เมื่อความคิดกลายเป็นภาระของจิตใจ “สมองไม่หยุดคิด” คิดมากจนปวดหัว คิดเยอะจนเหนื่อยใจ คิดอย่างไรให้พอดี
สมองไม่หยุดคิด Overthinking คือ ภาวะที่สมองทำงานอย่างต่อเนื่องกับ ปัญหา ความกังวล สถานการณ์ต่าง ๆ โดยไม่สามารถหยุดคิด หรือ ปล่อยวางได้ การคิดเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้มนุษย์แก้ไขปัญหา และ ตัดสินใจในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น แต่เมื่อความคิดกลายเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ คิดซ้ำไปซ้ำมาต่อเนื่องไม่มีจุดจบ นำไปสู่ความเครียด วิตกกังวล ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตโดยรวม หากปล่อยไว้นานอาจเกิดภาวะซึมเศร้า หือ โรควิตกกังวลเรื้อรังได้
สมองไม่หยุดคิดมีลักษณะอย่างไร
1.มักมีความคิดที่วนเวียนซ้ำ ๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอดีต หรือ อนาคต
2.คิดถึงความผิดพลาดในอดีตและโทษตัวเองซ้ำ ๆ
3.คิดกังวลเกี่ยวกับอนาคตมากจนไม่สามารถมีความสุขกับปัจจุบันได้
4.มีความคิดเชิงลบ หรือ คิดวิตกกังวลเกินเหตุ ต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ
5.หาทางออกให้กับปัญหาเดิม ๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ไม่ได้ลงมือแก้ไขจริง
6.มีอาการเหนื่อยล้าทางจิตใจ นอนไม่หลับ หรือ ปวดหศีรษะ
กลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้ม สมองไม่หยุด คิดมากเกินไป
1.คนที่มีภาวะวิตกกังวล (Anxiety Disorder) มีแนวโน้มคิดมากและคาดการณ์เหตุการณ์ในแง่ลบเสมอ
2.คนที่มีบุคลิก Perfectionist ต้องการให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบ จึงคิดมากกับรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ
3.คนที่มีประสบการณ์ทางลบในอดีต เช่น เคยถูกตำหนิ ถูกปฏิเสธบ่อย ๆ ทำให้กลัวความผิดพลาด
4.คนที่มีภาระความรับผิดชอบสูง เช่น ผู้บริหาร เจ้าของธุรกิจ นักเรียนที่ต้องสอบแข่งขัน
5.คนที่ใช้เวลามากกับโซเชียลมีเดีย การรับข้อมูลมากเกินไปอาจทำให้เกิดความกังวลและคิดมากขึ้น
สมองไม่หยุดคิด ควรรับมืออย่างไร ?
1.โยนความเป็น Perfectionist ทิ้งไป เพราะเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้กดดันตัวเอง ต้องทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบ และ ไม่สามารถให้อภัยตัวเองเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น ทำให้ต้องใช้ความคิดมากกว่าปกติเพื่อหาทางควบคุมทุกอย่าง
เปลี่ยนจากความต้องการความสมบูรณ์แบบเป็นความต้องการให้ทุกอย่างดีที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ จะทำให้หันมา Focus กับสิ่งที่สามารถควบคุมได้ และ ลดความกดดันลงได้มาก ความผิดพลาดไม่ใช่ความล้มเหลว แต่คือโอกาสการเรียนรู้ เราสามารถผิดพลาดได้ และ เราก็สามารถแก้ไขความผิดพลาดได้เช่นกัน
2.ปล่อยวางอดีต และ อนาคต คนที่สมองไม่หยุดคิด ส่วนใหญ่มักยึดติดกับอดีต โดยเฉพาะความต้องการกลับไปแก้ไขสถานการณ์ หรือ การตัดสินใจบางอย่างในอดีต คิดวกวนซ้ำ ๆ ไม่อยู่กับปัจจุบัน ในเมื่ออดีตเปลี่ยนแปลงไม่ได้ อนาคตก็ยังมาไม่ถึง ควรปล่อยวาง เริ่มต้นด้วยการใจดีกับตัวเองบ้าง พัฒนาให้กลายเป็นรักตัวเอง แล้วให้อภัยตัวเองในอดีต ก่อนจะเริ่มต้นใหม่กับปัจจุบัน เพื่อจะได้มีอนาคตตามที่ตัวเองต้องการ
3.ฝึกสติและการมีสมาธิ ช่วยให้อยู่กับปัจจุบัน ลดความคิดฟุ้งซ่านที่มักเกิดขึ้นในสมอง วิธีหนึ่งที่นิยมคือ การฝึกสมาธิ โดยการโฟกัสที่การหายใจ เช่น การหายใจเข้า-ออก ลึก ๆ ช้า ๆ จะช่วยให้จิตใจสงบลง การฝึกสติยังช่วยให้รู้ตัวเมื่อเริ่มคิดมาก หรือ เมื่อเกิดความเครียด จึงสามารถปรับเปลี่ยนทิศทางความคิด ลดความวิตกกังวลได้
4.ตั้งเวลาคิดและปล่อยวาง เมื่อเริ่มรู้สึกว่าคิดมากเกินไป ลองตั้งเวลาให้กับตัวเองสำหรับการคิด เช่น กำหนดเวลาให้ตัวเอง 10-15 นาทีในการคิดถึงปัญหา หรือ ความกังวลที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นให้หยุดคิดแล้วหันไปทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ทำงานอดิเรก อ่านหนังสือ ออกไปเดินเล่น เพื่อช่วยให้สมองได้พักผ่อน ไม่จมอยู่กับความคิดที่ซ้ำซาก
5.เปลี่ยนวิธีเล่าเรื่องราวของตัวเราเอง การคิดมาก คิดเยอะ ส่วนหนึ่งเกิดจากเล่าเรื่องราวเชิงลบ เช่น คิดว่าตัวเองเป็นคนคิดมาก คิดว่าตัวเองไม่สามารถตัดสินใจได้ คิดว่าตัวเองไม่สามารถรับผิดชอบได้ กระบวนการคิดนี้จะสร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา ทำให้ต้องคิดซ้ำ ๆ วนลูป เราต้องรู้ทันความคิด พยายามหยุดความคิดเชิงลบ เปลี่ยนเป็นการเล่าเรื่องตัวเองเชิงบวก เช่น เราสามารถควบคุมความคิดตัวเองได้ เรามีอำนาจในการตัดสินใจ การรับรู้เหล่านี้จะช่วยให้ไม่ติดกับดักความคิด และเป็นอิสระทางความคิด
6.จดบันทึกความคิด การเขียนบันทึกเพื่อจัดการกับความคิดที่ฟุ้งซ่าน เขียนลงไปในสมุดบันทึกหรือบนกระดาษ จะช่วยให้ปลดปล่อยความคิดออกจากสมอง ทำให้รู้สึกโล่ง สามารถมองเห็นปัญหาชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้วิเคราะห์และตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความคิดของตัวเอง เพื่อหาทางออกในแนวทางที่ดีขึ้น
เมื่อสมองไม่หยุดคิด หากปล่อยให้ความคิดกัดกินไปเรื่อย ๆ จะยิ่งสูญเสียความเป็นตัวเอง หากเริ่มคิดเยอะ คิดมาก อย่าปล่อยให้ความคิดย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง ลองฝึกควบคุมความคิดตามวิธีข้างต้น หรือ ค้นหาวิธีการควบคุมความคิดในแบบของตัวเอง พอสามารถควบคุมความคิดตัวเองได้ ก็จะสามารถทำทุกอย่างที่เราต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ








