ข้อคิดจากหนังสือ ใจดีกับตัวเองบ้างก็ได้
ใจดีกับตัวเองบ้างก็ได้
หนังสือใจดีกับตัวเองบ้างก็ได้
เขียนโดย หมอจริง จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นที่ Qeen's Medical Center สหรัฐอเมริกา
สำนักพิมพ์ DOT
หมอจริงเขียนเล่มนี้เป็นของขวัญสำหรับคนที่อยากออกจากวังวนของการต่อว่าตัวเอง โทษตัวเองเวลาทำผิดพลาด ใจร้ายกับตัวเอง กลับมามองเห็นข้อดีของตัวเอง ให้โอกาสตัวเอง มองตัวเองด้วยความเมตตามากขึ้น (ใจดีกับตัวเอง) เพราะเราเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของตัวเอง
PART 1 ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์
• พูดถึงโซเชียลมีเดีย ที่มีข้อดีในการติดตามข่าวสารและติดต่อสื่อสาร แต่การเล่นโซเชียลมีเดียมากเกินไปอาจเกิดโรคซึมเศร้าตามมา เราจึงไม่ควรเปรียบเทียบชีวิตตัวเองกับโพสต์ของคนอื่นจนรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่า เพราะคนส่วนใหญ่เลือกโพสต์แต่ด้านดีๆในชีวิต อย่าลืมว่ายังมีอีกด้านที่เราไม่เห็น และหากอยากโพสต์อะไรนั้น ควรตั้งสติก่อนโพสต์ เพื่อที่โพสต์แล้วจะได้ไม่ต้องเสียใจภายหลัง เมื่อโพสต์แล้วไม่จำเป็นต้องยึดติดกับยอดไลก์ ยอดแชร์ เพราะคุณค่าของเราไม่ได้แปรผันตรงกับตัวเลขเหล่านั้น
การเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นทำให้เกิดความกดดัน พอกดดันตัวเองก็เกิดความเครียด เราไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบตัวเองกับใคร เรเชล ฮอลลิส เคยกล่าวไว้ว่า "การเปรียบเทียบนั้นเป็นเกมที่อันตราย มันนำไปสู่ความรู้สึกว่าเราดีกว่า หรือเราแย่กว่า ซึ่งทั้งสองอย่างนั้นไม่มีอะไรดีเลย"
ลดโซเชียลมีเดียลงสักพัก โซเชียลดีทอกซ์ จะได้ลดความท็อกซิกในชีวิตไปสักช่วงเวลาหนึ่ง
• คุณสมบัติแฟนที่ดี จากซีรี่ส์ Business Proposal คือ รักก็บอกว่ารัก โกรธก็บอกว่าโกรธ อยากขอโทษก็ให้บอก บางครั้งถ้าเราไม่สื่อสารกับคนรัก เขาก็จะไม่รู้ว่าเราคิดอะไรอยู่ เมื่อมีการเดาใจกันไปมา ก็อาจทำให้ผิดใจกันได้
ไม่ลังเลที่จะขอโทษเมื่อทำผิด การขอโทษที่มาจากใจจริงแสดงถึงความใส่ใจในความสัมพันธ์ เห็นความสำพันธ์สำคัญกว่าอีโก้ของตัวเอง
กล้าที่จะเปิดเผยตัวตน ไม่เร่งรัดในความสัมพันธ์ ทำให้พร้อมที่จะเรียนรู้ตัวตนของกันและกันทีละน้อย และแต่ละคนก็จะเปิดเผยตัวตนในเวลาที่เหมาะสม
การไม่ถือตัว จะทำให้คนที่อยู่ด้วยกันไม่รู้สึกอึดอัด แม้ว่าฐานะต่างกัน
เหล่านี้เป็นข้อดีที่ทำให้เราเป็นแฟนที่น่ารัก
"ความสัมพันธ์ที่แท้จริงคือการที่คนสองคนที่ไม่สมบูรณ์แบบไม่ยอมทิ้งกันและกัน"
คงไม่มีใครสมบูรณ์แบบไปเสียทั้งหมด ทุกคนมีข้อดี ข้อเสียของตัวเอง แต่หากเรายอมรับเวลาตัวเองทำผิด แสดงความขอโทษอย่างจริงใจ นั่นก็คือเป็นการใจดีกับตัวเองที่ผิดพลาดและให้ความเคารพคนที่คบอยู่ด้วย จะทำให้ความสัมพันธ์นั้นดีต่อใจกับทั้งคู่ และมีแนวโน้มในรักที่มั่นคงและยืนยาว
• ทำไมการตั้งเป้าหมาย แล้วเป้าหมายบางอันไปไม่ถึง สาเหตุมีหลายอย่าง ดังนี้
สาเหตุเพราะตั้งเป้าหมายใหญ่เกินในช่วงเวลาที่จำกัด การตั้งเป้าหมายใหญ่ไม่ใช่เรื่องไม่ดี แต่การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้จริงนั้นอาจใช้เวลา ดังนั้นการแบ่งย่อยเป้าหมายใหญ่ให้เป็นเป้าหมายเล็กลง และใส่ช่วงเวลาที่เราอยากทำให้สำเร็จนั้นอาจจะช่วยได้
สาเหตุเพราะการโฟกัสกับความสมบูรณ์แบบมากเกินไป ฉะนั้นไม่ควรยึดติดกับความสมบูรณ์แบบมากเกินไป ไม่จำเป็นต้องทำได้ตามเป้าทุกวัน แค่ภาพรวมทำได้มากขึ้นกว่าเดิมก็เพียงพอ
สาเหตุเพราะการโฟกัสที่"เป้าหมาย"แทนที่การโฟกัสที่"กระบวนการ" จากหนังสือ Atomic Habits ได้กล่าวไว้ว่า การโฟกัสที่ "เป้าหมาย" จะทำให้มีผลลัพธ์อยู่สองอย่างเท่านั้นคือ เมื่อถึงเป้าหมายจะรู้สึกสำเร็จ แต่ทำตามเป้าหมายไม่ได้จะรู้สึกล้มเหลว
ในชีวิตเรามีบางวันที่เราทำตามเป้าหมายไม่ได้ เราจะรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลวหากโฟกัสแค่เป้าหมาย
แต่ถ้าเราโฟกัสที่"กระบวนการ" คือการเฝ้าดูการเติบโตของตัวเองระหว่างทาง จะทำให้เรามีกำลังใจในการเปลี่ยนแปลงต่อไป
เฮนรี่ เดวิด ธอโร เคยกล่าวไว้ว่า "สิ่งที่คุณได้จากการทำเป้าหมายให้สำเร็จ ไม่สำคัญเท่าคนที่คุณเป็นจากการบรรลุเป้าหมายนั้น"
และทุกคนมีเวอร์ชั่นความสำเร็จเป็นของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเป็นไปในทางเดียวกัน
• สุภาษิตไอริช กล่าวว่า "การหัวเราะอย่างสดใสและการหลับนอนนานเป็นสองวิธีรักษาที่ดีที่สุดสำหรับทุกสิ่ง" ฉะนั้นตั้งเป้าหมายว่าจะเข้านอนให้เป็นเวลา นอนดึกทุกวันจะเป็นการทำลายสุขภาพและมีผลหลายอย่างตามมา แต่ถ้ายังทำตามเป้าหมายไม่ได้ทุกวัน ให้โอกาสตัวเอง แทนการดุด่าหรือต่อว่าตัวเอง ในวันที่เจอความเครียดมาตลอดทั้งวันแล้ว คงจะไม่มีใครอยากจะมาโดนดุด่าอีก แม้เราจะทำอย่างตั้งใจได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ก็ไม่เป็นไร ใจดีกับตัวเองเสมือนตัวเองคือเพื่อนคนหนึ่ง
• ลีโอ ตอลสตอย กล่าวว่า "เวลาคุณรักใคร คุณรักบุคคลนั้นที่เขาเป็น ไม่ใช่รักในสิ่งที่คุณอยากให้เขาเป็น"
การวิจัยของดร.จอห์น ก็อตต์แมน นักจิตวิทยา พบว่ามีพฤติกรรม 4 อย่าง ที่หากยังไม่ได้รับการแก้ไข อาจจบลงด้วยการเลิกราหรือหย่าร้างได้ คือ
1) การพูดจาถากถางหรือวิจารณ์"ตัวตน" แทนที่จะพูดถึง"เหตุการณ์" หรือ"พฤติกรรม"นั้น จะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่ได้ ควรใจเย็นลงแล้วพูดถึงสถานการณ์มากกว่าการโจมตีที่ตัวตน จะทำให้อีกฝ่ายไม่รู้สึกถูกต่อว่า
2) การดูถูก สามารถสื่อสารออกมาด้วยคำพูด มองด้วยหางตา และอื่นๆ การดูถูกเป็นพฤติกรรมที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่ากว่าผู้พูด มีโอกาสทำให้คนฟังรู้สึกแค้นฝังใจ จึงควรปรับการสื่อสาร ปรับคำพูดให้อ่อนโยนลงมากขึ้น หากรู้ตัวว่าจะพูดไม่ดี ให้บอกอีกฝ่ายว่าเรากำลังโกรธมากอยู่ และถ้ายังคุยต่อต้องพ่นคำพูดที่เป็นพิษแน่ๆ ให้ห่างกันออกมาก่อน เพื่อรอให้ใจเย็น
3) การแก้ต่าง บางครั้งคำพูดของคนรักอาจทำให้รู้สึกถูกต่อว่า บางคนใช้การแก้ต่างหรือแก้ตัวเพื่อให้ตัวเองไม่รู้สึกผิด จึงอาจทำให้มีการตอบโต้กันไปมา ทางแก้คือยอมรับในสิ่งที่ตัวเองทำ (หรือไม่ได้ทำ) แล้วแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องนั้น การตอบแบบไม่แก้ต่างจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเรายอมรับในสิ่งที่ทำผิด ไม่รู้สึกว่าถูกโจมตี และช่วยให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น
4) ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไร้ตัวตน Stonewalling หรือการทำตัวเป็นกำแพง คือ ไม่ตอบอีกฝ่าย ไม่สนใจ เดินหนี ทำเหมือนอีกฝ่ายไม่มีตัวตน ทำเช่นนี้อาจทำให้คนรักรู้สึกว่าเราไม่สนใจเขา ไม่แคร์เขา ซึ่งอาจเป็นสัญญาณหนึ่งของการทำร้ายทางจิตใจได้
พักก่อน ใจเย็นลง แล้วหันหน้าเข้ามาคุยกันด้วยเหตุผลและความรัก
เมื่อรู้แล้วว่าคำพูดเหล่านี้ทำร้ายจิตใจคนรัก ให้เปลี่ยนคำพูดเหล่านี้เป็นคำที่แสดงความรัก ความเอาใจใส่กัน ใจดีกับคนรักดูบ้าง แนวคิดนี้ใช้ได้กับทุกความสัมพันธ์ทั้งครอบครัว และเพื่อนฝูง
• พ่อแม่เติบโตมาคนละยุคสมัยกับเรา ความคิด ทัศนคติ การมองโลกนั้นย่อมมีความต่างกันไม่มากก็น้อย
พ่อแม่บางคนโตมาด้วยคำพูดดูถูก ก็ใช้คำพูดดูถูกเพื่อหวังให้ลูกนำมาเป็นแรงผลักดัน แต่อาจมีพ่อแม่ที่ไม่เข้าใจว่าคนเรานั้นไม่เหมือนกัน คำพูดดูถูก ถากถาง อาจเป็นแรงผลักดันสำหรับเขา แต่อาจเป็นคำพูดทิ่มแทง เหมือนมีดที่กรีดลงไปกลางใจลูกได้
เด็กๆ ย่อมอยากได้ความรัก การดูแลเอาใจใส่จากผู้ใหญ่ แต่ผู้ใหญ่บางคนไม่ได้ถูกเลี้ยงดูมาด้วยความรัก เมื่อได้มาเป็นพ่อคน แม่คน จึงไม่สามารถแสดงความรักได้อย่างที่เขาตั้งใจ
พ่อแม่บางคน ไม่อาจเป็นพ่อแม่ที่เราอยากให้เขาเป็นได้ ซึ่งตัวเราในตอนโต สามารถเข้าใจและให้อภัยพ่อแม่ได้
เรามีหน้าที่ดูแลจิตใจของเรา ส่วนพ่อแม่ก็มีหน้าที่ดูแลจิตใจของเขา เราอาจต้องพึ่งพาอาศัยกัน แต่ไม่จำเป็นต้องคาดหวังซึ่งกันและกัน และไม่ว่าสุดท้ายแล้ว เราจะได้พูดกับพ่อแม่ถึงบาดแผลที่ท่านทำไว้หรือไม่ การเยียวยาก็สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการมองพ่อแม่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง และปล่อยความคาดหวังที่เราอยากให้เขาเป็นออกไป
-----
PART 2 มองลงไปในใจตัวเอง
• ขณะที่เราจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ้ามีเสียงแจ้งเตือนจากมือถือ จะทำให้สมองที่กำลังโฟกัสกับเรื่องนั้นถูกดึงความสนใจไปทางอื่น มันต้องใช้เวลาประมาณ 0.1 วินาที เพื่อจะกลับมารวบรวมโฟกัสกับสิ่งที่เพิ่งทำอยู่ได้ ถ้าการไม่ได้ติดต่อกับโลกภายนอกทำให้เราโฟกัสได้ดี ทำให้เรามีสมาธิทำในสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้เสร็จโดยไม่ถูกรบกวน ลองเปิด Airplan Mode บ้างก็ได้
โอปราห์ วินฟรีย์ เคยกล่าวไว้ว่า "เวลาที่ได้อยู่คนเดียว คือเวลาที่ฉันปลีกตัวออกมาจากเสียงบนโลกใบนี้ เพื่อให้ฉันได้ยินเสียงของตัวเอง"
• ลองฝึกเป็นคนมีความยืดหยุ่น ความยืดหยุ่นหมายถึงความสามารถที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่ยากลำบาก เรียนรู้จากประสบการณ์นั้นและฟื้นตัวกลับมาจากเหตุการณ์นั้น
เวลาเจอปัญหาชีวิต เรื่องเครียด ความผิดหวังหรือมีเรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจ ย่อมมีความเสียใจและมีอารมณ์ต่างๆเข้ามาเป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อเหตุการณ์นั้นผ่านไปแล้ว คนที่มีความยืดหยุ่นจะสามารถกลับไปเป็นคนเดิม ร่าเริง ทำงานได้ดีเหมือนเดิม การฝึกเป็นคนมีความยืดหยุ่นจะทำให้รับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ เพราะในชีวิตอาจมีเรื่องอื่นที่ทำให้ผิดหวังได้อีก
• การนั่งสมาธิ ฝึกสติ มีประโยชน์มาก จะทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น และทำให้การทำงานของสมองดีขึ้นด้วย การฝึกสติไม่จำเป็นต้องนั่งสมาธิเพียงอย่างเดียว การเจริญสติในรูปแบบต่างๆ เช่นเดินจงกรม ทำโยคะ ไท้เก๊ก ชี่กง ก็สามารถส่งผลดีต่อสมองได้เช่นกัน
• ไม่ต้องรอให้สำเร็จแล้วถึงพอใจในตัวเอง
คาเรน ซัลแมนสัน (นักเขียน) กล่าวไว้ว่า "อย่ารอให้ถึงเป้าหมายแล้วถึงรู้สึกภูมิใจในตัวเอง จงภูมิใจในทุกๆก้าวขณะที่กำลังเดินไปถึงเป้าหมายนั้น"
มนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เป็นคนเพอร์เฟ็กต์ เวลาตั้งเป้าหมายแล้วไปไม่ถึง หลายคนมักโทษตัวเอง แต่การไปไม่ถึงเป้าหมายนั้น ไม่ได้แปลว่าเราผิดเสมอไป
มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราควบคุมไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นความคิดของคนอื่น สังคม สภาพแวดล้อม ฯลฯ การ(ยัง)ไม่ประสบความสำเร็จไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับคุณค่าในตัวเรา เราปลอบตัวเองได้ พอใจในตัวเองได้ มีความสุขได้ เพราะสุดท้ายแล้ว เราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ชนะบ้าง แพ้บ้าง มีข้อดีบ้าง ข้อเสียบ้าง ล้มลุกคลุกคลานกันไป เป็นรสชาติของชีวิต
จงรักตัวเองอย่างที่ตัวเองเป็น
• การพบจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องน่าอาย
คุณหมอเชอร์รี่ โรเจอร์ส (แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว) กล่าวไว้ว่า "โรคจิตเวชไม่ใช่ความล้มเหลวของคนๆนั้น ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าจะมีอะไรล้มเหลวก็คงจะเป็นสังคมที่ล้มเหลวในการให้การสนับสนุนและการรักษาที่เพียงพอ"
เทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าจนสามารถมองเห็นความผิดปกติที่ตาเปล่ามองไม่เห็น ทำให้เรารู้ว่าโรคทางจิตเวชนั้นมีส่วนที่เกิดจากสารเคมีในสมองที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดเป็นอารมณ์และพฤติกรรมที่แสดงออกมา
คนที่เป็นซึมเศร้าไม่ได้เลือกที่จะเศร้า ผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำ ถ้าเลือกได้ก็คงสามารถหยุดความคิดเหล่านั้นและใช้ชีวิตปกติ ผู้ป่วยที่เป็นโรคจิตเภทไม่ได้เลือกที่จะมีอาการหูแว่วหรือว่าประสาทหลอน เช่นเดียวกับโรคมะเร็งหรือโรคทางกายอื่นๆ ไม่มีใครเลือกที่จะเป็นโรคเหล่านั้น
ถึงเวลาที่เราทุกคนหันมายอมรับว่าการไปพบจิตแพทย์เป็นเรื่องปกติ ก็แค่ถึงเวลาที่จิตใจของเราอยากได้รับการดูแลเท่านั้น
• ล้มเหลวอย่างไรให้ไม่ล้มเลิก ไบรอันต์ แม็กกิลล์ กล่าวไว้ว่า "การถูกปฏิเสธก็เป็นแค่การเปลี่ยนเส้นทางเท่านั้นเอง"
เวลาที่เจอกับความล้มเหลว ไม่ได้แปลว่าเส้นทางนั้นสิ้นสุดลง ตราบใดที่ชีวิตยังไม่จบ ทุกคนสามารถลุกขึ้นมาแล้วเดินต่อไปข้างหน้าได้อีก
• ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีกลั่นแกล้ง คุกคาม ระราน หรือที่เรียกว่าไซเบอร์บูลลี่ ทำให้ผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งได้รับผลกระทบ แม้คนที่กลั่นแกล้งจะไม่ได้อยู่ตรงนั้นแล้วก็ตาม
เราอาจจะเข้าถึงโลกได้ง่ายขึ้นในปัจจุบัน แต่ก็ไม่จำเป็นที่จะให้โลกเข้าถึงเราได้ง่ายเกินไป อาจจะต้องปิดกั้นการมองเห็น ให้แค่เพื่อนสนิท และกัลยาณมิตรจริงๆ ที่เข้าถึงได้ หรือหากมีใครมาทิ้งคอมเมนต์แย่ๆไว้ ก็อาจเลือกที่จะลบเพื่อทำความสะอาด และบล็อกไม่ให้เขาเข้ามาคุกคามได้อีก
• วิลเลียม เจมส์(นักจิตวิทยา) ได้กล่าวไว้ว่า "อาวุธที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการต่อต้านความเครียด คือความสามารถในการเลือกความคิดหนึ่ง เหนืออีกความคิดหนึ่ง"
-----
PART 3 เยียวยาความสัมพันธ์ด้วยความอ่อนโยน
• ชีวิตมีเรื่องดี เรื่องร้ายเกิดขึ้นได้เสมอ มันมีทั้งสุขและทุกข์ ทุกคนก็จะมีช่วงเวลาในชีวิตที่ไม่ได้เป็นไปตามที่ต้องการ เวลาที่เจ็บปวดลองกอดตัวเองบ้างก็ได้
ซึ่งการกอดตัวเองในที่นี้มีสองแง่คือ การกอดตัวเองจริงๆ โดยเอามือโอบรอบตัวเอง และกอดตัวเองแบบนามธรรม คือการใจดีกับตัวเอง
เมื่อเราโตขึ้นอาจไม่มีใครมากอดเราเหมือนแต่ก่อน แต่เราสามารถเป็นคนนั้นให้ตัวเองได้ คนที่ปลอบใจเรายามเศร้า เหงา หรือทุกข์ใจ
• ใจดีกับตัวเองคือการหลงตัวเองและทำให้เราไม่พัฒนาตัวเองหรือไม่? เพราะบางคนรู้ว่าหากไม่ต่อว่าตัวเองจะทำให้ไม่มีแรงผลักดัน เมื่อไม่มีแรงผลักดันก็จะทำให้ไม่พัฒนา อันที่จริงแรงผลักดันนั้นไม่จำเป็นต้องมาจากการต่อว่าตัวเองเสมอ
การยอมรับข้อเสียของตัวเอง ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่พัฒนาตัวเอง เราสามารถใจดีกับตัวเองได้และพัฒนาตัวเองไปพร้อมๆกัน
การใจดีกับตัวเองเป็นทักษะที่ทำให้เรามีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น เพราะไม่มีใครรู้สึกดีจากการต่อว่าตัวเองตลอดเวลา เหมือนที่มาร์ก ทเวน ได้กล่าวไว้ว่า "มนุษย์เราจะไม่สามารถรู้สึกสบายใจได้ หากไม่ได้รับการยินยอมจากตัวเอง"
• คับที่อยู่ได้คับใจอยู่ยาก ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างคนที่เราอยู่ด้วยทุกวันไม่ดี ก็อาจมีผลกระทบต่อความรู้สึกของเรา ซึ่งส่งผลต่อหลายอย่างในชีวิตประจำวันได้ เพราะคุณภาพชีวิตของคนเรานั้นมักขึ้นอยู่กับคุณภาพของความสัมพันธ์ที่เรามีกับคนรอบข้าง
(เล่มนี้ได้แนะนำวิธีแก้ไขพฤติกรรม เพื่อให้ความสัมพันธ์ดีขึ้นไว้ด้วย)
