 26 เมียมหาเศรษฐี เปิดเผย 'กฎเกณฑ์' ที่สามีกำหนด ทำชาวเน็ตตะลึง!สะเทือนใจ! เด็กถูกสุนัขกัดกลางถนน ไม่มีใครช่วย
ตั้งกระทู้ใหม่