โต้ดอกเตอร์
ผมเคยพานักเรียนประมาณ ๒ ห้องเรียน วิทยากร-กวีซีไรต์และคณะนักเขียนอีกกว่า ๑๐ ชีวิต ไปใช้สวนผสมผสานของคุณพ่อยุวชน สีหะวงษ์ เป็นสถานที่อบรมการเขียนบทกวีสร้างสรรค์ เมื่อ ๑๔ -๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
สวนนี้จากทางหลวงจังหวัด หมายเลข ๒๑๖๘ ยางชุมน้อย-กันทรารมย์ ห่างจากที่ว่าการอำเภอยางชุมน้อยออกไปประมาณ ๗๐๐ เมตร มองไปด้านทิศใต้ ห่างจากทางหลวงที่ว่าประมาณ ๓๐๐ เมตร จะเห็นเป็นโนนสูง เขียวขจีด้วยหมู่ไม้ ในสวนอุดมด้วยไม้ผลนานา มีบ่อน้ำที่มีปลาดำผุดดำว่าย ๓ บ่อ มีแปลงผักปลอดสารพิษ เพราะใช้จุลินทรีย์ธรรมชาติ ใช้น้ำหมักสะเดาไล่แมลง มีทางเดินรอบสวน มีบ่อเลี้ยงกบหลายบ่อ กล้วยบางเครือกำลังถอดเครือ เถียงนาน้อยอยู่กลางสวนลมพัดเย็นสบายน่านอนเว็น
คุยเรื่องการเกษตรกับคุณพ่อยุวชนหลายครั้ง และมีเรื่องเกี่ยวกับจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูงเรื่องหนึ่งที่ผมประทับใจมาก เพราะผมเคยอ่าน ศึกษา และซื้อมาใช้เลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติก แต่เกิดความคิดว่า ทำอย่างไรเราจะทำเองได้ โดยไม่ต้องซื้อ พอดีคุณพ่อเล่าให้ฟังว่าท่านทำเองได้ ผมก็เลยโล่งใจ คือเราเป็นครู ไม่ได้เอาดีเอาเด่นด้านการเกษตร แต่เอาใจช่วยอยากให้พี่น้องสนใจเกษตรอินทรีย์แบบนี้ อย่างไม่ต้องพึ่งพาซื้อคนอื่นเขา แม้จะลดเกษตรเคมีได้ หันมาทำเกษตรอินทรีย์แต่ถ้ายังซื้อเขามาใช้ ผลิตเองไม่ได้ก็แย่ พอรู้ว่ามีคุณพ่อยุวชนทำเองได้ ก็สบายใจ
เกี่ยวกับจุลินทรีย์นี้ ก็มีเรื่องขำขันปัญญาชนของคุณพ่อที่น่าสนใจเล่าสู่กันฟังต่อ ๆไป
เรื่องมีอยู่ว่า คุณพ่อยุวชนเป็นตัวแทนชาวบ้านเข้าอบรมการทำการเกษตรอินทรีย์ใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูง พอวิทยากรระดับดอกเตอร์บรรยายว่ามันดีอย่างไร ใช้อย่างไร ขยายอย่างไรไปจนจบ แล้วก็เลยเปิดโอกาสให้เกษตรกรความรู้ต่ำ ๆถาม ถึงคิวคุณพ่อ ก็ถามไปว่า “แล้วเราจะทำเองได้อย่างไรครับ” เท่านั้นแหละดอกเตอร์ท่านก็นิ่งเงียบ หน้าแดง “คือเราไม่ต้องทำเอง ซื้อเขามาขยายก็ได้” เกษตรในที่ประชุมมองหน้ากัน นั่นตอนหนึ่ง
พอคุณพ่อยุวชนพอรู้ว่าจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพมันคืออะไร ท่านก็ลองมาสังเกต คิด และติดตาม เพราะจุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติอย่างหนึ่ง โดยใช้แกนข้าวโพด ที่กินแล้ว ไปวางไว้ที่ชื้น ๆ เช่น กอกล้วย ใต้ร้านตุ่มน้ำกิน จนเกิดรา สังเกตว่าถ้าราสีเขียวใช้ไม่ได้ ถ้าราสีขาวกลิ่นหอมเอามาขยายใช้ได้ หรือจะใช้ข้าวเหนียวปั้นไปซุกไว้ตามกอกล้วยก็จะได้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน
