เมื่อสังสารวัฏไม่ได้มีแค่พุทธ
สำหรับผู้อ่านโพสต์นี้ทุกท่านที่สะดุด กับคำว่า ‘เมื่อพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาเดียวที่มีสังสารวัฎ’ อาจจะตั้งคำถามขึ้นมาในใจว่า “เอ๊ะ ใช่เหรอ ตั้งแต่อยู่มามีแค่พุทธศาสนาไม่ใช่เหรอ” เศากิยะเองบอกได้อย่างภาคภูมิว่า สังสารวัฎ นั้นเป็นปรัชญาและความเชื่อพื้นฐานในทุกความเชื่อและศาสนาในประเทศอินเดีย ย้อนไปในสมัยอินเดียโบราณนั้น คนโบราณเชื่อการมีอยู่ของ “กฎแห่งกรรม” ซึ่งคำว่า กรรม มีรากศัพท์จากภาษาสันสกฤต ว่า กรฺม (कर्म; Karma) หากเขียนด้วยภาษาบาลีจะเป็น กมฺม (कर्म; Kamma) หมายถึง การกระทำ งาน บางบริบทคำนี้หมายถึง เหตุและปัจจัย ซึ่งเราจะเห็นได้จากสำนวนคนโบราณว่า “กรรมเป็นของตนเอง กรรมเป็นทายาท กรรมเป็นกำเนิด กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ พวกพ้อง กรรมเป็นที่พึ่ง กรรมเป็นเครื่องจำแนกให้สัตว์โลกดีเลวต่างกัน”
.
ซึ่งสำนวนนี้ สามารถอ้างอิงถึงวิธีคิดเก่าแก่ของอินเดียโบราณ คือ ระบบวรรณะ และชาติ ของพิธีกรรมวงจรชีวิตในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
วรรณะ และ ชาติ เป็นสิ่งที่อยู่ร่วมกัน หากผู้อ่านได้มีโอกาสได้อ่านปกรณัมอินเดีย จะเห็นตัวละครหลากหลายตัวที่มีสถานภาพทางสังคม ไม่ตรงกับวรรณะที่เกิด อาทิเช่น กรรณะ พระกฤษณะ และฤษีวิศวามิตร กรรณะนั้นเกิดในวรรณะกษัตริย์เป็นบุตรของพระนางกุนตี แต่ถูกรับเลี้ยงโดยคนวรรณะศูทร เขาจึงมีชาติเป็นคนรับใช้ พระกฤษณะเกิดในวรรณะกษัตริย์แต่ถูกรับเลี้ยงโดยนันทะ พ่อค้าและเกษตรผู้เลี้ยงโค จึงมีชาติเป็นเด็กเลี้ยงโค และสุดท้าย ฤษีวิศวามิตรผู้ที่กำเนิดในวรรณะกษัตริย์แต่มีใจใฝ่ไปทางโยคะเลยถือชาติเป็น ฤษี ดุจดั่งนักบวชผู้เปี่ยมไปด้วยความรู้
.
.
จากบุคคลในตัวอย่างเหล่านั้นที่กล่าวมา มีกรรมเป็นทายาท มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ จากที่บิดาและมารดาเป็นบุคคลที่อยู่ในวรรณะกษัตริย์ แต่กรรมเป็นของตนเอง กรรมเป็นที่พึ่ง ของบุคคลเหล่านั้น นั้นแตกต่างออกไปด้วยเหตุและปัจจัยจากทางสังคมหรือทางปัจเจกตามช่วงชีวิต ซึ่งกรรมนั้นแล ขับเคลื่อนชีวิตมนุษย์ให้ต้องพบเจอทั้งสุขและทุกข์ จนเกิดเป็น สํสาร (संसार; Saṃsāra) ภาษาสันสกฤต จะอ่านว่า “สัมสาระ” ส่วนภาษาบาลี อ่านว่า “สังสาระ” แปลว่า การตระเวน การจร
.
