ห้างนาเจ้า
อาคารทรงแปดเหลี่ยม ที่เรียกขานกันติดปากมาตลอดคือ " ห้างเจ้า " สาเหตุที่เรียกว่าห้างเจ้าก็เพราะว่า อาคารหลังนี้ถูกกำหนดสร้างขึ้น โดยเจ้าผู้ครองนครหริภุญชัย ( องค์สุดท้าย) คือ เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ โดยริเริ่มก่อสร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2472 โดยทีสล่าแก้ว คนบ้านท่านางลำพูน เป็นสล่าเก่าดังนั้นอาคารหลังนี้จึงมีอายุประมาณ 72 ปี อาคารแปดเหลี่ยมที่เรียกกันว่า ห้างเจ้า ตั้งอยู่บนเนื้อที่ทั้งหมดกินอาณาบริเวณเกือบ 500 ไร่
โดย มีอาณาบริเวณทิศเหนือติดกับเขตบ้านหนองสี่แจ่ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ทิศใต้ติดกับถนนสายป่าเห็ว-ริมปิง ทิศตะวันตกติดเขตตำบลหนองช้างคืน มีพนังกลางเป็นเขตแนว ทิศตะวันออกติดเขตหลังวัดกอม่วง มีลำน้ำเหมืองลึกเป็นแนวกั้น โดยสร้างสะพานข้ามลำน้ำที่เรียกว่า " ขัวมุง " ( หลังคามุงด้วยสังกะสี ) ด้านหลังห้างเจ้าเป็นทุ่งนาสุดลูกตา มีหนองน้ำอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร ( ผักตบชวา ) และปลานานาชนิด โดยเฉพาะปลากระดี่ โดยเรียกกันว่า " หนองเจ้า " อยู่มุมตอนบน
ทิศตะวันตกเฉียงเหนือจรดเขตติดต่อกับบ้านหัว ฝาย ตำบลหนองช้างคืน มีลำน้ำเหมืองลึกเป็นสายน้ำหล่อเลี้ยง ดังนั้นในฤดูน้ำหลากปลาจะออกมาจากหนองเจ้าลงมาสู่เหมืองลึกเป็นฝูงใหญ่ ชาวบ้านได้จับปลาเป็นอาหารมาตลอดชั่วอายุคน ฟากด้านเหนือขึ้นไป จะมีหนองน้ำใหญ่ที่เรียกกันว่า " หนองหลวง " ที่มีความกว้างและลึกมากสมชื่อหนองหลวง มีพืชพันธ์ธัญญาหารและปลานานาชนิดอุดมสมบูรณ์มาก โดยมีลำน้ำเหมืองที่เรียกกันว่า " เหมืองเก้าศอก " เป็นสายน้ำหล่อเลี้ยง อาณาบริเวณที่กว้างใหญ่ไพศาลของห้างเจ้าตอนนั้นปลูกต้นไม้จามจุรี ( ต้นฉำฉา ) และต้นตาลแสดงเป็นอาณาเขต ทราบว่าจ้างคนปลูกต้นละ 1 สตางค์ บนพนังกั้นน้ำเหมืองเก้าศอกจรดบ้านหนองสี่แจ่ง ด้านตะตกปลูกบนสันเหมืองน้ำท่อลานเป็นแนวยาวตลอดจรดแนวบ้านหัวฝาย มีพนังกลางเป็นแนวกั้นน้ำ ส่วนบริเวณคุ้มเจ้ามีอาคารทรงแปดเหลี่ยมและอาคารหลังเล็กอีก 2 หลัง และมียุ้งข้าว ( หลองข้าว ) ใต้ถุนสูงอีก 1 หลังใหญ่ เป็นที่เก็บข้าวเวลาเจ้าหลวงออกมาผ่าข้าว ( แบ่งข้าว ) อยู่ในบริเวณเดียวกันและมีคูน้ำล้อมรอบมีต้นไม้ผล เช่น ชมพู่ ( จุมปูแดง ) สมัยนี้เรียกว่า ชมพู่มะเหมี่ยว ต้นมะม่วง ต้นงั้วหลวง