หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

การหายสาปสูญพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช

โพสท์โดย ประเสริฐ ยอดสง่า

 

พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เป็นกษัตริย์ล้านช้างที่สวรรคตอย่างลึกลับ หลักฐานจากพงศาวดารของล้านช้างไม่ปรากฏว่าพระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อไหร่ หลักฐานจากศิลาจารึกที่ค้นพบในปัจจุบัน จารึกครั้งล่าสุดที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น คือ จารึกมหาธาตุเจ้าเชียงใหม่นาบอน ลงศักราช ๙๒๙ (พ.ศ. ๒๑๑๐)[1] แต่ปรากฏว่าศิลาจารึกวัดถ้ำสุวรรณคูหา ๒ ลงศักราช ๙๓๔ (พ.ศ. ๒๑๑๕) ได้ปรากฏพระนามของกษัตริย์ล้านช้างพระองค์ใหม่ คือ พระเจ้าสุมังคลไอยโกโพธิสัตว์ และพระวรรัตนธรรมประโชติกุมาร[2] ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้หายสาบสูญไปแล้ว ก่อน พ.ศ. ๒๑๑๕ อย่างแน่นอน

ในกรณีการหายสาบสูญไปของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ประวัติศาสตร์ลาวกล่าวถึงตอนนี้ว่า พระยานคร กับอดีตพระสังฆราชวัดมัชฌิอาราม คิดกบฏ แต่งอุบายให้ข่าวมาถึงพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชว่า เจ้าเมืององกาน[3] ถึงแก่กรรม เจ้าเมืององกานมีบุตรี ๒ คน ต้องการที่จะมาถวายตัวเป็นบาทบริจาริกา โดยให้พระสงฆ์ ๒ รูปนำสาส์นขึ้นมาถวาย พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจึงปลงพระทัยเชื่อแน่ จึงให้ราชทูตถือสาส์นไปเมืององกาน เจ้าเมืององกานโกรธแค้นขับไล่ทูตลาวไม่ให้เข้าเฝ้า สมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐธิราชจึงกรีฑาทัพไปรบเมืององกานใน พ.ศ. ๒๑๑๕ เมื่อไปถึงเขตแดนเมืององกาน พระยานครทำอุบายพากองทัพพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเข้าไปในระหว่างกองทัพของตน ทัพพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชยังไม่ทันรู้ตัว ก็ถูกตีแตกกระจัดกระจาย พระยานครทำอุบายพาพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชหลบหนีข้ามแม่น้ำโขงไปฝั่งใน แล้วพาหนีไปเสียที่ใดไม่รู้[4] ส่วนพระยาแสนสุรินทร์และพระยาจันกองนางพาทหารแตกหนีคืนมาเวียงจัน[5]

ในประวัติศาสตร์ลาว (ดึกดำบรรพ์ ถึง ปัจจุบัน) ของ ดร.สุเนด โพทิสาน และหนูไช พูมมะจัน กล่าวตามพงศาวดารลาวเพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่เป็นการหาหลักฐานมาอธิบายพงศาวดารลาวอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งพงศาวดารลาวกล่าวเพียงว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้ยกทัพลงไปตีเมืองลามะลักองกาน หรือ เมืองโลมวันองกาน ในปี พ.ศ. ๒๑๑๔ แล้วหายสาบสูญไป

ดร.สุเนด โพทิสาน และหนูไช พูมมะจัน ได้อธิบายประวัติศาสตร์ลาวตอนนี้โดยอ้างอิงพงศาวดารเขมร ซึ่งกล่าวว่า ปี พ.ศ. ๒๑๑๓ พระเจ้าบรมราชาธิราชรามธิบดี ได้ยกกองทัพเข้าตีนครราชสีมา จับผู้คนเป็นเฉลยจำนวนมาก พระเจ้ากรุงลาวส่งทัพไปตีต้านเขมร แต่ก็ถูกเขมรตีแตกและถูกจับเป็นเฉลยจำนวนมาก ปี พ.ศ. ๒๑๑๔ พระเจ้ากรุงลาวจึงนำทัพไปเมืองสันทุกด้วยตัวเองเพื่อตีต้านเขมรให้ถอยกลับแต่ก็ปราชัยและทหารลาวถูกจับเป็นเฉลยอีก ส่วนเจ้ากรุงลาวเอาตัวหลบหนีมาได้ พ.ศ. ๒๑๑๕ พระมหาอุปราชของลาวได้ยกทัพไปตามตีเขมรไปถึงเกาะเจ้ารามแต่ก็ปราชัยอีก

