ขงเขมา หรือ เครือหมาน้อย วุ้นจากธรรมชาติ
เครือหมาน้อย มีชื่ออื่น ๆ ว่า กรุงเขมา กรุงบาดาล ขงเขมา พระพาย หมอน้อย หมาน้อย ก้นปิด และสีฟัน ประเทศไทยพบทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ในต่างประเทศพบที่บังกลาเทศ จีน และมาเลเซีย เครือหมาน้อยลักษณะโดยทั่วไปเป็นไม้เถาเลื้อยพัน เนื้อแข็ง ขนาดกลาง ใบเดี่ยว รูปหัวใจ รูปไต รูปกลม หรือรูปไข่ กว้าง 5.1-12.3 ซม. ยาว 4.2-11.5 ซม. มีขนปกคลุมทั่วไปทั้งบนใบและท้องของใบ ก้นใบปิด บางชนิดอาจไม่มีขน ใบขนาดเล็ก คล้ายต้นตำลึง ดอกตัวผู้และตัวเมียแยกจากกัน มีขนาดเล็ก เมล็ดโค้งงอเหมือนพระจันทร์ครึ่งซีกหรือรูปเกือกม้า
ในประเทศไทย มีรายงานการสำรวจพบ 3 ชนิด คือ Cissampelos pareira Cyclea barbata และ Cyclea polypetala จัดอยู่ในวงศ์บอระเพ็ด (Menispermaceae) โดยทั้งหมดชาวบ้านจะเรียกชื่อเดียวกันคือเครือหมาน้อย เนื่องจากมีลักษณะและสรรพคุณที่คล้ายกัน อีกทั้งเป็นพืชที่ชาวบ้านรู้จักกันมานานแล้ว จึงมีการนำต้นพันธุ์จากท้องถิ่นหนึ่งไปปลูกยังอีกท้องถิ่นหนึ่ง จนเกิดเป็นชนิดพันธุ์ย่อยกระจายตัวในแต่ละท้องที่
ชาวบ้านในภาคอีสานนิยมนำมาประกอบอาหารทั้งคาวและหวาน หมาน้อยเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยา ราก มีรสหอมเย็น แก้ไข้ ดีซ่าน เป็นยาอายุวัฒนะ แก้ท้องร่วง บวมน้ำ แก้ไอ ขัดเบา จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย แก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ใบ ใช้ต้มน้าดื่ม แก้ร้อนใน ใช้ทาแก้โรคผิวหนัง แช่ในน้ำ หยอดตา แก้อาการเจ็บตา ข้อควรระวัง คือ สารสกัดแอลกอฮอล์จากใบมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญพันธุ์ (antifertility) และมีความเป็นพิษในหนูทดลองเพศเมีย ดังนั้นห้ามใช้สารสกัดจากใบในหญิงตั้งครรภ์ และระมัดระวังการใช้ส่วนอื่นของกรุงเขมาในหญิงตั้งครรภ์
เครือหมาน้อย มีลักษณะพิเศษคือสามารถนำใบมาทำเป็นวุ้นได้โดยไม่ต้องผสมสารที่ทำให้เกิดวุ้น คล้ายกับต้นเฉาก๊วย(พืชตระกูลสาระแหน่) แต่เฉาก๊วยที่เราทานต้องใช้เวลาเคี่ยวนานและต้องผสมแป้งมันเพื่อให้ขนมจับตัวเป็นก้อน ในขณะที่การทำวุ้นหมาน้อย เพียงแค่เริ่มจากการนำใบหมาน้อยสีเขียวเข้มมาคั้นผสมกับน้ำในปริมาณเล็กน้อย และนำมาใส่ภาชนะ ตั้งทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องประมาณ 10 – 15 นาที เพียงเท่านี้น้ำสีเขียวเข้มจากใบหมาน้อยนี้ จะจับตัวกันกลายเป็นวุ้น เรียกว่า วุ้นหมาน้อย ซึ่งเกิดจากในใบหมาน้อยนี้จะมีเพคตินเป็นส่วนประกอบในปริมาณสูง มีคุณสมบัติเพิ่มความหนึบ สามารถใช้ทดแทนไขมัน และช่วยเพิ่มความคงตัวสำหรับไอศกรีมนมไขมันต่ำได้ และเพคตินยังสามารถดูดซับคอเลสเตอรอล เมื่อรับประทานจะช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดได้
หากนำน้ำคั้นใบหมาน้อยมาผสมเครื่องเทศที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น อย่างข่าหั่นฝอย ต้นหอมซอย ตะไคร้หั่นฝอย พริกป่น เสริมรสชาติด้วยน้ำปลา เกลือ น้ำปลาร้าและโรยหน้าด้วยใบผักชีฝรั่งพอส่งกลิ่น คนให้เข้ากัน กลายเป็นอาหารพื้นบ้านจานเด็ดของชาวอีสาน ที่เรียกกันว่า ลาบหมาน้อย แต่หากนำวุ้นหมาน้อยมาผสมกับน้ำเชื่อมหรือน้ำหวาน กะทิ และน้ำแข็ง ก็จะได้ขนมหวานรสเลิศ ที่แสนอร่อยและดีกับสุขภาพ เป็นได้ทั้งอาหารกินเล่นที่มีประโยชน์ และเป็นขนมที่มีสรรพคุณทางยาบำรุง ยาแก้ร้อนใน รวมไปถึงแก้ปวดท้องด้วย
