อ็อกซ์ฟอร์ดประกาศให้'สมองเน่า'เป็นคำศัพท์แห่งปี2024!
ก่อนจะสิ้นปี 2024 มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้ประกาศคำศัพท์แห่งปีที่มาจากการโหวตของสาธารณชน นั่นก็คือ "brain rot" ที่มีความหมายว่า "สมองเน่า" นั่นเอง
"brain rot" เป็นคำสแลงที่ในพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดได้นิยามว่า "การเสื่อมสภาพของสภาวะทางจิตใจหรือทางสติปัญญาของบุคคล ซึ่งมักจะเกิดจากการบริโภคเนื้อหาที่ไม่มีคุณค่า ไม่ท้าทาย โดยเฉพาะจากเนื้อหาบนโลกออนไลน์" เป็นคำที่วัยรุ่นบนโลกออนไลน์โดยเฉพาะ Gen Z และ Gen Alpha นิยมใช้ คำว่า brain rot ได้รับการโหวตจากผู้คนมากที่สุดในบรรดา37,000 คน
หน้าเว็บไซต์บัญญัติศัพท์ของออกซ์ฟอร์ดยังระบุอีกว่า พบการใช้คำนี้ครั้งแรกในปี 1854 จากหนังสือ Walden; or, Life in the Woods เขียนโดยเฮนรี เดวิด โธโร โดยพบว่าในช่วงปี 2023-2024 ความถี่ในการใช้คำนี้เพิ่มขึ้นถึง 230% ซึ่งคำนี้มักถูกใช้เกี่ยวกับผลกระทบจากการเสพสื่อเนื้อหาคุณภาพต่ำของผู้คย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
ปัจจุบัน เริ่มมีความสนใจและการพูดคุยกันถึงผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นจากการบริโภคเนื้อหาดังกล่าวมากเกินไปจนส่งต่อสุขภาพจิตโดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน เมื่อต้นปีนี้ศูนย์สุขภาพจิตแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่คำแนะนำทางออนไลน์เกี่ยวกับวิธีการสังเกตและหลีกเลี่ยงภาวะ "สมองเน่า"
สำหรับวิธีป้องกันภาวะ"สมองเน่า"และสุขภาพจิตเสื่อมจากการเสพสื่อคุณภาพต่ำผ่านหน้าจอมือถือเป็นเวลานานนั้น ได้มีผู้ให้คำแนะนำไว้ดังนี้
1. ลดเวลาที่อยู่หน้าจอลง
โดยอาจใช้วิธี 20-20-20 คือดูหน้าจอมือถือ 20 นาที พัก 20 นาที แล้วมองดูสิ่งที่ไกลจากสายตาคุณประมาณ 20 ฟุต จะช่วยผ่อนคลายสายตาและสุขภาพจิต
2. รักษาหน้าฟีดให้มีคุณภาพ
เลือกบุคคลหรือช่องทางที่จะติดตามที่มีลักษณะเชิงบวก มีข้อมูลน่าเชื่อถือ มีคุณค่าและประเทืองปัญญา กรณีที่คุณอึดอัดที่จะติดตามเพื่อนคนหนึ่งแต่ก็ไม่อยาก unfriend หรือ unfollow ให้อีกฝ่ายเสียความรู้สึก การ mute ก็เป็นทางเลือกที่ดี
3. ทำกิจกรรมที่กระตุ้นจิตใจ
ทำกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาสมอง เช่น การอ่าน การเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ซูโดกุ หรือปริศนาอักษรไขว้ ที่จะช่วยฝึกการแก้ปัญหาและการใช้เหตุผล
4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ตั้งเป้าออกกำลังกาย 20-30 นาทีต่อวัน เช่น การเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน หรือว่ายน้ำ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังสมอง หรือทำกิจวัตรประจำวันผสมผสานกับการออกกำลังกายประเภทต่างๆ เช่น โยคะ หรือกีฬาประเภททีม
5. รับประทานอาหารให้สมดุล
ทาน ผลไม้ ผัก ธัญพืชไม่ขัดสี และโปรตีนไม่ติดมัน อาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ไขมันดี และวิตามินเพื่อเสริมสร้างสุขภาพสมอง และอย่าลืมดื่มน้ำอย่างเพียงพอ
6. สร้างกิจวัตรประจำวันอย่างเป็นระบบ
วางแผนกิจวัตรประจำวันให้การทำงาน การพักผ่อน และงานอดิเรกมีความสมดุล จะช่วยให้คุณจัดลำดับความสำคัญของงานและจัดสรรเวลาสำหรับการกระตุ้นจิตใจ ทำให้รู้สึกว่ามีสิ่งที่เรารอคอยอยู่ ทั้งนี้กำหนดเป้าหมายในระยะสั้นและระยะยาวจะช่วยให้มีแรงบันดาลใจและช่วยส่งเสริมจิตใจ
7. ฝึกสติและทำสมาธิ
ใช้เวลาสักสองสามนาทีในแต่ละวันเพื่อตั้งสมาธิกับลมหายใจ การหายใจเข้าลึกๆ อย่างมีสติสามารถทำให้จิตใจสงบและลดความเครียดได้ การพยายามฝึกสมาธิเป็นประจำ(โดยไม่จำเป็นต้องทำเป็นเวลานานก็ได้)จะช่วยเพิ่มความแน่วแน่และความสงบของจิตใจ เพิ่มสมาธิ และลดความวิตกกังวล
8. ฝึกการบริโภคสื่ออย่างมีสติ
กำหนดขอบเขตว่าใน 1 วันจะใช้เวลาบนโซเชียลมีเดียมากเพียงใดและปฏิบัติตามที่กำหนดไว้จะช่วยป้องกันการบริโภคสื่อมากเกินไปและอาการเฉื่อยชาได้ หรืออาจจะหยุดใช้โซเชียลสักพักเพื่อสุขภาพจิต
9. พักผ่อนด้วยสติเพื่อลดความเหนื่อยล้าทางใจ
วิถีชีวิตออนไลน์จะต้องสมดุลกับชีวิตการทำงาน ชีวิตทางสังคม และความสัมพันธ์ ดังนั้นการหาเวลาพักผ่อนอย่างมีสติในแต่ละวันจึงเป็นสิ่งสำคัญ เช่น การเดินเล่น ฝึกสมาธิ หรือเพียงแค่ใช้เวลาสักครู่เพื่อนึกถึงสิ่งดีๆที่เรารู้สึกขอบคุณ
10. ขอความช่วยเหลือหากต้องการ
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตสามารถช่วยจัดการกับปัญหาทั่วไปที่อาจทำให้สมองเสื่อมได้ และเสนอแนวทางในการปรับปรุงแก่เรา