จากหลักฐานนี้แสดงว่า เมืองลามะลักองกาน หรือ โลมวันองกาน ในเอกสารลาว หมายถึงเมืองอังกอร์ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชหลังจากสงครามกับเขมรครั้งที่ ๒ แล้วเข้าปรับปรุงกำลังอยู่บ้านอิดกะบือ[6] แต่ประชวรสิ้นพระชนม์ก่อน จึงได้ก่อเจดีย์ไว้ที่เมืองนี้[7]

ภายหลังต่อมา ดร.สุเนด โพทิสาน ได้อธิบายประวัติศาสตร์ตอนนี้เพิ่มเติม ในการประชุมนานาชาติ เรื่อง การศึกษาประวัติศาสตร์และวรรณกรรมของกลุ่มชาติพันธุไท ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๔[8] และในงานพบปะทางวิชาการว่าด้วย “วีรกรรมพระเจ้าอนุวง” ดร. สุเนด โพทิสาน กล่าวว่า สงครามระหว่างลาวกับเขมรเกิดขึ้น ๓ ครั้ง คือ เขมรยกทัพเข้ายึดโคราช ลาวส่งกองทัพไปปราบ ๒ ครั้ง แต่ก็ถูกตีแตกถึง ๒ ครั้ง พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจำเป็นต้องยกทัพไปเอง และตีเขมรถึง อังกอร์วัด จนถึงเกาะเจ้าราม แต่สุดท้ายก็ปราชัยแก่เขมร ฝ่ายเขมรเรียกพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ว่า “เจ้าลาวเรือหัก” แต่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชสามารถเอาตัวหลบหนีมาได้ถึงเมืองอัตตะปือ และประชวรเสด็จสวรรคตที่เมืองนี้[9]

 

พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชในประวัติศาสตร์เขมร

แม้ว่าพงศาวดารลาว จะไม่กล่าวถึงการรบระหว่างอาณาจักรล้านช้างกับเขมร แต่ในประวัติศาสตร์เขมรหลายฉบับกลับมีการกล่าวถึงการรบครั้งนี้คล้ายคลึงกัน ต่างกันที่ศักราช และในรายละเอียดเพียงเล็กน้อย และการที่พงศาวดารลาวไม่กล่าวถึงการรบครั้งนี้ ทำให้นักประวัติศาสตร์เขมรเกิดความสงสัย ดังเช่น ตฺรึง งา กล่าวว่า

...เฉพาะความสัมพันธ์ลาว - เขมร มีเพียงพงศาวดารเขมรเท่านั้นที่กล่าวถึงส่วนเอกสารภาษาลาว หรือเอกสารภาษาต่างประเทศไม่ได้กล่าวถึงแม้แต่น้อย จึงทำให้เรามีความสงสัย ว่า เหตุใดพงศาวดารลาวจึงไม่กล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญเช่นนี้ อาจจะพลั้งเผลอโดยไม่มีเจตนา หรือเพราะความขลาด กลัวอับอาย เสียหน้า...[10]

ในประวัติศาสตร์เขมรกล่าวถึงกษัตริย์ล้านช้างโดยไม่กล่าวพระนาม กล่าวเพียงว่า “เสด็จลาว” และ “เสด็จลาวนครล้านช้าง” โดยเนื้อหาส่วนใหญ่กล่าวคล้ายคลึงกัน แต่ศักราชต่างกัน คือ