.
ซึ่ง สํสาร หรือ สังสารวัฏ นั้นมีแต่การที่เราต้องวนเวียนเกิดและตายซ้ำซากจาก กฎแห่งกรรม หากทำดีก็ได้อยู่ในสถานภาพที่ดี หากทำชั่วก็อยู่ในสถานภาพที่แย่ ล้วนแล้วคือเหตุของการเกิดทุกข์ที่ไม่สิ้นสุด ด้วยเหตุนี้เรานักปราชญ์อินเดียยุคโบราณจึงได้หาวิธีคิดที่จะพ้นจาก สํสาร ซึ่งหลักฐานแรกที่ปรากฎเก่าแก่ที่สุดคือ คัมภีร์สมัยหลังพระเวท ได้แก่ อุปนิษัท ที่มีการสร้างชุดแนวคิดนี้ออกมา และมีการโต้เถียงทางปรัชญาจนแตกสาขาของชุดปรัชญาออกมามากมายที่บอกวิธีในการหลุดพ้น ซึ่งศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เรียก วิถีแห่งการหลุดพ้นจากสํสาร ว่า โมกฺษ (อ่านว่า โมกษะ)
.
.
แต่แล้วกาลเวลาผ่านไป แนวคิดลัทธิสมณะก็อุบัติขึ้น คำว่า สมณะ มาจากคำว่า श्रमण อ่านเป็นภาษาสันสกฤตจะอ่านว่า ศฺรมณ (ศระมะณะ) ส่วนบาลีอ่านว่า สมณ (สะมะณะ) ซึ่งคำนี้ถูกยืมมาจากโศลกหนึ่งในคัมภีร์อุปนิษัท ชื่อ พฤหทารณฺยก (พฤหะทารัณยะกะ) เขียนไว้ว่า
अत्र पितापिता भवति, मातामाता, लोका अलोकाः, देवा अदेवाः, वेदा अवेदाः ।
अत्र स्तेनोऽस्तेनो भवति, भ्रूणहाभ्रूणहा, चाण्डालोऽचण्डालः, पौल्कसोऽपौल्कसः, श्रमणोऽश्रमणः,; तापसोऽतापसः, अनन्वागतं पुण्येनानन्वागतं पापेन, तीर्णो हि तदा सर्वाञ्छोकान्हृदयस्य भवति ॥ २२ ॥
อะตระ ปิตาปิตา ภะวะติ, มาตามาตา, โลกา อะโลกาห์, เทวา อะเทวาห์, เวทา อะเวทาห์ ฯ อะตระ สเตโนสเตโน ภะวะติ, ภรูณะหาภรูณะหา, จาณฑาโลจัณฑาละห์, เปาลกะโสเปาลกะสะห์, ศระมะโณศระมะณะห์; ตาปะโสตาปะสะห์, อะนันวาคะตัม ปุณเยนานันวาคะตัม ปาเปนะ, ตีรโณ หิ ตะทา สรรวาญโฉกานหฤทะยัสยะ ภะวะติ ๚ ๒๒ ๚
แปลความหมายได้ว่า
"ในสภาวะนี้ บิดาย่อมไม่ใช่บิดา มารดาย่อมไม่ใช่มารดา โลกย่อมไม่ใช่โลก เทพเจ้าย่อมไม่ใช่เทพเจ้า พระเวทย่อมไม่ใช่พระเวท ในสภาวะนี้ ขโมยย่อมไม่ใช่ขโมย ผู้ฆ่าพระพราหมณ์ผู้สูงส่งย่อมไม่ใช่ฆาตกร จัณฑาลย่อมไม่ใช่จัณฑาล ปุลกัสย่อมไม่ใช่ปุลกัส ภิกษุย่อมไม่ใช่ภิกษุ ฤาษีย่อมไม่ใช่ฤาษี (รูปกายนี้) ไม่สัมผัสทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว เพราะเขาอยู่เหนือความทุกข์ทั้งหลายของจิต (ปัญญา) แล้ว"
- พฤหทารณฺยก อุปนิษทฺ (4.3.22)
.