• ภาษาที่เราพูดกับตัวเองนั้นมีความสำคัญ พูดประโยคที่ทำให้เรามีแรงใจในการทำสิ่งนั้นให้ดีขึ้น อย่าให้ประโยคที่ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจ รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง มาทำร้ายเรา
• พ่อแม่ที่ดีไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบ
พ่อแม่ที่ดีพอ คือพ่อแม่ที่ปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของลูก ทำความเข้าใจความต้องการของเด็กในแต่ละวัยและตอบสนองอย่างเหมาะสม
นอกจากนี้พ่อแม่ที่ดีพออาจทำผิดพลาดได้บ้าง หรือบางครั้งอาจไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกได้ บางครั้งลูกไม่ได้ในสิ่งที่อยากได้ ไม่เป็นไรมันเป็นธรรมชาติของโลกใบนี้ ปล่อยให้ลูกได้รู้จักอารมณ์โกรธ เสียใจ เศร้า จะทำให้เขารับมือกับความผิดหวังได้
แนวคิดของการเป็นพ่อแม่ที่ดีพอนั้น ยังแปลว่าไม่มีวิธีไหนเป็นวิธีที่ถูกหรือผิดในการเลี้ยงลูก ตราบใดที่พ่อแม่นั้นสามารถเลี้ยงดูลูกได้ด้วยความรัก และความเอาใจใส่ก็สามารถเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในแบบของเขาเองได้
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยพบว่า พ่อแม่ที่ใจดีกับตัวเอง เมตตาต่อตัวเองเวลาที่ทำผิดพลาด จะส่งผลให้ลูกใจดีกับตัวเองด้วย การเลี้ยงลูกไม่ใช่เรื่องง่าย หากมีวันไหนที่เรารู้สึกว่าทำพลาดไป เราสามารถแก้ตัวใหม่ได้เสมอ เพราะว่าเรามีเวลาอยู่กับลูกจนกว่าเขาจะโตพอจนดูแลตัวเองได้และออกจากบ้านไป
ความรักของพ่อแม่ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ ขอแค่เป็นพ่อแม่ที่ดีพอ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรัก ความใส่ใจ เชื่อว่าลูกเราจะเห็นความตั้งใจนั้นในวันที่เขาโตมา
• คำคมที่ได้ยินกันบ่อยๆ ว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น บางครั้งแม้อาจพยายามเท่าไหร่ชีวิตก็ไม่ได้เป็นไปดังหวัง ดังนั้นการเรียนรู้ที่จะอยู่กับความผิดหวัง เรียนรู้ที่จะยอมแพ้ เรียนรู้ที่จะก้าวต่อไปแม้ฟ้าจะไม่เป็นใจ หากเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ได้ เราจะใจดีกับตัวเองมากขึ้น ไม่กดดันตัวเอง ไม่เครียดเวลาที่ไม่ได้ดั่งใจ เพราะหลายครั้งชีวิตอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่ต้องการ เหมือนฝนที่ไม่มีใครสั่งให้ตกหรือหยุดตกได้ เราเพียงได้แต่เตรียมตัวกางร่มเมื่อฝนมา
ขอบคุณหนังสือของหมอจริงมากๆค่ะ ที่ช่วยให้เราสานสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งตัวเองและผู้อื่น มองโลกแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา ทำให้เราอยากใจดีกับตัวเอง เหมือนที่เราอยากให้ผู้อื่นใจดีกับเรา และเราก็ควรปฏิบัติเช่นนั้นต่อผู้อื่นด้วย
ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และชีวิตตอนนี้จะเป็นเช่นไร ใจเรานั้นควรค่าแก่การทะนุถนอม อ่านแล้วได้สาระดีๆ ไปปรับใช้ และยังช่วยให้รู้สึกสบายใจขึ้นด้วยค่ะ