ในปี พ.ศ. ๒๑๑๓[11] พระมหากษัตริย์ล้านช้าง ได้ส่งช้างสูง ๘ ศอก พร้อมเสนาผู้ใหญ่ ๒ คน และทหารอีก ๑,๐๐๐ นาย ไปเมืองละแวก ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทปรมินทราชา หรือพระบาทบรมราชาที่ ๔ (พ.ศ. ๑๕๖๖ - ๑๕๗๖)[12] เพื่อท้าประลองชนช้างกัน โดยตงลงว่า หากช้างฝ่ายใดชนะ ให้เมืองที่แพ้เป็นเมืองขึ้น การชนช้างครั้งนี้ ช้างของอาณาจักรล้านช้างสูง ๘ ศอก (๔ เมตร) แต่ช้างของเขมรสูง ๗ ศอก (๓.๕ เมตร) แต่ปรากฏว่า ช้างของเขมรได้รับชัยชนะ พระบาทบรมราชาที่ ๔ ได้จับทหาร ๑,๐๐๐ นาย และช้างของลาวไว้ ปล่อยแต่เสนาผู้ใหญ่ ๒ คนกลับเวียงจันเพื่อกราบทูลผลการชนช้าง

อาเดมาร ฬืแกฺลร อธิบายว่า มีเอกสารบางฉบับกล่าวว่า พระราชาเขมรทรงจับไว้แต่ช้าง ส่วนเสนาผู้ใหญ่ทั้งสอง และทหาร ๑,๐๐๐ นาย พร้อมทั้งนายครวญช้าง ได้ปล่อยตัวกลับเวียงจัน พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงกริ้ว เมื่อทราบผลในการชนช้าง ประกอบกับการที่พระราชากัมพูชาได้จับช้างไว้ นี้คือการชี้แจงว่า เรื่องในการชนช้างเวลานั้นไม่ใช่การพนันเอาแผ่นดินเลย[13]

 

ยกทัพตีเขมรครั้งที่ ๑

การยกทัพตีเขมรครั้งที่ ๑ ประวัติศาสตร์เขมร กล่าวว่า เสด็จลาวมีความโกรธแค้นในการชนช้าง จึงผูกอาฆาตคิดจะแก้แค้นเขมร ดังนั้น ในปี พ.ศ. ๒๑๑๔[14] เสด็จลาว บัญชาให้ยกทัพเข้าตีเขมรทั้งทางบกและทางน้ำ โดยทางน้ำให้พระมหาอุปราช นำทัพพร้อมทหาร ๕๐,๐๐๐ ส่วนทัพของเสด็จลาว ซึ่งยกทัพทางบก มีทหารถึง ๗๐,๐๐๐ และได้ยกทัพเข้าโจมตีค่ายเขมรถึง พนมสอนตุก หรือสันทุก (อยู่ในเขตกำปงสวาย) แต่ถูกกองทัพของพระบรมราชาที่ ๔ และกองทัพของราชบุตรศรีสุริโยพรรณ กระนาบตีปราชัยไป[15] บางฉบับกล่าวว่า เสด็จลาวและเสด็จเขมรได้ยกทัพเข้าประจัญหน้ากัน ปรากฏว่า เสด็จลาวแพ้ เขมรจับทหารลาวเป็นเฉลยจำนวนมาก และต่อมาได้นำเฉลยศึกลาวจำนวน ๑,๐๐๐ คน ไปอาศัยอยู่บริเวณบาราย[16] ที่เหลือจากนั้นให้ไปอยู่บริเวณข้างทิศใต้และข้างทิศตะวันตก[17]

ส่วนทัพเรือของอาณาจักรล้านช้างซึ่งบัญชาการรบโดยมหาอุปราชลาว นำทหาร ๕๐,๐๐๐ ล่องตามลำน้ำโขงมาถึงบริเวณปากน้ำในเขตสีสันทร แต่ต้องพบกับทัพของพระสัตถา ราชบุตรของพระบรมราชาที่ ๔ ซึ่งมีทหารเพียง ๒๐,๐๐๐ เข้าโจมตีทัพของมหาอุปราชล้านช้างแตกไป[18]

พระบรมราชาที่ ๔ เสด็จกลับคืนเมืองละแวก ทรงจัดงานฉลองชัยชนะ และจัดให้เฉลยศึกลาว ๘๐๐ คน ไปอยู่ในบ้านบัตนัง อีก ๕๐๐ คน อยู่สำหรับอุปฐากรักษาวัดพนมเปญ พวกนี้เขมรเรียกว่า “ลาวเรือแตก” หรือ “ลาวเรือหัก”[19]

 

