รู้จักอารมณ์หึงหวง ควรจัดการอารมณ์หึงหวงอย่างไร ?
ความหึงหวง ภาวะที่พบได้บ่อยในความสัมพันธ์ เมื่อไหร่ที่ความสัมพันธ์ถูกทำให้สั่นคลอน ความหึงหวงจึงเกิดขึ้น ซึ่งมักเกิดจากความรู้สึกอันหลากหลาย ทั้งความโกรธ ความเสียใจ ความกลัววิตกกังวล ความอับอายละอายใจ ความหึงหวงจึงเป็นความรู้สึกที่รุนแรงควบคุมได้ยาก
ความหึงหวงมักจะเป็นสัญญาณเตือนว่า “ความสัมพันธ์ที่มีนั้นไม่ให้ความรู้สึกปลอดภัย และ อาจจะบานปลายแย่ลง จนนำไปสู่ความรุนแรง หรือ การล่วงละเมิดได้”
อารมณ์หึงหวงยังเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ใช่แค่กับคู่รัก อาจจะเกิดกับเพื่อน พ่อแม่ พี่น้อง สิ่งของ แม้แต่สัตว์เลี้ยงก็หวงเจ้าของตนเองได้เหมือนกัน ก็สามารถทำให้เกิดอารมณ์หึงหวงได้ หากสิ่งที่เป็นที่รักเหล่านั้นอาจจะถูกเอาไปจากเรา
มีนักวิจัยศึกษามานานแล้วว่า คนที่หึงหวงมากนั้นมักสัมพันธ์กับความรู้สึกเหงา การเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ รวมถึงในคนที่มีภาวะก้าวร้าว ก็อาจแสดงความหึงวงออกมาผ่านพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
ความหึงหวง กับ ความรัก ต่างกันอย่างไร?
ความรัก คือ ความรู้สึกที่มีความเห็นอกเห็นใจ และ ความห่วงใยซึ่งเป็นอารมณ์ในเชิงบวก
ความหึงหวง ไม่ได้เกิดจากความรัก แต่ เป็นอารมณ์ด้านลบที่เกิดจากความกลัวว่าจะถูกแย่งบางสิ่งบางอย่างไปโดยเฉพาะความรัก
ปัจจัยที่สัมพันธ์กับความหึงหวง
1.คนที่ไม่เห็นคุณค่าในตนเอง low self esteem
2.ความเหงาความโดดเดี่ยว
3.คนที่มีนิสัยพฤติกรรมก้าวร้าว
4.ความคาดหวังที่ไม่สมดุล
5.การเติบโตการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม
6.คนที่มีบุคลิกภาพแบบพึ่งพา
อาการหึงหวงแบบไหนที่เข้าข่ายผิดปกติ
โรคจิตหลงผิดแบบคิดว่าคู่ของตนนอกใจ (Delusional disorder, jealous type) เป็นโรคที่เกิดจากความเชื่อ หรือ ความคิดที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง เรียกว่า อาการหลงผิด โดยมีอาการตั้งแต่หนึ่งเดือนขึ้นไป ชนิดของการหลงผิดมีหลายชนิด พบได้บ่อยที่สุด คือ ชนิดหวาดระแวง
อาการหลงผิดต่าง ๆ จะส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตในหลายมิติ ในส่วนของอาการหลงผิดแบบคิดว่าคู่นอกใจ อาจส่งผลให้เกิดการทำร้ายร่างกาย ใช้ความรุนแรง นำไปสู่ปัญหาครอบครัวในที่สุด
ฝึกการจัดการความหึงหวง
1.self-awareness การตระหนักรู้และรู้จักตัวเอง รับรู้เข้าใจทั้งความคิด อารมณ์ความรู้สึก ความต้องการความคาดหวัง รวมถึงเข้าใจว่าจะเกิดผลอย่างไร ทำให้เกิดการยอมรับและแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม
2.การสื่อสารพูดคุย โดยการพูดออกไปอย่างตรงไปตรงมา เลือกที่จะสื่อสารบอกความรู้สึกของตัวเอง แทนที่จะเป็นการไปจู่โจม ตำหนิอีกฝ่าย การพูดอ้อมค้อม เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการปรับความเข้าใจกัน อธิบายความคิดซึ่งกันและกัน มีการทำข้อตกลงร่วมกัน ช่วยกันหาจุดที่ละเลยเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ จะช่วยให้ความสัมพันธ์มีความสบายใจมากขึ้น
3.ยอมรับอารมณ์ความรู้สึก ความหึงหวงเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เมื่อมีสิ่งกระตุ้นแม้ความหึงหวงทำให้รู้สึกไม่ดี แต่หากมองให้ลึกลงไปแล้วความหึงหวง คือ สัญญาณเตือนที่ดีว่าตัวเองยังมีส่วนไหนภายในจิตใจที่ไม่ได้รับการเติมเต็ม ต้องซ่อมแซมดูแล
4.ให้เวลากับการดูแลตนเองร่วมกับคนรัก การหากิจกรรมอื่น ๆ เพื่อเปลี่ยนสิ่งโฟกัส ทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย เช่น การทำงานอดิเรกที่ชอบทำร่วมกัน ท่องเที่ยวยังสถานที่ใหม่ ๆ ร่วมกัน
5.การขอความช่วยเหลือจากคนที่ไว้ใจ แต่ถ้าหากสิ่งที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดผลกระทบกับสุขภาพจิต การใช้ชีวิต การเข้ารับการดูแลโดยบุคลากรผู้ชำนาญการเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต จะสามารถช่วยให้ปรับและทำความเข้าใจภาวะทางจิตใจของตนเองได้ดีขึ้น
เมื่อรู้สึกแล้วว่าอารมณ์หึงหวงค่อนข้างเป็นเรื่องไม่ดี แต่อย่างไรก็ตาม อารมณ์หึงหวงอาจเป็นสัญญาณที่ทำให้เราตระหนัก และ ปกป้องตนเองในความสัมพันธ์ ซึ่งหากได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม อาจช่วยให้ความสัมพันธ์และตัวเราเองเกิดความมั่นคงหรือเติบโตได้มากขึ้น






















