ความเหมือนที่แตกต่าง!'ตูปะซูตง-อิกาเมชิ'!
ไม่น่าเชื่อว่าเมนูอาหารไทยและอาหารญี่ปุ่นจะมีอยู่เมนูหนึ่งที่คล้ายกันเป็นอย่างมาก และทั้ง 2 เมนูเป็นปลาหมึกยัดไส้ข้าวเหมือนกัน นั่นก็คือ 'ตูปะซูตง' กับ 'อิกาเมชิ'
ตูปะซูตง (อาหารไทยภาคใต้-มาเลเซีย)
อิกาเมชิ (อาหารญี่ปุ่นในภูมิภาคฮอกไกโด)
....
ตูปะซูตง เป็นอาหารกึ่งคาวกึ่งหวานของชาวไทยมุสลิม ทำจากปลาหมึกยัดไส้ข้าวเหนียว นิยมรับประทานในแถบจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยวัตถุดิบในการทำได้แก่ ปลาหมึกสด ข้าวเหนียว กะทิ น้ำตาลทราย และเกลือ นิยมทานหลังอาหารมื้อกลางวันหรือทานเป็นอาหารว่าง สามารถใช้ทานแทนอาหารมื้อใดมื้อหนึ่งก็ได้
ตูปะซูตงเป็นภาษามลายู คำว่า ตูปะ หมายถึง ข้าวเหนียวต้มนึ่ง และ ซูตง หมายถึง ปลาหมึก
ในรัฐกลันตันตันและตรังกานูในมาเลเซีย จะเรียก ตูปะซูตง ว่า เกอตูปัตโซตง (ketupat sotong)
อิกาเมชิ (イカ飯) เป็นอาหารญี่ปุ่นซึ่งเป็นอาหารท้องถิ่นในแถบคาบสมุทรโอชิมะทางตะวันตกเฉียงใต้ของฮอกไกโด มีลักษณะเป็นปลาหมึกยัดไส้ข้าวคล้ายกับไส้กรอก วิธีการปรุงเริ่มจากเอาหนวดและเครื่องในของหมึกออกจนเหลือแต่ตัว จากนั้นจึงนำข้าวเจ้าและข้าวเหนียวที่ผสมกันที่ซาวแล้วใส่เข้าไปและนำไปต้มในน้ำซุปดาชิ โดยตัวไส้อาจจะใส่ส่วนผสมอื่นๆอีก เช่น หนวดหมึกสับ หน่อไม้ แครอท อาบุราอาเงะ เป็นต้น
เมนูนี้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2484 เกิดภาวะอาหารขาดแคลนโดยเฉพาะข้าว ร้านอาเบโชเต็งซึ่งจำหน่ายข้าวกล่องที่สถานีรถไฟโมริ จังหวัดฮอกไกโดได้ใช้หมึกที่มีเป็นจำนวนมากมาประกอบอาหาร
หลังสิ้นสุดสงคราม พ.ศ. 2509 ห้างสรรพสินค้าเคโอในกรุงโตเกียวได้จัดงานเทศกาลข้าวกล่องรถไฟประจำปีเป็นครั้งแรก ร้านอาเบโชเต็งได้นำอิกาเมชิมาวางขายจนในปีถัดมา'อิกาเมชิได้รับความนิยมอย่างมาก ในที่สุดเมนูนี้ก็กลายเป็นอาหารขึ้นชื่อของเมืองโมริ ในกิ่งจังหวัดโอชิมะ และของภูมิภาคฮอกไกโดในที่สุด