ยกทัพตีเขมรครั้งที่ ๒

ในปี พ.ศ. ๒๑๑๕[20] ครั้งนี้ลาวไปยกทัพมาตามแม่น้ำโขง เสด็จลาวได้เกณฑ์ทัพมีจำนวนพล ๒๐,๐๐๐ ให้มหาอุปราชนำลงเรือแข่งมาตีกัมพูชาอีกครั้ง พระราชากัมพูชา ได้นำทัพ ๕๐,๐๐๐ ไปสกัดทัพลาว เผชิญหน้ากันบริเวณโรกาโกง บนเกาะเจ้าราม (อยู่ในเขตกำปงจาม) ห่างจากพนมเปญ ๓๕ กิโลเมตร ศึกครั้งนี้ เรือพวกลาว ได้ถูกเผาผลาญทำลายอย่างย่อยยับ พวกทหารลาวที่รอดพ้นจากการรบครั้งนี้ ต้องเดินไปเป็นกลุ่มเล็ก ๆ กลับคืนบ้านเมือง และถูกชาวบ้านตามไล่ตีต่อไปอีก[21] เอกสารบางฉบับ กล่าวว่า ในขณะนั้น พม่าและสยามเข้าตีเวียงจัน ประกอบกับมีฝนตกหนัก ทัพลาวจึงล่าถอยกลับไปทั้งหมด[22]

การที่ประวัติศาสตร์เขมรกล่าวถึงการรบระหว่างล้านช้างกับเขมร ทำให้ทราบว่า กองทัพของอาณาจักรล้านช้าง ยกทัพโจมตีเขมรถึง ๒ ครั้ง แต่ทัพของล้านช้างเข้าไม่ถึงเมืองหลวงของเขมรเลยทั้งสองครั้ง ซึ่งในสมัยนั้น เมืองหลวงของเขมรได้ย้ายมาที่เมืองละแวกแล้ว และประวัติศาสตร์เขมรไม่ได้กล่าวถึงการจับตัวของเสด็จลาว หรือการสวรรคตของเสด็จลาว ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่า การยกทัพเข้าตีเขมรและกองทัพฝ่ายลาวแตกถึง ๒ ครั้ง กษัตริย์ลาวได้รอดพ้นจากการถูกจับได้ทุกครั้งไป ซึ่งอาจจะตรงกับประวัติศาสตร์ลาว ว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเสด็จสวรรคตที่เมืองอัตตะปือ พร้อมกับได้ก่อเจดีย์ไว้ที่เมืองอัตตะปือ ซึ่งมีเรื่องเล่าขานกันมาว่า มีพระธาตุองค์หนึ่ง เป็น “ธาตุพระไชย” รวมทั้งมีเรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างวัดและพระกรณียกิจของพระไชย จนกระทั่งภาครัฐของ สปป.ลาว ต้องเปลี่ยนชื่อจาก “เมืองอัตตะปือ” มาเป็น “เมืองไชยเชษฐา”[23] ซึ่งในปัจจุบัน เมืองไชยเชษฐา เป็นเมืองในแขวงอัตตะปือ[24] อยู่ทางภาคใต้ของลาวและมีพรมแดนติดกับประเทศเขมร

การหายสาบสูญของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช หรือการพ่ายแพ้ในการพุ่งรบกับเมืององกาน ไม่ได้ทำให้พระเกียรติยศของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเสื่อมเสียแต่ประการใด หลังจากเสด็จสวรรคตเกือบร้อยปี ก็ยังมีจารึกที่กล่าวถึงพระนามของพระองค์ คือจารึกวัดริมท่า (พ.ศ.๒๑๗๙) จารึกวัดคงกระพันชาตรี ๑ (พ.ศ.๒๑๘๐) กล่าวถึงพระองค์ว่าได้อุทิศทรัพย์สินและที่ดินถวายวัดเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า พระองค์ได้แผ่อิทธิพลทางการเมืองและสร้างศรัทธาต่อชุมชนอีสานไว้มาก ทำให้ผู้คนยังจำเรื่องราวของพระองค์ได้เป็นอย่างดี[25] อีกทั้งในเวลาต่อมายังมีกษัตริย์ของล้านช้างใช้พระนามนี้อยู่ คือ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๒ (เจ้าไชยองค์เว้ พ.ศ.๒๒๔๑-๒๒๗๓) พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๓ (เจ้าสิริบุญสาร พ.ศ.๒๒๙๔-๒๓๒๒) พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๔ (เจ้าอินทรวงศ์ พ.ศ.๒๓๓๗-๒๓๔๗) และพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๕ (เจ้าอนุวงศ์ พ.ศ.๒๓๔๗-๒๓๗๐)[26] ในสมัยที่มีการต่อสู้กับการล่าเมืองขึ้นของประเทศตะวันตก พระองค์ยังเป็นมูลเชื้ออันวีระอาจหาญในการต่อสู้ ดังปรากฏมีกองทหาร คือ “กองไชยเชษฐาธิราช” ซึ่งต่อมาได้รวมเป็นส่วนหนึ่งของ “กองทัพลาวอิสระ” ซึ่งก็คือ “กองทัพประชาชนลาว” ในปัจจุบัน จึงกล่าวได้ว่าพระองค์ทรงเป็นมูลเชื้อการต่อสู้ให้แก่คนลาวทุกยุคทุกสมัยเลยก็ว่าได้