เครือหมาน้อย ได้รับการยอมรับให้เป็นเมนูอาหารป่าที่หายากอีกอย่างของชาวอิสาน ซึ่งนิยมรับประทานกันมากในชนเผ่าเขมร ส่วย และลาว ซึ่งบรรพบุรุษทำให้ลูกหลานทานแทนขนม เพราะในสมัยก่อนไม่มีร้านค้าจำหน่ายขนมเหมือนในปัจจุบัน โดยจะทำรับประทานในครอบครัว หากทำมากก็จะแบ่งปันให้กับญาติพี่น้อง ซึ่งเครือหมาน้อยจะหาได้จากในป่าสวนหลังบ้าน ปัจจุบันชาวบ้านบางท้องถิ่นได้นำเอาต้นเครือหมาน้อยมาปลูกไว้ในบริเวณบ้าน เพราะเป็นที่นิยมรับประทานกันมากขึ้นและสามารถเก็บขายเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง
สรรพคุณ
ตำรายาไทย ส่วนเหนือดิน เป็นยาแก้ร้อนใน แก้โรคตับ ราก มีกลิ่นหอม รสสุขุม ใช้แก้ไข้ แก้ดีรั่ว ดีล้น ดีซ่าน เป็นยาขับปัสสาวะ ยาถ่าย แก้ไข้มาลาเรีย ใช้เป็นยาเจริญอาหาร ยาอายุวัฒนะ ยาช่วยย่อย แก้ท้องร่วง บวมน้ำ แก้ไอ ขัดเบา กระเพาะปัสสาวะอักเสบ และใช้ในรายถูกงูกัด เป็นยาลดไข้ แก้ปวดท้อง โรคหนองใน ราก รสหอมเย็นสุขุม แก้ไข้ แก้ดีรั่ว ดีซ่าน เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงอวัยวะเพศให้แข็งแรง แก้ลม โลหิต กำเดา แก้โรคตา ขับปัสสาวะ แก้บวมน้ำ ใช้เคี้ยว แก้ปวดท้อง และโรคบิด ระบายนิ่ว แก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ไอเจ็บหน้าอก เป็นยาขับเหงื่อ ยาขับระดู ยาบำรุง ยาสงบประสาท ยาขับน้ำเหลืองเสีย ยาสมาน รากและใบ พอกเป็นยาเฉพาะที่ แก้โรคผิวหนัง หิด ลำต้น ดับพิษไข้ทุกชนิด บำรุงโลหิตสตรี เป็นยาพอกแก้ตาอักเสบ เนื้อไม้ แก้โรคปอด และโรคโลหิตจาง ใบ แก้ร้อนใน พอกแผล ฝี แก้แผลมะเร็ง แก้หืด ใช้ทาภายนอกแก้หิด
องค์ประกอบทางเคมี
ราก พบแอลคาลอยด์ปริมาณสูง เช่น hyatine, hyatinine, sepurine, beburine, cissampeline, pelosine นอกจากนี้ยังพบ quercitol, sterol แอลคาลอยด์ hyatine มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อและลดความดันโลหิต (ฤทธิ์เทียบเท่ากับ d-tubercurarine ที่ได้จากยางน่อง) cissampeline แสดงฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์ ใบมีสารพวกเพคติน เมื่อขยำใบกับน้ำ เมื่อทิ้งไว้จะแข็งตัวเป็นวุ้น
วุ้นใบหมาน้อย แตงโม และไซรัปน้ำตาลอ้อย
เมนูนี้ฉันลองนำวุ้นใบหมาน้อยมาจัดเป็นขนมหวานที่ดูหรูหราน่ารับประทาน แถมยังเติมแตงโมลงไปเพื่อช่วยเพิ่มสีสัน และเพิ่มสรรพคุณคลายร้อนให้คูณสองกันไปเลย
ส่วนผสม
วุ้นใบหมาน้อย ตามชอบ
เนื้อแตงโมอินทรีย์หั่นชิ้นสวยงามตามชอบ
ผงถั่วเขียวอินทรีย์เลาะเปลือก คั่วสุก ปั่นละเอียด ตามชอบ
ไซรัปที่เคี่ยวจากน้ำตาลอ้อยอินทรีย์ ตามชอบ
กลีบกุหลาบอินทรีย์ และใบเปเปอร์มินต์อินทรีย์ สำหรับตกแต่ง
วิธีจัดเสิร์ฟ
จัดวุ้นใบหมาน้อยลงในจาน โรยด้วยผงถั่วคั่วด้านบน ก่อนวางชิ้นแตงโมทับลงไป โรยไซรัปให้เป็นเส้นสวย ปริมาณตามชอบ ตกแต่งด้วยกลีบกุหลาบ และเปเปอร์มินต์ ควรจัดเสิร์ฟขณะที่วุ้นยังมีความเย็น และรับประทานทันที เพื่อความชื่นใจ
อ้างอิงจาก: https://skm.ssru.ac.th/news/view/wut091
อ้างอิงจาก: https://www.bedo.or.th/project/articledetail?id=3049
อ้างอิงจาก: https://www.greenery.org/วุ้นใบหมาน้อย-อร่อยเด้/