กลอนลำชีวิต
ป่าหม่อนถูกถางซีกติดทางดินทรายออกแล้ว เหนือลานโล่งใหม่นั้น กอไผ่บ้านสองกอ ยอดโยนไกวตามแรงลมหนาว ใต้ไผ่กอพบเวทีหมอลำหมู่ตั้งตระหง่าน ห่างจากเวทีมาสักห้าสิบก้าวผู้ใหญ่ เฮือนกฐินตั้งเป็นสง่าอยู่ในเพิงผามมุงด้วยก้านมะพร้าว พร้อมบริวาร ผ้าไตร อัฐบริขาร หมอน เสื่อเต็มกอง ผามเพิงถูกประดับประดาด้วยกระดาษหลากสี โยงย้อยจนลานตา โฮมตุ้มหุ้มห่อด้วยกล้วยเป็นเครือ อ้อยเป็นกอ มะพร้าวเป็นทะลาย มะละกอสุกและผลไม้พื้นบ้านอีกเต็มไปหมด เด็กชายวัยห้าขวบนอนในอ้อมกอดแม่มองดูข้าวของผู้คนไปรอบตัวทั่วงาน ท่าทางตื่นตาตื่นใจ จนเกือบสองทุ่ม หลังโฆษกประกาศ เสียงเพลงเปิดวงดังขึ้นนั่นแหละ เด็กน้อยจึงหันกลับไปฟากตรงข้าม นั่นหางเครื่องนับสิบในชุดฟูฟู สีสันสดใสไหวพลิ้ว โชว์ลีลาพร้อมเพรียง อ่อนช้อยบ้าง ขึงขังบ้างตามจังหวะดนตรี ที่ครูนักดนตรีเล่นกันสด ๆ นักร้องชาย หญิง สลับกันออกมาขับกล่อม ยังไม่ทันที่โชว์วงจะจบ เด็กน้อยที่ตอนแรกตาโตมีประกาย ก็เริ่มหาวใหญ่ และซบหลับไปในอ้อมกอดแม่ ลืมตาครั้งหนึ่งเห็นพระเอกแอ่นฟ้อนย้อนใส่เสียงแซ็กโซโฟนที่กำลังโซโลลายลำเพลิน แล้วก็ผล็อยหลับต่อ กี่ทุ่มกี่ยามไม่รู้ ตื่นอีกทีตัวก็พาดบนบ่าพ่อ งัวเงียมองเห็นแต่ขั้นบันไดเฮือนแล้ว นั่นคือความทรงจำวัยเด็กที่ผมเคยได้สัมผัสหมอลำสด ๆ เป็นช่วงเวลาแว็บวาบที่ประทับอยู่ในสมองส่วนความทรงจำอย่างไม่รู้ลืม
ความทรงจำในวัยเด็กดูคล้ายกับว่าหมอลำ-กลอนลำนี่แหละเป็นกล่องดำ ที่ดูดซับเอาอดีตงามของผมเก็บไว้ เป็นกล่องดำที่มีชีวิตจริง ๆ เพราะมันยังกวักมือเรียกผมให้หวนหาดมดอมอดีตบางอย่างยามท้อ เหงา เศร้า.....คิดถึงใครสักคน
ใครคนที่เราจำได้ไม่ลืม อาจมิใช่เพราะเขาหรือเธอมีบุคลิกโดดเด่นเป็นรหัสหลักเพียงอย่างเดียว สิ่งอื่น ๆที่แวดล้อมตัวเขาหรือเธอนั่นก็สำคัญไม่แพ้ ทั้งรหัสบรรยากาศ กลิ่น เสียงฝังแน่นข้างในใจล้ำลึกนี้
จึงไม่แปลกอะไรที่ไม่ว่าจะได้เจอ ได้ฟัง ได้รู้เห็นอะไรก็ตาม ที่เกี่ยวกับลำเรื่องต่อกลอนทำนองอุบลแล้ว เหมือนมีสะพานเชื่อมให้เห็นภาพคุณย่าของผม ให้ท่านมาลอยวนเวียนในความนึกคิดได้ ไม่เว้นว่างวันหยุดใด ๆ ก็ภาพที่ย่าพาหลานชายวัยประถมต้นนั่งกลางลานทราย ข้างโบสถ์ ฟังลำจนซอดแจ้ง ไก่ขันลงคอน ตอนตะเว็นฮุ่งเช้า พระเอกนางเอกหมอลำมาลำล่อง ลำเต้ยลาแฟน ๆนั่นแล้ว ถึงได้ลุกสะบัดเสื่อกกเดินจูงมือหลานเข้าบ้าน ปล่อยให้หมาวัดนอนเฝ้าคีไฟ อยู่เป็นแรงใจให้ชาวคณะหมอลำเก็บข้าวของคืนคอนบ่อนบ้าน ภาพประทับใจเช่นนี้อาจซุกซ่อนอยู่ในเม็ดเลือด ในดีเอ็นเอของคนบ้านเฮา...ลาวอีสาน จนบางคนว่า “ฟังเพลงหยังกะบ่แล้วคันบ่ได้ฟังลำตบท้าย คือมันขาดหยังไปจักอย่าง ว่าบ่สู”
นี่ผมค่อนข้างเห็นด้วย แต่มีคำถามว่าทำไมคนลาวอีสาน(ที่ยังไม่กลายพันธุ์)กับหมอลำถึงได้ฝังแน่นแก่นกันคักแท้ คำตอบสำหรับผม นอกจากภาพอดีตที่ว่ามา ก็คือ ก็พ่อผมเป็นหมอลำไง หมอลำที่ลำกล่อมลูก (ตอนนี้ก็กำลังกล่อมหลานน้อย) ร้องเล่นกันในหมู่บ้าน ก็พ่อผมมีวิทยุเทปที่เปิดเพลงลำให้ผมซึบซับตั้งแต่เล็กจนเรียกได้ว่า “เลี้ยงลูกด้วยกลอนลำ” หมอลำสำหรับชีวิตผมจึงเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน
นอกจากฟังได้ ฟังเป็นแล้ว ผมยังจดจำใส่ใจ ใส่สมอง ร้องได้หลายสิบกลอน หรือพูดให้เวอร์ก็ร้องได้เป็นร้อยกลอนพู้นแหล่ว ทั้งของครูคำเกิ่ง ทองจันทร์ ประสาน เวียงสิมา พรศักดิ์ ส่องแสง รุ่งโรจน์ เพชรธงชัย สุบิน นิลวรรณ ไก่ฟ้า ดาดวง เฉลิมพล มาลาคำ สาธิต ทองจันทร์ และของคนอื่น ๆ ลำที่ไหนละ ก็เวทีท้องทุ่งนั่นไง หลังควายก็ด้วย บนต้นหว้า ต้นมะม่วง ขณะเดินป่าหากะปอม ในห้องเรียน กระทั่งยามหลับฝัน น้องสาวเอ๊ย!
ใช่! ผมฝันว่า ได้แต่งกลอนลำให้หมอลำสักคนลำสักกลอน วันนั้นผมจะเอาม้วนเทปไปกราบพ่อ และบอกท่านว่า “นี่คือของขวัญ แด่ศิลปินหมอลำในดวงใจของลูก ครับพ่อ” โอย...ละนา