 

อ้างอิงกำกับเลข

[1]สุรศักดิ์ ศรีสำอาง, ลำดับกษัตริย์ลาว, พิมพ์ครั้งที่ ๒ (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๕), ๑๒๑.

[2]ธวัช ปุณโณทก. ศิลาจารึกอีสานสมัยไทย-ลาว (กรุงเทพฯ : คุณพินอักษรกิจ, ๒๕๓๐ ), ๑๒๘ - ๑๒๙.

[3]เมืององกาน ตามตำนานทั้งหลาย สันนิษฐานว่า คือ แขวงอัตตะปือ ในภาคใต้ของลาวปัจจุบัน แต่ มหาสิลา วีระวงส์ (๒๕๔๓ : ๑๓๑) เสนอว่า น่าจะเป็นอังกอร์ธม ซึ่งเป็นเมืองหลวงของเขมร เพราะคำว่า องกาน กับคำว่า อังกอร์ มีเสียงที่คล้ายกันอย่างมาก

[4]มหาสิลา วีระวงส์ (๒๕๔๐ : ๑๓๒) สันนิษฐานว่า พระยานครนั่นเองที่ปลงพระชนม์พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช

[5]สิลา วีระวงส์ (สมหมาย เปรมจิตต์ แปล), ประวัติศาสตร์ลาว, พิมพ์ครั้งที่ ๓ (กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๓), ๑๐๖.

[6]อิดกะบือ หรือบางแห่งเรียกว่า อิตตะปือ เป็นภาษาของชนเผ่าบราว (Brao) หรือชาวละแว ซึ่งเป็นภาษาตระกูลมอญ – เขมร คำว่า “อิด” หมายถึง มูลหรืออุจจาระ, ส่วนคำว่า “กะบือ” หรือ “ตะปือ” หมายถึง ควาย บริเวณนี้เป็นที่หยุดพักของฝูงควายจำนวนมาก จึงทำให้มีขี้ควายหรืออิดกะบือจำนวนมาก ต่อมาเพี้ยนเป็น “อัตตะปือ” (ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์ และคณะ, ม.ป.ป. : ๘๑ – ๘๒)

[7]สุเนด โพทิสาน และหนูไช พูมมะจัน, ประวัติศาสตร์ลาว (ดึกดำบรรพ์ ถึง ปัจจุบัน), (เวียงจัน : โรงพิมพ์แห่งรัฐ, ๑๙๘๗), ๒๑๒ – ๒๑๓.

 

[8]สุเนด โพทิสาน, “แนวโน้มในการศึกษาประวัติศาสตร์ลาวโบราณ” ใน การศึกษาประวัติศาสตร์และวรรณกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไท (กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๔๕), ๖๐.

[9]สุเนด โพทิสาน, “วีรกรรมเจ้าอนุวง” ใน วีรกรรมพระเจ้าอนุวง : บทรายงาน พร้อมด้วยบทประกอบคำเห็นในงานพบปะทางวิชาการ ว่าด้วย “วีรกรรมพระเจ้าอนุวง” (เวียงจัน : กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม, ๒๕๔๖), ๒๕.

[10]ตฺรึง งา, ปฺรวตฺติสาสฺตฺรแขฺมร ภาค ๒ (สํราบ่มธฺยม นิง อุตฺตมสิกฺสา), (ภฺนํเพญ : โรงพุมฺพ มหาลาต, ๑๙๗๓), ๒๘ - ๒๙.

