โรคศพเดินได้ อาการทางจิต ที่คิดว่าตัวเองตายไปแล้ว
โรคศพเดินได้ (Cotard Delusion หรือ Walking Corpse Syndrome) เป็นสภาวะทางจิตที่หายากสภาวะหนึ่ง มีเพียง 200 รายจากทั่วโลก ลักษณะเด่น คือ ผู้ที่มีภาวะนี้จะมีความเข้าใจว่า ตัวเองได้ตายไปแล้ว หรืออาจจะคิดว่าส่วนหนึ่งของร่างกายตัวเอง อย่างเช่น แขน ขา หรือแม้กระทั่งวิญญาณของตัวเองได้ตายไปแล้ว หรือไม่มีอยู่จริง
มักเกิดขึ้นกับคนที่เป็นภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรง และโรคจิตบางประเภท อาจมาพร้อมกับสภาวะทางระบบประสาทอื่น ๆ แม้จะเป็นอาการที่ค่อนข้างรุนแรง แต่ผู้ป่วยจะอาการดีขึ้นได้เมื่อได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
อาการของ “โรคศพเดินได้’
มักจะเข้าสังคมน้อยลง บางคนจะได้ยินเสียงที่บอกว่าตนเองกำลังจะตาย หรือตายไปแล้ว อาจไม่กินอะไร เพราะเข้าใจว่ากินไปก็ไม่มีประโยชน์อะไรเนื่องจากตนเองตายไปแล้ว บางคนอาจพยายามทำร้ายตนเอง
งานวิจัยในปี 2554 ระบุว่า 89% ของผู้ป่วยโรคศพเดินได้ มักมีอาการของภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย และอาจมีอาการอื่น ๆ ได้แก่
- ความวิตกกังวล
- ภาพหลอน
- ความรู้สึกผิด
- การหมกมุ่นกับการทำร้ายตนเองหรือความตาย
- คิดไปเองว่าป่วย
มีการบันทึกรายงานในปี 2551 ระบุว่า หญิงอายุ 53 ปี เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหลังจากที่ครอบครัวรายงานว่าเธอบอกว่า เธอตายแล้วและมีกลิ่นเหมือนปลาเน่า เธอยังขอให้พาไปที่โรงเก็บศพด้วยเพราะเธออยากอยู่กับคนตาย
เมื่อปี 2555 ชายชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง เชื่อว่าตัวเองนั้นได้ตายไปแล้ว พอจิตแพทย์ถามเขาว่า เขาคิดว่าคนที่ตายไปแล้วจะสามารถพาตัวเองมาหาแพทย์ได้เหรอ เขาก็บอกว่าคำถามนี้ตอบยากจริง ๆ แต่ก็ยังคงไม่สามารถเลิกเชื่อได้ว่าตัวเขาตายไปแล้ว ในท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่าเขาจะตอบสนองกับการรักษา แต่เขาก็ยังคงมีความเชื่อว่าเขาเคยตายไปแล้วหนหนึ่งอยู่ดี
สาเหตุของโรคศพเดินได้
นักวิจัยไม่แน่ใจว่าอะไรเป็นสาเหตุของโรคศพเดินได้ มีปัจจัยเสี่ยงบางประการที่เป็นไปได้ งานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า อายุเฉลี่ยของผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่ที่ประมาณ 50 ปี นอกจากนี้ ยังสามารถเกิดขึ้นได้ในเด็กและวัยรุ่น ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี และมักจะมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย
ใครบ้างมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคศพเดินได้
อาจมีปัจจัยเสี่ยงบางประการที่ทำให้มีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้อื่น นอกจากนี้ มักเป็นอาการของปัญหาที่เกี่ยวกับภาวะทางระบบประสาท หรือภาวะสุขภาพจิตอื่น ๆ ได้แก่
- โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder)
- ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression)
- โรคบุคลิกวิปลาส (Depersonalization disorder)
- โรคหลายบุคลิกหรือโรคหลายอัตลักษณ์ (Dissociative disorder)
- โรคซึมเศร้าโรคจิต (Psychotic depression)
- โรคจิตเภท(Schizophrenia)
- คาตาโทเนีย
- การติดเชื้อในสมอง
- เนื้องอกในสมอง
- ภาวะสมองเสื่อม
- โรคลมบ้าหมู
- ไมเกรน
- โรคพาร์กินสัน
- โรควิตกกังวล
- การใช้สารเสพติด
- โรคเส้นเลือดในสมองตีบ
- เลือดออกนอกสมองเนื่องจากการบาดเจ็บที่สมองอย่างรุนแรง
- โรคไข้สมองอักเสบ
การวินิจฉัยและการรักษา
แพทย์มักจะเลือกใช้วิธีการรักษาโรคหรือสภาวะที่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคศพเดินได้โดยตรง โดยแพทย์อาจจะให้ใช้ยาดังต่อไปนี้
- ยาต้านซึมเศร้า(antidepressants)
- ยาต้านอาการทางจิต (antipsychotics)
- ยาควบคุมอารมณ์ (mood stabilizers)
แพทย์มักจะให้ใช้ยาดังกล่าว ร่วมกับการบำบัดทางจิต อย่างเช่น การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม หรือ จิตบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกปลอดภัยและสบายใจมากขึ้น รวมถึงสามารถช่วยให้ผู้ป่วยค้นหาวิธีในการคิดและการกระทำที่ดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้นได้อีกด้วย
