และในการประชุมคราวต่อมา ท่านวิทยากรดอกเตอร์ ก็มาบรรยายเรื่องการเลี้ยงปลาในบ่อดิน ว่าจะขุดลึกตื้นเท่าใด ขนาดเท่าใด จะเลี้ยงปลาชนิดใดจึงจะเหมาะ พอบรรยายจบก็ให้เกษตรกรซักถามปัญหาข้อข้องใจใคร่รู้ ก็มีเกษตรกรถามหลายคนจนมาถึงคำถามของคุณตาคนหนึ่ง
“ท่านครับ ผมมีบ่อเดิมอยู่แล้วมันลึกกว่าที่ท่านว่า จะทำอย่างไรดี”
“ก็ต้องเลี้ยงปลาพวกปลานิล ปลาตะเพียน ปลาดุกคงไม่ไหว” วิทยากรดอกเตอร์ว่า
“ท่านครับที่นาผม เป็นดินทราย พอขุดบ่แล้ว ไม่นานน้ำก็ซึมหนีหมดจะทำอย่างไรดี”
“ก็ต้องหาที่ใหม่นะครับ หรือไม่ก็อาจต้องทำบ่อซีเมนต์แทน” วิทยากรดอกเตอร์ว่า
แล้วคุณพ่อยุวชน ก็อยากจะเล่าประสบการณ์ที่ตนเองเคยมีให้ที่ประชุมฟัง
“ขออนุญาตครับท่านวิทยากร และท่านผู้เข้าร่วมอบรมทุกท่าน ผมนายยุวชน สีหะวงษ์ เกษตรกรจากอำเภอยางชุมน้อย มีประสบการณ์เล็ก ๆน้อยมาแลกเปลี่ยนกับทุกท่าน สำหรับคำถามที่เพื่อนเกษตรกรบอกว่าบ่อลึกเลี้ยงปลาดุกไม่ได้ผล เพราะปลาใช้พลังงานว่ายขึ้นลงมาก ทำให้เปลื้องอาหาร ปลาตัวเล็กไม่ทันขาย ผมขอแนะนำว่า ควรใช้ผ้าเขียวที่เราใช้เย็บเป็นลานตีข้าว มาเย็บเป็นผืนใหญ่ตามใจเรา แล้วขึงหย่อนลงไปในบ่อ ลึกตามที่เราต้องการ แล้วหว่านดินเหนียวผสมรำรองเป็นพื้น ขี้วัวลงอีกหน่อยให้มีขี้ไคน้ำ ไม่ให้ผ้าบาดตัวปลา เท่านี้เราก็จะได้บ่ปลาดุก โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองทำบ่ใหม่ ผมทำแล้วได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
สำหรับท่านที่ว่าบ่อดิทรายไม่เก็บน้ำ ผมอยากให้ลองไปสังเกตปลักที่ควายนอน หรือบ้านเฮาว่าบวก...นั้น ทำไมมันตื้น ๆ แต่เก็บน้ำได้นานจัง ถ้าเราสังเกตให้ดีก็จะได้คำตอบครับ นั่นคือขณะที่ควายลงนอนเกลือกกลิ้งไปมา เท่ากับการฉาบพื้นนั่นเอง คือทำให้เม็ดทรายเม็ดเล็กลง เป็นดินร่วนละเอียด ช่องว่างระหว่างแต่ละเม็ดเล็กลง ๆ จนอัดแน่นเป็นแผ่น น้ำไม่สามารถผ่านลงไปได้ ก็ขังน้ำอยู่ ผมจึงขอแนะนำกับท่านว่า ให้ท่านปล่อยน้ำออกเหลือไว้สักครึ่งแข้ง แล้วเอาควายลงไปย่ำ หรือจะไถพรวนพื้นบ่อเลยยิ่งดี ไถไปจนเป็นตมละเอียด แล้วปล่อยทิ้งไว้พอดินจับตัวกันแน่นแล้วค่อยปล่อยน้ำลงไปตามที่ต้องการ เราก็จะได้บ่ที่มีน้ำขังได้นานขึ้น ผมขอนำเสนอประสบการณ์แค่นี้ ขอบคุณครับ” เสียงปรบมือกึก้องหอประชุม พิธีกรบอก ถึงเวลาเบรกพอดี ญาติมิตรเกษตรกรหลายคนปรี่เข่ามาจับมือ สอบถามความรู้เพิ่มเติมจากคุณพ่อ ขณะเดียวกันกับที่วิทยากรบนเวทีเก็บแผ่นไสลด์ที่บรรยายเข้ากระเป๋าด้วยใบหน้าเริ่มแดงและร้อนผ่าว...
ฟังคุณพ่อยุวชนเล่าจบ ผมคิดอยากเห็นบรรยากาศของวันนั้น จริง ๆจัง ๆ และทราบจากคุณพ่อว่าครั้งต่อ ๆ มาก็ไม่เห็นหน้าวิทยากรดอกเตอร์ท่านนั้นมาบรรยายอีกเลย