ความสุขติดดิน
การแบ่งชนชั้นของคนอินเดีย เป็นไปเพื่อการจัดระเบียบทางสังคม หรือเป็นไปเพื่อกีดกันไม่ให้วรรณะอื่นมาแย่งอำนาจ มาก้าวก่ายสิทธิอันพึงมีพึงได้ อันนี้ผมไม่รู้แน่ชัด แต่สังคมไทยดูแล้วชัดเจนกว่า ว่าผู้มีอำนาจทางการปกครอง นักการเมือง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เป็นคนอีกชั้นหนึ่ง ทำอะไรได้ตามใจมากกว่าราษฎรตาดำ ๆ
แต่เรื่องการเมืองไม่ใช่เรื่องที่น่าเล่าสู่กันฟังนัก เพราะมันซับซ้อนซ่อนเงื่อนทับทาบอาบผลประโยชน์ เรามาดูกันเรื่องความเป็นอยู่แบบวิถีธรรมชาติดีกว่า
ผมมีโอกาสพูดคุย ขอความรู้ จากคุณพ่อยุวชน สีหะวงษ์ ปราชญ์ชาวบ้านยางชุมน้อย อำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ อยู่บ่อยครั้ง และเมื่อมีโอกาสก็เชิญท่านมาให้ความรู้กับลูกหลานที่โรงเรียน
คุณพ่อยุวชนเป็นคนรูปร่างสันทัด ค่อนไปทางเตี้ยแบบลูกอีสานทั่วไป ริมฝีปากบางคม นัยน์ตานิ่งวาวอย่างคนชอบครุ่นคิด ชอบคุย ชอบคิดในสิ่งที่คนทั่วไปคิดว่ารู้แล้ว ผมมักจะได้รับคำตอบแปลก ๆจากท่าน
“ธรรมชาติ คืออะไรแน่”
“บางคนว่าต้นไม้ สายน้ำ ก้อนเมฆ เป็นธรรมชาติ” ผมตอบตามที่รู้
“ไม่ใช่หรอก นั่นไม่ใช่ธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่ธรรมชาติบันดาลให้เกิด ธรรมชาติแท้ไม่มีตัวตน คนเรามักสับสนไม่เข้าใจ ธรรมชาติเป็นตัวกำหนดให้ทุกสิ่งเป็นไปตามที่มันต้องการ” ท่านว่า
คุณพ่อยุวชน เป็นหลายอย่าง แม้จะไม่มีโอกาสเล่าเรียนเป็นครูอาจารย์ รับราชการอย่างเพื่อนรุ่นเดียวกัน แต่ท่านก็ใช้ทักษะ “ครูพักลักจำ” หรือสูตรที่ท่านคิดเองว่า “สังเกต คิด ติดตาม” กล่าวคือ การเรียนรู้อะไร ต้องหมั่นสังเกตให้ละเอียด แล้วเก็บมาคิดพิจจารณาต่อให้เข้าใจ แล้วติดตามความคิด นำความคิดมาใช้ มาปฏิบัติจนเห็นผล เกิดความรู้จริงขึ้นมา
ทุกครั้งที่ผมได้พบปะ นั่งพูดคุยกับท่าน ผมเห็นประกายแห่งความสุขฉายมาจากดวงตาทั้งคู่ของท่าน ทำนองรู้จริงแล้วถ่ายทอด เมตตาอารีต่อผู้มีความรู้น้อย
นอกจากนี้คุณพ่อยุวชน สีหะวงษ์ยังสนใจเรื่องบ้านเมือง เรื่องการเกษตร เรื่องราวของประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ การได้สนทนากับท่านเป็นมหรสพอย่างหนึ่ง ที่สัมผัสแล้วคุ้มค่าทีเดียว