Cyberbullying การกลั่นแกล้งออนไลน์ วิธีรับมือบนไซเบอร์
Cyberbullying คือ การกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ การระรานบนโลกอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์หรือพิมพ์ด่าว่ากล่าว แต่งเรื่องราวหลอกลวงให้ผู้อื่นเสียหาย หรือการตัดต่อภาพหรือคลิป VDO ที่ส่อถึงการเจตนาล้อเลียน การสวมรอยเป็นผู้อื่นบนโลกออนไลน์
สาเหตุของ Cyberbullying
ส่วนมากเกิดขึ้นจากความเกลียดชังและจงใจที่จะล้อเลียน เพื่อทำให้เป้าหมายเกิดความอับอายบนโลกไซเบอร์ มีทั้งทำครั้งเดียวเพื่อความสะใจแล้วหายไป และการจงใจตามคุกคามเป็นยะระเวลานาน ๆ แบบล็อกเป้าหมายจนกว่าจะพอใจ ซึ่งการคุกคามนี้มีหลายรูปแบบ
แบบสำรวจเกี่ยวกับสถานการณ์การก่อกวนออนไลน์ที่จัดทำโดยสำนักวิจัยพิว (Pew Research Center) ของประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 โดยการเก็บข้อมูลจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวอเมริกัน 4,248 คน พบว่า 41% ของผู้ทำแบบสำรวจเคยประสบกับการล่วงละเมิดทางออนไลน์บางรูปแบบอย่างการเรียกชื่อที่ไม่เหมาะสม (Name-calling) การทำให้อับอายโดยเจตนา รวมไปถึงการกลั่นแกล้งที่รุนแรงอย่างการขู่ทำร้ายร่างกาย การล่วงละเมิดทางเพศ และการสะกดรอยตาม (Stalk)
ผู้ชายจะถูกเรียกด้วยชื่อที่ไม่เหมาะสม (หญิง 26% ชาย 35%) และถูกขู่ทำร้ายร่างกาย (หญิง 11% ชาย 15%) มากกว่า ในขณะที่ผู้หญิงจะถูกคุกคามทางเพศ (หญิง 16% ชาย 5%) หรือถูกสะกดรอยตามออนไลน์ (หญิง 13% ชาย 9%) มากกว่า
ผลกระทบที่เกิดจากCyberbullying
- ผลกระทบต่อสุขภาพกาย อย่างเช่น ปวดศีรษะบ่อย คลื่นไส้ ปวดท้อง
- ผลกระทบต่อจิตใจ อย่างเช่น เครียด วิตกกังวล รู้สึกโดดเดี่ยว หมดความสนใจในสิ่งที่เคยชอบ ซึมเศร้า
- กระทบต่อการเรียนของผู้ถูกกลั่นแกล้งที่อยู่ในวัยเรียน หากต้องเผชิญหน้ากับผู้ที่กลั่นแกล้งตัวเองที่โรงเรียน ทำให้ไม่มีพื้นที่ปลอดภัยแม้กระทั่งในโลกความเป็นจริง อีกทั้งผู้ถูกกลั่นแกล้ง อาจมีปัญหาทางอารมณ์ สมาธิ และพฤติกรรม ตลอดจนปัญหาในการอยู่ร่วมกับเพื่อนในวัยเดียวกัน เด็กอาจไปใช้วิธีแก้ไขปัญหาในเชิงลบ อย่างเช่น การใช้ยาเสพติดเพื่อรับมือกับความเครียด ในกรณีที่รุนแรง เด็กและวัยรุ่นที่ถูกกลั่นแกล้งอาจหันไปทำร้ายตัวเอง หรือมีความคิดฆ่าตัวตาย
การคุมคามของ Cyberbullying มีอะไรบ้าง
- การก่อกวน ข่มขู่คุกคาม มาในรูปแบบการส่งข้อความก่อกวนคุกคาม ทั้งส่งไปในกล่องข้อความ โพสต์ลงบนโซเชียลของเหยื่อ รวมทั้งบนโซเชียลของตนเองได้ด้วย
