เหตุที่คนส่วนใหญ่ทำสมาธิล้มเหลว
๑
เข้าใจผิด คิดว่าสมาธิคือของวิเศษนอกจิตไม่เข้าใจว่าสมาธิ คือจิตชนิดหนึ่งเป็นดวงจิตดวงหนึ่งและตราบเท่าที่ยังไม่เข้าใจให้ถูกก็จะลากจูงความเข้าใจผิดชนิดอื่นๆให้ตามมา
๒
เข้าใจผิด คิดว่าสมาธิจะเกิดขึ้นต่อเมื่อกักตัว นั่งหลับตาทำท่าเคร่งขรึมสักครึ่งชั่วโมง
ไม่เข้าใจว่าสมาธิ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนคนหนึ่งฝึกจิตของตนทุกชั่วโมงให้ชินกับการโฟกัสสิ่งที่กำลังอยู่ตรงหน้าไม่ปล่อยใจให้วอกแวกง่าย ไม่ว่าจะอยู่ในท่าไหน อิริยาบถใดจะกำลังทำงาน หรือกำลังเล่นสนุกก็ตาม ความเข้าใจผิด หลงคิดไปว่า‘การทำสมาธิ’ เริ่มต้นต่อเมื่อหลับตาหน้าหิ้งพระทำให้พลอยหลงนึกว่า
ไม่ต้องมีต้นทุนจากที่อื่นก็ได้ทั้งชีวิตปล่อยใจให้เหม่อล่องลอยไปตามอัธยาศัยแล้วค่อยมานั่งสมาธิในห้องพระที่เดียวก็ได้
๓
เข้าใจผิด คิดว่าสมาธิเริ่มนับหนึ่งกันที่ความกระเสือกกระสนอยากสงบ ไม่เข้าใจว่าสมาธิ เริ่มนับหนึ่งกันที่สติและสติจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากเอาแต่อยากโน่นอยากนี่ เช่น อยากสงบทั้งที่ไม่พร้อมสงบต่อเมื่อเข้าใจเสียใหม่ ไม่อยากสงบแต่ควรรู้ ควรยอมรับตามจริงว่า ณ ลมหายใจหนึ่งๆกำลังฟุ้งซ่านมากหรือฟุ้งซ่านน้อย ยอมรับรู้ได้เช่นนี้จึงค่อยเกิดสติ เมื่อเกิดสติก็ใจเย็นลง เห็นความฟุ้งซ่านว่าไม่เที่ยง ต่างลมก็ต่างไป ใจที่เย็นอย่างมีสตินั่นเองคือชนวนเหตุให้เกิดสมาธิอย่างรวดเร็ว...ต่างจากใจที่ร้อนรนด้วยความอยากคือชนวนเหตุให้ฟุ้งซ่านปั่นป่วนหนักกว่าเก่า
๔
เข้าใจผิด คิดว่าสมาธิได้แล้วได้เลยเหมือนสมบัติตายตัว ถ้าเคยสงบ แปลว่าต้องสงบอีก
ไม่เข้าใจว่าสมาธิจิตเป็นของไหลเหมือนน้ำที่พร้อมจะไหลลงต่ำหรือไหลไปปนเปื้อนมลพิษในชีวิตประจำวัน
เช่น หลงระเริงไปกับการพูดคุยออกอ่าวเรื่อยเปื่อยความหลงระเริงนั้นจะยังจิตให้แส่สายหาโฟกัสไม่เจอ แม้เคยทำสมาธิได้ดี ก็เหมือนทำไม่เคยเป็น ต่อเมื่อเข้าใจเสียใหม่ได้สมาธิแล้วไม่เหลิงระวังจิตไม่ให้เสียหาย
จึงค่อยเข้าที่ เป็นสมาธิได้บ่อยขึ้น เสถียรขึ้น
๕
เข้าใจผิด คิดว่าสมาธิเป็นของวิเศษวิโส แม้ออกจากสมาธิแล้วก็มีศักดิ์ศรีวิเศษวิโสเหนือคนธรรมดา
ไม่เข้าใจว่าสมาธิเป็นของสูงคู่ควรกับจิตที่อ่อนโยน นุ่มนวล ไร้ความกระด้าง ไร้ความยโสโอหัง
เมื่อทำความเข้าใจไว้ถูก..จิตจึงคู่ควรกับการเข้าถึงสมาธิชั้นสูงแบบพุทธสามารถรู้ความไม่เที่ยงของจิต สามารถรู้ความไม่อาจคงสภาพของจิต สามารถรู้ความไม่ใช่ตัวเดิมของจิต แล้วได้ข้อสรุปสุดท้ายว่า
จิตไม่ใช่ตัวตน
ไม่มีตัวใครอยู่ในจิต
และนั่นเอง! ความส่องสว่างเยี่ยงสมาธิจิตอันบริสุทธิ์แท้จริงจึงปรากฏ!