รู้ไหม?คนชอบวีนชอบเหวี่ยงอาจป่วยเป็นโรค'บุคลิกภาพแปรปรวน'!
คุณอาจจะเจอคนที่ชอบวีนชอบเหวี่ยงในกลุ่มเพื่อนของคุณ สังคมรอบข้าง ที่ทำงาน หรือแม้แต่ในครอบครัวของคุณ คุณรู้หรือไม่ว่าคนที่มีลักษณะเช่นนั้นอาจป่วยเป็นโรค 'บุคลิกภาพแปรปรวน' หรือ Personality disorder ซึ่งคำว่า'บุคลิกภาพ'ในที่นี้หมายถึง ลักษณะนิสัยมากกว่าท่าทางการแสดงออก ซึ่งนิสัยของคนบางคนจะค่อนข้างยึดติด ไม่มีความยืดหยุ่น ตอบสนองต่อความเครียดในรูปแบบเดิมๆ ส่งผลให้คนคนนั้นปรับตัวต่อสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคยได้ยาก จนเกิดปัญหาต่อตัวเองหรือผู้อื่น
อาการของโรคบุคลิกภาพแปรปรวน
ผู้ที่มีอาการของโรคบุคลิกภาพแปรปรวนจะไม่สามารถจัดการหรือควบคุมความคิด อารมณ์ หรือสติ ของตนเองให้อยู่ในระดับปกติได้เมื่อมีสิ่งที่กระทบต่อชีวิต อารมณ์และจิตใจ ซึ่งจะส่งผลต่อการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทำให้เกิดปัญหาทั้งต่อตนเองและผู้อื่น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่
1.กลุ่ม'อินดี้'
กลุ่มนี้จะไม่ค่อยส่งผลกระทบต่อผู้อื่นเท่าใดนักแต่จะเป็นคนที่ค่อนข้างแปลก มีวิธีคิดที่แตกต่างจากคนทั่วไป ขี้ระแวง ชอบคิดว่าคนอื่นจะมองตัวเองอย่างไร หรือมีความกังวล บางคนอาจเชื่อในไสยศาสตร์ และยึดติด และจะไม่รับฟังคำอธิบายจากคนอื่นที่ขัดกับความคิดของตนเอง แม้คนกลุ่มนี้จะไม่รบกวนผู้อื่นนักแต่หากต้องร่วมงานกันด้วยความคิดที่แปลกจากคนอื่นอาจทำให้ร่วมงานกับผู้อื่นยาก
2. กลุ่ม'หัวร้อน'
คนกลุ่มนี้มีการใช้อารมณ์ที่รุนแรงหรือที่อาจเรียกได้ว่า 'เป็นคนขี้วีน-ขี้เหวี่ยง' แสดงออกทางอารมณ์มากและส่งผลกระทบต่อผู้อื่น เพราะมักใช้การด่าทอด้วยถ้อยคำรุนแรง ทำให้ผู้อื่นรู้สึกแย่ เช่น เสียใจ หดหู่ หรือสูญเสียความมั่นใจ
3. กลุ่ม'ขี้กังวล'
คนกลุ่มนี้มักอยู่ในภาวะวิตกกังวล มีอาการย้ำคิดย้ำทำและไม่กล้าเข้าหาคนอื่น คอยคิดว่าทำแบบนี้จะดีหรือไม่ จะถูกมองว่าไม่ดีหรือไม่ วิตกกังวลมากเกินกว่าที่ควรจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของตนเอง แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น
การรักษา
เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากการสั่งสมมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นนิสัยและบุคลิกภาพของบุคคลนั้น ทำให้การรักษาต้องใช้เวลานานเพราะอาจต้องปรับเปลี่ยนนิสัยของผู้มีอาการนี้ไปเลย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่เกิดจากตัวบุคคล ได้แก่ ยีนส์ สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ในบางครั้งอาจใช้ยาเพื่อควบคุมอารมณ์ไม่ให้เกรี้ยวกราดเกินไป อีกทั้งหากเกิดร่วมกันกับโรคหลงตัวเองคนกลุ่มนี้จะสูญเสียความมั่นใจไปเลยเมื่อถูกตำหนิ และอาจมีอารมณ์หดหู่มากกว่าคนปกติ การใช้ยาก็จะช่วยรักษาสมดุลของภาวะอารมณ์ให้ดีขึ้น
สำหรับผู้ปกครองที่มีบุตรและต้องการป้องกันบุตรหลานมีให้มีอาการของโรคดังกล่าว ต้องเข้าใจว่าการเลี้ยงดูสำคัญมาก ควรเลี้ยงเด็กให้เติบโตมามีคุณภาพ ใกล้ชิดและมีปฏิสัมพันธ์ด้านบวก คอยทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อที่เด็กจะได้ไม่ขาดความอบอุ่น พยายามมองข้อดีของลูกบ้างและอย่าทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองยังไม่ดีพอ