[11]อาเดมาร ฬืแกฺลร กล่าวว่า พ.ศ. ๒๑๐๓, สูร เอือ กล่าวว่า พ.ศ. ๒๑๐๓, สิน งวนเหง กล่าวว่า พ.ศ. ๒๑๑๓, ตฺรึง งา กล่าวว่า พ.ศ. ๒๑๑๕, Paul Brunon และสุนเหง เมงฌาง กล่าวว่า พ.ศ. ๒๑๑๕.

[12]ศักราชมีความแตกต่างกัน ตฺรึง งา และ Paul Brunon นิง สุนเหง เมงฌาง กล่าวว่า พ.ศ. ๒๑๐๙ – ๒๑๑๙ ส่วน สิน งวนเหง กล่าวว่า พ.ศ. ๒๑๑๐ - ๒๑๒๒

[13]อาเดมาร ฬืแกฺลร (แปฺรโดย เทพ เมงฆาน เหา ทีฆายุ), ปฺรวตฺติสาสฺตฺรปฺรเทสกมฺพุชา, เบาะพุมฺพเลีกที ๒ (ภฺนํเพญ : มินปฺรากดโรงพุมฺพ, ๒๐๐๖), ๒๔๐.

[14]สิน งวนเหง, ปฺรวตฺติวิทฺยา : สํราบ่ปฐมสิกฺสา (ภฺนํเพญ : โรงพุมฺพกฺรสวงอบ่รํ, ๑๙๙๔), ๗๓. ส่วนอาเดมาร ฬืแกฺลร กล่าวว่า พ.ศ. ๒๑๐๔.

[15]อาเดมาร ฬืแกฺลร, เรื่องเดียวกัน, ๒๔๑.

[16]บาราย ปัจจุบันเป็นชื่อของอำเภอในเขตกำปงธม กล่อนมาจากคำว่า “บานลาว เฉียงราย” หรือ “บ้านลาว เชียงราย” เพราะว่าพระบาทบรมราชาที่ ๔ ได้อนุญาตให้เฉลยศึกลาว ซึ่งมาจากเมืองเชียงรายมาอาศัยอยู่ ต่อมาเหลือแต่คำว่า “บา” และ คำท้าย “ราย” (Paul Brunon นิง สุนเหง เมงฌาง, ๒๐๐๔ : ๑๓)

[17]การนำเฉลยลาวมาไว้ในบารายนี้ อาเดมาร ฬืแกฺลร กล่าวว่า อยู่ภายใต้การตรวจตราของมนตรีลาวคนหนึ่ง ชื่อ แสนข้างฟ้าภาษา ต่อมาเฉลยศึกลาวเหล่านี้ได้ถูกปล่อยให้เป็นอิสระ แต่เฉลยศึกเหล่านี้ไม่กลับบ้านของเขา กลับใช้ชีวิตอยู่ในเขมรสืบลูกสืบหลานกันต่อมา (สิน งวงเหง : ๗๔)

[18]อาเดมาร ฬืแกฺลร, เรื่องเดียวกัน, ๒๔๑.

[19]ตฺรึง งา, เรื่องเดียวกัน, ๒๙.

[20]อาเดมาร ฬืแกฺลร กล่าวว่า พ.ศ. ๒๑๐๙, สูร เอือ กล่าวว่า พ.ศ. ๒๑๐๙, สิน งวนเหง กล่าวว่า พ.ศ. ๒๑๑๕, ตฺรึง งา กล่าวว่า พ.ศ. ๒๑๑๗ และ Paul Brunon นิง สุนเหง เมงฌาง กล่าวว่า พ.ศ. ๒๑๑๗

[21]อาเดมาร ฬืแกฺลร, เรื่องเดียวกัน, ๒๔๑.

[22]ตฺรึง งา, เรื่องเดียวกัน, ๒๙ – ๓๐.

[23]ศุภชัย สิงหะบุศย์ และคณะ, โครงการสารคดี ลาวตอนล่าง : สะหวันนะเขต สาละวัน เซกอง จำปาสัก และอัตตะปือ ห้าแขวงลาวตอนล่าง (กรุงเทพฯ : โครงการอาณาบริเวณ ศึกษา ๕ ภูมิภาค ศูนย์มานุษยวิทยา, ม.ป.ป.), ๑๓๓.

