"แวลลิส มารีเนอรีส" แกรนด์แคนยอนบนดาวอังคาร
ยาน อวกาศของยุโรปจับภาพ แกรนด์ แคนยอน บนดาวอังคาร เผยเป็นโตรกผาที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ มีความยาว 4,000 ก.ม. กว้าง 200 ก.ม. และมีความลึกถึง 10 ก.ม.
นับเป็นครั้งแรก ที่เราได้ยลโฉมโตรกผา แวลลิส มารีเนอรีส แห่งนี้ ผ่านภาพถ่ายสี หลังจากเคยได้เห็นแต่ในภาพขาว-ดำ โดยแวลลิส มารีเนอรีส นี้ มีความยาวกว่าแกรนด์ แคนยอนของโลกเรา 10 เท่า และลึกกว่ากัน 5 เท่า
ภาพ ที่เห็นนี้เกิดจากการประมวลข้อมูลของยานมาร์ส เอ็กซ์เพรส ที่ได้โคจรเหนือพื้นผิวดาวอังคาร 20 รอบ ซึ่งองค์การอวกาศยุโรป หรืออีซา บอกว่า ภาพนี้ปรากฏลักษณะหลายอย่าง ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นมาอันซับซ้อนในทางธรณีวิทยาของโตรกผาขนาดมหึมาดัง กล่าว
เข้าใจว่า การก่อตัวของแคนยอนแห่งนี้มีความเกี่ยวพันกับการเกิดขึ้นของเนินใหญ่ ธาร์ซิส ซึ่งอยู่เลยขอบภาพถ่ายนี้ออกไปทางด้านซ้ายมือ อันเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ นั่นคือ โอลิมปัส มอนส์
ก้อนหินตามหน้าผาของโตรกลึกนี้ และที่ราบในบริเวณใกล้เคียง บ่งบอกถึงการปะทุของภูเขาไฟ และการไหลของลาวา เมื่อแม็กมาดันตัวขึ้นที่เนินธาร์ซิสในช่วงพันล้านปีแรกของดาวอังคาร พื้นผิวได้ถูกยึดตัวและเกิดรอยแยก แล้วในที่สุดได้กลายเป็นร่องลึกของแวลลิส มารีเนอริส
ในภาพยังปรากฏรอยเลื่อน ซึ่งเกิดจากแรงผลักที่ทำให้พื้นผิวขยายแยกด้วย โดยเฉพาะในบริเวณตอนกลางของภาพ และตามแนวขอบล่างของภาพ และปรากฏการณ์ดินถล่มยังทำให้โตรกผามีรูปร่างอย่างที่เห็น โดยเฉพาะทางตอนบนสุดของร่องลึกนี้ ซึ่งดินและหินได้ร่วงลงไปตามผนังชัน
นอก จากนี้ ในส่วนบนสุดของผนังผายังมีร่องรอยการพังทลายของดินและหินด้วย หลังจากโตรกผาได้ก่อตัวขึ้นแล้ว กระแสน้ำที่พัดแรงได้กัดเซาะแวลลิส มารีเนอริส ให้ลึกลงไปเรื่อยๆ
ข้อมูลเกี่ยวกับแร่ธาตุ ซึ่งยานโคจรหลายลำ รวมทั้งยานของอีซาลำนี้ สามารถรวบรวมได้นั้น บ่งชี้ว่า ภูมิประเทศแถบนี้ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพราะน้ำอยู่เป็นเวลาหลายร้อยล้านปี
ที่มา.http://variety.thaiza.com