- การให้ร้ายใส่ความการแกล้งแหย่ เป็นการสร้างเรื่องหลอกล่วง หรือใส่ความเหยื่อไปในทางเสื่อมเสีย จงใจทำให้เหยื่ออับอาย
- การเผยแพร่ความลับ การแบล็กเมล์ด้วยการนำความลับของเหยื่อมาเปิดเผยเพื่อสร้างความเสียหาย อับอายให้กับเหยื่อ
- การแอบอ้างชื่อ การสร้างบัญชีปลอม ไม่ว่าจะเจาะใจแฮ็กข้อมูลของเหยื่อเพื่อสร้างเรื่องหลอกลวง หรือปลอมแปลงตัวตนขึ้นมา เพื่อสร้างความเสียหายที่หนักกว่าเดิม
- การขโมยอัตลักษณ์ คล้ายกับการแอบอ้างชื่อเอาอัตลักษณ์ไปสร้างตัวตนที่ทำให้คนอื่นหลงเชื่อ สร้างความเสื่อมเสียให้กับเหยื่อ
- การล่อลวงหรือหลอกลวง ทำให้เหยื่อหลงเชื่อ เพื่อหลอกเหยื่อไปทำเรื่องไม่ดี หรือนำข้อมูลไปเปิดโปง
วิธีการรับมือกับ Cyberbullying
- Stop หยุดการกระทำทุกอย่าง ในกรณีที่เป็นการทะเลาะเบาะแว้งกันในขั้นเริ่มต้น ขอให้เหยื่อหยุดในการตอบโต้หรือระรานกลับ เพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องบานปลาย และไปปรับความเข้าใจกันภายหลัง
- Block ปิดกั้น ไม่ให้พวกเขาเข้าถึงข้อมูลของเรา ไม่ว่าจะจากทางโซเชียล หรือการเจอหน้าจริง ๆ
- Tell บอกบุคคลที่ไว้ใจได้ หากเป็นเด็ก ๆ ควรปรึกษาพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือเพื่อนที่ไว้ใจได้ เพื่อขอความช่วยเหลือ หากเป็นเรื่องเริ่มบานปลายร้ายแรงยิ่งต้องบอก ดีกว่าจัดการคนเดียว ไม่ควรแยกตัวเองออกจากคนรอบข้างและรับมือกับปัญหาเพียงคนเดียว แต่ควรหันไปขอรับการสนับสนุนจากคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อน คนรัก ผู้ให้บริการทางสุขภาพจิต
- Remove ลบภาพที่เป็นการระรานออกทันที ด้วยการติดต่อเจ้าหน้าที่ที่เป็นเจ้าของพื้นที่นั้น อย่างเช่น การกดปุ่มรายงานเนื้อหาบน Facebook Twitter และ IG นั้นเอง
- Be Strong เข้มแข็ง อดทน ไม่นำคำว่ากล่าวให้ร้ายของคนร้ายมาบั่นทอนกำลังใจตนเองเปลี่ยนตนเองจากเหยื่อที่ถูกกระทำมาทวงความยุติธรรมคืนให้ตนเอง ด้วยการแคปหลักฐานทั้งหมดเอาไว้แล้วนำไปแจ้งความดำเนินคดี
- ร่วมรณรงค์ เพื่อเพิ่มความตระหนักต่อปัญหานี้ และผลักดันให้หยุดการกลั่นแกล้งกันบนโลกอินเทอร์เน็ต อย่างเช่น รีพอร์ตข้อความ หน้าเพจ แอคเคาต์ ที่เป็นปัญหา และกระตุ้นให้ผู้ให้บริการแฟลตฟอร์มต่าง ๆ ดำเนินการกับผู้ใช้ที่ก่อปัญหาอย่างเด็ดขาด อาจช่วยให้เกิดพลังในการร่วมต่อต้านการกระทำในลักษณะนี้ได้อย่างเข้มแข็ง และช่วยทำให้ปัญหาการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ลดลง