มากัสซาร์ "ขบถมักกะสัน" ประวัติศาสตร์ที่อ่านสนุกครับ
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กรุงศรีอยุธยาได้ชื่อว่าเป็นมหานครนานาชาติเนื่องจากเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญที่สุดของภูมิภาคนี้ ทั้งยังมีชนชาติต่าง ๆ เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารเป็นอันมาก ทว่าการมีชนต่างชาติเข้ามาอยู่เป็นจำนวนมากนั้น ย่อมนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชนชาติเหล่านั้นอย่างเลี่ยงไม่ได้
(พระราชวังของสมเด็จพระนารายณ์ที่ลพบุรี)
แต่เดิมนั้น เมื่อช่วงต้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ กลุ่มชนต่างชาติที่มีอำนาจทางการเมืองสูงสุดคือ ชาวเปอร์เซียซึ่งเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม ทว่าหลังการเข้ามาของ ชายชาวกรีก นามว่า คอนสแตนติน ฟอลคอน ซึ่งในเวลาต่อมาได้รับตำแหน่งเป็น เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ อัครมหาเสนาบดีแห่งสยาม อำนาจของชาวเปอร์เซียรวมทั้งพวกมุสลิมอื่นๆในสยามก็เสื่อมถอยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจาก คอนสแตนติน ฟอลคอน ได้รับตำแหน่งเจ้าพระยาวิชเยนทร์แล้ว บรรดาตำแหน่งสำคัญ ๆ เกี่ยวหับการค้าและการดูแลเมืองท่าต่างๆก็ถูกเปลี่ยนย้ายจากชาวมุสลิมมาอยู่ในมือชาวยุโรปทั้งสิ้น
(เจ้าพระยาวิชาเยนทร์)
การสูญเสียอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจทำให้ขุนนางชาวมุสลิมจำนวนมากไม่พอใจเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ขณะที่บางกลุ่มนั้นถึงกับเกิดความขัดเคืองในองค์สมเด็จพระนารายณ์ที่ไม่ทรงโปรดปรานพวกตนเช่นดังก่อน จึงทำให้ขุนนางมุสลิมกลุ่มหนึ่งวางแผนโค่นบัลลังก์สมเด็จพระนารายณ์ โดยยืมมือนักรบชาวมากัสซาร์หรือที่ชาวอโยธยาเรียกกันว่า พวกมักกะสัน ให้เป็นผู้ก่อการ
แต่เดิมชาวมากัสซาร์เป็นพวกมุสลิมที่อาศัยอยู่ในเกาะเซลีเบสของอินโดนีเซีย เป็นชนชาติที่ดุร้ายและเชี่ยวชาญในการรบ ต่อมา ชาวมากัสซาร์ถูกชาวฮอลันดาเข้ารุกรานจนสู้ไม่ได้ ต้องอพยพออกจากถิ่นฐานเดิม พวกมากัสซาร์กลุ่มหนึ่งนำโดยหัวหน้าชื่อ เจ้าดาย ได้เข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระนารายณ์ พระองค์จึงโปรดให้พวกนี้ตั้งบ้านเรือนอยู่นอกกำแพงพระนคร (บ้านเรือนอยู่ย่านคลองตะเคียน นอกพระนครศรีอยุธยา)
