สำนวนชาวใต้ เสือกไม่เข้าท่า
สำนวนชาวใต้ เสือกไม่เข้าท่า
คำว่า เสือกไม่เข้าท่า หมายถึง เข้าไปยุ่งในเรื่องของคนอื่น เรื่องที่ไม่ใช่หน้าที่ของตน
ที่มาของสำนวนนี้ เกิดขึ้นจากวิถีชีวิตของคนใต้สมัยโบราณ ที่มีบ้านเรือนอาศัยอยู่ตามสองฝั่งแม่น้ำลำคลอง ใช้การคมนาคมทางเรือ จะทำการค้าขายก็ต้องใช้เรือ ทั้งเรือแจว เรือพาย และเรือยนต์ บ้านตามชายฝั่งแม่น้ำลำคลองทุกหลัง จะมีบันได หรือ สะพานไม้ทอดลงสู่แม่น้ำลำคลอง เพื่อใช้เป็นท่าเรือ สำหรับจอดรับส่งผู้โดยสารหรือขายสินค้า แต่มักมีปัญหาจอกแหนจำนวนมากที่ริมฝั่งแม่น้ำ ลำคลอง ทำให้เรือที่จะเข้าจอดที่ท่านั้นเข้าจอดได้ยาก ประกอบกับเวลาที่น้ำขึ้นน้ำลง จะมีกระแสน้ำที่เชี่ยว ทำให้การบังคับเรือ เพื่อไส หรือ เสือกหัวเรือให้เข้าจอดตรงท่าทำได้ยากขึ้น เพราะกระแสน้ำจะพัดพาเรือให้ไหล ไปจอดที่ท่าอื่น
เสือกไม่เข้าท่า ก็คือ ไส หรือ เสือกหัวเรือเข้าไม่ตรงท่าที่ต้องการจอด
ชาวใต้มักใช้สำนวนนี้ในการพูดตำหนิเด็ก หรือ บุคคลที่ไม่ทำงานในหน้าที่ของตนเอง แต่ไปทำงานอันเป็นหน้าที่ของผู้อื่น แล้วผิดพลาด ทำให้เกิดความเสียหายขึ้น ทั้ง ๆ ที่เจ้าของงานไม่ได้ขอให้ช่วย
คำว่า ไม่เข้าท่า หมายถึง ไม่เหมาะ ไม่ควร ไม่ได้แก่นสาร ไม่ได้ตามที่ควรจะเป็น
ยังใช้เป็นสำนวน ที่แสดงถึงความระแวงสงสัยไม่แน่ใจได้อีกด้วย อย่างเช่น บรรยากาศแบบนี้ดูจะไม่เข้าท่าเลย หมายถึง เกิดความสงสัย ไม่ไว้ใจบรรยากาศโดยรอบ ว่าจะไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์อาจจะเกิดอุปสรรค
สำนวนว่า เสือกไม่เข้าท่า เกิดขึ้นจาก วิถีชีวิตท้องถิ่นริมแม่น้ำลำคลองของคนใต้ที่ไม่สามารถไส หรือ เสือกหัวเรือ ให้ตรงท่าจอดที่ต้องการจอดได้นั่นเอง
อ้างอิงจาก: ภาษิต สำนวนไทย 4 ภาค ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. ผู้เขียน : ราชบัณฑิตยสถาน; สำนักพิมพ์ : กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน; ปีพิมพ์ : 2555; จำนวนหน้า : 185
http://legacy.orst.go.th/?knowledges=ไม่เป็นท่า-ไม่เข้าท่า-๒๓-เมษายน-๒๕๕๑