DINK เทรนด์คู่รักยุคใหม่ ไม่มีลูก เน้นออมเงิน ใช้ชีวิตปรนเปรอความสุขกับคู่รัก
DINK หรือ D.I.N.K. ย่อมาจาก ‘Double Incomes, No Kid’ หมายถึง รูปแบบการใช้ชีวิตที่คู่รักทำงานกันทั้งคู่ ต่างคนต่างได้ทำงานอย่างที่ต้องการ ตั้งใจจะไม่มีลูก มีโอกาสในการออมเงิน มีอิสระทางการเงิน สามารถนำเงินส่วนนี้ไปปรนเปรอความสุขให้กับตนเองได้โดยไม่มีข้อจำกัด มักพบเห็นได้อย่างชัดเจนในเขตเมือง และในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีระดับการศึกษาสูง
ในสหรัฐอเมริกา รูปแบบการใช้ชีวิตของ DINK แพร่หลายเป็นอย่างมากในหมู่คนทำงานในเมือง อย่างเช่น นิวยอร์ก ซานฟรานซิสโก ชิคาโก มีกลุ่มคู่รัก DINK จำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จากความเป็นอิสระในชีวิตที่มากขึ้น ทั้งด้านเวลา และการเงิน การเพิ่มขึ้นของครัวเรือน DINK เป็นแนวโน้มสำคัญที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ
สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้คู่รักตัดสินใจเลือกเป็น DINK มากขึ้น
- การเปลี่ยนแปลงของบรรทัดฐานทางสังคม
- การก้าวหน้าในการทำงานที่มากขึ้น
- ความต้องการอิสระทางการเงินที่เพิ่มขึ้นในหมู่คนหนุ่มสาว ส่งผลกระทบอย่างมากต่อพฤติกรรมการใช้จ่าย และสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
ความน่าสนใจของ คู่รัก DINK
1.สามารถใช้จ่ายได้ตามต้องการ มีความยืดหยุ่นทางการเงิน เนื่องจากมีรายได้ที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้เป็นจำนวนมาก สามารถใช้จ่ายในการซื้อความสุขให้ตัวเองได้มากกว่า อย่างเช่น สินค้าที่ตนเองต้องการ การท่องเที่ยว และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ การใช้จ่ายของกลุ่ม DINK เป็นเป้าหมายหลักสำหรับนักการตลาด และธุรกิจที่เจาะกลุ่มตลาดผู้บริโภคที่มีกำลังใช้จ่าย โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงภาระทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูบุตร
2.มีศักยภาพการในการลงทุนที่สูงขึ้น ภาระทางการเงินที่น้อยลง DINK จึงมีโอกาสในการออม และการลงทุนมากขึ้น ทั้งในด้านการลงทุนในตลาดหุ้น สินทรัพย์ดิจิทัล รวมไปถึงอสังหาริมทรัพย์ การตัดสินใจของ DINK มีอิทธิพลอย่างมากต่อตลาดและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
3.เพิ่มเสถียรภาพทางการเงิน เนื่องจากที่มีรายรับทั้งสองทาง และไม่จำเป็นต้องเลี้ยงดูบุตร จึงทำให้มีภาระทางการเงินน้อยลง สามารถรับมือกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้ดีกว่าคู่รักที่มีบุตร เสถียรภาพนี้ทำให้เกิดความยืดหยุ่นในครอบครัวมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มนี้มีความยืดหยุ่นในการใช้จ่ายในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจถดถอย
ชีวิต และไลฟ์สไตล์ของ DINK
เปิดประตูสำรวจโลกกว้าง ด้วยรายได้ที่สูงขึ้น และไม่มีความจำเป็นต้องรับผิดชอบในการเลี้ยงดูบุตร คู่รัก DINK จึงมีโอกาสท่องเที่ยวสำรวจโลกมากขึ้น เปิดโอกาสในการเรียนรู้เกี่ยวกับโลกกว้าง และประสบการณ์ใหม่ไปพร้อมกัน
การไม่หยุดพัฒนาเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ คู่รักในกลุ่มคน DINK ให้ความสำคัญกับการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้สกิลใหม่ ๆ เข้าร่วมอบรมและการประชุม การศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น การลงทุนในความรู้และทักษะ ช่วยเพิ่มโอกาสในการทำงาน รวมถึงความสำเร็จโดยรวมในชีวิต