โดย "มักกะสัน" เพี้ยนจากชื่อหมู่เกาะมากัสซาร์ (Makassar ปัจจุบันอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย) แต่คนที่ถูกเรียกว่า แขกมักกะสัน มีทั้งมาจากเกาะมากัสซาร์และเกาะซูลาเวซี (เซเลบีส)
ตามบันทึกของชาวต่างชาติร่วมสมัยได้กล่าวไว้ว่า พวกมากัสซาร์มีความแข็งแกร่งและทรหดกว่าชนชาติอื่นๆ ทั้งยังมีนิสัยดุร้าย เหี้ยมโหด โดยพวกนี้มีธรรมเนียมชนิดหนึ่งชื่อ ลาม็อก ซึ่งหมายถึงการทำการในยามที่จนตรอกอย่างที่สุด โดยเมื่อเข้าลาม็อกแล้ว พวกมากัสซาร์จะสู้อย่างบ้าเลือดและจะสังหารทุกชีวิตที่พวกเขาพบเห็นไม่ว่าจะเป็น ผู้ชาย ผู้หญิง เด็กหรือ คนชรา โดยพวกนี้เชื่อว่า ยิ่งเขาสังหารคนได้มากเท่าใด ก่อนตาย วิญญาณของผู้ที่ถูกสังหารเหล่านั้น ก็จะกลายเป็นทาสของพวกเขาบนสรวงสวรรค์
(นักรบมากัสซาร์)
การก่อกบฎครั้งนี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2229 โดยกลุ่มขุนนางมุสลิมที่วางแผนก่อการได้ส่งคนไปติดต่อกับรองหัวหน้าพวกมากัสซาร์ให้ยุยงพรรคพวกให้กระด้างกระเดื่อง โดยทำเป็นบอกว่า ตนเห็นดวงดาวบนท้องฟ้าแสดงสัญลักษณ์วิปริต เป็นนิมิตหมายว่า อาจเกิดเหตุเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อชาวมุสลิมทั้งปวงแลอาจเกิดเหตุร้ายต่อชาวมุสลิมทั้งหลาย ซึ่งที่รองหัวหน้าผู้นี้กล่าวดังนี้ก็เพื่อทาบทามหาผู้ร่วมก่อการและก็สามารถระดมคนได้ดังที่ตั้งใจ ทั้งหมดจึงตกลงนัดหมายวันที่จะนำกำลังบุกเข้าไปพระมหาราชวังและปลงพระชนม์สมเด็จพระนารายณ์จากนั้นก็จะยกพระอนุชาขึ้นเป็นกษัตริย์โดยบังคับให้นับถือศาสนาอิสลามและเปลี่ยนให้สยามเป็นรัฐอิสลามเสีย
ทว่าก่อนวันก่อการไม่กี่วัน ได้มีขุนนางมุสลิมผู้หนึ่งในกลุ่มผู้ก่อการ คิดกลับใจนำความไปแจ้งเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ จากนั้นได้มีการจับกุมพวกขุนนางที่เป็นต้นคิดก่อขบถ ประหารชีวิตเสียและได้เตรียมกำลังพลเพื่อพร้อมรับมือพวกมากัสซาร์ ซึ่งเมื่อพวกมากัสซาร์ได้รู้ว่าแผนก่อกบฎล้มเหลวเช่นนั้น จึงเกิดคร้ามเกรงและขอเจรจา โดยยื่นเงื่อนไขว่า เจ้าดายและนักรบมากัสซาร์ชั้นหัวหน้าจำนวน 50 คนจะอพยพออกจากสยาม ขอเพียงแต่เจ้าพระยาวิชาเยนทร์จะไม่เอาโทษพวกตนและญาติพี่น้องที่ยังอยู่ในสยาม
เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ตอบตกลง จากนั้นเจ้าดายกับพวกจึงลงเรือสำเภาลำหนึ่งแล่นออกจากพระนคร ทว่าเมื่อเรือของเจ้าดายไปถึงป้อมที่เมืองบางกอก กลับพบว่าโซ่ที่ขึงขวางกั้นแม่น้ำนั้นยังไม่ได้ถูกออกไป เนื่องจากเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ได้ลอบสั่งการให้ ออกพระศักดิสงครามหรือ กัปตัน ฟอร์แบง นายทหารชาวฝรั่งเศสจับกุมหัวหน้าขบถเหล่านั้นทั้งหมด
