5 พฤติกรรมเสี่ยงปัญหา “นิ้วล็อค” และ 10 แนวทางป้องกัน “โรคนิ้วล็อค”
โรคนิ้วล็อค คือ อาการที่นิ้วเกิดล็อคเมื่องอนิ้วแล้วไม่สามารถกลับมาเหยียดตรงได้ง่าย ซึ่งเกิดจากการอักเสบของปลอกเอ็นกล้ามเนื้อที่นิ้ว ทำให้เอ็นและกล้ามเนื้อที่อยู่ภายในยืดหดไม่ได้ตามปกติ อาการนี้มักเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่ใช้นิ้วมือทำงานอย่างหนัก
ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับการใช้ชีวิตมากขึ้น โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนที่มักจะหยิบมาอัพเดทข่าวสาร แชทกับเพื่อน เล่นเกมอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเข้าห้องน้ำ กินข้าว ก่อนเข้านอน นอกจากนี้ด้วยพฤติกรรมที่มักจะใช้ชีวิตอยู่กับคอมพิวเตอร์เป็นหลัก ทำให้พบอาการนิ้วล็อคมากทีเดียว
อาการอาจจะแบ่งง่ายๆเป็น 3 ระยะ คือ
1.ระยะแรก ปวดบริเวณโคนนิ้วมือ จะปวดมากขึ้น ถ้าเอานิ้วกดบริเวณฐานนิ้วมือด้านหน้า
2.ระยะที่สอง เริ่มมีอาการสะดุด จะปวดมากขึ้น เวลาขยับนิ้ว งอ เหยียดนิ้ว
3.ระยะที่สาม มีอาการติดล็อค โดยเมื่องอนิ้วลงไปแล้วจะติดล็อค จนไม่สามารถเหยียดนิ้วออกเองได้ ต้องเอามืออีกข้างมาช่วยแกะ หรือ อาจมีอาการมากขึ้นจนไม่สามารถงอนิ้วลงได้เอง
5 พฤติกรรมเสี่ยงปัญหา “นิ้วล็อค”
1.การใช้นิ้วมือในท่าเดิม ๆ เป็นเวลานาน ๆ เช่น กดแป้นพิมพ์ เล่นเกมส์ การใช้กรรไกรตัดสิ่งของแข็ง ๆ ที่ใช้แรงบีบมากเป็นเวลานาน ๆ อยู่ในท่าเดิมซ้ำ ๆ เป็นเวลานานต่อเนื่องกัน
2.การหิ้วของหนักเกินไป เช่น หิ้วตะกร้า ถุงพลาสติก ถังน้ำ
3.บิดผ้าหรือซักผ้าด้วยมือเปล่าจำนวนมาก ๆ บิดผ้าแห้งมากเท่าไหร่ จะเป็นการทำร้ายปลอกเอ็นข้อมือมากเท่านั้น ถ้าทำบ่อย ๆ จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นการเกิดนิ้วล็อคได้
4.ต้องทำงานที่ต้องใช้มือกำ บีบ จับ ยกของหนักประจำ เป็นเวลานาน ๆ เช่น คนส่งของ คนส่งน้ำขวด คนส่งถังแก๊ส แม่ครัวพ่อครัว
5.การเล่นกีฬาประเภท ตีกอล์ฟ การตีเทนนิส ซึ่งทำให้มีโอกาสเกิดนิ้วล็อคมากกว่ากีฬาประเภทอื่น เพราะต้องใช้กำลังแขนและข้อมือในการตีลูกอย่างแรงและต่อเนื่อง
10 แนวทางป้องกัน “โรคนิ้วล็อค”