[24]เมือง ในภาษาลาวปัจจุบัน เทียบเท่ากับเขตปกครอง อำเภอ, แขวง เท่ากับ จังหวัด

[25]ธวัช ปุณโณทก, “ประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองอีสาน จาก จารึกวัดถ้ำสุวรรณคูหา อุดรธานี,” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๘ (มิถุนายน ๒๕๒๘) : ๑๘๘.

[26]กษัตริย์ลาวที่ใช้พระนาม “ไชยเชษฐาธิราช” เมื่อนับจากจารึก ปรากฏมี ๕ พระองค์ (สุรศักดิ์ ศรีสำอาง, ๒๕๔๕ : ๒๕๔)

 

หมายเหตุ ; ห้ามนำไปดัดแปลง หรือทำซ้ำ โดยไม่ได้รับอนุญาต

โพสท์โดย: ประเสริฐ ยอดสง่า
อ้างอิงจาก: ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา
https://b-poosri.blogspot.com/2017/11/blog-post_41.html
การหายสาปสูญของสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช
ประวัติศาสตร์ลาว
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
สาวสวยอินเตอร์ ตะลุยเขาสก สัมผัสธรรมชาติที่เหมือนหลุดไปในหนังอวตาร"แบมแบม" โต้ข่าวลือไปทำศัลยกรรมหน้า ลั่น! "จะเอาเวลาที่ไหนไปทำ"อย่าท้าทายระบบ! "สารวัตรแจ๊ะ" เผยสาเหตุที่ต้องใส่แมสก์ และสวมหมวกตลอดเวลาเกิดอุบัติเหตุทางถนนครั้งใหญ่ ดับ 38 เจ็บ 13 ที่บราซิลเทรนด์แฟชั่น 2025: อัพเดทสไตล์ที่มาแรงไม่ควรพลาด!"ทำไมโดนัทถึงต้องมีรูเจอจ่ายจบ ชาวบ้านส่งคลิปมาให้ดู ไปเจอด่านตำรวจแนวใหม่มีให้เลือก2บริการดราม่าแรง! ร้านอาหารจีนตลาดคลองเตย ไรเดอร์บอกเหม็นจนจะอ้วกเลขเด็ด เลขมาแรง เลขดัง "รวมหวยเด็ดสำนักดัง vol.10" งวดวันที่ 2 มกราคม 2568ชาวบ้านผวา!งูเหลือมยักษ์เขมือบหมูดินนอนท้องป่องรอย่อยบี้ ธรรศภาคย์ ได้ประกาศถอนตัวจากตำแหน่ง CEO ของโรงเรียนสอนเต้น SCA โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคมนี้เป็นต้นไปกล้องชัด!รถกระบะชนบนถนนหวิดชนบ้านคนโชคดีมีต้นเงาะหน้าบ้าน
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
คู่รักที่แต่งงานและหย่าร้าง 12 ครั้งใน 43 ปี"แบมแบม" โต้ข่าวลือไปทำศัลยกรรมหน้า ลั่น! "จะเอาเวลาที่ไหนไปทำ"บี้ ธรรศภาคย์ ได้ประกาศถอนตัวจากตำแหน่ง CEO ของโรงเรียนสอนเต้น SCA โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคมนี้เป็นต้นไปเกิดอุบัติเหตุทางถนนครั้งใหญ่ ดับ 38 เจ็บ 13 ที่บราซิลทำไมโดนัทถึงต้องมีรู
กระทู้อื่นๆในบอร์ด สาระ เกร็ดน่ารู้
ฆาตกรต่อเนื่องคนแรกของอเมริกา ผู้คร่าชีวิตกว่า 200 ศwใน ปราสาทแห่งความตๅย!!ขี้เถ้าถ่าน มีประโยชน์มากที่หลายคนยังไม่รู้เตือนภัย! ผลไม้ 3 อย่างที่เซลล์มะเร็ง "ชอบ" แต่คนไทยกินกันบ่อยมาก!งูสีสันสะดุดตาแห่งแคลิฟอร์เนีย: California Red-Sided Garter Snake
ตั้งกระทู้ใหม่