เมื่อเห็นว่า ตนถูกหักหลัง พวกมากัสซาร์ จึงสู้กับกองทหารของฟอร์แบงอย่างบ้าเลือด ชาวมากัสซาร์ 20 คนถูกสังหารที่ป้อม ขณะที่ฝ่ายอโยธยาก็เสียทหารไปเกือบ 100 นาย ส่วนเจ้าดายและพวกขบถที่เหลือได้หนีขึ้นฝั่งและไล่ฆ่าชาวบ้านทุกคนที่พบเห็นไม่เว้นพระภิกษุ เด็ก และสตรี ซึ่งกว่าที่ กองทหารของฟอร์แบงจะจัดการกับพวกขบถได้ทั้งหมด ก็มีชาวบ้านถูกฆ่าไปกว่า 300 คน
อย่างไรก็ตาม เจ้าดายกับพวกขบถบางคนสามารถหนีรอดกลับมาถึงอยุธยาได้และแจ้งกับพรรคพวกของตนที่หมู่บ้านมักกะสันถึงเรื่องที่เกิดขึ้น พวกมากัสซาร์จึงได้ระดมกำลังนักรบหลายร้อยเตรียมเข้าโจมตีตอบโต้ ทว่าในเวลานั้นเอง เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ก็ได้ระดมกำลังทหารกว่า 7,000 นายพร้อมเรือรบ 200 ลำ และนายทหารชาวยุโรปอีก 60 นาย ยกมาโจมตีหมู่บ้านมักกะสัน
(การปราบกบฎมักกะสัน)
การรบเปิดฉากด้วยการที่นายทหารชาวยุโรปขว้างลูกแตกหรือระเบิดเข้าใส่หมู่บ้านชาวมากัสซาร์เพื่อข่มขวัญ ทว่าฝ่ายนั้นกลับกรูกันออกมาพร้อมอาวุธอย่างดุร้ายและเข้าโจมตีกำลังส่วนหน้าของฝ่ายอโยธยาที่ขึ้นบกมาก่อนอย่างบ้าเลือดจนฝ่ายอโยธยาล้มตายเกลื่อนและต้องล่าถอย จนเมื่อกองหนุนทั้งหมดยกมาพร้อมกันแล้ว ฝ่ายอโยธยาจึงเข้าตีอีกครั้ง การรบดำเนินไปอย่างดุเดือด ไพร่พลทั้งฝ่ายล้มตายหลายร้อยนาย รวมทั้งเจ้าดายผู้นำพวกมากัสซาร์ก็ถูกยิงตายในการรบด้วย
จนในที่สุด กองเรืออโยธยาก็ล้อมหมู่บ้านพวกมากัสซาร์ไว้ได้และใช้ธนูเพลิงระดมยิงพร้อมกับขว้างลูกแตกเข้าไป จนไฟลุกท่วมทั้งหมู่บ้านส่งผลให้ชาวมากัสซาร์เกือบทั้งหมดถูกไฟคลอกตาย จากบันทึกของชาวต่างชาติที่อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้น เล่าไว้ว่า ฝ่ายอโยธยาต้องสูญเสียไพร่พลไปเกือบ 1,000 นายกว่าจะการปราบกบฎลงได้ และหลังจากการปราบขบถเสร็จแล้ว ฝ่ายอโยธยาได้นำตัวนักรบมากัสซาร์ที่รอดชีวิตมาลงโทษประหาร ด้วยการให้เสือโคร่งแทะกินทั้งเป็นจนขาดใจตายอย่างช้าๆ
ทั้งนี้เหตุการณ์ขบถมากัสซาร์ หรือ ขบถมักกะสันนี้ได้ทำให้ทางราชสำนักอโยธยาไม่ไว้วางใจขุนนางชาวมุสลิมอีกต่อไป ทำให้อำนาจของเหล่าขุนนางมุสลิมในสยามที่เคยเฟื่องฟูมาแต่ครั้งต้นรัชกาล ต้องปิดฉากลง