1.หากต้องหิ้วของหนัก เช่น ถุงพลาสติก ตะกร้า ถังน้ำ ควรจะใช้รถเข็นแทน แต่ถ้าจำเป็นต้องหิ้วลองใช้ควรใช้ผ้าขนหนูรองและหิ้วให้น้ำหนักตกที่ฝ่ามือ แทนที่จะให้น้ำหนักตกที่ข้อนิ้วมือ หรือ ใช้วิธีการอุ้มประคองช่วยลดการรับน้ำหนักที่นิ้วมือได้
2.ไม่ควรบิดหรือซักผ้าด้วยมือเปล่าจำนวนมาก ๆ เปลี่ยนไปใช้เครื่องซักผ้าและถังปั่นผ้าไฟฟ้าแทน
3.นักกอล์ฟ นักตีเทนนิส ที่ต้องตีแรง ตีไกล ควรใส่ถุงมือ หรือ ใช้ผ้าสักหลาดหุ้มด้ามจับให้หนาและนุ่มขึ้น เพื่อลดแรงปะทะ ไม่ควรไดร์กอล์ฟต่อเนื่องเป็นเวลานาน
4.เวลาทำงานที่ต้องอาศัยอุปกรณ์ช่าง ควรระวังการกำหรือบดเครื่องมือทุ่นแรง เช่น ไขควง เลื่อย ค้อน ฯลฯ ควรใส่ถุงมือหรือห่อหุ้มด้ามจับให้ใหญ่และนุ่มขึ้น
5.ชาวสวนควรระวังเรื่องการตัดกิ่งไม้ด้วยกรรไกร หรืออุปกรณ์ที่ใช้แรงมือ ควรใส่ถุงมือเพื่อลดการบาดเจ็บของปลอกเอ็นกับเส้นเอ็น
6.คนที่ยกของหนัก ๆ เป็นประจำ เช่น คนส่งน้ำขวด คนส่งถังแก๊ส แม่ครัวพ่อครัว ควรหลีกเลี่ยงการยกมือเปล่า ควรมีผ้านุ่ม ๆ มารองจับขณะยก และ ใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น รถเข็น รถลาก
7.หากจำเป็นต้องทำงานที่ต้องใช้มือกำ หยิบ บีบ เครื่องมือเป็นเวลานาน ควรใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น ใช้ผ้าห่อที่จับให้หนานุ่ม เช่น ใช้ผ้าห่อด้ามจับตะหลิวในอาชีพแม่ครัวพ่อครัว
8.งานบางอย่างต้องใช้เวลาทำงานนานต่อเนื่อง ทำให้มือเมื่อยล้า ระบม ควรพักมือเป็นระยะ ๆ เช่นทำ 45 นาที ควรจะพักมือสัก 10 นาที
9.ถ้ามีอาการข้อฝืด กำไม่ถนัดตอนเช้า ควรแช่น้ำอุ่น บริหารโดยการขยับมือกำแบเบา ๆ ในน้ำ จะทำให้นิ้วมือเคลื่อนไหวได้คล่องขึ้น
10.ไม่ขยับนิ้วหรือดีดนิ้วที่มีอาการเล่น เพราะจะทำให้เส้นเอ็นอักเสบมากยิ่งขึ้น
นิ้วล็อค… รักษาได้ แค่รู้จักเลือกวิธีที่เหมาะสม
แนวทางการแก้ไขสำหรับผู้ที่เกิดอาการนิ้วล็อค หากมีอาการนิ้วล็อคที่ไม่รุนแรงมากนัก วิธีที่ได้ผลดี คือ การบำบัดหรือบริหารนิ้ว เช่น การตั้งมือขึ้นแล้วกำมือ โดยเริ่มจากการงอปลายนิ้วลงบริหารซ้ำหลาย ๆ ครั้ง ทำทุกครั้งที่มีเวลาว่าง ใช้วิธีการตั้งมือขึ้นแล้วพับนิ้วลงพร้อมกันในลักษณะเป็นมุมฉากทำกลับไปกลับมา 5-10 ครั้งเพื่อให้เอ็นมีการเคลื่อนไหวไม่ติดกัน แต่สำหรับคนที่มีอาการที่รุนแรงบำบัดแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา















