ทำบุญ...ด้วยเงินนั้น...ซื้อกุศลได้จริงหรือ?
'พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า แม้การบำเพ็ญเมตตาจิตเพียงชั่วดมไม้หอมก็ได้อานิสงค์มากกว่าการถวายทานแด่พระอรหันต์ถึง 100 รูป'... เผยคำถาม-คำตอบจาก 'พระไพศาล วิสาโล' เรื่องการทำบุญ ..เงินนั้น 'ซื้อบุญกุศล' ได้จริงหรือ?..
ถาม :ดูเหมือนว่าการจะถึงศาสนาทุกวันนี้มีแต่เรื่องต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อย เช่น การที่วัดต่างๆ เรี่ยไร ขอรับบริจาคการทำบุญ ถวายสังฆทาน หรือการบวช ท่านคิดอย่างไร?
พระไพศาล :คนสมัยนี้มักเข้าใจว่าการทำบุญ หมายถึง การให้ทานเท่านั้นซึ่งเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ยิ่งเมื่อมีการสอนให้เข้าใจว่าหากบริจาคมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้ร่ำรวย ซึ่งเป็นผลจากอิทธิพลบริโภคนิยมประกอบกับวัดก็อยากได้เงินและหลวงพ่อก็อยากรวยเงินจึงกลายเป็นตัวกลางเชื่อมสัมพันธ์ของคนในสังคม พระอาจต้องการสร้างโบสถ์จึงต้องหาทุน ต้องทำการเรี่ยไร รับบริจาค ทำผ้าป่า คนสมัยนี้อยากรวยอยู่แล้วก็ถือว่าใช้เงินเป็นใบเบิกทางไปสู่สวรรค์หรือความมั่งมีในอนาคต
ถาม :คนทำบุญ 1 ล้านบาทกับคนทำบุญ 100 บาท จะได้บุญกุศลเท่ากันไหม?
พระไพศาล :บุญจะมากหรือน้อย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินแต่ขึ้นอยู่กับเจตนาและความตั้งใจคนที่ถวายเงินน้อยหรือถวายอาหารที่มีราคาไม่มาก แต่ได้รับบุญมากก็มีเพราะว่ามีเจตนาบริสุทธิ์ มีความตั้งใจและศรัทธามาก ขณะที่คนซึ่งบริจาคเงินเยอะๆแต่ว่าไม่ได้เกิดจากศรัทธาที่แท้จริงก็เหมือนกับเป็นการถวายเพื่อหาผลประโยชน์กลับมาในรูปวัตถุก็อาจได้บุญน้อยกว่า
ถาม :การทำบุญมีแบบใดบ้าง นอกจากการให้ทาน สิ่งของและเงิน
พระไพศาล :มีเยอะ เช่น การรักษาศีล การบำเพ็ญภาวนา การทำสมาธิ การแผ่เมตตา การพิจารณาธรรมะการฟังธรรม การมีจิตใจอ่อนน้อม (อุปจายนมัย) การทำจิตเพื่อส่วนรวม (ไวยาวัจจมัย)การทำความเห็นให้ถูกต้อง (ทิฏฐุชุกรรม)เรื่องการทำบุญนั้นพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า แม้การบำเพ็ญเมตตาจิตเพียงชั่วดมไม้หอมก็ได้อานิสงค์มากกว่าการถวายทานแด่พระอรหันต์ถึง 100 รูปหรือการถวายอาหารให้พระพุทธเจ้าด้วยซ้ำไปซึ่งการถวายอาหารพระพุทธเจ้าที่ถือว่าเป็นบุญอันยิ่งใหญ่ยังเทียบกับการเจิรญภาวนาเพียงชั่วขณะจิตไม่ได้ นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่าการให้วัตถุมีอานิสงค์น้อยกว่าการบำเพ็ญภาวนาด้วยการฝึกจิต
ถาม :ในสมัยพุทธกาล เราไม่เคยได้ยินว่าเศรษฐีสมัยก่อนเคยบริจาคเงินให้พระพุทธเจ้า ?
พระไพศาล :เขาไม่ถวายเงิน เขาถวายอาหาร จีวร กุฏิเป็นปัจจัยสี่ จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ยังไม่มีการถวายเงินให้พระกฐินหลวงก็ยังถวายแค่หมาก 1 คำ เพราะสมัยก่อนเงินไม่มีความหมายแต่สมัยนี้เป็นยุคทุนนิยม เงินมีความหมายมาก ก่อนหน้านี้ทุกอย่างได้มาจากการลงมือลงแรงทั้งนั้น จะมีข้าวกินก็ต้องลงแรงทำเอง ไม่ต้องซื้อความรู้ก็ต้องขวนขวายหามา เสื้อผ้าก็ต้องผลิตเอง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องของยุคสมัยซึ่งเมื่อเข้าสู่สมัยทุนนิยม ทุกอย่างก็ต้องใช้เงิน
ถาม :สรุปว่าที่เป็นอย่างนี้เพราะโลกเราเข้าสู่ยุคทุนนิยมแล้วพุทธศาสนาจะสามารถต้านทานกระแสทุนนิยมได้หรือไม่?
พระไพศาล :ในปัจจุบันก็ต้านไม่ได้อยู่แล้ว เพราะพื้นฐานเราอ่อนแอแต่ว่าตามหลักพระพุทธศาสนาก็จะเห็นว่า เงินเป็นเพียงปัจจัยรองซึ่งไม่ใช่ปัจจัยหลักในชีวิต แต่หากคนคิดว่าเป้าหมายของชีวิตคือความร่ำรวยก็จะถือว่าเงินคือพระเจ้าพุทธศาสนาถือว่าเงินไม่ใช่พระเจ้าเราต้องรู้จักใช้เงิน ไม่ให้เงินเป็นนายเรา เราต้องนายของเงิน ต้องเป็นอิสระจากเงิน
ทำบุญ 10 วิธีตามหลักศาสนาพุทธ
(จากคู่มือ 'ฉลาดทำบุญ' โดยพระชาย วรธมโม และพระไพศาลวิสาโล)
1.ให้ทานแบ่งปันผู้อื่นด้วยสิ่งของ
2.รักษาศีลฝีกฝนตนเองเพื่อลด ละ เลิกความชั่ว
3.เจริญภาวนาทำเพื่อทำให้จิตใจสงบและไม่มีกิเลส
4.อ่อนน้อมถ่อมตนไม่ถือดีและไม่อวดตัว จะได้เมตตากลับมา
5.ช่วยเหลือสังคม ทำงานเพื่อส่วนรวมหรือช่วยเหลือชุมนุมด้วยแรงกาย
6.เปิดโอกาสให้ผู้อื่นร่วมทำบุญ หรือเมื่อทำงานก็เปิดโอกาสให้ผู้อื่นมีส่วนร่วม
7.ยินดีในความดีของผู้อื่น
8.การฟังธรรมหรือฟังความรู้ที่เป็นประโยชน์เพื่อชำระจิตใจให้บริสุทธิ์
9.ถ่ายทอดความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
10.ใช้ปัญญาไตร่ตรองอยู่เสมอว่าอะไรผิดและอะไรถูก