มีเวลาให้ตัวเอง อย่างเช่น อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย ดูหนัง หรืองานอดิเรกอื่น ๆ ที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตและร่างกาย การมีเวลาส่วนตัวสามารถรักษาสมดุลชีวิตเพื่อสร้างความสุข และยังมีเวลาว่างมากขึ้นทำให้ DINK สามารถมีกิจกรรมสังคมได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงานอาสาสมัคร หรือกิจกรรมทางสังคมอื่น ๆ รวมถึงการพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง พบกลุ่มสังคมใหม่ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ
5 ลักษณะคู่รัก DINK
1.คู่สามีภรรยาที่เลือกจะไม่มีลูกด้วยตัวเอง การลดภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตร ทำให้มีเงินเก็บเพิ่มขึ้น คู่รักสามารถนำเงินไปลงกับสิ่งที่สนใจ อาจไปท่องเที่ยว ซื้อสินค้าที่ชื่นชอบ หรือวางแผนเกษียณในอนาคต
2.คู่รักที่ไม่สามารถมีลูกได้ และไม่ต้องการรับบุตรบุญธรรม คนกลุ่มนี้อาจจะไม่ได้ยินดี 100% ที่จะมีวิถีชีวิตแบบ DINK ด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ มาบีบรัด ทำให้ต้องปรับตัวให้เข้ากับ DINK อย่างราบรื่นที่สุด
3.คู่รักข้าวใหม่ปลามันที่ยังไม่มีลูก บางคู่อาจตัดสินใจมีลูกเมื่อพร้อม เป็นอันสิ้นสุดสภาวะ DINK ในขณะที่บางคู่อาจเลือกที่จะไม่มีลูก เป็นการยืดระยะ ‘ช่วยกันเก็บเงิน’ ต่อไป คู่รักข้าวใหม่ปลามันที่เพิ่งแต่งงาน คือ ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการใช้ชีวิตแบบ DINK
4.คู่รักที่ลูกสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้แล้ว สถานะนี้ว่า ‘Empty Nester’ หรือ เจ้าของรังที่ว่างเปล่า เพราะ ลูกน้อยพากันเติบโต สยายปีกโบยบินได้โดยไม่ต้องพึ่งรายได้จากผู้ปกครอง ส่งผลให้คู่รักสามารถกลับมาโฟกัสกับการเก็บเงินเพื่อตัวเองได้อีกครั้ง
5.ตกลงจะอยู่ด้วยกัน แม้จะไม่ได้เป็นคู่รักกัน การอยู่ด้วยกันแบบพาร์ตเนอร์ชีวิต อาจไม่มีความรู้สึกเชิงชู้สาวร่วมด้วย เป็นการตัดสินใจอยู่ด้วยกันแบบเพื่อน เพื่อหารค่าใช่จ่ายต่าง ๆ อย่างเช่น ค่าห้อง เฟอร์นิเจอร์ วัตถุดิบในการทำอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น เป็นรูปแบบการใช้ชีวิตที่ประหยัดเงินได้อีกทางหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องมีครอบครัว
แผนทางการเงินสำหรับ DINK การเพิ่มความสามารถทางการเงิน และความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวยามเกษียณอายุ
1.การบริหารการเงิน และเงินสำรองยามฉุกเฉิน แม้ว่าจะไม่มีภาระทางการเงินในการเลี้ยงดูบุตร เงินสำรองฉุกเฉินที่มากพอถือเป็นสิ่งที่จำเป็น ควรครอบคลุมค่าใช้จ่ายภายในบ้านอย่างน้อย 6 เดือน ในกรณีที่มีใครคนใดคนหนึ่งเกิดเหตุไม่คาดคิด อย่างเช่น ตกงาน เจ็บป่วย หรือ สถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นความปลอดภัยทางการเงินในกรณีที่เผชิญกับเรื่องไม่คาดคิด
2.กลยุทธ์การลงทุน และการวางแผนเกษียณอายุ ควรมีการกระจายการลงทุนที่สอดคล้องกับความเสี่ยงและเป้าหมายทางการเงิน อย่างเช่น กองทุนเพื่อการเกษียณอายุ อสังหาริมทรัพย์ และสินทรัพย์อื่น ๆ ให้เหมาะสมกับระยะเวลา และความต้องการ
3.ประกันภัยประเภทต่าง ๆ อย่างเช่น ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุทั้งทางชีวิต และทรัพย์สินเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด DINK ควรประเมินความเสี่ยง และความต้องการประกันภัยของตน เพื่อความแน่ใจว่ามีความคุ้มครองที่เหมาะสม