.
โศลกนี้กล่าวถึงสภาวะของความรู้แจ้งอันสูงสุด (หรือสภาวะของการบรรลุโมกษะ) ซึ่งในสภาวะนี้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยมีตัวตนหรือความหมายในทางโลก เช่น ความสัมพันธ์ทางสังคม (พ่อ แม่) ศีลธรรม (ขโมย ฆาตกร) หรือแม้แต่แนวคิดเกี่ยวกับศาสนา (พระเวท เทพเจ้า) ย่อมถูกละทิ้งไปทั้งหมด สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถมีอิทธิพลต่อผู้ที่เข้าถึงสภาวะนี้ เพราะเขาอยู่เหนือความดีและความชั่ว รวมถึงทุกข์ต่าง ๆ ที่เกิดจากจิตและปัญญา
.
.
ซึ่งสันนิษฐานว่า พฤหทารัณยกะ อุปนิษัท อาจจุดประกายแนวคิดและค่านิยมลัทธิสมณะ ที่คู่ขนานไปกับค่านิยมแบบพรามหณ์ ซึ่งเราจะเห็นแนวคิดสมณะ จากทั้งสองศาสนาที่ยังสืบอยู่มาถึงปัจจุบัน นั้นคือ ศาสนาพุทธ และ ศาสนาเชน ที่ออกมาเสนอแนวคิดการพ้นจากสังสารวัฏที่แตกต่างจากธรรมเนียมปฏิบัติเดิมของพราหมณ์-ฮินดู และยังบัญญัติศัพท์ที่แตกต่างในการเรียกสภาวะหลุดพ้น อย่างเช่น ศาสนาพุทธที่ใช้คำว่า “นิพพาน”
.
.
อย่างไรก็ตามเมื่อกาลเวลาผ่านมาหลังสมัยพุทธกาล ที่ ณ ขณะนั้นอินเดียถูกรุกรานจากอาณาจักรของชาวมุสลิม แนวคิดของ สํสาร ก็ถูกต่อยอดจึงมีศาสนาใหม่เกิดขึ้นมา คือ ศาสนาซิกข์ ที่ผสมผสานระหว่างแนวคิดแบบปรัชญาอินเดีย และปรัชญาของกลุ่มศาสนาของอัมบราฮัมเข้าด้วยกัน ทั้งอัตลักษณ์และวิถีชีวิตที่ดูคล้ายอิสลาม แต่ก็เชื่อในวงจรชีวิตเวียนว่ายตายเกิด สังสารวัฏ แบบชาวฮินดู ซึ่ง คุรุ นานัก บอกว่าเป้าหมายสูงสุดของชาวซิกข์ คือ ชีวันมุกตะ การหลุดพ้นจากสังสารวัฏโดยสมบูรณ์
.
.
ดังนั้น การที่ผู้เขียนได้มาศึกษาคำสอนในกลุ่มปรัชญาอินเดีย ทำให้นึกถึง สำนวนโบราณว่า “จงมองที่พระจันทร์ อย่ามองนิ้วที่ชี้พระจันทร์” พระจันทร์เปรียบเสมือนจุดหมายที่เราต้องการไป คือ การหลุดพ้นจากสังสารวัฏ ส่วนนิ้วเปรียบเสมือคำสอน ของสัพพัญญู เช่น ศังการาจารย์ ไจตันยะ พระพุทธเจ้า พระมหาวีระ หรือ คุรุนานัก ที่ล้วนต้องการดับทุกข์ แต่อาจแตกต่างวิธีปฏิบัติเพื่อมุ่งหลุดพ้น เหมือนกับลักษณะและขนาดของนิ้วที่ชี้พระจันทร์
















